DYE DEE
“กล้าต่าง จนได้เรื่อง! ”
Text : Doowoper
Photo : DYE DEE
เพราะชอบและสนใจในผ้าย้อมสีธรรมชาติ สองเพื่อนเกลอ จ๊อบ-อัจชนะพงษ์ อัจชนะวราทา และมิ้นท์-นัฐพงษ์ ม่วงแนม จึงเดินหน้าศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนตกผลึกความคิด นำเสนอกางเกงยีนส์ทอมือ ย้อมสีธรรมชาติที่ดีต่อใจผู้ใช้งานสุดๆ แถมออกตัวแรง… ขึ้นแท่นแบรนด์กางเกงยีนส์สัญชาติไทยสุดเท่ ที่รวบตึงทั้งรางวัล DEmark จาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และรางวัลชนะเลิศในงาน Design Innovation Contest จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
- ประวัติคร่าวๆ ก่อนรวมตัวเป็นคู่ดูโอ้
จ๊อบ : หลังจากผมและมิ้นท์ เรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมมศาสตร์ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผมก็มาทำงานเป็น exhibition designer และก็ freelance ครับ ส่วนตอนนี้ทำงานเป็น creative designer ในองค์กรที่พัฒนาและส่งเสริมงานด้านนวัตกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยครับ
มิ้นท์ : ส่วนผมทำงาน Production รับทำโฆษณาออนไลน์ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ครับ
- DYE DEE เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
มิ้นท์ : เกิดจากจ๊อบชักชวนผมมาทำแบรนด์ DYE DEE ครับ ซึ่งแรกๆ เราทำเป็นงานอดิเรก ทดลองทำผ้ามัดย้อมขายทางออนไลน์และตามตลาดนัด ขณะเดียวกันเราก็ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานย้อมสีงานทอผ้ามาเรื่อยๆ
จ๊อบ : จริงๆ DYE DEE เริ่มมาจากความชอบสีธรรมชาติอยู่แล้ว รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ เหมือนธรรมชาติบอกเราว่า “ธรรมชาติก็มีสีให้ย้อมผ้า ทำไมต้องย้อมด้วยสารเคมีเพื่อกลับมาทำร้ายธรรมชาติด้วย” ผมจึงเริ่มศึกษา หาหนังสือมาอ่าน เริ่มหัดสกัดสี และหัดย้อมเองใส่เองมาเรื่อยๆ จนอยากลองทำขายดูว่าจะมีคนสนใจหรือไม่ หาวิธีทำให้แตกต่างไปจากสินค้าเดิมในตลาด ตอนแรกๆ เราย้อมสีธรรมชาติสีเดียว เป็นสีพื้น เบสิคๆ แล้วก็ พวกมัดย้อมลายที่เราคิดว่าน่าสนใจ สุดท้ายก็ยังไม่แปลกใหม่พอ เราจึงค้นหาความสมดุลระหว่างสิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราสนใจเกี่ยวกับสีธรรมชาติ จนเกิดเป็นกางเกงยีนส์ทอมือขึ้น ซึ่งเราใช้เวลาศึกษามานานพอสมควรเลยทีเดียว
- DYE DEE ชื่อนี้คุณได้แต่ใดมา
จ๊อบ: DYE DEE มาจากคำว่า DYE ภาษาอังกฤษ-ไทย แปลว่า ย้อม และคำว่า DEE = ดี ภาษาไทย แปลรวม กันคือ “ย้อมดี”(พูดถึงกระบวนการการทำงานของเราว่า “ดี”) อีกความหมาย การออกเสียง DYE DEE จะคล้าย “ด้ายดี” ก็คือเส้นด้ายที่เรานำมาใช้คุณภาพดี (พูดถึงวัสดุที่เรานำมาใช้ว่า “ดี”) และคำว่า “ด้ายดี” พ้องเสียงกับคำว่า “ได้ดี” (พูดถึงผู้ได้รับสินค้าจะได้รับสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ “ดี” ) คือเราต้องการจะสื่อว่า เรามี process+materials จนเป็น product ที่ดีนะ คุณจะได้รับสิ่งดีๆ จากเราตลอด
- ทำไมถึงต้องยีนส์
มิ้นท์ : คือปกติเราก็เป็นคนใส่ยีนส์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมาทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ชอบความเท่ของยีนส์ และใครๆ เขาก็ใส่กางเกงยีนส์กันทั้งนั้น พอได้ศึกษาเยอะๆ เห็นชาวบ้านทอผ้า สัมผัสกับภูมิปัญญาของคนโบราณ จึงเกิดคำถามว่า “ถ้านำกี่ไม้โบราณมาใช้ทอเป็นยีนส์ให้คนยุคปัจจุบันสวมใส่เนี่ย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่?”
- ยีนส์ของคุณ แตกต่างจากชาวบ้านอย่างไร
มิ้นท์ : สิ่งแรกที่คนจะได้เห็นจากกางเกงยีนส์ของเราก็คือเรื่องสีสันของผ้าครับ และเมื่อได้มาจับมาสัมผัสผ้าก็จะพบถึงความต่างทันที ผ้าของแบรนด์ DYE DEE จะมีความหนาแต่เบา เพราะเป็นผ้าทอมือจึงระบายอากาศได้ดี เหมาะแก่การสวมใส่ในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเราครับ
- แรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานส่วนใหญ่คือ…
มิ้นท์ : สิ่งที่อยู่รอบตัวๆ ครับ เวลาเห็นอะไร เราก็จะชอบตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้มันสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรนะ? มันจะเป็นแบบอื่นบ้างได้หรือไม่ เอาไปใช้ทำอะไรได้อีก เป็นการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ ครับ
จ๊อบ : แรงบันดาลใจของผมมาจาการสังเกตสิ่งรอบตัว ธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ รัฐบาล ผู้คนในขณะเวลานี้ว่าเกิดความน่าเบื่อที่ตรงไหน เราจะตอบโจทย์ และกลบความน่าเบื่อที่เกิดขึ้นด้วยงานออกแบบอย่างไรได้บ้าง
- สิ่งที่คุณทั้งคู่ให้ความสำคัญมากที่สุดในเรื่องการออกแบบ
มิ้นท์ : การใช้งานได้จริง และความสวยงามต้องไปด้วยกันครับ
คุณจ๊อบ : คุณภาพสินค้าด้วยครับ ทั้งในแง่ของสุนทรียภาพ และคุณภาพด้านการตัดเย็บ ผมอยากให้ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ของเราต้องไม่รู้สึกผิดหวังเมื่อได้ใช้งาน
- คุณแบ่งหน้าที่ในการทำงานอย่างไร
มิ้นท์ : เราเองก็เพิ่งเริ่มเข้ามาในธุรกิจเสื้อผ้า กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ธุรกิจนี้ มีหลายฝ่ายที่เราต้องทำงานด้วย
ทั้งกับช่างทอ ช่างตัดเย็บ ทั้งเรื่องการวางภาพลักษณ์ของแบรนด์ ผมจะเป็นฝ่ายประสานงาน จ๊อบจะเป็นฝ่ายออกแบบ
จ๊อบ : ช่วงนี้ส่วนใหญ่ช่วยกันเกือบทุกเรื่องครับ เราจะ set timeline คอยเตือนในแต่ละประเด็นของงานตลอด และจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ปรึกษา แก้ไขร่วมกัน
- วิธีทำงานให้มีความสุขของคุณสองคนคือ…
มิ้นท์ : พวกเราชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ชอบทดลอง เวลาตั้งสมมติฐานอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราก็จะหากระบวนการให้ภาพในจินตนาการนั้นเป็นจริงขึ้นมา สนุกดีครับ มันทำให้เรามีความสุขที่ได้ออกไปทำ
จ๊อบ : สำหรับผม ‘การทำงานให้มีความสุข’ น่าจะเริ่มจากงานที่อยากทำ ถ้าไม่อยากทำก็ไม่ต้องเริ่ม เพราะเราไม่อยากทำเราก็ไม่น่ามีความสุขจากสิ่งที่ไม่ต้องการ ถ้าเราเริ่มจากความอยากมันจะกลายเป็นสิ่งท้าทาย ความเสี่ยงจะกลายเป็นโอกาสที่พอจะมี ทุกอย่างจะเป็นแง่บวกไปหมด ถ้าเราอยากที่จะทำ
- คุณคิดว่างานออกแบบที่ดี ต้องเป็นอย่างไร
มิ้นท์ : งานออกแบบที่ดี พื้นฐานคือต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ทั้งในแง่ของฟังก์ชั่น หรือเรื่องของสุนทรียภาพความสวยงาม แต่ถ้าสามารถให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่
จ๊อบ : แก้ไขปัญหาของผู้ใช้งาน ด้วยความพึงพอใจของผู้ออกแบบ คือ happy กันทั้งต้นทางและปลายทาง อันนี้คือในมุมมองผมที่เป็นนักออกแบบไม่ใช่ผู้ใช้งานนะ
- ในความคิดคุณ ทำไมแบรนด์ DYE DEE ถึงได้รับรางวัล DEmark 2018
มิ้นท์ : ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำจริงๆ ในงานออกแบบก็คือ การคิดจากสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวครับ พวกเราอยู่เชียงใหม่ ที่นี่มีองค์ความรู้ด้านการทอผ้า มีภูมิปัญญาด้านการย้อมสีธรรมชาติ จากคนในชุมชนเราหยิบเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่มาประกอบกันให้เกิดสิ่งใหม่ครับ
- ทำไมถึงส่งเข้าประกวดโครงการ Design Innovation Contest 2018
จ๊อบ : จริงๆ เลย อยากให้ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมให้กับเรานะ เพราะอยากให้เขาเห็นว่าสิ่งที่แบรนด์ทำเป็นนวัตกรรมที่เข้าถึงง่าย และเกิดขึ้นจริงกับคนในชุมชนแล้ว เราต้องการการสนับสนุนในเรื่องการพัฒนากี่ทอผ้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อให้ชาวบ้านและชุมชนทั่วประเทศได้นำมาสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ส่งผ้าให้เรา เกิดความยั่งยืน ไม่ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่ก็รอการช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่ครับยังไม่ได้เกิดขึ้น เราคงต้องหาแหล่งทุนอื่นๆ มาช่วยด้วย ซึ่งตอนนี้พวกเรากำลังพยายามกับเรื่องนี้อยู่ครับ
- คุณคิดว่าอะไรทำให้เราได้รับรางวัลชนะเลิศ
มิ้นท์ : องค์ความรู้นวัตกรรมที่เรานำมาใช้ในกี่ทอผ้าของเรานั้นมันสามารถถ่ายทอดให้คนในชุมชนนำไปทำได้จริงและสร้างอาชีพให้เขาได้
จ๊อบ : ผมคิดว่า การที่เรานำนวัตกรรมเข้าไปแก้ปัญหาและปรับปรุงงานสิ่งทอ เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมจนเกิดสิ่งทอใหม่ขึ้นมาตอบโจทย์ตลาด กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน กระตุ้นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่ความเป็น sustainable design
- ช่วยแง้มถึงโปรเจ็คท์ในอนาคตให้ฟังสักนิด
มิ้นท์ : เพราะได้เห็นว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนนั้นสามารถอยู่ในโลกปัจจุบันได้ เพียงแต่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ยังมีภูมิปัญญาของคนในชุมชนอีกมากมาย เช่น ผ้าบาติก ผ้าทอของชนเผ่า อยู่ที่ว่าเราจะดัดแปลงยังไงให้เข้ากับยุคสมัย สิ่งเหล่านี้คือทิศทางของ DYEDEE ต่อไปครับ
“เราต้องการการสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนากี่ทอให้ดียิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อให้ชุมชนทั่วประเทศนำมาสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เกิดความยั่งยืน ไม่ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งตอนนี้พวกเรากำลังพยายามกับเรื่องนี้อยู่ครับ”
จ๊อบ-อัจชนะพงษ์ อัจชนะวราทา
“งานออกแบบที่ดี พื้นฐานคือต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ทั้งในแง่ของฟังก์ชั่น หรือเรื่องของสุนทรียภาพความสวยงาม แต่ถ้าสามารถให้ประโยชน์ต่อสังคมด้วย จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
มิ้นท์-นัฐพงษ์ ม่วงแนม