HIPPIE AT HEART
“ฮิปปี้ที่ราบสูง”
Text : เนปาล–พิษณุ
Photo : ปวิช สีหาทับ
ณ โมเมนต์นี้หนุ่มสาวที่ชอบการเดินทาง และหลงใหลกับบรรยากาศ Music festival คงไม่มีใครไม่รู้จักกับเทศกาลดนตรีแห่งอีสานที่จัดโดยคนกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “อีสานเขียว” ซึ่งรวมตัวกันเพื่อจัดงานดนตรี “E-San Music Festival” จนได้รับฉายาให้เป็น Woodstock เมืองไทย
“E-San Music Festival” จัดขึ้นทุกปีที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ชอบการเดินทาง Camping กลุ่มฮิปปี้ที่ทำงานจิตอาสาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นศิลปิน ช่างภาพ ซึ่งสมาชิกคนสำคัญที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มและทำให้เกิดเทศกาลดนตรีนี้ก็คือปวิช สีหาทับ (กุ๊กไก่ อาร์ตเลนส์) ผู้จัดงานมาตั้งแต่ครั้งที่ 1 ซึ่งมีผู้เข้าชมงานเพียง 800 คน จนครั้งล่าสุดในปีที่ 7 ที่มีผู้มาร่วมงานจากทั่วสารทิศถึง 50,000 คน จะมาเล่าที่มาที่ไปให้เราฟัง
“เริ่มต้นจากในปี 2010 ผมกับเพื่อนๆ ประมาณ 4-5 คน มีความคิดอยากจะจัดงานเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ Woodstock บนแผ่นดินอีสานบ้านเกิด ซึ่งกลุ่มเพื่อนๆ เหล่านี้มารู้จักกันจากแนวทางการใช้ชีวิต และสไตล์การแต่งตัวที่คล้ายๆ กัน คือพวกเราจะหลงใหลวัฒนธรรมในยุค 60s 70s รักในความอิสระ เสรี รักธรรมชาติ และมีใจอนุรักษ์ ไม่เบียดเบียนสิ่งใด ดังนั้นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง “E-San Music Festival” ก็คือเครื่องหมาย Peace ครับ”
“จุดเด่นของงานก็คือบรรยากาศการตกแต่งที่ตั้งใจให้เป็น Woodstock เมืองไทยในโลเคชั่นทุ่งโล่งในที่ราบสูง เวทีวัสดุที่ทำจากธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ที่เราอุดหนุนจากชาวบ้านในท้องถิ่น สหายดนตรีซึ่งก็คือผู้ชมที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ พร้อมใจกันแต่งตัวหลากสีสันกางเกงขาม้า เสื้อผ้าพลิ้วไหว เครื่องประดับสร้อย Peace ฯลฯ ทุกอย่างประกอบกันจนทำให้งานเรามีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน มนต์เสน่ห์ของบรรยากาศ มิตรภาพ งานที่ไม่เคยมีการทะเลาะวิวาท เทศกาลดนตรีที่มีแต่รอยยิ้มและความอ่อนโยน น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราจัดงานได้อย่างต่อเนื่อง จนชื่อเสียงของคอนเสิร์ตเราไปไกลถึงต่างประเทศ”
เมื่อได้เข้าไปชื่นชมกับภาพบรรยากาศงานในปีต่างๆ จากเพจ “อีสานเขียว” เห็นได้ว่ามีกลิ่นอายของยุค 60s 70s สวยงามได้บรรยากาศความเป็น Woodstock อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะกุ๊กไก่ อาร์ตเลนส์ หนุ่มติสท์คนนี้เองที่รับหน้าที่สร้างภาพลักษณ์และคาแรกเตอร์ของงานให้ออกมาในทิศทางเดียวกันในทุกๆ ปี ทำให้เราอยากทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น
“ชื่อกุ๊กไก่อาร์ตเลนส์นี้เป็นฉายาของผมซึ่งเป็นที่รู้จักกันในภาคอีสานครับ ผู้คนจะรู้จักผมในบทบาทเป็นช่างภาพถ่ายพรีเวดดิ้ง และภาพสารคดี รวมถึงเป็นผู้กำกับเอมวี ซึ่งจริงๆ ผมไม่ได้เรียนถ่ายภาพมาด้วยซ้ำ และไม่ได้เรียนต่อในระดับสูงเลย ผมขออนุญาตคุณแม่ออกมาต่อสู้ในแนวทางของตัวเอง”
“สำหรับแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นช่างภาพของผมก็คือเรื่องราวของการตามหาภาพวัยเยาว์แรกเกิดของตัวเอง ซึ่งเป็นภาพที่ผมรักมาก อยู่มาวันหนึ่งภาพใบนั้นหายไป ทำให้ผมรู้สึกเสียใจ เลยเกิดความคิดว่า หลังจากนี้ไปเราจะถ่ายรูปให้ได้มากที่สุด เพื่อบันทึกเรื่องราวในชีวิตที่จะไม่ย้อนกลับมา จนคนเริ่มเห็นงานเรามากขึ้น มีงานจ้างเข้ามาให้ไปถ่ายสถาปัตยกรรมบ้าง มุมเมืองเก่าๆ บ้าง ความชื่นชมในสีสันบรรยากาศวินเทจ บวกกับงานของที่มักจะมีโลเคชั่นสวยๆ แปลกตา จึงกลายเป็นคาแรกเตอร์ของภาพถ่ายในแบบ My Style ผู้คนเริ่มบอกปากต่อปาก ว่ามีช่างภาพคนหนึ่งทางภาคอีสานที่ถ่ายภาพงานอีเวนท์ต่างๆ ได้ไม่ซ้ำใคร”
“การทำงานของผมจะต้องเดินทางบ่อย Daybeds ที่สะท้อนความเป็นผมก็น่าจะเป็นเก้าอี้ทรงผู้กำกับตัวนี้ ซึ่งสามารถติดไปใช้เวลาออกกองได้ทุกที่ หรือแม้แต่แต่กระบวนการ post production ที่บ้านผมก็ใช้บ่อย ไม่ใช่แค่เก้าอี้ที่สะท้อนความเป็นผม บรรยากาศในบ้าน ห้องทำงานของผม ก็จะถูกตกแต่งให้ มีความรื่นรมย์อยู่ในทุกมุม ผมเชื่อว่าบรรยากาศภายในบ้านที่สวยงาม ตกแต่งอย่างมีศิลปะ จะให้แรงบันดาลใจในการทำงานกับเราได้ ดังนั้น การแต่งตัว แต่งบ้าน ทุกอย่างของผมจะต้องเท่และสวยไว้ก่อน มันจะส่งผลต่อพลังงานในการทำงานของเรา เป็นแรงจูงใจ เป็นส่วนหนึ่งในการมาผลักดันให้เรามีความสุข เมื่อเรามีความสุข ก็จะมีพลังที่คิดสร้างสรรค์งาน”
ขอปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ที่ช่างน่ารักน่าหยิก เมื่อเราถามเขาว่า ถ้าจะให้นิยามว่า “กุ๊กไก่อาร์ตเลนส์” คือใคร คำตอบที่ได้รับคือ ช่างภาพพันธุ์ข้าวเหนียวแห่งที่ราบสูงที่มีภาพลักษณ์ทั้งงานและสไตล์ส่วนตัวสะท้อนความเป็นยุค 60s 70s และเป็นผู้จัดงาน “E-San Music Festival” ร่วมกับเพื่อนๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่ซึ่งมีบุคลิกเฉพาะตัว คือต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ถึงรูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขาจะดูเกรี้ยวกราด แต่จริงๆ แล้ว เราล้วนมีหัวใจเซเลอร์มูนกันทุกคน