IN THE EYE OF ARCHITECT

ในมุมมอง วิธีคิด ของสถาปนิกระดับโลก

 

Text: Boonake A.
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

ในแวดวงคนทำงานด้านการออกแบบบ้าน ออกแบบอาคารเชิงสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก บริษัท“Department of Architecture” ที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากสองสถาปนิกชื่อดังอย่าง “คุณบี-อมตะ หลูไพบูลย์” และ “คุณตี้-ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ” เพราะนี่คือบริษัทสถาปนิกของไทยที่ได้รับการยอบรับในระดับโลก จากฝีมือการออกแบบที่คว้ารางวัลในระดับเมเจอร์ของโลกใบนี้มาอย่างมากมาย

ในคอลัมน์ Interview ฉบับนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มีโอกาสได้นั่งคุยกับ คุณตี้-ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Department of Architecture และสถาปนิกรางวัลศิลปาธรประจำปี 2561

คุณตี้จะมาคุยกับเราถึงเบื้องหลังวิธีคิดที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสไตล์งานที่แข็งแรงของเธอ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นชิ้นงานของสตูดิโอแห่งนี้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมุมมองแนวคิดต่างๆ ในโลกของวงการสถาปนิก การใช้แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ พร้อมด้วยการอัพเดทงานชิ้นใหม่ที่น่าสนใจให้เราได้ฟังกัน

วิธีคิดในการเริ่มต้นงานที่นำไปสู่การออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมมีขั้นตอนอย่างไร

เวลาเริ่มออกแบบเหมือนยังไม่มี Preconceptionแต่เราจะทำความเข้าใจกับโจทย์ก่อนทั้งเรื่องของตัวโปรแกรมเองตัวเจ้าของผู้ใช้ และบริบททั้งทางกายภาพบริบททางวัฒนธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ตามความตั้งใจของเจ้าของสถาปัตยกรรมนั้นเหมือนเป็นการรีเสิร์ชลงลึกไปเรื่อยๆ เราจะค่อยๆ เริ่มเห็นว่าโปรเจคนั้น เราควรจะทำอะไรที่ดีที่สุด ก่อกำเนิดเป็นตัวแนวคิดหลักของโครงการ

 

อยากให้คุณอธิบายวิธีการใช้เรื่องบริบทมากำหนดแนวคิดในการออกแบบให้ฟัง

บริบทมันมีความหมายที่กว้างเหมือนกัน ซึ่งบริบทมันมีหลายมิติ เช่นรอบไซต์เราเป็นอะไร ข้างนี้มีวิว ข้างนี้มีแดดเข้า ถนนเข้าทางนี้ ชุมชนอยู่ข้างนั้น เป็นบริบทที่เป็นกายภาพที่อยู่ใกล้ๆ รอบๆ ที่ไม่ใช่ทัศนียภาพอย่างเดียว ซึ่งบริบทแบบหนึ่งก็มีผลต่อวิธีการออกแบบของเรา อันนี้รวมถึงบริบทที่กว้างขึ้นไปกว่านั้นด้วย เช่น บริบททางสังคม และวัฒนธรรม

ตัวอย่างของการนำบริบทบททางวัฒนธรรมและทางสังคม มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบ

ก็อย่างเช่นที่เราออกแบบ TCDC อันนั้นเป็นบริบทที่ไม่ใช่แค่ตัวตึกอาคารไปรษณีย์กลาง มันเป็นบริบททางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์เราต้องทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เช่น รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้มันเกิดมายังไง มีองค์ประกอบสำคัญอะไรที่เราต้องเก็บรักษาไว้ แล้วมีอะไรที่เราพอจะนำสิ่งใหม่ผสานเข้าไปได้บ้าง แน่นอนมันต้องมีการปรับอะไรได้ อะไรไม่ได้ เพราะมันกระทบกับความรู้สึกของคนในยุคก่อน ที่ตอนเด็กเคยมาส่งจดหมายที่นี่ ทุกคนมีความหลัง มีความจำกับมันในแง่ของเชิงจิตใจด้วย

การออกแบบ TCDC คุณทำอย่างไรให้ตอบโจทย์กับแนวคิดนี้

ด้วยความที่อาคารมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันเนื้อหาของ TCDC ต้องเป็นเรื่องของอนาคตมันจึงเป็นพื้นที่ที่อดีตที่อยู่ร่วมกันกับอนาคต เราจึงต้องพยายามสอดแทรกเนื้อหาของสิ่งใหม่เข้าไป โดยต้องทิ้งระยะให้คนสามารถมองเห็นได้ทั้งความเก่าและความใหม่ วิธีการที่เราใช้ก็คือการสร้างตัวชั้นใส่หนังสือที่อยู่ระหว่างผนังเก่ากับผนังใหม่ ให้เกิดความปฏิสัมพันธ์ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งใหม่ที่เราใส่เข้าไปมันต้องชัดว่าเป็นเป็นวัสดุในยุคนี้ นั่นคือการใช้วัสดุเหล็กมีน้ำหนักเบา ดูโปร่ง ดูลอย และใช้วัสดุอะครีลิคขุ่นที่มีการเรืองแสงเป็นสีขาวที่ลอยอยู่ภายใน ซึ่งเราให้ค่าของตัวชั้นใส่หนังสือเก่าเป็นสีเทาเข้ม เพื่อนำเสนอความหนักแน่นของโครงสร้างคอนกรีตแบบเก่าของตัวอาคาร นี่เป็นวิธีการคร่าวๆ ที่เรานำมาใช้

ในวงการสถาปนิกถึงบอกว่า ถ้าอยากได้งานรูปแบบใหม่ให้มาปรึกษา Department of Architecture

ขอบคุณมากค่ะ(ยิ้ม) เพราะแต่ละโปรเจคเราต้องการที่จะนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ได้คิดว่าสถาปัตยกรรมต้องนำเสนอสิ่งใหม่ตลอดเวลาแล้วมันก็ไม่ควรด้วย งานสถาปัตยกรรมที่ดีสำหรับเราไม่จำเป็นต้องล้ำหรือแปลก ดีก็คือดี คนเข้าไปอยู่ต้องมีความสุข แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมีคนที่หาแนวทางที่มันเป็นอะไรไปได้อีก ทดลองไปได้ด้วย นี่เป็นแนวทางเฉพาะของเรา เหมือนเรามีความสุขที่จะค้นหา รู้สึกตื่นเต้นที่เราจะนำเสนออะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิม

เราสามารถใช้แนวทางการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

เรื่องการสถาปัตยกรรมมีผลกับเรื่องการใช้พลังงานมาก เพราะพลังงานที่มนุษย์ใช้มากถึง 30-40% ในชีวิตคือการใช้พลังงานในอาคาร ดังนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรมจะช่วยตรงนี้ได้มาก ถ้าพูดถึงความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยด้วยการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม เบสิกคือออกแบบอย่างไรให้อาคารได้รับการปกป้องอาคารจากแดดมากที่สุด ทำอย่างไรให้ใช้พลังงานน้อยลง ทำอย่างไรให้มีพื้นที่โอเพนแอร์ที่คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ต้องอยู่ในแอร์ตลอดเวลา รวมถึงในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นสูง จะทำอย่างไรเพื่อแทรกธรรมชาติเข้าไปเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพราะถ้ามีต้นไม้ก็ทำให้อาคารเย็นลง ส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องนี้ที่สถาปัตยกรรมสามารถตอบโจทย์ได้อย่างมีอิมแพคมากที่สุด

อย่างปัญหาฝุ่น PM 2.5 การออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมสามารถแก้ไขได้ไหม

เรื่องฝุ่นมันไม่ได้ทำได้จากสถาปัตยกรรมแต่เพียงอย่างเดียว อย่างที่ในโตเกียวก็มีความหนาแน่นมากทั้งอาคาร ทั้งรถ ทั้งคน แต่เชื่อไหมว่าเขาปริมาณฝุ่นน้อยมาก เรียกว่าถ้าใช้เครื่องตรวจวัด รับรองได้ค่าสีเขียวแน่ๆ ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดว่าความเป็นเมืองไม่จำเป็นต้องมีฝุ่นเยอะ และฝุ่นก็ไม่ได้เกิดการสร้างจากสถาปัตยกรรมหากมีการป้องกันที่ดีพอ ซึ่งฝุ่นส่วนใหญ่เกิดจากมลภาวะจากรถยนต์ จากการเผา ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาฝุ่นจริงๆ มันต้องเป็นมาตรการขนาดใหญ่ที่รัฐต้องจัดการ คือการทำอย่างไรให้มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี และมีจำนวนมาก ให้คนลดการใช้รถยนต์ รวมถึงการการสร้างมาตรการให้คนหันไปใช้พลังงานทางเลือกได้ วิธีนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า

ในขณะนี้มีงานชิ้นไหนน่าสนใจที่คุณอยากนำเสนอให้เราฟัง

ที่ตื่นเต้นที่สุดเลยตอนนี้คือการออกแบบรีโนเวทห้องสมุดคณะสถาปัตย์จุฬาฯ เราออกแบบบนแนวคิดที่ว่าห้องสมุดไม่ต้องมีหนังสือแล้วก็ได้ เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ Coworking Space ที่อนุญาตให้เอาน้ำ เอาขนมเข้าไปได้มีโต๊ะที่คุยประชุมกันได้ มีจอสำหรับทำงานกรุ๊ปเตรียมพรีเซนต์ เพิ่มความผ่อนคลายด้วยการ มีเตียงพับ  เก้าอี้ผ้าใบ ให้ยืม ไว้นอน เวลาติวสอบ ซึ่งห้องสมุดจะเปิด 24 ชั่วโมง ใครเหนื่อยก็ยืมเตียงชายหาดคนก็อ่านหนังสือถึงตี 1 ตี 2 กลับบ้านไม่สะดวก ก็นอนตรงนั้น พอ 8 โมงเช้ามีคนเดินปลุกอะไรแบบนี้

แล้วในส่วนของการใช้เป็นพื้นที่ในการอ่านมีการปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน

ก็ยังคงฟังก์ชั่นในการเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือมาให้อ่านให้ยืมอยู่ ซึ่งเราก็คิดใหม่โยใช้การออกแบบให้การมองที่ชั้นหนังสือมีความน่าสนใจ น่าหยิบจับมากขึ้น เพราะบางทีหนังสือไปอยู่ในชั้นวาง ถ้าไม่ตั้งใจจริง ๆ ไม่เห็น ก็ไม่หา ในการออกแบบเราเลยคิดว่าต้องสร้างชั้นวางให้เห็นหนังสือแล้วอยากหยิบ เพราะฉะนั้นแทนที่หนังสือจะเรียงในเชลฟ์เป็นก้อนๆ เป็นแถวๆ เราก็คิดใหม่ด้วยการนำชั้นทั้งหมดมาแผ่และห่อรอบห้องให้มันดูน่าสนใจ และน่าหยิบจับมากขึ้น

นอกจากการใช้เป็น Co Working Space และการเป็นห้องสมุด ยังมีฟังก์ชั่นอื่นที่น่าสนใจอีกไหม

เรามองว่าตรงนี้น่าเป็นพื้นที่สร้างและส่งต่อแรงบันดาลให้แก่กัน โดยเฉพาะการส่งต่อแรงบันดาลใจจากนิสิตด้วยกันเอง จากงานที่แต่ละคนทำแล้วมาสร้างเป็นโชว์เคส ทางทีมเลยออกแบบพื้นที่ชั้นแรกของห้องสมุดให้มีระบบของการแสดงงานห่อเอาไว้รอบห้อง พอเราเดินผ่านงานของเพื่อนกลุ่มอื่นหรือของปีอื่นหรือของภาควิชาอื่น มันก็จะอินสไปร์กันและกันอาจารย์คนอื่นมาดูก็คอมเมนต์ต่อเลยก็ได้ สามารถแลกเปลี่ยนวิธีคิดที่ นำมาสู่การพัฒนาโปรเจกต์ให้ดีขึ้นของตัวนักศึกษาเอง

ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านสถาปนิก วิธีคิดอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้คุณมากที่สุด

เป็นคำพูดของ Louis I. Kahn สถาปนิกชั้นครูของโลกค่ะที่ว่า“เวลาคุณออกแบบโรงเรียน คุณคิดว่าคุณจะมีห้องสัมมนาเจ็ดห้อง หรือคุณคิดว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคุณสมบัติบางอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจ? ในการสนทนา หรือเป็นสถานที่ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา? มันมีพื้นที่ที่สามารถจะมีเตาผิงได้หรือไม่? หรือว่ามันแกลอรี่ แทนที่จะเป็นทางเดินเฉยๆ จะดีกว่า? และแกลอรี่นี้ จะทำหน้าที่เป็นห้องเรียนที่เด็กๆ ซึ่งมักจะไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอนสามารถจะสนทนาปราศรัยกับเด็กอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะมีธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไปได้ แต่ในพื้นที่นี้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน” มันทำให้เราตระหนักได้ว่าแท้จริงสัจจะของงานออกแบบ ก็คือแก่นสารภายในมากว่าตัวอาคารสวยงามที่เห็นได้แค่ดวงตา ซึ่งคำพูดนี้มีความหมายกับงานที่เราทำมาก ก็ใช้วิธีคิดตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน รวมถึงการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่ากับคนและบริบทต่างๆ มาตลอด

กับสถาปนิกรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในวิชาชีพ คุณมีสิ่งใดที่อยากจะแนะนำเขาบ้าง

อย่างแรกที่สุดคุณต้องมีใจกับมันก่อนและอยากทำงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดแล้วต้องอยากอย่างมาก พูดง่ายๆ เลยคือต้องมีแพสชันกับงานให้มากที่สุด เพราะในขั้นตอนการทำงานทุกงานของสถาปนิก จะมีปัจจัยหลายอย่างที่กดเราให้ท้อในระหว่างทาง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีแพสชันมันก็ยากที่จะเป็นสถาปนิกที่ดีอย่างที่สองคือคุณต้องมีจิตใจที่เข็มแข็งมาก ต้องแรงมีขับดันจากภายในที่อยากจะทำงานให้ดีที่สุดยิ่งมีมากเท่าไหร่ จะเป็นแรงผลักดันให้เราทำงานนั้นได้ตลอดรอดฝั่ง นอกจากมีแรงผลักดันแล้ว สุดท้ายคุณต้องเป็นคนที่เปิดหูเปิดตา มีความกว้างในความรู้ รู้ความเป็นไปทั้งหมดว่าปัจจุบันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง รับรู้หมด ก็จะช่วยเรื่องความเข้าใจในบริบทในการออกแบบ และการสร้างงานที่มีคุณค่าต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

 

Leave A Comment