DEMO HOUSE
เปิดบ้านสาธิตของสถาปนิกหนุ่ม
Text :นวภัทร ดัสดุลย์
Photo :ฉัตรชัย เจริญพุฒ
ในวันที่ท้องฟ้าสีครามยามเย็นช่างเป็นใจ แสงตะวันทอประกายสีทองกระทบบ้านกล่องสีเทาจนเกิดมิติ ขณะนี้เรากำลังพาคุณผู้อ่านมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของสถาปนิกหนุ่ม คุณลิ้ง-เอกลักษณ์ สถาพรธนพัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Lynk Architect ภายในหมู่บ้านอายุกว่า 30 ปี อันสงบเงียบบนถนนบางนา-ตราด ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปีก่อน
พิกัดเดิมของบ้านบนที่ดินผืนนี้เคยเป็นสวนของบ้านคุณแม่ ซึ่งหลังจากคุณลิ้งย้ายออฟฟิศและคอนโดมิเนียมกะทัดรัดย่านสี่พระยากลับมาอยู่ศรีนครินทร์ จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้จากแปลนที่ลูกค้ายกเลิก โดยนำมาปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของการใช้ชีวิต พร้อมรีโนเวตบ้านของคุณแม่ให้เชื่อมโยงกับบ้านของเขาเองไปพร้อมๆ กันในทีเดียว
“บ้านหลังนี้มีหลายที่มาครับ” สถาปนิกเจ้าของบ้านเริ่มเล่า “ช่วงหลายปีก่อนผมมีแพลนจะเปิดเป็นเทิร์นคีย์ บริษัทสร้างบ้านสำเร็จรูป แล้วมีลูกค้าให้เราดีเวลล็อปแบบให้ ที่ตั้งใจคือต้องการทำบ้านสร้างเร็วแล้วราคาประหยัด แต่ทำไปทำมามันไม่ประหยัดก็เลยเลิกแล้วกันไป พอลูกค้าไม่เอาผมก็เสียดายแบบ แล้วมีแพลนจะสร้างบ้านพอดี ก็ทำเป็นดีเวลล็อปบ้านตัวเองแล้วตั้งชื่อเป็นบ้าน Demo”
บ้านโมเดิร์นหลังนี้ใช้เวลาก่อสร้างเกือบสองปีเต็ม จึงทำให้คุณลิ้งล้มเลิกความตั้งใจในการเปิดบริษัทสร้างบ้านสำเร็จรูปไปโดยปริยาย “รู้เลยว่ามันเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่ถนัด ดูแล้วเราคงไม่ใช่พ่อค้า เพราะทำอย่างนี้ต้องมีความเป็นพ่อค้าค่อนข้างสูง ต้องดูเรื่องกำไร ขาดทุน ซึ่งมันขัดกับธรรมชาติของเรา ทำดีไซน์อย่างเดียวน่าจะดีกว่า”
สำหรับการเลือกวัสดุตกแต่งบ้านแล้ว เรื่องความสวยงาม กับความประหยัด ต้องมาพร้อมกัน บนพื้นที่ชั้นล่างที่คุณลิ้งบอกว่ามีเอฟเฟ็กต์ต่อราคาบ้านมากที่สุด จึงเลือกปูพื้นกระเบื้องที่เหมาะสมกับขนาดของบ้านที่ไม่ใหญ่จนเกินไปนัก โดยเลือกโทนสีสว่างเพื่อทำให้บ้านดูกว้างขึ้น แถมยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าลงได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งการเลือกกระเบื้องปูพื้นผิวด้าน ยังช่วยลดผลกระทบเรื่องไลท์ติ้งเอฟเฟ็กต์ของหลอดไฟที่ซ่อนไว้ตามมุมต่างๆ ภายในบ้านได้ดี คุณลิ้งบอกว่ากระเบื้องผิวด้านนอกจากจะทำให้เดินแล้วพื้นไม่ลื่น แสงไฟที่สะท้อนกับพื้นก็จะนุ่มตามไปด้วย จากนั้นจึงเลือกโซฟาโทนสีเข้มเพื่อให้ตัดกับสีขาว และมีการนำโต๊ะไม้จริงอิงธรรมชาติมาเบรกสีขาวในตำแหน่งที่เป็นพระเอกของบ้าน “ไม้เป็นอะไรที่ผมไม่อยากใช้เยอะ ไม่อยากไปตัดมัน ถ้าใช้คือใช้คุ้ม เอาให้มันอยู่ในตำแหน่งที่เป็นพระเอกของบ้านไปเลย” คุณลิ้งกล่าว
นอกจากนี้พื้นที่ชั้นล่างยังเน้นเปิดโล่ง โดยเชื่อมโซนนั่งเล่น โต๊ะทานข้าว และแพนทรีให้กระชับเข้าด้วยกันในความรู้สึกเสมือนห้องคอนโดมิเนียม อีกทั้งประตูและหน้าต่างของบ้านเมื่อเลื่อนเปิดออกทั้งหมดจะทำให้ลมพัดผ่านได้ดี ไม่เพียงแต่พื้นที่ภายในเท่านั้นที่มีความเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน บริเวณสวนด้านนอก คุณลิ้งยังได้วางเลย์เอาต์ไปพร้อมกับบ้าน มีการวางแผ่นคอนกรีตและโรยกรวดแกรนิตเป็นทางเดินรอบบ้าน มีส่วนที่เดินเชื่อมถึงกันของบ้านสองหลังที่ปูพื้นด้วยไม้เต็ง ซึ่งเมื่อก่อนบริเวณทางเชื่อมนี้เองเคยเป็นลานจอดรถเก่าได้รับการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สีเขียวโดยรอบ และยังคงรักษาต้นปีปสูงใหญ่เอาไว้ เพื่อคอยให้ร่มเงากับบ้านยามแดดจากทิศตะวันตกส่องเข้ามา
ส่วนของโครงสร้าง ผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ทาสีเป็นอีกหนึ่งวัสดุปิดผิวโครงสร้างที่โดดเด่นของบ้าน ภายนอกที่ทาสีเทาดูเท่ไม่หยอก ส่วนภายในทาสีเข้มก็ให้อีกความรู้สึกหนึ่งที่แตกต่างออกไป โดยโครงสร้างชั้นล่างคุณลิ้งเลือกใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรองรับน้ำหนักของชั้นสอง ซึ่งสถาปนิกเจ้าของบ้านเลือกใช้เป็นโครงเหล็กวางพาดยาวยื่นออกมาหน้าบ้านราว 4 เมตรด้วยกัน “บ้านนี้จะมีสองก้อน คือหนึ่ง ก้อนคอนกรีตเอาไว้รับน้ำหนักวางอยู่ด้านล่างเป็นสีขาว อีกก้อนหนึ่งเป็นเหล็กสีเทาวางพาดอยู่ด้านบน ทำให้ยื่นสแปร์ออกมาได้ไกล ตรงไหนที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กก็จะก่ออิฐมวลเบา ฉาบปูน ทาสีขาว แต่ส่วนที่เป็นโครงเหล็กผมก็จะกรุด้วยไฟเบอร์ซีเมนต์” คุณลิ้งเล่ารายละเอียดโครงสร้าง
จากนั้นคุณลิ้งพาเราเดินขึ้นมายังชั้นสอง ผ่านบันไดของบ้านที่มีรูปทรงสามมิติในลักษณะลอยตัว ภายในเป็นโครงสร้างเหล็กหุ้มผิวด้วยไม้ยึดติดกับผนังรับน้ำหนัก และมีการออกแบบชานพักยืดออกมาเป็นเคาน์เตอร์อเนกประสงค์ใต้บันได ส่วนผนังข้างบันไดกรุด้วยกระเบื้องคอนกรีตตกแต่งผนังที่ให้เท็กซ์เจอร์แตกต่างแต่สวยงามคล้ายกับผนังหิน ขณะที่บนชั้นสอง พื้นที่ทั้งหมดประกอบด้วย ห้องนอนของคุณลิ้งบริเวณส่วนยื่นของอาคาร ห้องทำงานในอีกฝั่งหนึ่งที่ติดกับรั้วด้านหลังของบ้าน ห้องนอนของน้องชาย ห้องแต่งตัว ตลอดจนระเบียงน้อยเป็นส่วนเชื่อมระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนที่ปิดผนังกระจกเพื่อเปิดโล่งพร้อมรับแสงธรรมชาติสู่ภายในได้เต็มที่ ซึ่งคุณลิ้งบอกว่า “ผมอยากให้มีความสัมพันธ์ระหว่างข้างบนกับข้างล่าง แล้วมันก็จะได้แสงที่เป็นอินไดเร็กต์ลงมาด้วย อีกอย่างเวลาเปิดหน้าต่างทำให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ชั้นบน มันมีเอาต์ดอร์ มีสเปซคล้ายๆ กับบ้านไทยที่มีเฉียงอยู่ตรงกลาง”
และด้วยความที่บ้านขนาดพื้นที่ 350 ตารางเมตรหลังนี้ สร้างขึ้นบนสวนเก่าของคุณแม่อย่างที่เราบอกไว้ เราจึงแอบถามคุณลิ้งว่าได้ปรึกษากับคุณแม่เรื่องสร้างบ้านบ้างหรือเปล่า “ไม่ปรึกษาครับ” คุณลิ้งตอบชัดถ้อยชัดคำแต่แฝงด้วยรอยยิ้ม “รู้ว่าเขา (คุณแม่) อยากได้อย่างไรแต่มันคืออาชีพเรา เรารู้ว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่ แล้วการทำบ้านตัวเอง มันคือการทำแล้วไม่ได้เงินนะ มีแต่เสียเงิน ผมต้องใช้เวลาให้มันจำกัด ลูกค้าต้องการอะไรจากเราเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่พร้อมที่จะรับคำสั่งใคร (หัวเราะ)”
เราอาจกล่าวสรุปได้ว่า บ้านโมเดิร์นหลังนี้นอกจากคุณลิ้งตั้งใจสร้างเป็นบ้านสาธิตแล้ว ยังสร้างตามใจผู้อยู่อย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน
“พอมาสร้างบ้านของตัวเอง หลายอย่างผมก็ต้องลดสเป็กลงเพราะมันเกินงบ ลดฉนวน ต้องยอมร้อนนิดหน่อย มันอาจไม่ได้ดั่งใจ 100%”
เอกลักษณ์ สถาพรธนพัฒน์
Designer’s Tip
การเลือกกระเบื้องโทนสีสว่างที่ช่วยทำให้บ้านดูกว้างขึ้นแล้ว การเลือกกระเบื้องปูพื้นผิวด้านแทนผิวมันยังช่วยลดปัญหาเรื่องไลท์ติ้งเอฟเฟ็กต์ของหลอดไฟที่ซ่อนไว้ตามมุมต่างๆ ภายในบ้านได้ดี แสงไฟสลัวที่ตกสะท้อนกับพื้นผิวด้านจะได้แสงที่นุ่มยิ่งขึ้น