HERN’S STUDIO


สตูดิโอหลังใหม่ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข
ศิลปินที่ใช้ชีวิตโดยมี
ศิลปะรายล้อมรอบตัว 

Text : นวภัทร ดัสดุลย์
Photo : เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

การกลับมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งนี้ของ Daybeds เราชิงจังหวะเวลาช่วงเว้นวรรคจากการเดินเก็บบรรยากาศภายในงาน Chiang Mai Design Week 2016 แวะมาหาผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเรานัดเขาเอาไว้ในช่วงสายของวัน ที่ Gallery Seescape ในนิมานเหมินทร์ ซอย 17 ผู้ชายคนนั้นที่เราหมายถึง คือ ‘คุณเหิร  ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินหนุ่มมากความสามารถและเจ้าของ Gallery Seescape ที่ย้ายพำนักจากบ้านเกิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตั้งถิ่นฐานใช้ชีวิตเนิบๆ พร้อมสร้างสรรค์งานศิลปะเหนือจินตนาการออกมาให้เราชื่นชมอยู่เรื่อยๆ นับตั้งแต่จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงกาลปัจจุบันกินระยะเวลานานนับ 10 ปีกว่า จนสามารถเรียก ‘เชียงใหม่’ เมืองนี้เป็นบ้านได้อย่างเต็มปากเต็มคำไปเสียแล้ว

ศิลปินหนุ่มมาดเซอร์ที่วันนี้มวยผม สวมใส่เสื้อยืดสีเหลืองสบายๆ ขับรถยนต์พาเราออกจาก Gallery Seescape ไปทางถนนคันคลองชลประทาน ก่อนลัดเลาะเข้าซอยเชียงทองจนสุดซอยที่ 4 ใช้เวลาราว 20 นาที มาถึงยังจุดหมายที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินเชียงใหม่มากนัก ที่นี่คือพิกัดที่ตั้งของ ‘เหิรสตูดิโอ’ พื้นที่พักอาศัยและสรรสร้างงานศิลป์ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมอันร่มรื่น

จากบ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นมากว่า 8 ปี หมดพื้นที่ไปกับการจัดแสดงงานศิลปะของตัวเอง ถึงขนาดที่เจ้าตัวกล่าวกับเราแบบติดตลกว่า “ตอนนี้ก็แทบจะไม่มีที่นอนแล้วครับ” จึงถึงเวลาขยับขยายออกมาสู่บ้านหลังที่สองในนาม ‘เหิรสตูดิโอ’ ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดเก็บและจัดแสดงงานชิ้นใหม่ของตัวเองเพิ่มเติมโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาพักแรมสามารถจองผ่านเว็บไซต์ Airbnb ได้อีกด้วย (บอกใบ้ จำกัดจำนวนผู้เข้าพัก 4 คน/หลัง/คืน สนนราคาถูกกว่าที่คิดเพียง 3,500 บาทเท่านั้น)

 


อาคารคอนกรีตเปลือยหลังคาทรงจั่ว เน้นช่องเปิดรับแสงธรรมชาติทั่วถึงทุกพื้นที่ภายใน ขณะที่ส่วนชั้นบนคือสะพานเชื่อมอาคารทั้งสองฝั่งซึ่งมีระเบียงใหญ่เป็นที่นั่งพักพิงชมธรรมชาติได้อีกด้วย


หุ่น ‘Besto boy’ และผลงานเพนท์ติ้ง ‘Air border Series’ 


ก้าวเข้ามาในพื้นที่ชั้นล่างของสตูดิโอ จะมีเจ้าหุ่นหัวสวิตช์ไฟ หรือ Besto Boy ยืนต้อนรับผู้มาเยือนแบบนิ่งๆ ไม่ยิ้ม ไม่หืออืออะไรใต้โถงดับเบิ้ลสเปซ ถัดเข้าไปด้านในอีกนิดคือ โต๊ะกินข้าวที่ประกอบขึ้นจากเหล็กหลังบ้านกับบานประตูเก่า เก้าอี้เหล็กพับขึ้นสนิม ครัว ชุดโซฟารับแขกเข้ามุมที่ประดับผลงานเพนท์ติ้ง ‘Air border series’ และห้องน้ำ


คุณเหิรออกแบบมุมครัวด้วยการหล่อเคาน์เตอร์ในรูปทรงอิสระอิงไปกับแนวผนังอาคาร พร้อมติดตั้งเครื่องดูดควันโดยตีกล่องเหล็กหุ้มท่อดูดอากาศเอาไว้


ห้องน้ำสีสันบาดใจเกิดจากการจัดเรียงกระเบื้องคละลวดลายตามแนวตัด 45 องศาแบบอิสระ

 

“ที่นี่เป็นโกงดังเก็บของมาก่อน” ศิลปินหนุ่มเท้าความขณะพาเราเดินชมมุมต่างๆ ของสตูดิโอ “เราอยากจะมีพื้นที่แสดงงานเพิ่มและเก็บของให้เรียบร้อย เพราะปกติมันจะเลอะเทอะ พอทำมาเรื่อยๆ เริ่มจะมีฟังก์ชันอื่นเพิ่มเข้ามา อยากจะมีห้องนอน ห้องน้ำ ไว้มานั่งทำงานเป็นออฟฟิศได้ บ้านหลังนี้ทำจากวัสดุรีไซเคิลมากกว่า 30% พวกเหล็ก ไม้ ผมใช้วิธีเก็บของที่มันเก่าๆ เพราะชอบ story ที่มันฝังอยู่ในวัสดุ อย่างเหล็กจากโรงงาน ถลอกอย่างไรอย่างนั้น ผมเห็นว่ามันงามนะ มันมีประวัติศาสตร์ของมัน ของใหม่หรือของแกล้งทำให้เก่าทำไม่ได้ ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 เดือน คุมงานเอง ใช้ช่างทำกันเอง ถ้าใช้ผู้รับเหมาเขาคงจบงานไม่ได้ เพราะแบบมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

อาคารคอนกรีตเปลือยหลังคาทรงจั่วหลังที่ 2 นี้สร้างขึ้นประชิดกับบ้านหลังแรกซึ่งก็เป็นอาคารคอนกรีตในลักษณะเดียวกัน โดยพื้นฐานการออกแบบและตกแต่งนั้น คุณเหิรเน้นหลักสัจธรรมของสรรพสิ่งและความเรียบง่ายเป็นที่ตั้ง ทั้งวัสดุรีไซเคิลและสิ่งของรอบตัวที่สามารถนำมาปรับใช้กับการตกแต่งโดยอาศัยความสร้างสรรค์นำทาง “ความเนี้ยบไม่ใช่ประเด็นของความงาม แต่ไม่ใช่เราทำไม่เนี้ยบนะ ส่วนที่เนี้ยบเราก็ต้องซีเรียสเป็นพิเศษ เช่น ก๊อกต้องไม่รั่ว ไฟต้องไม่ดูด ระบบโครงสร้างต้องดี แต่ส่วนต่อเติมตกแต่งเรามองว่ามันขัดแย้งกันระหว่างเนี้ยบกับไม่เนี้ยบ ใช้วิธีผ่อนปรน ถ้ามันเนี้ยบไปหมดก็จะเหมือนเราอาศัยอยู่ในโปรแกรม 3D มนุษย์ไม่ควรจะไปอยู่ในโปรแกรม 3D ผมได้แนวคิดนี้มาจากการทำงานศิลปะ เช่นเวลา Painting ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันก็เป็นธรรมชาติของมัน ไม่ได้วิ่งหาว่ามันจะสมบูรณ์แบบ” 

“บ้านหลังนี้ทำจากวัสดุรีไซเคิลมากกว่า 30% พวกเหล็ก ไม้ ผมใช้วิธีเก็บของที่มันเก่าๆ เพราะชอบ story ที่มันฝังอยู่ในวัสดุ อย่างเหล็กจากโรงงาน ถลอกอย่างไรอย่างนั้น ผมเห็นว่ามันงามนะ มันมีประวัติศาสตร์ของมัน ของใหม่หรือของแกล้งทำให้เก่าทำไม่ได้”

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

 


ในขณะที่รัสเซียและอเมริกาแข่งกันส่งยานอวกาศออกไปสำรวจจักรวาลในโลกแห่งความเป็นจริง อีกมุมหนึ่งชายผู้นี้ก็ขะมักเขม้นอยู่กับการประดิษฐ์โมเดลยานอาม่ารุ่นต่างๆ จากแจกันไหว้พระ เพื่อออกไปสำรวจโลกในจินตนาการด้วยเช่นกัน


คุณเหิรเขียนแบบบันไดวน เส้นผ่านศูนย์กลาง 52 เซนติเมตร เพื่อการเดินวนขึ้นและลงที่สะดวกสบาย และเกิดความพอดีกับสเปซของอาคารที่ค่อนข้างจำกัด


จากสะพานเชื่อมระหว่างบ้านข้ามมาที่สตูดิโอ ติดตั้งบานเลื่อนกระจกเพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านเข้ามาด้านในได้แบบเต็มพื้นที่ พื้นที่ทั้งชั้นบนและชั้นล่างจึงสว่างไสวโดยไม่ต้องเปิดไฟให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวันแต่อย่างใด


บริเวณชั้น 2 ของสตูดิโอคือมุมนั่งทำงานและพักผ่อน ความพิเศษของโต๊ะทำงานคือมีฟังก์ชันเป็นขั้นบันไดทางขึ้นห้องนอนในตัว และที่พิเศษสำหรับเรายิ่งกว่าคือห้องใต้หลังคาที่มีรูดูดาวข้างเตียงนุ่มๆ เป็นพื้นที่น่าทิ้งตัวลงนอนที่สุด


จากคำบอกเล่าของศิลปินหนุ่ม สะพานเชื่อมส่วนของบ้านกับสตูดิโอแห่งนี้เกิดขึ้นจากความแค่อยากทำสะพานที่สามารถเชื่อมไปที่เก็บของได้เท่านั้น “พออยากได้สะพานมันก็เริ่มลามไปอยากได้อีกหลัง ผมชอบเวลาสถาปัตยกรรมมันมีสะพานเชื่อมกัน เพราะเวลาเรายืนสูงกว่าพื้นดินไล่เลี่ยกับยอดต้นไม้ ความรู้สึกมันจะเปลี่ยนไป เหมือนเราปีนต้นไม้เล่นตอนเด็ก”


ตีนตุ๊กแกเลื้อยปกคลุมบ้านหลังแรกจนเป็นสีเขียวและแทบไม่เห็นเนื้อคอนกรีตเปลือย บริเวณส่วนท้ายของบ้านคือประตูทางเข้าแกลเลอรี และพื้นที่เอาต์ดอร์สำหรับการมาแคมป์ปิ้ง ส่วนช่องแสงวงกลมจากมุมที่เห็นนี้คือจุดกำเนิดของทวิภพรูปทรงต่างๆ ในเวลาต่อมานั่นเอง


มองผ่านช่องเปิดบริเวณส่วนเชื่อมต่อระหว่างโรงเก็บของกับด้านหน้าสตูดิโอหลังใหม่ ซึ่งมีการติดตั้งกรอบบานหน้าต่างและวงกบจากเหล็กขึ้นรูปด้วยมือ ผลงานชิ้นใหม่ของคุณเหิรในชื่อ ‘ทวิภพ’ (tawipob.design) ที่สร้างสรรค์งานศิลปะให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอย่างถาวร นำเสนอแนวคิดให้ผู้อยู่อาศัยได้เห็นโลกในมุมมองที่ต่างออกไปผ่านช่องเปิดรูปทรงอิสระหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกในงาน Chiang Mai Design Week 2016 ที่ผ่านมา


โรงเก็บของกึ่งโรงงาน พื้นที่ซึ่งผลงานทุกชิ้นของคุณเหิรต่างมีจุดเริ่มต้นขึ้นจากที่นี่ทั้งสิ้น

จากนั้นศิลปินหนุ่มพาเราข้ามกลับมาชมแกลเลอรีในบ้านหลังเก่า ที่จะว่าไปก็เปรียบเสมือนเป็นโรงจอดกระสวยอวกาศไปเสียแล้ว เพราะผลงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่ผ่านการจัดแสดงออกสู่สายตาบุคคลทั่วไปมาแล้วอย่าง ‘The Hidden Lab’ ถูกนำมาจัดเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวแห่งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะส่งไปสำรวจจักรวาล/จัดแสดงยังสถานที่ใหม่ๆ ในอีกมุมโลกอีกครั้งในอนาคตอันใกล้

ศิลปินเจ้าของผลงานกระสวยอวกาศแห่งโลกจินตนาการลำนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า “เราทำให้เป็นเหมือนว่ายานพวกนี้อาจจะถูกสร้างในสมัยที่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็น ยานจากตู้กับข้าวธรรมดานี่แหละ ยานอวกาศหรืออวกาศมันทำให้เราอยากรู้ว่าข้างนอกคืออะไร แต่ถ้าเราย้อนกลับไปเป็นอดีต เราอาจจะรู้ข้างใน มันต่างกันทางความคิดก็เลยเอามาชนกัน มันพูดได้หลายเรื่อง เรื่องความคิดของความเป็นตะวันออก และเรื่องอดีตของความเป็นท้องถิ่นแบบเราด้วย ผมว่าถ้าเราย้อนกลับไปเอาสิ่งที่มีอยู่มันก็ทำให้แต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน แล้วมันจะมีความพิเศษขึ้นมา ผมพยายามทำงานให้มันมีคำถามต่อให้คนอื่นได้คิดเรื่องอื่นๆ ด้วย ถ้ามันไปวางอยู่ในที่โมเดิร์นมากๆ มันจะสร้างคำถามให้กับพื้นที่ตรงนั้นได้”


ศิลปินหนุ่มมาดเซอร์ วันนี้มวยผม สวมใส่เสื้อยืดสบายๆ ยืนเท้าสะเอวเล่าที่มาของผลงานศิลปะจัดวาง ‘The Hidden Lab’ ภายในแกลเลอรีส่วนตัวบริเวณชั้นล่างของบ้านหลังแรก


The Hidden Lab ‘installation interactive kinetic electronic art’ เกิดจากการติดตั้งแผงวงจรไฟฟ้าเข้าด้วยกันกับโต๊ะเก่า ตู้เก่า ลิ้นชักเก่า หลอดไฟ แจกัน ท่อ ฯลฯ กลายเป็นผลงานศิลปะจัดวางคล้ายยานอวกาศจากยุคอดีต

 

“ความคิดที่ผมเชื่อมโยงไปสู่งานออกแบบชิ้นหลังๆ ก็คือว่า ใครเป็นคนให้คำจำกัดความว่าสิ่งนี้เชย ไร้ซึ่งรสนิยม แล้วดูราคาถูก ผมเลือกอันนั้นก่อนเลย ถ้าอันนั้นมันจริงสำหรับเรา ลายอาม่า ลายมังกร ถ้าถูกใช้ในงานออกแบบมันอาจจะเสี่ยว แต่เสี่ยวนั่นแหละเป็นตัวเราเลย หรือจะเท่แต่เป็นคนอื่นหละ”

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

หลายคำตอบที่ได้ฟังจากปากของศิลปินและเจ้าของบ้านหลังนี้ช่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมาเหลือเกิน แต่นั่นแหละคือตัวตนและแก่นแท้ของเขา ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินผู้สร้างสรรค์สิ่งสามัญธรรมดาให้ไม่ธรรมดาด้วยแนวคิด ด้วยจินตนาการ ด้วยสัจธรรม ถ้าไม่ใช้คำว่าคุ้มค่ากับการมาเยือนก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะมีคำไหนเหมาะกับการได้มาชม ‘เหิรสตูดิโอ’ ไปมากกว่านี้

Leave A Comment