HOUSE M / PETER RUGE ARCHITEKTEN
บ้านประหยัดพลังงานลูกครึ่งเยอรมัน-ญี่ปุ่น
Photo: Ira Efremova
House M อาคารบ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวเยอรมัน – ญี่ปุ่นขนาด 3 ชั้น ตั้งอยู่ที่เขต Wilmersdorf ในกรุงเบอร์ลิน ถูกออกแบบขึ้นโดย Peter Ruge Architekten สำนักออกแบบสถาปัตยกรรมในเยอรมนี ที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบอาคารทั้งในแถบยุโรปและเอเชียมากว่า 20 ปี ด้วยแนวคิดหลักในการออกแบบของ Peter Ruge Architekten ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นความสนใจไปที่อาคารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และหลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้อันเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมระหว่างงานดีไซน์เรียบง่ายในแบบญี่ปุ่น กับเครื่องหมายการค้าในคุณภาพด้านการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบฉบับเยอรมัน
House M ตั้งตระหง่านอยู่บนที่ดินลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งทอดยาว 15 เมตร ไปตามถนนทางทิศตะวันตก และขยายออกไป 40 เมตร ทางทิศตะวันออก ท่ามกลางบริบทที่แวดล้อมไปด้วยบ้านพักอาศัยในชุมชนเมืองและต้นไม้สูงใหญ่รอบทิศ โดยมุมมองจากถนนด้านหน้าบ้านทางทิศตะวันตกจะมองเห็น façade ไม้ทำหน้าที่เป็นหน้ากากปกปิดผิวอาคารคอนกรีตภายนอกบางส่วนบนชั้นสอง และทุกส่วนของชั้นสาม ซึ่งช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้บ้านดูอบอุ่นและสะดุดสายตา
สถาปนิกตั้งใจแบ่งฟังก์ชันการใช้ชีวิตภายในบ้านออกเป็น 3 ส่วนหลักบนพื้นที่ใช้สอยราว 320 ตารางเมตร โดยสะท้อนไปถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยผ่านสามแนวคิดหลักในบ้านหนึ่งหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเปิดรับแสงและสภาพอากาศจากธรรมชาติเข้ามาใช้ประโยชน์สูงสุดยังพื้นที่ใช้สอยภายใน อาคารหลังนี้จึงวางตัวโดยหันหน้าอาคารไปทางทิศเหนือและใต้ ออกแบบให้แผ่นพื้นขนาด 7 x 18 เอื้อต่อการเก็บกักแสงแดดและพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์มาใช้ในฤดูหนาว ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันความร้อนด้วยระบบบานเกล็ดที่มีประสิทธิภาพในช่วงฤดูร้อน ออกแบบให้ศูนย์กลางของบ้านเป็นห้องครัว เชื่อมต่อถึงกันกับโต๊ะรับประทานอาหารไว้ที่ชั้นล่างสุด เว้นช่องทางเดินเพื่อสร้างบันไดเชื่อมต่อขึ้นสู่ห้องนอนของเด็กๆ บนชั้นสอง และขึ้นไปสู่ห้องนอนหลักกับห้องนอนรับแขกในชั้นบนสุดของบ้าน ทั้งยังออกแบบให้บ้านสามารถแยกทางเข้าออกได้สองทาง ระหว่างทางเข้าหลักและประตูหลัง
House M ถูกสร้างขึ้นให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานตามมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานของเยอรมัน (ใช้พลังงาน 55 กิโลวัตต์/ ตารางเมตร/ ชั่วโมง) และได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2560 (DAM Preis Architektur 2017) จากพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมเยอรมัน Deutsches Architekturmuseum นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของการผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรม การดึงองค์ประกอบของบริบทและสภาพแวดล้อม เข้ามาใช้ในการออกแบบของ Peter Ruge Architekten
ใต้กล่องคอนกรีตที่เหลื่อมกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ นอกจากจะช่วยเป็นหลังคาป้องกันแสงแดดที่ลอดผ่านเข้ามาสู่ภายใน ยังก่อให้เกิดแสงและเงากระทบกับผนัง สร้างมิติให้กับอาคารเกิดความน่าสนใจตามแต่ละช่วงเวลาของวัน
จากประตูทางเข้าบนชั้น 2 จะพบกับพื้นที่ความสุขของการถอดรองเท้าแล้วก้าวเข้าสู่ตัวบ้าน
พื้นที่สำหรับการพบปะสังสรรค์ในครอบครัวบนชั้นล่างสุด ออกแบบให้มีไอร์แลนส์ไว้รองรับกิจกรรมการประกอบอาหาร โดยเชื่อมพื้นที่กับส่วนรับประทานอาหาร ที่ออกแบบโดยยกระดับพื้นให้เป็นส่วนรองนั่งที่กว้างขวางและเว้นช่องใต้โต๊ะรับประทานอาหาร ไว้สำหรับนั่งห้อยขารับประทานอาหารได้อย่างสะดวก โดยมีช่องหน้าต่างที่สามารถมองออกไปชมวิวสวนด้านนอกได้
บนชั้น 2 ของบ้านถัดจากทางเข้าคือส่วนห้องนั่งเล่นที่มีช่องหน้าต่างเปิดรับแสงเข้าสู่ภายในได้อย่างทั่วถึง
สถาปนิกใช้การเจาะช่องแสงบนหลังคาชั้น 3 โดยเว้นระยะห่างจากกันตลอดแนวช่องทางเดินและโถงบันได เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแสงธรรมชาติเข้ามาทดแทนการใช้ไฟฟ้าเพื่อส่องสว่างในเวลากลางวัน
ห้องของเด็กๆ ริมอาคารฝั่งตะวันออก
มุมมองจากถนนจะเห็น façade ไม้ทำหน้าที่เป็นหน้ากากปกปิดผิวอาคารคอนกรีตช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับอาคาร ถัดลงไปด้านล่างยังสามารถมองเห็นสวนหย่อม ต้นเชอร์รี่ และลานกว้างได้อย่างชัดเจน
Architect – Peter Ruge Architekten
Peter Ruge, Kayoko Uchiyama, Matthias Matschewski, Jan Müllender, Alejandra Pérez Siller
Structural Engineering – Peter Raschka Consultants
Mechanical & Electrical – Ib blauth Ingenieurbüro, Berlin