HANGAR
โรงประกอบเครื่องบินกระดาษที่อาจหาญและมั่นคง
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: Black & Life photography
Interior Designer: พรศรินทร์ เต้าประยูร
Project manager: ชัยวิชิต คิดชอบ
Contractor: ADB Ablaze De Build Co.Ltd.
จากพื้นที่เดิมซึ่งเป็นโครงสร้างที่จอดรถของอาคารจามจุรี สแควร์ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องความสูงของฝ้าและพื้นต่ำกว่าพื้นที่ภายนอก อีกทั้งยังมีช่องเปิดสำหรับแสงธรรมชาติน้อย DTAC accelerate จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมด 450 ตารางเมตร สร้างเป็น Coworking space ขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า ‘Hangar’ (ฮางก้า) ซึ่งมีแนวความคิดมาจากโรงประกอบและเก็บเครื่องบิน ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเครื่องบินกระดาษลำเล็กๆ ที่สร้างด้วยมือของคนธรรมดา จากความฝันที่จะเห็นเครื่องบินกระดาษของพวกเขาบินขึ้นสู่ท้องฟ้า แม้เริ่มต้นจะอาศัยเพียงแค่แรงลม แต่กล้าหาญบินเทียบรัศมีเครื่องบินยักษ์ใหญ่ เปรียบเหมือนบริษัท Start-up ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่มีคนทำงานไม่กี่คน ก็พร้อมก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ พบการแข่งขันอันดุเดือด พบคู่แข่งใหญ่น้อยมากมาย และ DTAC คือกังหันลม หมุนใบพัดเกิดเป็นสายลม ส่งให้เครื่องบินกระดาษนั้น ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างมั่นคง
คุณพรศรินทร์ เต้าประยูร นักออกแบบอิสระที่ผ่านประสบการณ์ทำงานกว่า 15 ปี จากอังกฤษ, DB&B ในสิงคโปร์, Steven J. League Bangkok, Hassell Bangkok, Gensler Bangkok และ HBO+EMTB Bangkok ในฐานะทีมออกแบบตีความหมายของ Hangar ที่ DTAC accelerate ออกมาในรูปแบบที่อยากให้ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ Hangar จะรู้สึกเสมือนอยู่ในโรงงานประกอบเครื่องบิน เพราะการตกแต่งในสไตล์ลอฟต์ ซึ่งแฝงความเนี้ยบเฉียบแบบโมเดิร์นเอาไว้ รวมถึงลักษณะการใช้พื้นที่ของโรงประกอบเครื่องบิน ก็ได้นำมาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำงาน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้เปิดโล่ง และปรับเปลี่ยนรูปการใช้งานได้ พื้นปูนเปลือย ฝ้าเพดานโชว์งานระบบ และผนังบางส่วนกรุด้วยแผ่นเหล็ก Metal sheet เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นโรงงาน ตลอดจนนำไม้เก่ากลับมาใช้เป็นเคาน์เตอร์ต้อนรับ เพื่อให้ดูอบอุ่นและโชว์ความดิบของวัสดุมาผสมผสานกัน นอกจากนี้ยังมีเสน่ห์ของสีฟ้าที่หยอดไว้ในที่ต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นอายของความเป็น DTAC
Hangar แบ่งพื้นใช้งานออกเป็น 3 โซน เริ่มจาก Register counter ทางด้านหน้าเพื่อแจ้งกิจกรรมและบอร์ดประชาสัมพันธ์ของ Hangar พื้นที่ของโซน Flexible desk เป็นพื้นที่โล่งซึ่งสามารถมาปรับเปลี่ยนลักษณะโต๊ะทำงานเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ โดยมีเครื่องบินกระดาษเป็นตัวกั้น นอกจากนี้ Hangar ยังมี Meeting โซน ทั้งแบบปิด 4-10 คน และพื้นที่ประชุมเปิดโล่งที่เรียกว่า Town Hall เป็นที่นั่งขั้นบันได ขนาดใหญ่จุคนได้ถึง 200 คน ในบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งมี Touch Projector Screen ใช้สำหรับการ Presentation ขนาดใหญ่
ในโลกยุคดิจิตัลที่หมุนด้วยปลายนิ้ว การทำงานในพื้นที่ Coworking space จึงกลายมาเป็นความนิยมของ Start-up หรือคนทำงานยุคใหม่ที่เบื่อหน่ายการเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ แล้วหันมาแชร์พื้นที่ทำงานร่วมกันแบบอิสระแทน ดูเหมือนว่า DTAC accelerate ไม่เพียงแค่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์เมืองใหญ่ แต่ยังเข้าถึงงานดีไซน์ที่เอื้อต่อการทำงานที่ใช้ความคิดได้ไม่น้อยทีเดียว
“DTAC คือกังหันลม หมุนใบพัดเกิดเป็นสายลม
ส่งให้เครื่องบินกระดาษนั้น ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้อย่างมั่นคง”
บริเวณเคาน์เตอร์ลงทะเบียน (Register counter) มีการนำไม้เก่ากลับมาใช้เป็นเคาน์เตอร์ต้อนรับ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและโชว์ความดิบของวัสดุมาผสมผสานกัน อีกทั้งการเลือกใช้ผนังกระจกใสยังช่วยให้คนทำงานไม่รู้สึกอึดอัด เพิ่มความรู้สึกโปร่งโล่งมากกว่าการใช้ผนังปิดทึบ
เครื่องบินกระดาษพับซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ Hangar ยังได้นำมาใช้เป็นพาทิชั่นแบ่งพื้นที่ให้เป็นลักษณะเหมือนเครื่องบินกระดาษจริงที่สามารถร่อนได้จริงๆ และยังมีฟังก์ชันในตัวเพื่อเป็นการตอบสนองโจทย์ของ DTAC accelerate มากขึ้น รวมถึงมีมุมนั่งพักสีฟ้าที่แสดงออกถึงความเป็น DTAC ได้อย่างชัดเจน
เนื่องจากพื้นที่เป็นโครงสร้างที่จอดรถเก่าและมีฝ้าต่ำ จึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดฝ้าเพดาน โชว์งานระบบและทาสีดำ ทำให้ดูเสมือนฝ้าสูงขึ้น อีกทั้งพื้นที่ของโซน Flexible desk ถูกออกแบบให้เปิดโล่ง ซึ่งสามารถมาปรับเปลี่ยนลักษณะโต๊ะทำงานเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ส่วนใหญ่
Hangar Meeting Zone ห้องประชุมย่อยแบบปิด 4-10 คน
Town Hall พื้นที่ประชุมแบบเปิดโล่งที่นั่งขั้นบันได สามารถจุคนได้ถึง 200 คน