DREAMS COME TRUE


บ้านไร่ ไออรุณ
บ้านไร่ในฝันที่กลายเป็นความจริงของ วิโรจน์ ฉิมมี

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณสามปีก่อนหน้านี้ วีรกรรมของคุณเบส-วิโรจน์ ฉิมมี ได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากในฐานะผู้กล้าที่มีทั้งความบ้าบิ่นและความฝันอันเปี่ยมล้น ตลอดจนเป็นกรณีศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครที่มีฝันเหมือนกับเขาอีกมากมาย อย่างที่หลายคนได้ทราบมาก่อนว่าสถาปนิกหนุ่มในวัย 30 ต้นๆ ตัดสินใจยุติบทบาทสถาปนิกและชีวิตการเป็นพนักงานประจำในเมืองหลวงอันแสนศิวิไลซ์ ยื่นซองขาวลาออกกับเจ้านายเพื่อกลับมาสานฝันที่ตัวเองเคยวาดเอาไว้ก่อนร่ำเรียน ที่บ้านเกิดในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ภายหลังจากหนีกรุงมุ่งสู่ไร่ สิ่งที่สถาปนิกซึ่งผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรในคราบนักสร้างสรรค์ เริ่มต้นทำตามความฝันของตัวเองเป็นขั้นแรก คือการเอาความรู้ทางวิชาชีพสถาปัตย์ที่มีติดตัวมาใช้ปรับปรุงบ้านพักอาศัยหลังเดิมของพ่อและแม่ที่ค่อนข้างทรุดโทรม ให้กลับมาสวยเหมือนใหม่ด้วยวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่ที่เป็นองค์ประกอบหลัก อีกทั้งยังลงมือช่วยครอบครัวทำไร่ปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้กินเองบ้างแบ่งขายบ้าง พร้อมใช้ช่วงเวลาว่างในแต่ละวันสร้างเสริมเติมแต่งพื้นที่ในสวนจำนวนกว่า 20 ไร่ จนเกิดเป็นฟาร์มสเตย์ที่ใครก็รู้จักกันดีในชื่อ ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ บ้านไร่ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยป่าเขาเขียวชอุ่มที่ทั้งอบอุ่นและมีวิถีชีวิตแบบพอเพียงตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างน่าชื่นชม

จากวันแรก ใครจะเชื่อว่าหลายสิ่งที่คุณเบสเพียรพยายามมาตลอดจะสัมฤทธิผลเกินความคาดหมายในวันนี้ สองปีให้หลังจากการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความฝันลงบนดิน ฝันที่คอยรดน้ำพรวนดินก็ค่อยๆ งอกงามขึ้นตามกาลเวลา จากเมล็ดขึ้นเป็นต้นเกล้าเติบใหญ่จนหยั่งรากแข็งแรง จากบ้านหลังแรกที่ใช้สำหรับพักอาศัยในครอบครัว ต่อยอดเป็นบ้านพักหลังน้อยสำหรับแขกเหรื่อผู้มาเยือนหลังที่หนึ่ง หลังที่สอง หลังที่สาม หลังที่สี่ เรื่อยมาจนปัจจุบันที่ขึ้นมาแตะหลักเจ็ดและยังคงไม่หยุดแค่นี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า บ้านไร่ ไออรุณ แทบไม่เคยว่างเว้นผู้มาเยือนจากทั่วทุกสารทิศแม้สักวันก็ไม่ผิดนัก

โดยปัจจุบันยอดจองล่วงหน้าบ้านพักเชิงเกษตรทั้งหมด 7 หลัง ยังคงมีคิวเข้าแถวรอต่อเนื่องยาวเหยียดเป็นแรมเดือน ก็อย่างที่กล่าวไปว่าแผนงานของคุณเบสยังไม่ได้หยุดแค่นั้น เขายังคงมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดความฝันให้เติบโตขึ้นไปอีกทีละก้าว ดั่งคำบอกเล่าในบทสนทนาระหว่างเราที่มีขึ้นในบ้านพักหลังใหม่ในชื่อ ‘ม่านหมอก’ ตอนหนึ่งที่ว่า“พอเพียงไม่ใช่การหยุดพัฒนา เราอยากสร้างสรรค์มันต่อ เราอยากพัฒนาให้ที่นี่ร่วมสมัย ตอบโจทย์กลุ่มไลฟ์สไตล์ ปรับความพอเพียงเข้ากับยุคปัจจุบันด้วย”

ผักและผลไม้ปลอดสารพิษในแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่ครอบครัวฉิมมีปลูกไว้กินเอง แบ่งขาย และแบ่งปันให้เครือญาติ ตลอดจนนำมาใช้ในการประกอบอาหารให้ผู้มาพักได้อิ่มหนำสำราญแบบไม่เสียสุขภาพ

ผักและผลไม้ปลอดสารพิษในแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่ครอบครัวฉิมมีปลูกไว้กินเอง แบ่งขาย และแบ่งปันให้เครือญาติ ตลอดจนนำมาใช้ในการประกอบอาหารให้ผู้มาพักได้อิ่มหนำสำราญแบบไม่เสียสุขภาพ

ผักและผลไม้ปลอดสารพิษในแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่ครอบครัวฉิมมีปลูกไว้กินเอง แบ่งขาย และแบ่งปันให้เครือญาติ ตลอดจนนำมาใช้ในการประกอบอาหารให้ผู้มาพักได้อิ่มหนำสำราญแบบไม่เสียสุขภาพ

คุณเบส-วิโรจน์ ฉิมมี สถาปนิกผู้เป็นเจ้าของและออกแบบ

ห้องน้ำใหม่สวยอย่างเป็นธรรมชาติด้วยแนวคิดที่ยึดมั่นและการใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ 

จากภาพล่าสุดที่ Daybeds ได้เห็นในการมาเยี่ยมชมที่พักเชิงเกษตรแห่งอำเภอกะเปอร์ คือส่วนล็อบบี้และบ้านพักหลังที่ 7 ซึ่งเป็นอาคารใหม่สองหลังล่าสุดที่คุณเบสออกแบบขึ้น มีการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อย โดยในการก่อสร้างครั้งนี้ คุณเบสได้ปรึกษาทีม Creative designer จาก COTTO STUDIO ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จาก COTTO ที่เขาเชื่อมั่นในคุณภาพและดีไซน์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี มาใช้ในการตกแต่งห้องน้ำในส่วนล็อบบี้ และห้องน้ำในส่วนบ้านพักหลังที่ 7 หรือ บ้านม่านหมอก ซึ่งเป็นพื้นที่ของความสุขให้ออกมาสวยในแบบที่เป็นตัวเอง

สำหรับการออกแบบห้องน้ำใหม่ทั้งสองพื้นที่ในบ้านไร่ ไออรุณ ครั้งนี้ คุณเบสเน้นการคุมโทนด้วยเฉดสีขาวจากสีทาผนัง สีแดงจากกำแพงอิฐมอญ และสีน้ำตาลจากไม้ วัสดุที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลัก โดยยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปต์ DIY ด้วยการหยิบยืมวัสดุที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่ อิฐมอญ และท่อนไม้ นำมาผสานเข้ากับกระเบื้องลายไม้ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอ่างล้างหน้าที่มีรูปฟอร์มโมเดิร์นจากแบรนด์ COTTO จนได้ออกมาเป็นห้องน้ำที่มีความร่วมสมัยและเป็นธรรมชาติตามความตั้งใจของตัวเองในที่สุด

“ผมตั้งใจให้ที่นี่มีความร่วมสมัย มีการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพราะเรามีกรอบของเราอยู่แล้วในเรื่องขนาดความกว้าง ความยาว (ของห้องน้ำ) เราจึงยังคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ คือการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ นั่นคือไม้ไผ่ เป็นงานทำมือตามคอนเซ็ปต์ DIY นำสุขภัณฑ์สีขาวซึ่งตัดกับสีไม้เข้ามาเพิ่มความโมเดิร์นขึ้น แต่มันก็ยังอยู่ด้วยกันได้กับธรรมชาติ กับสิ่งที่เราเคยทำ วัสดุท้องถิ่น กับสุขภัณฑ์ร่วมสมัย มีความแตกต่างแต่ลงตัว” สถาปนิกหนุ่มอธิบาย

“เรายังคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ คือการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ นั่นคือไม้ไผ่ เป็นงานทำมือตามคอนเซ็ปต์ DIY
นำสุขภัณฑ์สีขาวซึ่งตัดกับสีไม้เข้ามาเพิ่มความโมเดิร์นขึ้น แต่มันก็ยังอยู่ด้วยกันได้กับธรรมชาติ”

 

ล็อบบี้หลังใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณด้านหน้าทางเข้าของรีสอร์ทติดถนนของหมู่บ้าน ลักษณะของอาคารเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นยกใต้ถุนสูงที่มีการนำวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่มาปรับใช้เพื่อลดทอนความแข็งกระด้าง ตัวอาคารจึงโดดเด่นด้วยกระบอกไม้ไผ่ที่มีความสั้นและยาวไม่เท่ากัน ซึ่งถูกนำมาจัดเรียงเป็น Façade หรือผิวหน้าอาคารที่มีความกลมกลืนไปกับบริบท

ภายในห้องน้ำส่วนล็อบบี้ คุณเบสเลือกสรรกระเบื้องลายไม้ รุ่น GRANDIS สี MALT และ NOTTING HILLสี WHITE ซึ่งมีลวดลายใกล้เคียงกับไม้จริง รวมไปถึงสุขภัณฑ์ รุ่น PARAGON ก๊อกน้ำ รุ่น Anthony Plus และอ่างล้างหน้า รุ่น พาลิซซ่า จาก COTTO มาปรับใช้คู่กับวัสดุท้องถิ่นอย่างสวยงามและลงตัวในสไตล์ร่วมสมัย

ภายในห้องน้ำส่วนล็อบบี้ คุณเบสเลือกสรรกระเบื้องลายไม้ รุ่น GRANDIS สี MALT และ NOTTING HILLสี WHITE ซึ่งมีลวดลายใกล้เคียงกับไม้จริง รวมไปถึงสุขภัณฑ์ รุ่น PARAGON ก๊อกน้ำ รุ่น Anthony Plus และอ่างล้างหน้า รุ่น พาลิซซ่า จาก COTTO มาปรับใช้คู่กับวัสดุท้องถิ่นอย่างสวยงามและลงตัวในสไตล์ร่วมสมัย

อ่างล้างหน้าภายในห้องน้ำส่วนล็อบบี้ คือผลิตภัณฑ์อ่างล้างหน้า จาก คอตโต้ รุ่น ‘พาลิซซ่า’ นวัตกรรมแห่งการดีไซน์ เจ้าของรางวัล DEmark 2014 และรางวัล G-Mark จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละใบจะได้รับการขึ้นรูปในแบบฟรีฟอร์ม ลักษณะและลวดลายของอ่างเซรามิกแต่ละใบจึงมีความแตกต่างกันในรายละเอียด

อ่างล้างหน้าภายในห้องน้ำส่วนล็อบบี้ คือผลิตภัณฑ์อ่างล้างหน้า จาก คอตโต้ รุ่น ‘พาลิซซ่า’ นวัตกรรมแห่งการดีไซน์ เจ้าของรางวัล DEmark 2014 และรางวัล G-Mark จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละใบจะได้รับการขึ้นรูปในแบบฟรีฟอร์ม ลักษณะและลวดลายของอ่างเซรามิกแต่ละใบจึงมีความแตกต่างกันในรายละเอียด

ภาพรวมของห้องน้ำมีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่มีการตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หินกรวด น้ำตก และลำธารบริเวณใต้ถุนล็อบบี้

เนื่องจากอาคารมีความสูงกว่าบ้านหลังอื่น บ้านหลังที่ 7 หรือหลังล่าสุดในชื่อ บ้านม่านหมอก จึงได้รับการออกแบบโดยผสานโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตเพื่อความมั่นคงแข็งแรง เข้าด้วยกันกับวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้และไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุตกแต่งผิวอาคาร นอกจากนี้คุณเบสยังลดความแข็งกระด้างของงานเหล็กด้วยการทาสีขาวให้ดูละมุนสายตา ประกอบไปกับการนำไม้และวัสดุท้องถิ่นมาสมผสานเป็น Façade เพื่อให้อาคารไม่ดูโมเดิร์นจนเกินไป

มุมนั่างเล่นบนบ้านม่านหมอก

อีกหนึ่งไอเดียสร้างสรรค์ คือการนำกิ่งไม้แห้ง และนกกระดาษ แขวนประดับเป็นโมบาย DIY อย่างเป็นเอกลักษณ์

ด้านการออกแบบภายใน คุณเบสเน้นความเรียบง่ายและสะอาดตามากที่สุดเท่าที่สามารถ อีกทั้งยังเน้นความโปร่งโล่งเพื่อเปิดรับวิวภายนอก จึงสามารถชมหมอกยามเช้า รับไออรุณยามสาย ทั้งยังเปิดรับสายลมพัดผ่านเย็นสบายตลอดวันเมื่อเปิดประตูบานเลื่อนออกทั้งหมด

ห้องน้ำในส่วนบ้านพักหลังที่ 7 หรือ บ้านม่านหมอก ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ในลักษณะเดียวกันกับห้องน้ำที่ล็อบบี้ โดยคุณเบสเลือกใช้สุขภัณฑ์สองชิ้น ชนิดท่อลงพื้น รุ่น 3×3 – E1 และ อ่างล้างหน้าชนิดวางบนเคาน์เตอร์ รุ่น โอลิคซ์ มาผสานกับวัสดุพื้นถิ่นอย่างสรรสรรค์

ห้องน้ำในส่วนบ้านพักหลังที่ 7 หรือ บ้านม่านหมอก ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ในลักษณะเดียวกันกับห้องน้ำที่ล็อบบี้ โดยคุณเบสเลือกใช้สุขภัณฑ์สองชิ้น ชนิดท่อลงพื้น รุ่น 3×3 – E1 และ อ่างล้างหน้าชนิดวางบนเคาน์เตอร์ รุ่น โอลิคซ์ มาผสานกับวัสดุพื้นถิ่นอย่างสรรสรรค์

บ้านในฝันที่เราอยากให้มันดูถ่อมตนกว่าธรรมชาติ

ที่บ้านไร่ ไออรุณ สถาปัตยกรรมที่คุณเบสออกแบบและก่อสร้างขึ้นมาทั้งหมด เขาบอกเพียงว่าตั้งใจหลอมรวมทุกสิ่งเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ บ้านทุกหลังมีความถ่อมตนแล้วให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ เราจึงพบกับความสงบเงียบ ร่มรื่น ร่มเย็น ได้จากทุกทิศทางไม่ว่าจะหันหน้าไปทางมุมไหน บรรยากาศโดยรวมของบ้านไร่ในฝันที่กลายเป็นจริงแห่งนี้ สามารถฉุดความร้อนรุ่มในใจที่ใครก็ตามนำติดตัวมาจากที่อื่นให้ต่ำลงเรี่ยดิน มลายไปกับดิน แล้วถูกแทนที่ด้วยความเพลิดเพลิน รื่นรมย์ชมชอบไปกับสวรรค์ที่อยู่เบื้องหน้า ได้ยินเสียงนกร้อง เสียงลมพัด เสียงใบไม้ ได้สัมผัสแสงอรุณงามเช้าที่สาดส่องเข้ามาทักทาย ได้เห็นไอแดดที่ลอดผ่านช่องว่างของป่าผืนน้อยที่อุดมสมบูรณ์ไม้น้อยใหญ่นานาพันธุ์ และได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าที่เคยเป็น

“บ้านแต่ละหลังเราอยากให้บ้านมันกลืนไปกับธรรมชาติรอบๆ ด้วยขนาดและสัดส่วนเราอยากให้มันดูถ่อมตนกว่าธรรมชาติที่เรามี บ้านแต่ละหลังเลยมีลักษณะแตกต่างกันออกไป คอนเซ็ปต์ของเราคือเป็นบ้านที่เกิดจากความฝัน บ้านที่เราเคยคิดอยากจะมีในวัยเด็ก เช่น มีแปลงผักอยู่หน้าบ้าน มีลำธารผ่านบ้าน มีห้องใต้หลังคา มีบันไดให้ปีนป่าย มีห้องมองเห็นวิวภูเขารอบๆ มันเป็นความฝันของเรา แล้วเราก็เชื่อว่าบ้านที่เราสร้างจะดึงคนที่มีความฝันแล้วชอบอะไรเหมือนกันมาพักที่นี่” สถาปนิกหนุ่มเล่าเจตนารมณ์

พื้นที่กว่า 20 ไร่ ได้รับการแบ่งโซนให้บ้านหลังใหญ่ ที่เป็นบ้านหลังเดิมที่คุณพ่อคุณแม่เคยอยู่อยู่ตรงกลาง แล้วมีบ้านหลังเล็กๆ ที่เป็นบ้านพักกระจายตัวอยู่รอบๆ บ้านหลังใหญ่ เป็นวงกลมที่สามารถเดินผ่านในส่วนได้

โดยบ้านแต่ละหลังทิ้งระยะห่างกันพอประมาณ บ้านและใช้พื้นที่ราว 1 ไร่ มีแปลงผักหน้าบ้าน มีลำธารที่ขุดลอกเข้ามาไหลผ่าน พร้อมตั้งชื่อบ้านแต่ละหลังคล้องจองกัน ได้แก่ ม่านหมอก ละอองดาว พราวตะวัน ในสวนฉัน กับฝันที่เป็นจริง ส่วนหลังต่อไปที่จะสร้างคือบ้านอิงจันทร์ จะแทรกอยู่ระหว่าง ในสวนฉัน กับ ฝันที่เป็นจริง ในอนาคต

Tree House บ้านต้นไม้ หรือ บ้านกับฝันที่เป็นจริง

Tree House บ้านต้นไม้ หรือ บ้านกับฝันที่เป็นจริง

Tree House บ้านต้นไม้ หรือ บ้านกับฝันที่เป็นจริง

พื้นที่ภายในบ้านกับฝันที่เป็นจริง

บ้านในสวนฉัน

บ้านละอองดาว

บ้านพราวตะวัน

วันแรกรู้สึกอยากให้มันเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังอยากให้มันเป็นแบบนั้น

จากผลตอบรับที่ดีมากๆ ของ บ้านไร่ ไออรุณ ทุกสิ่งทุกอย่างเปรียบเสมือนผลตอบแทนจากความตั้งใจในการลงมือลงแรงของคุณเบสและครอบครัวมาตลอดหลายปี “มันคือกำไรครับ” สถาปนิกย้ำ “เรารู้สึกว่าเราไม่ได้คาดหวังอะไรอยู่แล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าเราทำบ้านพักแล้วจะมีคนมาพักเต็ม แต่เราคิดจากความน่าจะเป็นขึ้นว่า ก่อนที่เราจะสร้างบ้านหลังที่ 7 ขึ้น มันจะมีคนมาพักไหม นั่นคือยอดจองเข้ามาแล้วก็เงินที่โอนเข้ามาก่อน เราไม่ได้ตามกระแสหรือความรู้สึก มันเกิดขึ้นจริงๆ ว่ามันน่าจะมีคนมาพัก แล้วเรามีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทำกี่หลัง วันหนึ่งจะมีคนมาพักกี่คน เราตั้งไว้ว่าวันหนึ่งจะไม่เกิน 20 คน บ้านพักเราจะไม่เกิน 9 หลัง เพื่อที่จะให้มันอยู่ในระบบครอบครัว แล้วก็ดูแลกันเองได้ เรามีคนมาพักวันหนึ่ง 20 คน เรามีคนของเราเอง 20 คน 40 คนที่เราต้องดูแลมันก็รู้สึกว่าเยอะแล้ว สำหรับ 1 วัน เรายังอยากให้คอนเซ็ปต์มันเป็นเหมือนเดิม ในวันแรกเรารู้สึกอยากให้มันเป็นอย่างไร วันนี้เราก็อยากให้มันเป็นแบบนั้นอยู่”

“ผมอยากให้บ้านไร่เป็นเหมือนโชว์รูมของคนในชุมชนที่มาแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานสาน เรื่องโคมไฟ งานก่อสร้าง เรื่องอาหาร การทำการเกษตร และสินค้าการเกษตร เพราะว่าตอนนี้เรารู้สึกว่าเรามีโอกาสในการประชาสัมพันธ์ มีโอกาสนำเสนอสิ่งที่ชาวบ้านเหล่านี้มีความสามารถออกไปให้คนทั่วไปได้รู้จักกะเปอร์  ได้รู้จักสิ่งที่เขาทำได้ ได้รู้จักความสามารถของเขา แล้วก็เกิดรายได้ เกิดการต่อยอด เพราะต่อไปเราก็จะเอางานที่ชาวบ้านทำเองมาใช้ตรงนี้ แล้วก็อาจจะมีป้ายติดว่าเป็นแบรนด์ของใคร มีที่มาอย่างไร ทุกอย่างมีเรื่องราวหมด”

“เราไม่ได้อยากให้มันเป็นที่พักที่สวยงามแค่รูปภาพที่ถ่ายออกไป แต่เราอยากให้สวยงามออกมาจากข้างในเมื่อเข้ามาเห็น แล้วก็เข้ามาช่วยกันดูแลรักษา และเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราช่วยกันสร้าง เพราะเรื่องราวที่เราแบ่งปันออกไปมันก็ช่วยดึงคนที่ชอบลักษะเดียวกันมาหากันอยู่แล้ว เหมือนกับสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแบรนด์ของเรา ให้กับบ้านไร่ของเรา ทุกอย่างที่เรานำมาใช้อยู่ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหมดเลย ทั้งการรู้จักตนเอง การประมาณตน การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ที่เหลือก็แบ่งปันให้คนอื่น เพื่อที่จะให้คนอื่นหันกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง”

“เบสไม่ได้อยากชวนทุกคนให้มาที่บ้านนี้ แต่อยากชวนให้ทุกคนกลับบ้านของตัวเองแล้วพัฒนาบ้านหลังนั้นให้มีความสุข มีรอยยิ้ม เหมือนที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ รวมถึงหลายๆ งานที่เบสทำอยู่ตอนนี้ก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด เราก็รู้สึกว่าถ้าการกลับมาอยู่บ้านเกิด การกลับมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงมันจะกลายมาเป็นเทรนด์ในยุคปัจจุบัน เราก็อยากให้มันเป็น เพราะมันจะทำให้ทุกคนมีความสุข แล้วก็พัฒนาสังคมหรือว่าชุมชนในแต่ละจังหวัด หรือแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้นได้”

สำหรับใครก็ตามที่กำลังตั้งคำถามและกำลังออกค้นหามันอยู่ว่า ความสุข ความฝัน และความจริง ทุกสิ่งจะหลอมรวมกันเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติได้อย่างไร ‘บ้านไร่ ไออรุณ’ แห่งนี้คือคำตอบที่อาจไม่ได้สวยงามที่สุด ไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่อาจจะเป็นคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำที่สุด ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกิดประเด็นสงสัยเข้ามาสัมผัสและเข้าใจความหมายของคำตอบนั้นได้อย่างลึกซึ้งที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่พบได้ในปัจจุบัน

“ผมอยากให้บ้านไร่เป็นเหมือนโชว์รูมของคนในชุมชนที่มาแสดงความสามารถ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานสาน เรื่องโคมไฟ งานก่อสร้าง เรื่องอาหาร การทำการเกษตร
และสินค้าการเกษตร”

ล็อบบี้ในมุมมองจากแปลงเกษตร

งานก่อสร้างจากวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น และซื้อจากโรงเลื่อยมาปรับใช้ตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ นอกจากนี้แผ่นไม้และท่อนซุง เศษไม้แบบเหลือใช้ ท่อนไม้ไผ่ที่เหลือทิ้ง ทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นเก้าอี้สำหรับใช้งานภายในบ้านไร่แห่งนี้อีกด้วย

โคมไฟระย้า งานสานแฮนด์เมดจากฝีมือชาวบ้าน

ขมจีนน้ำตา แกงไตปลา และผักเคียง อาหารเช้าในแบบบ้านๆ ที่บ้านไร่ ไออรุณ

กาแฟ และ ขนมหวาน ที่บ้านไร่ ไออรุณ

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

Leave A Comment