HASHME
#กินได้ #ถ่ายดี #มีฟิลเตอร์ด้วย
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: W Workspace
Design: Onion
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเปรียบเสมือนพลังขับเคลื่อนโลกให้หมุนเร็วขึ้นในความรู้สึก โดยเฉพาะในยุคที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ย่อโลกทั้งใบมาอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้วสัมผัส การถือกำเนิดของสมาร์ทโฟนถ่ายภาพคมชัดทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง ตลอดจนแอพลิเคชั่นยอดฮิตต่างๆ ที่สามารถถ่ายภาพได้ปุ๊ป แต่งภาพได้ปั๊ป ใส่แคปชั่นติดแฮชแท็กแล้วแชร์ได้เลยทันทีหาก 3G หรือ 4G ไม่หมดเสียก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนผันไปตามยุคสมัย อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันไปแล้วก็ไม่ผิดนัก
แขนงหนึ่งที่แตกย่อยจากวัฒนธรรมใหม่ที่เรากำลังพูดถึง คือ พฤติกรรมการถ่ายก่อนทานของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งรุ่นใหญ่บางกลุ่มในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นประเด็นหลักที่เจ้าของร้านอาหารร้านอาหารอิตาเลี่ยนและเอเชี่ยนฟิวชั่น Hashme ซึ่งมีสโลแกนว่า ‘Eatin’good • Snappin’great’ จับมาต่อยอดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างชาญฉลาดและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทำนองว่า จะทานก็ดี จะถ่ายก็เยี่ยม นำเสนอผ่านรูปแบบการจัดแต่งจานในอาหารที่เสิร์ฟแต่ละเมนูอย่างสร้างสรรค์ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการออกแบบและตกแต่งภายในของร้าน ที่ล้อเลียนไปกับวัฒนธรรมการถ่ายภาพแล้วแต่งรูปด้วยการใส่ฟิลเตอร์หลากสีสัน เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับคนกรุงที่รักการสังสรรค์ รักการรับประทานอาหาร และรักการอัพรูปลง fackbook และ Instagram โดยเฉพาะ ส่วนการตั้งชื่อ Hashme เป็นการสะท้อนไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มักติดเครื่องหมาย # หรือ Hashtag เพื่อเน้นย้ำความรู้สึก ใจความสำคัญ หรือประเด็นที่สนใจ ณ ขณะนั้น สื่อสารผ่านวลีสั้นๆ ใน account เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนตัว
ในการออกแบบและตกแต่งภายในบนพื้นที่ขนาด 120 ตารางเมตร ของร้าน Hashme ได้สองนักออกแบบฝีมือดีจากบริษัทสถาปนิกและออกแบบตกแต่งภายใน Onion คือ คุณป้อ-ศิริยศ ชัยอำนวย และคุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ มารับหน้าที่เปลี่ยนบรรยากาศของห้องกระจกแสนธรรมดาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตีโจทย์ผ่านแนวคิดที่ทันสมัยด้วยการใส่ฟิลเตอร์ที่แตกต่างกันลงไปถึง 5 สี จาก 5 วัสดุ ประกอบด้วย สีชมพูจากแผ่นกระจก, สีน้ำตาลอ่อนจากไม้โอ๊ค, สีดำจากเหล็ก, สีขาวจากหินอ่อน และสีเขียวน้ำทะเลจากการเพ้นท์ โดยที่ยังซุกซ่อนลูกเล่นน่าสนุกลงในรายละเอียดยิบย่อย เช่น บนโต๊ะ เก้าอี้ และแอ็คเซสโซรีชนิดเดียวกันยังถูกแบ่งออกเป็นสองสีเมื่อถึงจุดตัดระหว่างฟิลเตอร์
“Hashme เราตีความคำว่า Hash มาจาก Hashtag ในอินสตาแกรม เราก็เลยเล่นอะไรเกี่ยวกับการถ่ายรูป” คุณป้อสถาปนิกและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Onion เล่าถึงรายละเอียดในงาน “ในอินสตาแกรมเวลาเราจะลงรูปมันจะมีฟิลเตอร์ให้เลือก เราก็เลยเอามาใช้ให้ภาพมีหลายฟิลเตอร์ มันน่าสนใจตรงที่จากภาพ 3 มิติ พอเรามาตัดแบ่งปุ๊บ มันอาจจะทำให้เห็นเป็น 2 มิติ เหมือนกับภาพถ่าย อย่างเก้าอี้จะมี 2 สี กระจกก็มี 2 สี ตรงไหนที่ตัดกันเราก็จะเปลี่ยนวัสดุหรือใช้การพ่นสีทับ เช่น เก้าอี้ โต๊ะ และฝ้าเพดาน”
Hashme ตั้งอยู่ในชั้นบนสุดของ 9:53 Art Mall คอมมิวนิตี้มอลล์ใจกลางทองหล่อ ซอย 9 ซึ่งสามารถมองทะลุกระจกออกไปเห็นตึกระฟ้าและความเคลื่อนไหวอันจอแจจากภายนอกอย่างเต็มสายตาในความรู้สึกต่างออกไปด้วยฟิลเตอร์หลากสี ซึ่งความแตกต่างของแถบสีในพื้นที่เดียวกันนี้ นอกจากจะกลายเป็นความสร้างสรรค์ที่จุดชนวนความน่าสนใจให้กับลูกค้าที่แวะมารับประทานอาหารตั้งแต่แรกพบไปโดยปริยายแล้ว แน่นอนว่าพฤติกรรมการถ่ายก่อนทาน คิดแคปชั่นแล้วติดแฮชแท็กอัพรูปลง fackbook และ Instagram จะไม่ถูกใครว่ากล่าว เพราะที่นี่เขาออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ
Hashme เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11 โมงเช้า ยาวไปจนถึง 5 ทุ่ม พร้อมเสิร์ฟวาฟเฟิ่ลเนื้อนุ่มกลิ่นหอมเย้ายวนและอีกหลากหลายเมนูชวนอร่อยคอยให้ทุกคนมาแชะแล้วแชร์ ว่าแต่หากใครมีโอกาสได้มารับประทานอาหารที่ Hashme ก็อย่าลืมส่งต่อความประทับใจที่มีผ่านการติดแฮชแท็ก #hashmeofficial ใน account fackbook และ Instagram ส่วนตัวด้วยก็แล้วกัน #กินได้ #ถ่ายดี #มีฟิลเตอร์ด้วย #จบ
แม้ในพื้นที่เดียวกันแต่มีการใส่ฟิลเตอร์ที่แตกต่างกันถึง 5 สี จากวัสดุ 5 ชนิด ประกอบด้วย กระจกลามิเนตสีชมพู, แผ่นไม้โอ๊คสีน้ำตาลอ่อน, แผ่นเหล็กสีทึมดำ, หินอ่อนสีขาวนวล และสีเขียวเพนท์ รวมถึงการติดฟิล์มสีและการเพ้นท์สีพื้น ผนัง และฝ้าเพดานให้เกิดเป็นพื้นที่ 3 มิติหลากเฉดสี
แม้แต่การเสิร์ฟขนมและอาหาร เช่น เมนูวาฟเฟิลจานนี้ซึ่งเป็นเมนูเด่นของร้านยังถูกตกแต่งแบ่งสีให้ดูน่ารับประทานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการออกแบบร้าน
Onion ใช้วิธีการเปลี่ยนวัสดุของพื้นและผนัง ผสานกับการเพ้นท์สีทับเฟอร์นิเจอร์ในการแบ่งฟิลเตอร์แต่ละแถบสี เหมือนเป็นข้อบังคับกลายๆ ว่า ห้ามเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักไปจากจุดที่ตั้งเดิมของมัน เพราะรายละเอียดทั้งหมดถูกกำหนดไว้ตายตัวหมดแล้ว
มิติของภาพคล้ายกับว่าเรากำลังมองผ่านเลนส์กล้องที่ใส่ฟิลเตอร์สีชมพูอยู่อย่างไรอย่างนั้น
เมื่อมองทะลุกระจกจะเห็นวิวเมืองในความรู้สึกต่างออกไปด้วยฟิลเตอร์สีต่างๆ
Contact : Hashme
9:53 Art Mall
ทองหล่อ 9 กรุงเทพมหานคร
โทร.0-2662-4328
Instagram: hashmeofficial