GEOMETRIC SCENERY

เชิงชั้นแห่งความงดงาม

Text: Doowoper
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
Design: ณัฐพงศ์ เพียรเซลงเอก บริษัท Gooseberry Design

บ้านขนาดกะทัดรัดภายใต้แนวคิดอันลึกซึ้ง ที่เล่นกับรูปทรงเรขาคณิต+การดีไซน์แปลนให้ตรงจุดถูกจริตฟังก์ชั่นการใช้งาน จนคลายปมพื้นที่ลึกแคบได้เกิดประโยชน์ เผยบรรยากาศอันอบอุ่นร่มเย็น เชื่อมโยงและผูกมิตรการอยู่อาศัยในครอบครัวได้อย่างน่าทึ่ง!

ขณะรถแล่นอยู่บนถนนสุขุมวิทสายเก่า จ.สมุทรปราการ ก่อนถึงที่หมาย ทีมงานได้เห็นบ้านที่เรากำลังไปเยือนในระยะสุดสายตา ตั้งเด่นอวดคาแรกเตอร์ที่ผิดแผกไปจากบริบทรอบข้างทีเดียว ซึ่งข้อมูลที่เราสืบทราบมาเบื้องต้นคือบ้านหลังนี้เป็นของคุณเอก – ณัฐพงศ์ เพียรเซลงเอก สถาปนิกแห่ง Gooseberry Design ที่มีผลงานออกแบบที่อยู่อาศัยมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ บ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮ้าส์ที่ทำให้กับดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำอย่าง Sansiri, Q House และ SC Asset รวมถึงดีเวลลอปเปอร์หน้าใหม่อีกหลายเจ้า ด้วยชั่วโมงบินที่สูงเปิดบริษัทมาแล้วกว่า 10 ปี เราจึงแอบหวังใจว่าบ้านที่เขาออกแบบให้กับตัวเองนั้นต้องมีทีเด็ดอะไรซุกซ่อนอยู่แน่นอน  

ผมอยู่ในซอยนี้มาตั้งแต่จำความได้แล้วครับ ซึ่งบ้านหลังเก่าก็อยู่ถัดไปจากอพาร์ตเมนท์ข้างๆ นี่เอง คุณเอกอธิบายพิกัดบ้านหลังเดิมด้วยสุ้มเสียงทุ้มใส ก่อนบอกเล่าถึงที่มาที่ไปอย่างเย็นใจ โดยแรกเริ่มเลยเนี่ย ตั้งใจซื้อที่ดินผืนนี้ไว้เพื่อทำเป็นบ้านเดี่ยวสำหรับขาย แต่พอคิดอีกที ลูกทั้งสองคนนั้นเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บวกกับทำเลอยู่ใกล้รถไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดให้บริการปลายปี ผมจึงเปลี่ยนแผนใหม่ เดินหน้าทำบ้านแห่งนี้ให้กับตัวเองและครอบครัวแทน 

แม้ลักษณะที่ดิน 50 ตร.ว. รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าของที่นี่มีข้อจำกัดคือความแคบและลึกแถมถูกห้อมล้อมด้วยตัวตึกของอพาร์ตเมนท์แต่กลับไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของสถาปนิกหนุ่มเพราะเขาสามารถจัดการได้อยู่หมัดด้วยวิธีการออกแบบบ้านเป็นรูปตัว U ตัดทอนเนื้อที่ตรงกลางอุทิศให้เป็นพื้นที่สีเขียวเปิดโล่งเผยคอร์ทยาร์ดขนาดกะทัดรัด  ก่อนจะสร้าง ผมได้ทราบข้อจำกัดของพื้นที่ดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ถ้าสร้างเต็มเนื้อที่ คงดูแน่นอึดอัดแย่ ผมจึงวางแผนเจียดพื้นที่บางส่วน ออกแบบให้เป็น open space เพื่อดึงความเป็นธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในครับ และมีการนำแนวคิดของภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยดีไซน์ให้มีโถงทางเดินหรือ transition space อยู่ตรงกลาง ลักษณะเหมือนชานบ้านของเรือนไทยสมัยก่อน ที่เป็นตััวเชื่อมสำหรับเดินผ่านไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านนั่นเอง คุณเอกเล่าพลางพาเราเดินชมบ้าน ซึ่งชั้นล่าง เมื่อเปิดประตูเข้ามาพื้นที่ส่วนแรกจะพบกับแพนทรี่และโต๊ะรับประทานอาหาร โดยมีโถงทางเดินเชื่อมโยงไปสู่ห้องนั่งเล่นด้านหลัง และพื้นที่บันไดสำหรับขึ้นไปยังชั้นสอง ซึ่งมีการติดตั้งประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ และประตูบานเฟี้ยมไว้สำหรับเปิดกว้าง… รับลมเย็นได้สบาย แถมทุกๆ ห้องยังสามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวตรงกลางบ้านได้อีกต่างหาก 

ผลงานบ้านทุกหลังที่ออกแบบ รวมถึงบ้านตัวเองหลังนี้ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ คือเรื่องการออกแบบจัดวางแปลนที่ดีครับ เพราะผมเชื่อว่าหากจัดวางให้ถูกที่ ถูกตำแหน่ง เหมาะสมและตอบโจทย์แก่ผู้ใช้งาน แม้เป็นพื้นที่ขนาดเล็กๆ ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากเช่นกัน คุณเอกกล่าวเสริม ขณะที่เราหยุดเดิน เพื่อชมห้องทำงานที่อยู่บนชั้นสอง พร้อมแง้มต่อถึงที่มาของเรื่องรูปทรงบ้านอันแปลกตา โดยเขาเล่าว่าอยากสะท้อนความมีเอกลักษณ์ออกมาให้ไม่เหมือนใคร เขาจึงนำ Mass Form ตรงกลางของบ้าน (ที่ตัดทอนเป็นคอร์ทยาร์ด) มาเป็นอินสไปร์ในการทำฟอร์มของหลังคาจั่วด้านหน้า และส่วนที่เหลือย่อยเป็นสัดส่วนเล็กๆ เพื่อทำเป็น facade ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งสร้างความโดดเด่นสวยงามแล้ว ฟาสาดเหล็กที่ต่อกันเป็นโมดูลยังตั้งใจดีไซน์ให้เสมือนกระถาง สามารถนำต้นไม้มาปลูกแต่งแต้มให้เกิดความร่มรื่นแก่ตัวอาคาร รวมถึงเป็นระแนงสำหรับกรองแสงแดดและความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว ที่จริงห้องทำงานนี้ เดิมผมตั้งใจทำเป็นห้องนอนให้กับลูกชายครับ แต่เขาเพิ่งอายุ 5 ขวบเอง คงรอให้โตขึ้นเป็นหนุ่มก่อน แล้วผมจึงจะคืนให้ (อมยิ้ม) ส่วนจุดเด่นของห้องนี้คือผมออกแบบโชว์ความดิบเปลือยของเนื้อคอนกรีตที่หล่อขึ้นเป็นหลังคาเลย หลายคนที่ยังไม่เคยมาแต่เห็นรูป มักข้องใจว่าห้องไม่มีเพดานมันไม่ร้อนได้อย่างไร จริงๆ เป็นหลักการง่ายๆ  ถ้าคุณไปโบสถ์ในวัดลองสังเกตสิ หลังคาสูงโปร่งทั้งนั้น ไม่ต้องเปิดแอร์ก็เย็น นี่คือภูมิปัญญาไทยๆ ที่ผมดึงมาใช้เหมือนกันตลอดระยะเวลาการถ่ายทำและสัมภาษณ์ เราเพิ่งเอะใจว่าภายในบ้านไม่ได้เปิดแอร์เลย! แถมอากาศก็เย็นสบาย มีลมพัดผ่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นทีเด็ดที่เราคาดเดาไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าที่นี่จะต้องไม่ธรรมดา 

ทว่า… ใช่เป็นบ้านสถาปนิกจะไม่มีปัญหานะ ปัญหาที่นี่ก็มี…  แต่สามารถลอมชอมกันได้นั่นเอง โดยคุณเอกทิ้งท้ายให้ฟังว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในการสร้างบ้านหลังนี้ ผมน้ันรู้และคิดไว้ตั้งแต่แรกๆ อยู่แล้วครับ เพราะบริเวณโถงทางเดินชั้นสองเนี่ย ผมไม่ได้ทำผนังกั้นหรือปิดกระจกเลย แต่ก็ลดสเต็ปของทางเดินไว้นะ คือตั้งใจทำเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าท์ดอร์ เพราะต้องการปล่อยให้ลมพัดเข้ามาเพื่อสร้างให้เกิดอากาศที่ถ่ายเท  เมื่อฝนตกอาจมีสาดเข้ามาแน่นอน แต่ต้องลมแรงมากจริงๆ นะ ซึ่งผมได้เตรียมวิธีแก้ไขง่ายๆ ไว้แล้วนั่นก็คือการเช็ดทำความสะอาดครับ (กลั้วหัวเราะ) จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมายสำหรับผมหรอก เพราะเรายอมรับได้ ถ้าแลกกับบรรยากาศที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติผมก็พอใจแล้ว ไม่ต้องไปปิดกั้นอะไรให้มันมากมายหรอกครับเป็นคำตอบที่หักล้างทุกทฤษฎีการออกแบบได้โดยไร้ข้อสงสัย ทำให้ทีม Daybeds รู้สึกว่า… ความจริงบ้านไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบไปซะทั้งหมด บางคร้ังปล่อยวางเพื่อแลกกับสิ่งที่ตัวเองสบายใจบ้าง ก็สามารถสร้างความสุขสุดพิเศษให้แก่การอยู่อาศัยได้เช่นกัน 

 

 

 

Leave A Comment