GEOMETRIC FORMS
เรขาคณิตในงานสถาปัตยกรรมของ
พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
หากใครอ่านนามสกุลของคุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ แล้วเกิดคำถามในใจขึ้นว่า เจ้าของบทสัมภาษณ์คอลัมน์ Interview ฉบับนี้มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องอะไรกับดีเจเอกกี้-เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปิน นักแสดง และพิธีกรมากความสามารถ “เป็นปกติครับที่พอคนเห็นนามสกุลเรา เขาจะถามในใจว่าเป็นอะไรกับพี่เอก” สถาปนิกบอก คุณพงศ์ภัทร หรือ ‘บอย’ มีศักดิ์เป็นน้องชายคนสุดท้องของดีเจเอกกี้ เป็นฝาแฝดกับ ดร.พิทวัส เอื้อสังคมเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ daybeds มีนัดกับเขาที่ Starbucks Coffee หลังสวน ที่บรรยากาศสงบเงียบชวนนั่งจิบกาแฟไปพลาง คุยกันไปพลางยิ่งนัก
หนึ่งเหตุผลสำคัญของการนัดหมายครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากว่าตลอดเดือนที่ผ่านพ้นมานั้น เว็บไซต์ดังด้านสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศ ทั้ง archdaily, designboom และ dezeen ต่างพร้อมใจกันนำผลงานบ้านสามเหลี่ยม ‘The Triangle House’ ลงเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันโดยมิได้นัดหมาย รวมถึงยังมีแมกกาซีนอีกหลายฉบับ (daybeds ฉบับต่อไปก็เช่นกัน) ที่จ่อคิวนำผลงานบ้านสามเหลี่ยมหลังนี้ตีพิมพ์สู่แผงในเร็ววัน นอกจากนั้นงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใต้สังกัด Steven J Leach Architects Limited (SLA) อาทิ บ้านปลายหาด คอนโดมิเนียมสไตล์บ้านพักตากอากาศจากแสนสิริ และ AIA Sathorn Tower อาคารสำนักงานสุดทันสมัยใจกลางสาธรที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อต้นปี 2558 ก็กำลังสุกงอมได้ที่ทีเดียว
คุณพงศ์ภัทรจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ (SoA+D) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากนั้นชีวิตการเป็นสถาปนิกเต็มขั้นเมื่อเขาเริ่มงานกับ SLA เป็นที่แรกและทำงานให้กับ SLA ก่อนตัดสินใจย้ายไปทำงานกับ DP Architects ที่สิงคโปร์ในตำแหน่ง Designer Architect พอทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้สักพักก็ตัดสินใจกลับบ้านมาทำงานกับบริษัท Architects 49 (A49) และได้บ่มเพาะประสบการณ์อยู่กับ A49 จนกระทั่งในเดือนกันยายน ปี 2010 เขาย้ายกลับมาเป็น Senior Architect ที่ SLA อีกครั้งโดยการชักชวนของ Managing Partner แห่ง SLA คุณ Donal T. Coyne จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Architect Director
สถาปนิกมาดสุขุมสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาวและรองเท้าคัชชูสีดำ นั่งจิบ Hot Americano คุยกับเราด้วยท่าทีสบายๆ ตลอดหนึ่งชั่วโมงเศษ ณ ใจกลางเมืองอันรีบเร่ง หากตัวหนังสือในย่อหน้าที่จบไปข้างต้นแนะนำตัวได้ไม่ชัดแจ้ง บทสนทนาต่อจากนี้น่าจะช่วยเปิดทางให้เข้าถึงตัวตนของเขาได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย
DBs: นามสกุลของคุณคือเอื้อสังคมเศรษฐ์ คุณเป็นอะไรกับดีเจเอกกี้ครับ
Phongphat: เป็นน้องชายแท้ๆ (ยิ้ม) จริงๆ ไม่เคยบอกใครเลยว่ามีพี่อยู่วงการบันเทิง คนจะบอกกันเองตลอดเนี่ย ผมชินแล้ว (ยิ้ม) ในครอบครัวมีพี่น้อง 5 คน เป็นครอบครัวคนจีน มีพี่สาวคนโต พี่เอก พี่สาวคนกลาง แล้วก็มีแฝดอีกคนหนึ่ง ตัวผมเองเป็นแฝดคนน้อง เป็นลูกคนสุดท้อง
DBs: คุณสนิทกับใครมากกว่ากัน
Phongphat: จริงๆ สนิทเกือบหมด เพราะที่บ้านสอนให้อยู่เป็นครอบครัว แต่เอาแบบรู้เกือบทุกเรื่องก็พี่แฝดครับ เราอยู่ด้วยกันมาจนถึงมัธยมเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ พี่แฝดเป็นเด็กเรียนเก่งมาก ตั้งแต่สมัยเรียนจะอยู่ห้อง king มาตลอด เราจะเป็นเด็กที่ไม่ได้แบบว่าตั้งใจเรียนมาก เป็นเด็กหลังห้อง (โชคดีที่บ้านไม่กดดัน ไม่งั้นคงลำบาก (หัวเราะ) ตอนนี้พี่แฝดก็เป็นอาจารย์อยู่ที่ม.เกษตรฯ ส่วนพี่เอกด้วยความที่เขาเป็นลูกคนที่สอง แล้วเราเป็นลูกคนสุดท้อง มันจะมีช่องว่างนิดหนึ่ง เราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้คุยกับเขาเท่าไหร่ แต่ว่าความเป็นจริงแล้วมีอะไรจะช่วยเขาตลอด ตอนเรียนตอนนั้นพี่เอกก็เริ่มเข้าวงการ เราจะไม่ค่อยสนิท เพราะเรายังเด็ก แต่ช่วงที่เขาเป็นดีเจเราจะสนิทกับเขามากขึ้น
DBs: แฝดผู้พี่ของคุณเป็นอาจารย์ เหตุผลใดที่ทำให้คุณเลือกเป็นสถาปนิก
Phongphat: ลักษณะนิสัยสองคนไม่เหมือนกัน คนหนึ่งชอบเรียน คนหนึ่งชอบเล่น มันคนละทาง ส่วนผมชอบงานเขียนแบบ จำได้ตอนเรียนวิชาเขียนแบบ isometric ได้คะแนน 99 เต็ม 100 หรือ 100 เต็มนี่แหละ และสนใจคณะสถาปัตย์ ไปเรียนติวที่ศิลปากรเพราะมันใกล้กับโรงเรียนวัดราชบพิธ แต่ไปเรียนติวก็เหมือนไม่ค่อยได้เรียนเพราะรุ่นพี่อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง สุดท้ายเราก็ออกมาฝึกฝนเองแล้วก็เอ็นติดที่บางมด
DBs: มุ่งหวังเส้นทางนี้ไว้อย่างไรครับในตอนนั้น
Phongphat: เราก็ไม่ทราบหรอกครับว่าจบมาจะเจออะไร เอาเป็นว่าตอนเรียนก็ต้องเอาให้ดีที่สุด เริ่มรู้สึกสนุกกับงานออกแบบก็ตอนปี 3 รู้สึกเริ่มเข้าที่เข้าทาง เข้าใจสถาปัตยกรรมมากขึ้น วิชาเรียนของคณะสถาปัตยกรรม มันเยอะมาก เราอาจจะไม่ต้องเก่งทั้งหมด แต่เราต้องรู้ให้เยอะที่สุด
DBs: เรียนมากับทำงานจริง ทฤษฏีกับการปฏิบัติ แตกต่างกันเยอะแค่ไหน
Phongphat: จริงๆ ก็ต่างกันนะ เพราะการทำงานมันต้องเอาพาสชั่นใส่ไปเยอะมาก ตอนเรียนมันจะเหมือนมีอาจารย์เป็นคนตีกรอบ หรือว่าปล่อยให้เราค้นหาไอเดียได้ แล้วเขาจะคอยจับไดเร็กชั่นของเรา ฉะนั้นเวลาเราทำงานจริงจะไม่มีใครคอยแบ็คอัพให้เรา นอกเสียจากเราจดมาหรือมีหัวหน้ามาคอยกำกับให้เรา ซึ่งตั้งแต่จบมาเราก็เริ่มทำงานที่ SLA เป็นที่แรก เหมือนเป็นระบบฝรั่ง ถ้าเปรียบเทียบมันก็เหมือนการผลักเราตกน้ำ เราต้องว่ายเอาเอง เพราะฉะนั้นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดสำคัญมากในการที่จะเป็นสถาปนิก (หัวเราะ) เพราะเหมือนเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องเจอลูกค้า หรือโปรแกรมอะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะพัฒนาความคิด และให้เราตื่นตัวตลอดเพื่อเราจะมีไอเดียเสนอลูกค้า หรือนำเสนอแบบให้ผ่านให้ได้
DBs: เล่าความรู้สึกถึงการได้ทำงานสถาปัตย์ชิ้นแรกหลังจากเรียนจบให้ฟังหน่อย
Phongphat: จบมาได้ทำบ้านหลังแรก ตื่นเต้นมาก จริงๆ ไม่อยากจะบอกเลยว่ารุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า ไม่ค่อยสนใจเราเท่าไรปล่อยให้เราลองผิดลองถูก สุดท้ายการทำงานแบบไม่รู้มันก็กลับได้อะไรกลับน่ะ แปลกดี เราจะสังเกตว่าเสาและโครงสร้างแบบนี้มันไม่เวิร์ก แปลนบ้านเห็นคานแบบนี้มันไม่เวิร์ก เหมือนกับการลองผิดลองถูก เขียนแบบก่อสร้างตั้งแต่เริ่มไปจนขออนุญาตผ่านแล้วแต่ไม่ได้สร้าง รู้สึกเสียใจเหมือนกัน (หัวเราะ)
อาชีพสถาปนิกเหมือนกับว่าเราปั้นงานปฏิมากรรมที่คนเข้าไปใช้ขึ้นมา 1 ชิ้น มันต้องใช้เวลาออกแบบ ขออนุญาต ก่อสร้างอย่างน้อย 1 ปี ฉะนั้นเวลาเสร็จงานเราจะรู้สึกดีและภูมิใจกับมันมาก ถึงแม้มันจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เพราะเวลาออกแบบบนกระดาษ กับเดินเข้าไปยังพื้นที่จริง เราจะรู้ได้เลยว่า ขนาด และ สัดส่วนมันใช่ตามที่เราคิดไว้ไหม ซึ่งผมยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
DBs: จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นสถาปนิกมากี่ปีแล้วครับ
Phongphat: ทำงานมา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่จบก็ทำงานที่ SLA ออกไปอยู่ สิงค์โปร์ (DP Architects) กลับมาอยู่ที่ A49 แล้วก็มาเริ่มที่ SLA อีกครั้ง
DBs: มุมมองต่องานสถาปัตยกรรมที่สิงคโปร์เป็นอย่างไร
Phongphat: มีงานสถาปัตยกรรมดีๆ เยอะมาก ตอนแรกก็แปลกใจว่า ทำไมเมืองเล็กขนาดนี้ ทำไมมีการจัดการที่ดีมาก ทั้งคุณภาพชีวิต และสถาปัตยกรรม ซึ่งโดยส่วนตัวชอบงาน เอเชียมากกว่า (ญี่ปุ่น, จีน และ สิงคโปร์) เพราะมีการออกแบบที่ซับซ้อน, space planning น่าสนใจ จริงๆ แล้วสิงคโปร์ มันมีอิทธิพลมาจากคนไทยนี่แหละ เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักออกแบบคนไทยที่ไปทำงานที่นู่น ฉะนั้นงานแลนด์สเคปกับสถาปนิกจะมีอิทธิพลมาจากคนไทยด้วยครับ
DBs: มุมมองต่อวงการสถาปัตยกรรมบ้านเราปัจจุบัน
Phongphat: ผมมองว่าสถาปนิกกับสถาปัตยกรรมบ้านเราดีขึ้นมาก เริ่มมีเจเรอเนชั่นใหม่ๆ คนให้ความสนใจกับอาชีพ สถาปนิกกับงานออกแบบมากขึ้น จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีงานดีๆ สถาปนิกดีๆ เยอะมากเลย แต่ละคนมีสไตล์การออกแบบที่น่าติดตาม เราจะเห็นได้จาก Facebook ที่จะมี page บริษัทใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้วงการสถาปัตยกรรมเราดีขึ้นครับ
DBs: แล้วในด้านลบล่ะ
Phongphat: ผมว่าบ้านเรามี สถาปนิกเก่งๆ องค์กรดีๆ มีเยอะมากมาย ถ้าเป็นงานบ้าน คอนโด โรงแรม ก็ยังมีตึกที่น่าสนใจมาก เพราะทำงานกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้ามองในมุมกว้าง งานระดับภาครัฐ แทบจะไม่มีการประสานงาน หรือได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐเลย ปัจจุบันบ้านเรามีแต่คอนโด ห้าง พื้นที่สันทนาการ ส่วนมิวเซียม ห้องสมุดน้อยมาก โครงการแบบนี้ หรืออาคารลักษณะนี้จะทำให้เราได้มีตึก หรือ อาคารดีๆ มีคุณค่ามากมายในบ้านเรา
หรือโครงการที่รัฐบาลกำลังจะทำอยู่ โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ทำไมไม่จัดประกวดแบบเรียกหา ผู้ที่มีความรู้ ความเหมาะสมเข้าไปช่วยหรือหรือพัฒนาโครงการ หรือแม้กระทั่งจัดทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงประชาชน ซึ่งบ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้เลย ซึ่งมันแปลกมากจนกลายเป็นความเคยชิน
DBs: ย้อนกลับไปที่สิงคโปร์อีกครั้ง ทำไมวันนั้นถึงเลือกย้ายออกไปทำงานที่ DP Architects
Phongphat: สิงคโปร์เป็นตัวเลือกต้นๆ เพราะตอนเราฝึกงานปี 4 เรามีโอกาสได้ไปฝึกงานที่สิงคโปร์ แล้วเราคิดว่าถ้ามีโอกาสเราจะกลับไป จริงๆ สมัครไปตั้งแต่ตอนเรียนจบ แล้วได้ด้วย แต่ว่าด้วยความที่มันมีปัญหาเรื่องวีซ่า เรื่องเวิร์กเพอร์มิต ก็เลยไม่ได้ไป แต่พอทำงานที่ SLA ได้สักพัก ก็มีคนเริ่มติดต่อมาจากสิงคโปร์ เลยตัดสินใจไปอยู่ที่นั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่ดี ในยุคนั้นคนไทยยังไม่เยอะเท่านี้ ก็โชคดีได้คนเก่งๆ ทั้งนั้นที่นั่น คนที่ไปทำงานสิงคโปร์จะรู้ว่ามันเป็นบริษัทที่ทำงานหนัก ไปต้องไปทำงานจริงๆ แต่โชคดีที่มันใกล้ เดินทางไปกลับได้อยู่แล้ว
DBs: ที่ DP Architect มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร
Phongphat: DP Architect จะเป็นบริษัทที่มีผลกับการเมืองของสิงคโปร์ ใครขึ้น งานเยอะไม่เยอะจะมีผลมาก สเกลงานของ DP จะเป็นตึกใหญ่ อาคารสูง ออฟฟิศมีประมาณ 400 คน เราเข้าไปจะคล้ายกับหนัง The Matrix ฉากที่นีโอกำลังวิ่งหนีเข้าไปในห้องที่มีพาทิชั่นทำงานเยอะๆ เข้าไปแรกๆ ก็เหวอเหมือนกัน ต้องนั่งทำงานในพื้นที่เดียวกัน แต่ว่าจะมีพื้นที่ของดีไซเนอร์ เขาจะแบ่งให้นั่งตรงบริเวณนั้นแล้วจะมีหัวหน้าคนหนึ่งชื่อ ตัง ชี เกียง จบฮาร์วาร์ด วิธีการทำงานจะคล้ายกับฝรั่ง จะไม่มาอบรมเยอะ จะบอกกลายๆ แล้วให้เราไปคิดต่อ ซึ่งมันก็เป็นอิทธิพลต่อวิธีการทำงานของเราปัจจุบัน เวลาทำงานกับน้องเราจะไม่ใช่คนที่บอกว่าต้องทำอย่างนั้น เพราะผมกลับมองว่าคนที่ทำงาน คนที่จบมาคือคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว คุณต้องสร้างกรอบความคิดคุณให้ได้ พิสูจน์ให้ได้ว่าคุณทำงานได้แล้ว
DBs: ได้ทำงานสเกลไหนครับ
Phongphat: สเกลใหญ่เลย อาคาร คอนโดฯ ตึกสูง ประกวดแบบสนามกีฬาที่อังกฤษ คล้ายกับว่าคนสิงคโปร์ชอบเราตรงที่ว่าเราเป็นมือปืน มีอะไรก็จะเรียกใช้ Phong (เขาจะเรียกเราว่า ฟง) เข้าใจความหมายของมือปืนใช่ไหมครับ
DBs: ครับ
Phongphat: มือปืนมันทำได้หมด สเก็ตช์ก็ได้ 3D ก็ได้ เขียนแบบก็เป็น พูดง่ายๆ ว่าให้ทำอะไรคนไทยการเอาตัวรอด และไหวพริบสูงมาก (หัวเราะ)
“ถ้าสังเกตงานที่เริ่มทำจะคิดจาก Geometry Form เราจะชอบอะไรที่มัน simple ถ้าดูจากงานบ้านปลายหาด คล้ายกับมี Mass บางอย่างมาล้อกัน หรือจะเป็นบ้านนครปฐม (บ้านสามเหลี่ยม) ก็จะเอา Geometry รูปสามเหลี่ยมมาล้อมาเล่นก่อน เราอยากเริ่มต้นจากตรงนี้ บางครั้งถ้ามันเรียบไป ธรรมดาไป เราอาจจะเพิ่ม texture หรือ detail ให้เกิดความน่าสนใจขึ้น”
DBs: เชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษครับ
Phongphat: อืม (ครุ่นคิด) จริงๆ เราเป็นคนพยายามรักษาสมดุลในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกแบบ และการจัดการ พื้นที่และตัวเลข เราดูองค์รวม เรารู้ว่าทำอะไรอยู่ อีกทั้งและเป็นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องตารางเวลางานมากๆ เป็นตั้งแต่สมัยทำ Thesis แล้ว คือการจัดการบริหารงาน เรื่องแบบนี้จะชัดมาก เพราะมันสะท้อนถึงความมีวินัย และความรับผิดชอบ
DBs: วันที่เลือกกลับบ้านมาเข้าสังกัด A49 อะไรคือเหตุผลสำคัญ
Phongphat: A49 เป็นเหมือนกับสถาบัน เพราะเข้าไปแล้วรู้สึกว่ามีแต่คนเก่งๆ ที่นั่นเขาสอนให้เป็นสถาปนิกที่ดี ให้รู้จักรับผิดชอบ ให้รู้จักมองความสวยงามในแบบ A49 ความหมายของการมองความสวยงามแบบ A49 หมายถึง A49 จะมีแพทเทิร์นในแบบของ A49 ถ้าเข้าไปแล้วจะรู้ว่าถ้าทำแบบนี้มันไม่ใช่ A49 แต่ว่าผมได้พี่เลี้ยงดี พี่แว่น (คุณสิวิชัย อุดมวรนันท์) พี่หมอ (คุณสมเกียรติ โล่จินดาพงศ์) ที่เราเคารพก็เป็นสถาปนิกที่เรามองว่า ถ้าวันหนึ่งเราเป็นสถาปนิกที่ดีเราจะต้องเป็นแบบพี่หมอกับพี่แว่น เขาเป็นคนที่เก่งมาก
ตอนนั้นพี่แว่นชวนไปอยู่ก็ตัดสินใจไปอย่างไม่ลังเลเลย เพราะรู้ว่า A49 เน้นการออกแบบ แล้วลูกค้าจะค่อนข้างคาดหวังกับการออกแบบ สมัยเด็กๆ จะนึกว่าที่ A49 จะต้องรับเด็กจุฬาฯ หรือเปล่า เพราะเราไม่ได้จบจุฬาฯ แต่พอไปอยู่แล้วมันไม่ใช่ เขารับหมด ทั้งขอนแก่น มหาสารคาม แล้วเขาจะมาสอนให้เป็นสถาปนิกที่ดี ต้องตัดโมเดล ต้องดูเรื่องสัดส่วน (proportion) ให้เป็น มองความสวยงามให้ออก ฉะนั้นเรื่องความสวยงามเขาจะสอนให้เราโดยที่เราซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว เด็กจบใหม่จะดีมาก พอไปอยู่แล้วทำงานหนัก ทำเยอะเราก็ได้เรียนรู้เยอะ
DBs: อยู่กับ A49 ได้กี่ปี
Phongphat: อยู่ได้ 2-3 ปี แล้วเจ้านาย คุณโดนัล (Donal T. Coyne) ก็เรียกกลับไป ตอนนั้นลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะเอาไงต่อ แต่ด้วยความที่เราเห็นว่าที่ A49 มี highest key มันสูงมากกว่าที่เราจะขึ้นไปมันต้องใช้เวลา ด้วยความที่เรามองเห็นว่า เรากลับไปอาจจะได้ทำงานที่มันชัดขึ้น หน้าที่การทำงานมากขึ้น และในสไตล์ที่เราชอบมากกว่า
DBs: แล้วคุณชอบคาแรกเตอร์กับสไตล์แบบไหน
Phongphat: จริงๆ ตอบยากมากเลยนะ (ครุ่นคิด) เราเป็นคนชอบ Geometry Form มากๆ ถ้าสังเกตงานที่เริ่มทำจะคิดจาก Geometry Form เราจะชอบอะไรที่มัน simple ถ้าดูจากงานบ้านปลายหาด คล้ายกับมี Mass บางอย่างมาล้อกัน หรือจะเป็นบ้านครปฐม (บ้านสามเหลี่ยม) ก็จะเอา Geometry รูปสามเหลี่ยมมาล้อมาเล่นก่อน เราอยากเริ่มต้นจากตรงนี้ บางครั้งถ้ามันเรียบไป ทื่อเกินไป เราจะพยายามหาอะไรมาเบรกแล้วเพิ่มดีเทลมันเข้าไปจริงๆ เราก็อ่านหนังสือมา เราชอบ เลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) บอกว่า Mass ต้องดี แปลนต้องเวิค Surface ต้องมี สามอย่างนี้เราพยายามจะจำไว้ตลอด เพื่อที่จะเอามาเล่นในงานสถาปัตยกรรม เวลาทำงานก็จะนึกเหมือนเดินเข้าไปใน plan, sketch มุมต่างๆ ดูภาพ 3D ประกอบ ว่าเวลาเราเดินไป คนจะเห็นแบบไหน แล้วมันดีหรือไม่ดียังไง ผมจะชอบตั้งคำถามกับงานดีไซน์ว่า พอ หรือ ไม่พอ หรือ มันต้องดีกว่าได้ยังไง ถ้ามันมีคำถามและ ตอบไม่ได้ คิดว่ามันน่าจะมีปัญหานะ
DBs: งานแรกของคุณในตำแหน่ง Architect Director ที่ SLA
Phongphat: AIA เป็นงานแรกเลยครับ เริ่มออกแบบในปี 2010 หลังออกมาจาก A49 มันน่าแปลกตรงที่ว่าตอนอยู่ A49 เราทำประกวดแบบที่รัชดา พอออกมาอยู่ดีๆ ก็ได้ทำประกวดแบบที่สาทร คล้ายๆ กับเดจาวู ต้องไปพรีเซ้นท์ลูกค้าชุดเดียวกัน โชคดีที่เราจับคาแรกเตอร์ของลูกค้าชุดนี้ได้แล้วว่าเขาชอบอะไร เราก็เอามาเล่นใน AIA สาทรเลยว่า ถ้าทำแบบนี้ไปเขาจะชอบ มันก็เป็นข้อดีที่ว่าเรารู้แบ็กกราวด์ของลูกค้ามาก่อน
อีกสิ่งที่ผมรู้สึกโชคดีมากที่เจ้าของเลือกโอบายาชิ (บริษัทผู้รับเหมา) ผมเรียกโอบาแล้วกัน ผมรู้สึกว่าผมเป็นสถาปนิกจริงๆ ก็เพราะผมได้เจอโอบานี่แหละ เพราะเขามองเราเป็นสถาปนิก ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาที่มองว่าพวกเราก็แค่คนที่ออกแบบแต่ทำงานไม่เป็น โอบาจะมองว่าคุณคือปัจจัยหลักที่เราต้องการคุณ เหมือนเป็นคนให้ข้อมูลกับเรา ผมรู้สึกอย่างนั้น เวลาทำงานด้วยกันผมแฮปปี้มาก เวลาเขาขอข้อมูลผมจะให้ความสำคัญเป็นสิ่งแรก เพราะว่าเขารอเราอยู่จริงๆ เราให้ข้อมูลเขาไป เขาก็ไปศึกษาต่อ บอกว่าตรงนี้มีปัญหาครับ ตรงนี้จากประสบการณ์ผมไม่มั่นใจว่ามันจะเวิร์กหรือเปล่า ด้วยประโยคที่เป็นการทัก ให้เกียรติและมีมารยาทกลับมา ทำให้เราเป็นคนใจเย็นมากเวลาทำงานกับโอบา มันเหมือนการเรียนรู้ เพราะตัวผมเองอายุเพิ่ง 36 ปี สถาปนิกประสบการณ์ 10 กว่าปีถือว่ายังน้อย มันจะต้องเรียนรู้อีกเยอะ ต้องเรียนรู้ไปจนถึงตอนจบอาชีพสุดท้ายของคุณเลย เพราะผมมองว่ามันต้องตกผลึกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การสัมพันธ์ต่างๆ การคิดสเปซที่มันน่าสนใจ ยิ่งทุกวันนี้มันแล้วแต่คน แล้วแต่สายเลยว่า คุณจะชอบแนว Complicate หรือ simplicity แต่ว่ามีอะไรในงาน จริงๆ ผมชอบอะไรที่แบบนั้น คือมันนิ่งๆ แต่มีอะไรบ้าง
DBs: พูดได้ว่าความเรียบคือลักษณะเด่นของอาคาร AIA Sathorn Tower
Phongphat: จริงๆ มีคนถามตอนประกวดแบบว่าทำไมตึกมันเรียบจัง จริงๆ โปรเจ็กต์นี้เราทำงานใกล้ชิดกับเจ้านาย และคุณชนะชัย (คุณชณะชัย บำรุงพงศ์, Senior Architect) ด้วย แต่อย่างที่บอกว่า ผมเป็นคนชอบอะไรที่มัน Simple ผมไม่อยากจะใส่อะไรที่มันรบกวนแมสอาคาร ผมกลับรู้สึกว่าสาทรมันวุ่นวายอยู่แล้ว เราก็ทำให้ตึกมันนิ่งๆ ก็พอ ไม่ต้องไปแข่งกับความวุ่นวาย แต่ว่าถ้าไปตอนกลางคืน จะเห็นว่าเรามีแอบใส่ไฟตรง Spandrel ไฟสามารถล้อเล่นในโอกาสพิเศษ เช่นในวันพ่อจะเป็นสีเหลือง เราก็เลยรู้สึกว่าตรงนี้มันน่าจะมีองค์ประกอบที่น่าจะเล่นอะไรกับคนในละแวกนั้นได้ คือเอาไลท์ติ้งไปใส่เพิ่มในตัวอาคาร
เวลาตึกเสร็จ เราไม่ได้มองว่าตึกฉันสวย เราต้องมองคนที่เข้าไปใช้งานในตึก ต้องสังเกตพฤติกรรม สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกต้องให้ความสำคัญคือการใช้งาน บันไดต้องกว้างเดินสบาย เรื่องของลิฟท์สำหรับคนพิการ พยายามจะใส่เข้าไปแล้วไปโน้มน้าวลูกค้า ว่ามีแล้วทำให้องค์กรดูดี AIA จะเป็นอาคารสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถมาใช้ได้ จึงพยายามออกแบบให้สเปซมันโอเพ่นเยอะๆ
DBs: บ้านปลายหาดก็เป็นอีกงานที่น่าสนใจนะครับ
Phongphat: ก่อนอื่นต้องขอบคุณ แสนสิริที่ให้โอกาส SLA ตอนทำกับพี่ป๊อก (ป๊อก คบคงสันติ จาก TROP : terrains + open space) มีคุยกันบ้าง แต่ว่าด้วยความที่ต่างคนต่างรู้ว่าเราต้องการอะไร มันชัดอยู่แล้วว่า ผมมีพื้นที่ให้พี่เท่านี้นะ พี่เขาก็ใส่เต็มที่เลย สุดท้ายเราก็ออกแบบมาเจอกัน ตรงไหนพอมันเป็นสีเทาเราก็จะคุยกันว่าตรงนี้มันเป็นงานผม เดี๋ยวผมทำเพิ่มให้พี่ตรงนี้แล้วกัน พี่ป๊อกคิดงานน่าสนใจมาก ไอเดียแรง ฟังแล้วเคลิ้ม พองานดีไซน์มันน่าสนใจ เราก็ต้องสร้างงานสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปให้มันสอดคล้องกันให้มากที่สุด งานมันเลยออกมาชัด และเสริมกันครับ
DBs: ณ ตอนนี้ที่ Steven J Leach Architects Limited งานยุ่งไหมครับ หมายถึงในส่วนที่คุณต้องดูแลรับผิดชอบนะ
Phongphat: ยุ่งครับ มีงานโรงแรม คอนโด และ อาคารสาธารณะที่เรากำลังดีลอยู่ ผมดูแลในส่วนของฝั่งสถาปนิก เราก็พยายามจะให้ทีมทุกคนคิดงานไปด้วยกัน ดูแลแม้กระทั่งเด็กจบใหม่ให้เขาเหมือนสถาปนิกคนหนึ่ง ไม่ใช่คุณจบใหม่มาเราจะไปกดดันเขา เราก็ให้พี่เลี้ยงซีเนียร์ดูแลเขา แล้วเราโตกว่าซีเนียร์ เราก็ดูซีเนียร์ เป็นคล้ายกับกิ่งไม้ที่แตกไปเรื่อยๆ เราเห็นหมดทุกคน เราพยายามจะมองว่าคุณมาอยู่ตรงนี้ คุณเป็นสถาปนิก คุณทำได้
DBs: ปัจจุบันคุณเป็นอาจารย์พิเศษด้วยหนิครับ แบ่งเวลาอย่างไร
Phongphat: จริงๆ เพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์ที่เอแบค (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) สอนปี 4 คณะสถาปัตย์ฯ จริงๆ เขาอยากจะชวนเราเป็นอาจารย์ประจำด้วย แต่ด้วยความที่ต้องดูแลและทำงาน ที่ SLA ก็ต้องปฏิเสธ จริงๆ เพิ่งจะเริ่มได้ไม่นาน มันก็เป็นอีกอาชีพ เป็นอีกบทบาทที่เราต้องไปทำหน้าที่ แต่ว่าวิธีการทำงานมันจะต่างกัน เพราะผมเชื่อว่าเป็นอาจารย์มันจะเหนื่อยกว่า เพราะว่ามันต้องให้พลังเขาเยอะมาก เด็กจบใหม่หรือสถาปนิกที่เพิ่งมาทำงาน เขาขอให้เราไดเร็กชั่นคร่าวๆ เอาสักสองตะกร้าพอละ เขาสามารถไปต่อได้ละ จากเด็กที่อยู่ปี4 ปี 5 เหมือนกับเตรียมกะละมังให้เรา รองความรู้เราไว้หมดเลย กลายเป็นว่าเวลาไปครั้งหนึ่งกลับมานี่หมดพลังเลย เพราะเราต้องให้ความรู้เขา ต้องให้แรงบันดาลใจด้วย บางคนซึม ผมก็สงสัยทำไมมันซึมจัง ไม่รู้ว่าคุณอยากเป็นสถาปนิกหรือเปล่า หรือแค่อยากให้จบก็พอ สุดท้ายมันอยู่ที่วิธีเราว่า เราจะไปบิลท์ให้แรงบันดาลใจเขามากน้อยแค่ไหน แต่ผมก็ยังต้องเรียนรู้แล้วปรับตัวอยู่นะ ณ ตอนนี้ชอบ รู้สึกดีอยู่ เหมือนเวลาเราไปแล้วเราได้ถ่ายทอดอะไรบางอย่างให้เขาไป แล้วก็จะรู้สึกดีมากเลยเวลาเด็กที่เราถ่ายทอดออกไปแล้วครั้งหน้าทำการบ้านมาเยอะมาก มันก็เหมือนเราได้เรียนรู้กับเขาอีกด้วยครับ ผมเพิ่งรู้เลยว่าพอเป็นอาจารย์แล้วมันจะรู้สึกดีตรงนี้
DBs: คาดหวังอย่างไรบ้างกับเด็กที่คุณมีโอกาสสอนที่จะมีโอกาสเติบโตไปเป็นสถาปนิกในอนาคต
Phongphat: ผมคาดหวังให้เขาเป็นสถาปนิกทุกคนไม่ได้ เพราะทุกคนเขาจะมีจุดหมายของชีวิตต่างกัน แต่คนไหนที่เรารู้ เราเห็นแววตาเขาเวลาเขาพรีเซ้นท์ เขารับรู้ในสิ่งที่เราบอกเขา ทำแบบมามากๆ ดูแล้วว่าคนนี้น่าจะอยากเป็นสถาปนิกต่อ คนที่ดูแล้วว่าแค่อยากจะให้จบไป เราก็ไม่อยากให้จบแค่ตรงนั้น อย่างน้อยคุณเรียนคณะสถาปัตย์ฯ อยู่คุณต้องมีพื้นฐาน ถ้าพื้นฐานไม่ได้เราก็ต้องไม่ให้เขาผ่าน จึงต้องพยุงเขาให้ได้ในระดับพื้นฐานที่มันต้องผ่านเท่านั้นเอง
DBs: สิ่งที่ยากที่สุดในการออกแบบของสถาปนิก
Phongphat: สถาปนิกไม่สามารถออกแบบตามที่เราชอบได้อย่างเดียว เราต้องออกแบบให้ลูกค้าชอบด้วย อย่างน้อยสถาปนิกต้องภูมิใจในงานที่ทำ มีพาสชั่นในการทำงาน ถ้าสมมุติวันหนึ่งเราทำแบบที่เราไม่ชอบขึ้นมา ผมว่าอย่างไรงานไม่มีวันดีแน่นอน ถ้าเราทำแบบที่เราชอบแล้วลูกค้าชอบมาเจอกันตรงกลาง นั่นคือประสบความสำเร็จ
DBs: พูดถึงผลงานส่วนตัวกับบ้านสามเหลี่ยม (บ้านของคุณพ่อของคุณปานดวงใจ รุจจนเวท แฟนสาวของคุณบอย) ที่เน้นการออกแบบบนความเรียบง่าย และรูปทรงสามเหลี่ยมอิงบริบทเป็นหลัก
Phongphat: เขาจะถือกันที่ดินสามเหลี่ยมชายธงมันไม่ดีนะ ผมว่าบางทีมันคือการใช้ประโยชน์ไมได้นั่นเอง คุณพ่อของผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เขาแค่อยากจะซื้อที่ดินใกล้กับญาติข้างๆ สุดท้ายโจทย์เขาก็ชัดแหละว่าครอบครัวใหญ่ บ้านแบ่งออกเป็นสองหลังให้ลูกสาวกับลูกชาย แล้วก็ที่จอดรถ 4 คัน โจทย์มีแค่นี้ เราก็เริ่มสังเกตตรงที่บ้าน สังเกตพฤติกรรมของคนเวลาคุย เขาเป็นคนแบบไหน ชอบเยอะ หรือชอบน้อยมาก อาชีพเราใช้อารมณ์ค่อนข้างเยอะ มันต้องเดานิสัยคน เขาชอบทำกับข้าว ห้องนอนไม่ต้องใหญ่ เพราะห้องนอนแค่เข้าไปนอน มันก็สะท้อนกลับแปลนที่เราทำได้ อย่างลิฟวิ่งเขาจะใช้เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่นเยอะ เราก็ทำให้ห้องนั่งเล่นมันโปร่ง แล้วมีระเบียงที่สามารถเข้าไปทานเหล้าได้ เพราะมีเพื่อนมาสังสรรค์ตลอดเวลา
คนที่ออกแบบอินทีเรีย คือ แฟนสาวของผม (คุณปานดวงใจ) ขยายความเรื่องการออกแบบเป็น 3 อย่าง คือฟังก์ชัน การเชื่อมโยง แล้วก็ความเรียบง่ายของแบบ คือผมก็ดูนิสัยของพ่อ เขาเป็นวิศวกร ชอบอะไรที่ตรงไปตรงมา เราไม่อยากทำอะไรซับซ้อน เนื่องด้วยว่าเป็นพ่อตา ถ้าเราทำอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก จับต้องยากมาก เราไม่อยากที่จะต้องไปมีปัญหาอะไรกับพ่อเขา (หัวเราะ) จริงๆ มันเป็นเบื้องหลังเหมือนกันนะ สุดท้ายผมก็เลยบอกคุณพ่อว่า ผมอยากทำงานให้มันเรียบๆ นะครับ แล้วก็ทำหลังคา ให้ความสำคัญเรื่อง Orientation สังเกตว่าบ้านทางทิศตะวันตกจะโดน Surface น้อยมาก เพราะว่าบ้านจะเป็นตัว L มี I ทำเป็น Geometry สร้างอินเนอร์คอร์ตตรงกลาง มุมห้องนั่งล่นจะคล้ายกับมุมมองซีทรู บ้านพี่น้องสองคนอยู่ไกลกัน มองเห็นกันได้ เชื่อมด้วยที่จอดรถ 4 คัน
DBs: งานแลนด์สเคปหละครับ
Phongphat: จริงๆ งานแลด์สเคปเป็นของพ่อเขาเอง (หัวเราะ) ไปทีก็จะเห็นต้นอะไรแปลกๆ โผล่มา แต่เราไม่อยากจะไปชี้แนะว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ เพราะมันเป็นบ้านเขา ตอนแรกผมก็คิด แต่พอนั่งนึกนี่มันคือความสุขของเขา เราปล่อยให้มันเป็นไปตามแบบเขา เราก็มีคุยเบื้องต้นว่าตรงนี้ควรมีต้นไม้ใหญ่หน่อย จะได้ทำให้สเกลบ้านมันดีขึ้น ทีนี้พอไปบ้านทุกครั้ง สเกลบ้านมันจะดีขึ้น เพราะต้นไม้มันเริ่มข่ม พอเป็นปีแรกไปก็รู้สึกว่าหลังคามันใหญ่ไปหรือเปล่า พอผ่านมาสองปีสามปี บ้านมันดี เพราะต้นไม้ใหญ่ขึ้น บ้านจะดูอ่อนน้อมขึ้น เพราะต้นไม้มันเริ่มโต จริงๆ ต้องขอบคุณพ่อ เพราะมันไม่ได้เป็นต้นไม้แบบเต็ค งานบ้านผมไปอาทิตย์เว้นอาทิตย์ ผมก็สังเกตว่าทำไมวันนี้คุณพ่อเขานั่งตรงนี้ อ๋อ นั่งตรงนี้เพราะลมมันเย็น อีกวันหนึ่งทำไมเขานั่งตรงนี้ เพราะตรงนี้มันเงียบ กลายเป็นว่าเราสนุกเพราะไปสังเกตคนที่ใช้งาน
DBs: คุณค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากที่ไหน
Phongphat: อาชีพเราต้องออกไปดูข้างนอกเยอะๆ ไปท่องเที่ยว ไปดูงาน เราจะรับรู้ได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบ ไปดูหนัง ไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์ ไปดูว่าคนอื่นๆ เขาทำอะไร ไม่จำเป็นจะต้องดูแค่สถาปัตยกรรมอย่างเดียว เพราะงานดีไซน์ต่างๆ มันสามารถเอามาประยุกต์กับงานสถาปัตยกรรมได้ทั้งหมดครับ
Contact: Steven J Leach Architects Limited (SLA)
ชั้น 10 อาคาร The Millennia
62 ซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร.0-2650-5585 อีเมล์ phongphat@sla-group.com
ขอบคุณภาพประชาสัมพันธ์
The Triangle House (Images by Chaovarith Poonphol)
Baan Plai Haad (Images by Wison Tungthunya / W Workspace)
AIA Sathorn Tower (Images by Chaovarith Poonphol)