FOOD VILLA / I LIKE DESIGN STUDIO
หลากหลาย ในที่เดียว
Text: กรกฏ หลอดคำ
Photo: Soopakorn Srisakul
Architect: I Like Design Studio
จากคอลัมน์ BLUEPRINT – DAYBEDS 162 ฉบับมีนาคม 2559
กรุงเทพฯ เมืองที่คล้ายว่า ‘ตลาด’ จะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะริมคลองสาธารณะ ลานกว้างหลังห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ทางขึ้นบันไดเลื่อนของรถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ ‘การกิน’ กับเมืองกรุงเทพฯ เองจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง แม้ว่าในโลกโลกาภิวัฒน์ จะเกิดตลาดรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ดีพาร์ตเมนต์สโตร์หลากหลายแบรนด์ จนถึงคอมมูนิตี้มอลล์ ที่เสมือนว่าได้เข้ามายึดครองพื้นที่การใช้ชีวิตนอกบ้านของคนเมืองจนเกือบจะ สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พื้นที่ในการจับจ่ายรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวจะสามารถเข้ามามีบทบาททดแทนพื้นที่ในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นเหมือนสถานที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของผู้คนไม่ว่าจะนอกเมืองหรือใน เมืองอย่างตลาดนัด หรือตลาดสด ความหลากหลายที่ไม่ว่าสถานที่ในการจับจ่ายรูปแบบใดก็ไม่สามารถทดแทนได้นี้ เอง เป็นสิ่งกำหนดสัณฐานให้กับรูปธรรมของเมืองที่หลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของ ผู้คนที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากมาอย่างยาวนานของเมือง กรุงเทพฯ และของคนไทย
บนจุดเชื่อมต่อของย่านเมืองระหว่างย่านเศรษฐกิจที่ พลุกพล่านอย่างสาทร กับส่วนต่อขยายของเมืองอย่างถนนราชพฤกษ์ ความต้องการของคนในละแวกเองได้กลายเป็นตัวกำหนดกิจกรรมบนสองฟากฝั่งถนน ราชพฤกษ์ ‘Food Villa’ ตลาดสดรูปแบบใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน ที่ต้องการสถานที่เพื่อจับจ่ายหุงหาอาหารที่สะดวกและใกล้บ้าน ก่อนเดินทางกลับถึงที่พักอาศัยจากสถานที่ทำงานบนถนนเส้นที่ต้องขับผ่านเป็นประจำ
“เจ้าของโครงการเขาอยากได้แบบอตก. ตอนแรกเขาคาดหวังแค่อตก. แล้วเหมือนเราก็คุยกันไปเรื่อยๆ ว่า เฮ้ย ถ้าแค่อตก. มันก็ไม่ยากเรานะ มันแค่อาคารธรรมดา ก็เลยพยายามพาเขาไปดู พวกคอมมูนิตี้มอลล์แล้วก็บอกว่า ไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เป็นตรงกลาง เขาก็เลย อ๋อ โอเคนะ ให้มันสวยประมาณนี้ แต่ไม่ได้ต้องมีแอร์ ไม่ต้องมีอะไรมากมาย ก็เลยมาอยู่ตรงกลาง ระหว่างตลาดสด กับคอมมูนิตี้มอลล์” คุณเบ๊นซ์-ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกเจ้าของบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม ‘I LIKE DESIGN STUDIO’ ผู้เนรมิตรตลาดสดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ตลาดไฮโซ’ บนถนนราชพฤกษ์ เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของ ‘Food Villa’ ตลาดสดแบบโอเพ่นแอร์ ที่ได้มอบแง่มุมใหม่ที่แตกต่างจากการรับรู้ทั่วๆ ไปที่เรามีต่อคำว่า ‘ตลาดสด’ ในอีกหลากหลายมิติ
บนเนื้อที่กว่า 25,000 ตารางเมตร อาคารหนึ่งจากสี่หลังของอาคารทั้งหมดในเนื้อที่เดียวกันนั้น ภายในเนื้อที่ 4,000 ตารางเมตร ถูกยกให้เป็นเนื้อที่ของอาคาร ‘ตลาดสด’ รูปลักษณ์แปลกตา ภายใต้อาณาเขตของหลังคาที่สลับซับซ้อน แผงค้ากว่า 400 แผงหลากหลายไปด้วยอาหารสด คาวหวานหลากหลากหลายประเภท ทั้งหมู เนื้อ ไก่ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ อาหารทะเล อาหารสด อาหารแห้งนานาชนิด เหมือนหน้าที่ในการ รวบรวมอาหารมาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้คน รูปด้านของ Food Villa สะท้อนแนวคิดของการนำเอารูปด้านของ ‘โรงนา (Barn)’ สถานที่ที่รวบรวมความหลากหลายของพืชพันธุ์และอาหารนานาชนิด มาสลับรวม ให้โครงสร้างและวัสดุกรุผนังทำหน้าที่สื่อนัยของการหลอมรวมสถานที่ที่รวบรวม ความอุดมสมบูรณ์เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนในละแวกเข้าไว้ด้วยกัน ภาพของโรงนาที่ถูกร้อยเรียง สื่อภาษาผ่านสถาปัตยกรรมโดยใช้ความสูงต่ำสลับซับซ้อนของโครงสร้างที่เลียนมา จากลักษณะหน้าตาของโครงสร้างโรงนาจนเกิดเป็นโครงสร้างของกรอบอาคารที่มี เอกลักษณ์และให้ความหมายใหม่ๆ กับอาคารตลาดที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีหน้าตาในแบบเดิมๆ เสมอไป
“มันคือ แผ่นเมทัลชีท แต่มันคือแผ่นลอนใสที่ใช้ตามโรงงาน ปกติเราใช้เมทัลชีทมุงหลังคาใช่ไหม อันนี้เราก็เอามากรุทั้งแผงเลย อยากให้มันมีแสงธรรมชาติเข้ามาด้านทิศเหนือเต็มๆ” แนวคิดเรื่องแสงถูกนำมาใช้กับอาคารตลาด ที่แต่เดิมคุ้นชินกันในภาพที่ค่อนข้างปิดทึบและมืดสลัว สถาปนิกต้องการสร้างภาพใหม่ๆ ให้กับตลาดสด ที่สามารถคงความสะอาด น่าเดิน ไปพร้อมๆ กับเอกลักษณ์ของความ ‘เละ’ ในแบบไทยๆ ตลาดในความหมายของ I LIKE DESIGN STUDIO จึงได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย และเข้าถึงผู้คนด้วยวัสดุที่ไม่หวือหวา จัดการได้ง่าย ทว่ารูปทรงที่สื่อความหมายที่แฝงอยู่ภายใน นั้นสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนที่เปลี่ยนผ่าน ให้วกกลับแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนตลาดได้อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นหนึ่งในสถาน ที่ของชีวิตประจำวัน
นอกเหนือจากความซับซ้อนของรูปด้านที่ได้สร้าง เอกลักษณ์ที่น่าสนใจให้กับฟากฝั่งถนนราชพฤกษ์แล้ว โครงสร้างที่เกิดจากการออกแบบให้เกิดความลดหลั่นทับซ้อน ก่อให้เกิดช่องว่างบนหลังคาที่สามารถช่วยระบายอากาศร้อน พร้อมๆ กับ การพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานของตลาดที่เอื้ออำนวยให้การใช้สอยเป็นไปอย่าง สะดวก สะอาด และโล่งสบาย “ถ้าอย่างตลาดอื่นที่เราไปมันก็จะมืดๆ หน่อยแล้วก็สกปรก เราก็พยายามไม่ให้มันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น คือพยายามเพิ่มรางระบายน้ำให้มันเยอะ ให้เขาสามารถเกลี่ยน้ำลงด้านข้างให้เร็วที่สุด ให้น้ำมันแห้งเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นรางระบายน้ำในตลาดจะเยอะมากเลย ซอยเป็นกริดไปทั้งหมด แล้วก็ยกหลังคาขึ้นสูง ให้มีการระบายอากาศเยอะๆ ดีเทลข้างบนเลยซับซ้อนมาก เพื่อให้มันไล่ลมร้อนออกไปได้เร็วที่สุด”
หลายครั้งงานออกแบบที่ดีก็ไม่ สามารถวัดได้ด้วยความเก๋ไก๋หรือเรียบหรูสะดุดตา สถาปนิกเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นหัวใจของสถาปัตยกรรมแห่งความหลากหลายนี้เป็น อย่างดี การกำหนดกะเกณฑ์ว่าถูกหรือผิด ตรงหรือโค้ง สีสันหรือขาวดำ จึงไม่ใช่สิ่งที่งานออกแบบชิ้นนี้เรียกร้อง แต่เป็นโอกาสที่ผู้คนจะสามารถสร้างสรรค์และบอกเล่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ ผ่านร้านรวงที่ถูกจับมาผสมปนเปเพื่อก่อให้เกิดเป็นภาพสุดท้ายที่คาดเดาไม่ ได้ เมื่อคุณภาพของการใช้งานพื้นที่ถูกออกแบบไว้อย่างดีแล้ว สถาปนิกจึงเปิดโอกาสให้ความหมายใหม่ๆ ของสถาปัตยกรรมสามารถเกิดขึ้น เติบโต และเปลี่ยนแปลงอย่างอิสระ ได้อย่างที่มันควรจะเป็น
“ถ้าอย่างตลาดอื่นที่เราไปมันก็จะมืดๆ หน่อยแล้วก็สกปรก เราก็พยายามไม่ให้มันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น คือพยายามเพิ่มรางระบายน้ำให้มันเยอะ ให้เขาสามารถเกลี่ยน้ำลงด้านข้างให้เร็วที่สุด”
ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ
กรอบอาคารที่ถูกกรุรอบลดหลั่นสร้างภาพลักษณ์ที่น่าสนใจ เบื้องล่างเปิดโล่งตามแนวคิดของตลาดแบบโอเพ่นแอร์ เปิดปล่อยให้ร้านค้าสื่อสารกับผู้ที่มาจับจ่ายอย่างอิสระ
สถาปนิกออกแบบให้แสงธรรมชาติสามารถทะลุผ่านวัสดุกรุรอบอาคารเพื่อมอบแสง สว่างที่มีประโยชน์ให้กับอาคารในเวลากลางวัน ช่วยลดความจำเป็นในการใช้แสงสว่างจากไฟฟ้า
เส้นสายบนดีเทลของ Façade เมทัลชีทแบบลอนใส สร้างความเคลื่อนไหวบนรูปด้านของอาคารได้อย่างมีมิติ สลับไปกับช่องเปิดระบายอากาศ ที่ถูกออกแบบให้ผสานล้อไปกับเส้นสายของหลังคาที่สลับซับซ้อน บรรยากาศภายในตลาดที่สถาปนิกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ค้าเป็นผู้ออกแบบบรรยากาศร่วมกัน ความเป็นธรรมชาติของตลาดไทยจึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนเลือกที่จะเกิดเข้ามาจับจ่ายได้อย่างไม่ขัดเขิน ภาพไดอะแกรมรูปตัดแสดงวิธีการระบายอากาศด้วยหลังคาที่ซับซ้อนของอาคาร
แปลนแสดงฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคาร