EASE EMBROIDERY FACTORY

444

จุดกำเนิดของเส้นไหมและงานปัก
ที่ต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบของอีส เอ็มบรอยเดอรี
 

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

Daybeds ได้พบกับ ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และพลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก สองดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Ease ครั้งแรกในงาน TIFF 2015 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่พวกเขามีโอกาสมาแสดงงานเทรดแฟร์ร่วมกับดีไซเนอร์ไทยเลือดใหม่น่าจับตามองในกลุ่ม Design Plant 3.0 ซึ่งเป็นทั้งรุ่นพี่และอาจารย์ที่วนัสและณิชภัคต่างชื่นชอบผลงานอยู่เป็นทุนเดิม

Ease มีจุดเริ่มต้นจากความสนใจเฉพาะด้านของณิชภัคในเรื่องงานผ้า เธอนำความชื่นชอบส่วนตัว ความช่างสังเกตในระหว่างการทำงานเป็นอินทีเรียสไตล์ลิสต์ มาผสานรวมกับความหลงใหลในงานกราฟิกของวนัสที่มีพื้นฐานทางด้านโปรดักท์ดีไซน์ติดตัว ริเริ่มไอเดียแปลกใหม่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของใช้สำหรับงานตกแต่งภายในที่จับต้องง่าย ผู้ใช้สามารถเข้าถึงงานดีไซน์ผ่านเนื้อผ้าที่คุ้นเคย และเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในแนวคิด Usable Art โดยเริ่มทดลองจากชิ้นเล็กๆ อย่างหมอนคอลเลกชั่น ‘Line’ หมอนปักนูนลายกราฟิกที่มีผิวน่าสัมผัสกับขนาดที่น่ากอด จนผ่านพ้นหนึ่งปีของการพัฒนาเทคนิค ต่อยอดสู่งานดีไซน์คอลเลกชั่นใหม่ๆ ให้เราได้เห็นมากมาย อาทิ Faii – Modular Hanging Screen ที่ผสานแรงบันดาลใจจาก ‘ฝอบ’ กับ ‘ฝ้าย’ ปักเย็บเป็นงานตกแต่งและแขวนผนังที่ไม่มีใครเหมือน, Shading งานปักอาร์ตเวิร์กและเสื่อลายกราฟิกที่ใช้เทคนิคการเล่นเฉดสีและการซ้อนทับของเส้นไหมเหมือนการแรเงาภาพลงบนผืนผ้า ที่นำแรงบันดาลใจจากลวดลายของผ้าพื้นเมืองของไทยมานำเสนอในรูปแบบการสร้างแพทเทิร์นลายกราฟิกที่ทันสมัย และ Tex-Tile แผ่นดูดซับเสียงสำหรับตกแต่งผนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายเฉลว โดยใช้ระบบการเชื่อมต่อแบบโมดูลาร์ สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้มีส่วนร่วมในการ สร้างสรรค์ ออกแบบและปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ด้วยตนเอง เป็นต้น

วันนี้ผลงานของ Ease Embroidery (อีส เอ็มบรอยเดอรี) กลายเป็นที่พูดถึงในแวดวงดีไซน์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพราะล่าสุดคอลเลกชั่น Shading ได้รับรางวัล Good Design Award 2015 (G-Mark 2015) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการจัดแสดงผลงานในงาน Good Design Exhibition 2015 ที่ Tokyo Midtown ช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วย โดยก่อนหน้านั้น Shading และ Tex-Tile ก็เพิ่งได้รางวัล DEmark 2015 กลุ่มกราฟิกดีไซน์ และ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ตามลำดับไปหมาดๆ

26
เครื่องจักรรุ่นเก่าและร่องรอยของอาคารเก่าคือเสน่ห์ที่ ease รักษาเอาไว้


66เครื่องจักรรุ่นเก่าและร่องรอยของอาคารเก่าคือเสน่ห์ที่ ease รักษาเอาไว้


11เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงาน


33เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงาน


17เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงาน


19เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงงาน


บทสนทนาระหว่าง Daybeds กับสองดีไซเนอร์รุ่นใหม่ในครั้งนี้มีขึ้นที่โรงงานผลิตงานปักภายในอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ขนาด 3 คูหา ย่านสี่พระยาของครอบครัวของวนัส ที่ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตงานปักตามรูปแบบที่ลูกค้ากำหนด หรือที่เรียกว่า Original equipment manufacturer (OEM) มาเป็นเวลานานกว่า 26 ปี เทียบเท่าอายุของวนัสทีเดียว เสียงของเครื่องจักรแผดลั่นกังวาร ภายในโรงงานมีคนงานราว 4-5 ชีวิต กำลังขะมักเขม้นอยู่กับกระบวนการผลิตงานปักตามออเดอร์ของลูกค้า ซึ่งวนัสเผยว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจชั่วโมงนี้ ครอบครัวของเขาจึงต้องรับออเดอร์งานปักตั้งแต่การผลิตขั้นต่ำ 5 โหล ไปจนถึง 100 โหลหรือมากกว่านั้น ควบคู่ไปกับเพิ่มไลน์การผลิตงานปักของ ease ที่แทรกเข้ามาเพื่อเป็นการบาลานซ์การทำงานในสเกลที่เหมาะสม โดยไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงเกินกำไรในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกับโรงงานอุตสาหกรรมจากทั้งในเมืองจีนและเวียดนามที่มี่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าจนน่าตกใจ

“ลูกค้าเจ้าใหญ่เขาไปจ้างเมืองจีน จ้างเวียดนาม เพราะราคามันต่างกันจนตกใจครับ” วนัสอธิบาย “มันกดราคาลงไป คิดแค่ต้นทุนยังขาดทุนเลยล่ะครับ ไม่ต้องบวกกำไร เพราะเขาเล่นกันเรื่องค่าแรง ถ้ามีเงินก้อนซื้อเครื่องจักรแพงๆ มาก็ไม่ต้องจ้างคนงาน จ้างคนแค่มากดเปิดกับปิดเครื่อง แล้วแบกผ้ามาใส่ก็เสร็จแล้ว ส่วนเวียดนามยังไม่ได้พัฒนามากนัก แต่ค่าแรงถูกกว่าที่นี่”

“งานปักราคามันถูกอยู่แล้ว” ณิชภัคกล่าวเสริม “จุดเปลี่ยนอีกจุดก็คือลูกค้าเจ้าใหญ่ที่เคยสั่งออเดอร์เราเยอะๆ เขาถอนออเดอร์ออก ช่วงนั้นพลอยกับก๊องไปทำงานประจำได้คนละปีพอดี ก๊องทำออกแบบเฟอร์นิเจอร์ พลอยทำอินทีเรียสไตล์ลิสต์ ตกแต่งบ้านตัวอย่าง ได้เห็นงานอินทีเรียเยอะก็จะเห็นว่าบ้านหลังหนึ่งใช้หมอนเยอะมาก มีกรอบรูป มีอะไรหลายอย่างที่จะทำให้บ้านมันดูมีชีวิตชีวา ก็เลยมาคุยกันว่าผลิตงานดีไซน์ที่ตลาดมันยังไม่มีขายดีไหม”

“เรารู้สึกว่าบ้านเราทำของถูก แต่มาดูกระบวนการจริงๆ กว่าจะทำขึ้นมาได้ชินหนึ่งมันใช้เวลานาน มันไม่ใช่เครื่องจักรสั่งกดปุ่มแล้วปั๊มๆๆ มันไม่ง่ายเลย เราก็เลยตั้งโจทย์ให้คนต้องปฏิสัมพันธ์กับมันใหม่ เลยเป็นที่มาของชื่อ ease ที่แปลว่าทำให้ช้าลง นึกถึงแอ็กชั่นตอนที่ก้นสัมผัสโซฟาครั้งแรกแล้วปึ้ง! เราอยากสร้างโมเมนต์แบบนี้ให้กับงานปัก ให้คนค่อยๆ ดู ค่อยๆ จำมัน เหมือนงานศิลปะ” วนัสเผยแนวคิด

“พลอยรู้สึกว่างานของคนไทย คนไทยไม่ค่อยบริโภค เลยอยากทำงานปักให้คนไทยก็ใช้ได้ ราคาไม่ได้แพง ใช้ดีไซน์เพิ่มมูลค่า เพิ่มความสวยงามให้ของได้จริงๆ” ณิชภัคขยายความ

“เรารู้สึกว่าบ้านเราทำของถูก แต่มาดูกระบวนการจริงๆ กว่าจะทำขึ้นมาได้ชินหนึ่งมันใช้เวลานาน มันไม่ใช่เครื่องจักรสั่งกดปุ่มแล้วปั๊มๆๆ มันไม่ง่ายเลย เราก็เลยตั้งโจทย์ให้คนต้องปฏิสัมพันธ์กับมันใหม่ เลยเป็นที่มาของชื่อ ease ที่แปลว่าทำให้ช้าลง นึกถึงแอ็กชั่นตอนที่ก้นสัมผัสโซฟาครั้งแรกแล้วปึ้ง! เราอยากสร้างโมเมนต์แบบนี้ให้กับงานปัก ให้คนค่อยๆ ดู ค่อยๆ จำมัน เหมือนงานศิลปะ” วนัส โชคทวีศักดิ์

00กระดาษต้นแบบงานปักคอลเลกชั่น Shading ที่มีลวดลายกราฟิกหลายเลเยอร์ซ้อนทับกัน


08 ทุกครั้งก่อนเดินเครื่องจักรจึงต้องตรวจเช็คการวิ่งเส้นไหมอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดของสีเส้นไหม หรือขนาดของเลเยอร์ที่ไม่เท่ากัน


03หน้าจอมอนิเตอร์แสดงตำแหน่งที่เครื่องจักรกำลังปักลายไหมอยู่ในขณะนั้น


เสน่ห์ของโรงงานแห่งนี้คือการผลิตงานปักผ่านเครื่องจักรรุ่นเก่า ซึ่งยังเป็นระบบการอ่านต้นแบบผ่านแผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy disk) วนัสเล่าว่าทุกวันนี้เขาต้องสั่งแผ่นฟลอปปีดิสก์มาเก็บสต็อกไว้จำนวนมาก เพราะในปัจจุบันแทบไม่มีสินค้าวางขายตามท้องตลาดทั่วไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งเครื่องจักรรุ่นใหม่นั้นเป็นระบบเสียบด้วย USB ไปเสียหมด แต่วนัสก็มองว่าคงเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสียนักหากต้องมาเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรรุ่นใหม่ทั้งหมดด้วยต้นทุนที่สูง ทั้งที่ปัจจุบันเครื่องจักรยังใช้งานได้ดีอยู่ จึงใช้ความเก่า (แต่เก๋า) นี่แหละมาเป็นเอกลักษณ์ของโรงงาน รวมไปถึงเป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบผ่านเครื่องจักรรุ่นเก่านี้ด้วยเช่นกัน

“ด้วยความที่เป็นเครื่องจักรรุ่นเก่า จึงต้องอาศัยแรงคนเข้าไปยุ่งกับมันเยอะ จึงเป็นไดเร็กชั่นที่ก๊องมองว่า ไม่ดีในแง่ Mass แต่เป็นเสน่ห์ที่เครื่องจักรรุ่นใหม่ทำแบบเราไม่ได้ เพราะแต่ละชิ้นงานจะไม่เหมือนกัน” วนัสให้เหตุผล พร้อมพาเราเดินดูกระบวนการผลิตงานปักคอลเลกชั่น Shading ที่กำลังอยู่ในกระบวนการปักไหมลายกราฟิกลงบนผ้าลินินสีเข้ม โดยเริ่มต้นจากการกำหนดต้นแบบของงาน เขียนโปรแกรมและกำหนดจุดการวิ่งของเส้นไหมในการปักเย็บ เลือกสีของเส้นด้ายหรือเส้นไหมแล้วตั้งค่าให้เครื่องจักรเย็บผ้าแบบ 12 หัว ทำงานไปพร้อมกันอย่างเป็นขั้นตอน

“เครื่องจักรเกี่ยวเส้นด้ายทั้งด้านบนและด้านล่าง ปักลงบนผ้าด้วยความเร็ว เป็นการสั่งให้พื้นเครื่องขยับไปตรงจุดที่กำหนด ส่วนตัวปักจะอยู่กับที่ มันจะมีขั้นตอนที่ต้องหมุนผ้าไปมา หรือเอาแผ่นโฟมมาวาง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้การทำมือหรือแรงงานคนเข้าไปช่วยเยอะมาก จริงๆ มันสามารถให้คนคอยพลิกโดยที่ไม่ต้องสั่งเครื่องก็ได้ ตอนแรกเคยทำแบบนั้นแล้วรู้สึกว่ามันแอดวานซ์เกินไป คนต้องมานั่งทำผิดทีก็ต้องวัดใหม่ที ก็เลยคิดว่าไหนๆ เครื่องมันมีฟังก์ชันนี้ที่ใช้งานได้ก็ใช้เครื่องเป็นตัวกำหนด อย่างน้อยมันก็เท่ากันในระดับหนึ่ง เคยพยายามจะขายความเป็นคนมากไปหน่อย งานก็เลยผิดพลาด เลยพยายามบาลานซ์ เครื่องมีประโยชน์เราก็ควรใช้เครื่อง เวลา 1 ชั่วโมง ทำงาน ease ได้ 5 ชิ้น แต่ทำ mass ได้ 500 ชิ้น สุดท้ายมูลค่าของ 5 ชิ้นอาจจะได้มากกว่า แต่ 5 ชิ้นมันก็มีข้อเสียที่ว่า ถ้าเสียชิ้นหนึ่งมันก็จบเลย mass เสียไป 10 ชิ้นก็ไม่เป็นไร ก็เลยรู้สึกว่าต้องบาลานซ์ทุกอย่างไปพร้อมกันๆ อย่างบางลายปักไม่เคยเปลี่ยนลายมา 30 ปี แล้ว แต่ของเราทุกสัปดาห์มีลายใหม่มาตลอด ส่วนลายนี้ (Shading) มันโชคดีที่ได้รางวัล มันก็เลยมาผลิตลายต่อเนื่อง แต่พอลายใหม่มาก็ต้องมาจูนกันอีกที”

02เทคนิคการขึ้นลายงานปักคอลเลกชั่น Shading หนึ่งชิ้นงานคืองานชิ้นเดียวที่ไม่เหมือนใคร โดยขณะเครื่องจักรกำลังลงเข็มปักเส้นไหมลงบนเนื้อผ้านั้นต้องคอยระวังไม่ให้ผ้าตึงเกินไป หรือย่นจนเกินไป


06การเก็บรายละเอียดของเส้นไหมที่ขาดในระหว่างกระบวนการปัก


333
คอลเลกชั่น Shading เลือกใช้ผ้าลินินที่มีผิวด้าน เพื่อไม่ให้รบกวนไหมที่มีผิวมันเงา ซึ่งผ้าลินินแต่ละผืนจะมีความเข้มและอ่อนของสีต่างกัน ซึ่งมาจากสีของลินินแต่ละต้น การปักแต่ละครั้ง ชิ้นงานที่ได้จะแตกต่างกัน ทั้งเรื่องสี และรายละเอียดของเส้นไหม


ระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไป เสียงของเครื่องจักรยังคงแผดลั่นกังวารตามกระบวนการที่มันเป็นมาตลอด 24 ชั่วโมงใน 6 วันต่อสัปดาห์ ถึงแม้จะเป็นเครื่องจักรรุ่นเก่า แต่คุณภาพที่ได้ไม่แตกต่างกับงานปักจากเครื่องจักรรุ่นใหม่แต่อย่างใด สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความรู้สึกว่างานออกแบบของ ease มีเสน่ห์กว่าที่คิดไว้ก็คือ แนวคิดของวนัสและณิชภัคที่มองความไม่สมบูรณ์แบบ ความไม่เที่ยงแท้ คือแก่นแท้ของงานดีไซน์กึ่งเครื่องจักรกึ่งทำมือ สังเกตได้จากงานปักลายไหมในคอลเลกชั่น Shading แต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกันในรายละเอียด ทั้งลายไหมที่ซ้อนทับกันแบบไม่เรียบร้อย และสีของผ้าที่เข้ม-อ่อนไม่เท่ากันตามธรรมชาติ ทำนองว่าหนึ่งชิ้นที่ได้มีชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น เชื่อหรือยังว่าดีไซน์สร้างผ้าให้มีมูลค่าเพิ่มได้จริงๆ

000000Contact: Ease Embroidery Design Studio
โทร.08-6383-4604, 08-7619-6797
อีเมล ease.emb@gmail.com
เว็บไซต์ facebook.com/ease.emb
 

 

 

 

 

 

Leave A Comment