HOTEL GAHN / STUDIO LOCOMOTIVE

โรงแรมกาล

ที่ตั้ง: เขาหลัก, ตะกั่วป่า, พังงา
สร้างเสร็จ: 2562
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด: 1,080 ตารางเมตร
เจ้าของโครงการ: ครอบครัวอนุศาสนนันท์
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ: Studio Locomotive
ช่างภาพ : Beersingnoi ArchPhoto

ความภูมิใจของแม่ (ครอบครัวเจ้าของโครงการ) ในฐานะบาบ๋า-ย่าหยา 峇峇娘惹 (ลูกหลานชาวจีนเลือดผสมที่ถือกําเนิดมาจากการแต่งงานระหว่างข้ามเชื้อชาติระหว่างชาวจีนอพยพ และชาวเมืองท้องถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย) เป็นภาพและความรู้สึกที่ Studio Locomotive รับรู้ได้ชัดเจน ผ่านการแต่งกายชุดเสื้อฉลุลายลูกไม้ ผ้าปาเต๊ะ รองเท้าถักลูกปัด เครื่องประดับทองอ่อนช้อย รสมือปรุงอาหารท้องถิ่นที่เราได้มีโอกาสไปลิ้มลองอยู่หลายครั้ง และเรื่องเล่าที่แม่ถ่ายทอดระหว่างการพูดคุยกันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในบ้านเกิดเมืองตะกั่วป่าของแม่ แม้จะไม่ได้เป็นโจทย์ที่ได้รับมาตั้งแต่แรก แต่ความภูมิใจที่แม่สื่อออกมาให้เรารับรู้มาตลอดตั้งแต่วันที่เราเริ่มงาน ทำให้เราละเอียดลออในการออกแบบโรงแรมกาล (Hotel Gahn) เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตสายเลือดบ้าบ๋า-ย่าหยาให้ลูกหลานได้ซึบซับ และภูมิใจที่จะสืบทอดเหมือนที่แม่ทำเสมอมา

รกรากครอบครัวของแม่ เริ่มต้นจากก๋ง หนุ่มกุลีมีฝีมือทำอาหาร ที่เดินทางมากับสำเภาเรือจีน ในยุครุ่งเรืองของการค้าเสรีแร่ดีบุก เพื่อใช้ทำเหล็กเคลือบดีบุกกันสนิม เช่น ภาชนะอาหารกระป๋อง ระหว่างการเดินทางก๋งได้รับโอกาสให้เป็นพ่อครัวประจำเรือ (จุมโพ่) และได้เป็นพ่อครัวของเหมืองในเมืองตะกั่วป่าในเวลาต่อมา เมืองตะกั่วป่าในเวลานั้น เป็นพื้นที่ที่สามารถขุดหาแร่ดีบุกได้เป็นปริมาณมาก จึงเป็นเมืองท่าสำคัญและเติบโตจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก เป็นผลให้เกิดการถ่ายทอดผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างเส้นทางอพยพจากจีนมาคาบสมุทรมลายู และการค้ากับยุโรป กุลีจีนและพ่อค้าแร่ เมื่อได้ดิบได้ดีก็ตั้งรกรากแต่งงานกับคนในท้องที่ และได้ให้กำเนิดลูกหลานเลือดผสมบาบ๋า-ย่าหยา ซึ่งเป็นผู้รับส่งต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนผสม ให้ยังพบเห็นอยู่ในเมืองตะกั่วป่าต่อมา

ด้วยความตั้งใจที่มาจากการทำงานร่วมกันกับเจ้าของโครงการ โจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้สามารถถ่ายทอดความภูมิใจในวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยาของเมืองตะกั่วป่าให้ออกมาในการออกแบบที่พักได้อย่างไม่ยัดเยียด ให้แขกที่มาพักได้รับรู้วิถีชีวิตผ่านประสบการณ์ระหว่างการพักผ่อน และการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเจ้าของโครงการ การนำเสนอวิถีชีวิตผ่านการออกแบบโรงแรมกาล จึงไม่ได้มาจากการทำซ้ำตามแบบอาคารวัฒนธรรม แต่อาศัยการถ่ายทอดกลิ่นอายจากการจัดวางผังพื้นที่ใช้สอย การใช้วัสดุ การรักษาวัสดุ และรายละเอียดงานตกแต่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาการก่อสร้างที่มาประกอบกัน

จากภายนอก อาคาร 5 ชั้นหลังนี้ เป็นที่สังเกตได้จากผนังอาคารสีดำเต็มแผง ที่ทำมาจากไม้ธรรมชาติย้อมสีดำจากน้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการถนอมเนื้อไม้แบบโบราณ ทั้งนี้ยังเป็นแผงที่ใช้ปกปิดท่องานระบบต่างๆ ที่ตั้งใจเดินออกนอกอาคาร เพื่อลดการเสียพื้นที่ความสูงระหว่างชั้น และยังมีประตูซุ้มโค้งเหล็กสูง 6 เมตร คล้ายทางเดินเชื่อมอาคารร้านค้า ’หง่อคาขี่’ (五脚基) ที่พบเห็นได้บ่อยจากรูปแบบการเชื่อมทางเท้าของอาคารพานิชย์ตามแบบสถาปัตยกรรมในเมืองตะกั่วป่าเพื่อสื่อสารแนวคิดด้านวัฒนธรรมประยุกต์ และช่วยให้โรงแรมไม่ต้องใช้กำแพงในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับแขกที่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งที่ติดกับถนน และลมก็ยังสามารถพัดผ่านได้

พื้นที่ต้อนรับ ร้านกาแฟ และร้านอาหารของโรงแรม เปิดให้แขกใช้พื้นที่ร่วมกันได้ในชั้นหนึ่ง จะเห็นการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้คละรูปแบบ โต๊ะกลางใหญ่ล้อมด้วยเก้าอี้หัวโล้น ทำให้พื้นที่ส่วนนี้ให้บรรยากาศเสมือนได้อยู่ในบ้านที่มีครอบครัวขยาย ประกอบกับตู้สูงเต็มผนังสำหรับเก็บของใช้ของสะสมของแม่ ที่เป็นเหมือนการได้รู้จักครอบครัวนี้ผ่านของที่จัดแสดง ตู้เก็บของฝั่งร้านอาหาร ใช้จัดของสะสมที่เกี่ยวกับการกิน การทำอาหาร เข้ากันได้ดีกับเสียง กลิ่น และบรรยากาศที่เล็ดลอดออกมาจากหลังครัว สีแดงและสีเขียว ที่เริ่มถูกใช้ในพื้นที่ด้านในเช่นกัน เป็นสีที่พบเห็นเป็นเอกลักษณ์จากองค์ประกอบงานตกแต่งของของบ้านแบบบาบ๋า-ย่าหยา โดยถูกเลือกมาใช้ทาเป็นสีผนังบางส่วน สีเสา กับสีคานไม้ที่วิ่งแบ่งกรอบเพดาน ทำหน้าที่เป็นรางเดินสายไฟและท่อต่างๆ

บันไดที่นำขึ้นไปสู่ชั้นห้องพักมีรายละเอียดที่เรียบง่าย มีหัวเสาตัดเป็นทรงหกเหลี่ยม ราวจับและระแนงเป็นทรงสีเหลี่ยมธรรมดาตามแบบบันไดบ้านไม้ท้องถิ่น ผนังที่ติดกับระเบียงบันได ทำเป็นฝาไหล หรือฝาบ้านไม้สองชั้น เจาะช่องสลับกัน ที่เลื่อนปิดเปิดเป็นช่องแสงช่องลมได้เมื่อต้องการ ผนังทางเดินเข้าห้องพักทั้งสองข้าง จัดแสดงภาพข้อมูลวัฒนธรรมและความเชื่อในท้องถิ่น แทรกกับป้ายบอกเลขห้องพัก

องค์ประกอบในห้องพัก แสดงรูปแบบการตกแต่งและเครื่องเรือนที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านท้องถิ่น เช่น การใช้พื้นหินขัดตีกรอบด้วยโลหะ ผนังไม้มีคิ้วตกแต่ง ระแนงเหล็กใช้กับกรอบหน้าต่าง มือจับและกลอนประตูที่ใช้การล็อคขัดไม้ เตียงสี่เสา และอ่างดินเผาลวดลายวาดมือ

จากการทำงานร่วมกันกับเจ้าของโครงการ เราเกิดเป้าหมายร่วมกันในหลายๆ ด้าน ในมุมครอบครัวเจ้าของ โรงแรมกาลเป็นเหมือนบันทึกการส่งต่อฐานะบาบ๋า-ย่าหย๋าและสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่แม่ภูมิใจจะสืบทอดให้กับลูกหลานในครอบครัว ในด้านประโยชน์ต่อชุมชน โรงแรมกาล ได้เป็นสื่อกลางที่ช่วยนำเสนอคุณค่าความภูมิใจในชาติพันธุ์ และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหย๋าตะกั่วป่าให้เห็นได้เป็นรูปธรรม ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สร้างจุดเชื่อมโยง การประชาสัมพันธ์ธุรกิจไปพร้อมๆกับการให้ข้อมูลเรื่องราว โดยเฉพาะการสื่อสารไปกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยววิถีชุมชน และการให้ประสบการณ์ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเจ้าของ ที่จะคอยให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวัฒนธรรมและท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งนี้ ความพยายามของทุกฝ่ายในโครงการ ได้ส่งผลให้โรงแรมกาลเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวจากทะเลเขาหลัก ให้นักเที่ยวท่องรู้จัก สนใจ และอยากไปชื่มชมวัฒนธรรมในเมืองเก่าตะกั่วป่า ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนได้ทางตรงจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

Leave A Comment