
สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย
สถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในประเทศไทย
Text&Photo: ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
เมื่อวานทีมเดย์เบดส์ได้มีโอกาสร่วมงาน “มิวเซียมสยาม x สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย” มา เลยขออาสาเก็บภาพบรรยากาศการออกแบบตกแต่งภายในของสถานที่ ที่ได้ชื่อว่า “สถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในประเทศไทย” และกำลังจะกลายเป็น Frist Stop จุดแรกที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องเห็นมาฝากค่ะ ตามไปดูกันว่าจะสวยงามขนาดไหน ก่อนเปิดใช้งานจริงต้นเดือนมีนาคมนี้
พิกัดแรกของเราอยู่ที่มิวเซียมสยาม ศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่ในอนาคตจะกลางเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงแหล่งเรียนรู้และวัฒนธรรมแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ประเดิมด้วยแคมเปญแรกของปีอย่าง Muse All Year: ฉลาดคิด พิพิธเพลิน
ในอดีตเราต้องเดินทางสู่มิวเซียมด้วยรถยนต์ หรือรถโดยสารเพียงอย่างเดียว ในอีกอึดใจ เราจะสะดวกสบายขึ้นด้วย MRT สถานีสนามไชย ที่เชื่อมต่อมาจาก สถานีหัวลำโพง และสามยอด *ความพิเศษของสถานีคือถูกออกแบบทางเข้าไม่ให้มีหลังคา เพื่อภูมิทัศน์ที่จะไม่รบกวนกับสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมในบริเวณรอบข้าง



ประตูทางเข้า-ออกสถานีสนามไชย แบ่งออกเป็น 5 ประตู คือ 1. วัดราชบพิตร,สนามยิงปืน กรมรักษาดินแดน 2. หลังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง 3. ในเขตพื้นที่มิวเซียมสยาม 4. โรงเรียนราชินี 5. ปากคลองตลาด ตัวสถานีกว้าง 23 เมตร ยาว 270 เมตร และมีความลึกถึง 32 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้น Concourse สำหรับขายตั๋ว ชั้น Plant สำหรับเก็บงานระบบ แอร์, เครื่องจักร, ปั๊มน้ำ, ปั๊มลม และระบบไฟต่างๆ โดยเมื่อเปิดใช้งาน เราจะไม่ได้เห็นในชั้นนี้ และชั้น 3 Platform เป็นส่วนของชานชาลา การก่อสร้างทั้งโครงการดำเนินการสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง ปัจจุบัน สถานีสนามไชย สร้างแล้วเสร็จไปกว่า 70% และกำลังจะเปิดให้ใช้บริการในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

บรรยากาศภายในสถานีสนามไชย ถูกออกแบบผสมผสานกันระหว่างวิศกรรมสมัยใหม่ เข้ากับรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายใต้การออกแบบโดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2537
ประดับประดาด้วยเสาสดุมภ์ ประดับบัวจงกลชั้นเดียวปิดทองคำเปลว ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุลเพดาลฉลุแบบดาวล้อมเดือน
เพดานฉลุสีแดงน้ำหมาก ทำจากวัสดุสแตนเลสตีลพ่นลายดาวล้อมเดือน เลียนวัสดุไม้และลวดลายจากท้องพระโรง
ผนังจำลองกำแพงเมือง มีลายประจำยาม ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง
จากวัสดุปูนหล่อ สกัดจากฝีมือช่างโบราณจนได้เสาสดุมภ์ ประดับบัวจงกลชั้นเดียวปิดทองคำเปลว และเพดานลายดาวล้อมเดือน
กระเบื้องลายดอกพิกุล ได้จากการสกัด และพ่นปูนให้เป็นลวดลาย

จุดเด่นอีกอย่างของสถานีสนามไชย คือโคมไฟที่มีชื่อว่า ไฟหน้านาง หรือ อัจกลับ (อัด-จะ-กลับ) เป็นโคมไฟที่ใช้ในสมัยโบราณ เดิมทำจากทองเหลือง และน้ำมันแทนเชื้อเพลิง
ในระหว่างการขุดสำรวจพื้นที่ ทางทีมได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น ซึ่งในอนาคต จะถูกนำกลับมาแสดงโชว์ไว้ในสถานีสนามไชย เพื่อแสดงถึงอารยะทางวัฒนธรรม และเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวแรก ที่ทุกคนจะต้องแวะชมก่อนจะเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง