DAYS OF BEING US

วันของสองเรา

Text : อริญชัย วีรดุษฎีนนท์
Photo : เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Designers : จักรชัย ปัญจนนท์ และคัทลียา องคสิงห์ จาก Txture Lab

ผมหยิบแผ่นซีดีอัลบั้มล่าสุดของ Casinotone หรือชื่อจริงของ คุณต๋ง – จักรชัย ปัญจนนท์ สถาปนิก/ นักดนตรี และเจ้าของค่ายเพลง Comet Records ในสไตล์อิเล็กทรอนิกส์ ป็อป อัลบั้มนั้นมีชื่อว่า Life is too Short ด้วยความบังเอิญหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมกลับคิดว่าอาจจะจริงอย่างที่ว่า ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น จงใช้ชีวิตให้ดีและมีความสุข เพราะหลังจากเราสนทนาเรื่องบ้านของคุณต๋งกับภรรยาสถาปนิกเช่นกัน คุณแคท – คัทลียา องคสิงห์ เป็นที่เรียบร้อย ก่อนลาจากกัน เขาให้ซีดีนี้เป็นที่ระลึก ซึ่งมันตรงกับความคิดในหัวของผมที่ว่า คู่รักสถาปนิกทั้งสองท่านนี้ กำลังเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ ภายในบ้านที่ทั้งคู่ออกแบบ และเต็มไปด้วยสิ่งของที่เขาและเธอชื่นชอบ

ทำไมถึงเลือกครัวไว้ด้านหน้าบ้านเลยครับ เราอดถามด้วยความแปลกใจไม่ได้

“ตอนวางเลย์เอาท์ พยายามคิดว่าจะเอาห้องอะไรติดสวนข้างหลังดี หรือจะเลือกครัว เพราะอยากทำกับข้าวใกล้ๆ สวน แต่คิดไปคิดมา เอาห้องนั่งเล่นมาไว้ใกล้สวนดีกว่า เลยเอาครัวไว้ด้านหน้า ดูเป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน แล้วฟังก์ชันก็ง่ายดี พอจอดรถเสร็จ สามารถถือของเอาไปใส่ตู้ไว้ได้เลย ไม่ต้องเดินใกล้ ถ้าจะทำอาหาร เราก็เปิดหน้าต่างหรือเครื่องดูดกลิ่น กลิ่นมันก็จะระบายออกไปได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” คุณต๋งออกตัวอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ

ทาวส์เฮาน์เก่าอายุกว่ายี่สิบปี ซ่อนตัวอยู่ในซอยทองหล่อ 13 ซึ่งดูเงียบสงบ แตกต่างจากถนนหลัก ถูกใจทั้งคู่ตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง โครงสร้าง และสภาพแวดล้อม ทำให้คุณต๋งและคุณแคทตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ เรโนเวทเป็นโฮมออฟฟิศ ทำงานออกแบบควบคู่ในชื่อ Txture Lab

“เดิมอยู่คอนโด และเช่าออฟฟิศทำงาน ด้วยความที่คอนโดเริ่มเล็กไปสำหรับเรา เลยอยากหาบ้านสักหลังที่มีพื้นที่ทำโฮมออฟฟิศได้ ก็บังเอิญขับรถผ่านตรงนี้ แล้วเจอติดป้ายประกาศขายอยู่ มันเป็นทาวส์เฮาน์เก่า แต่โลเคชันดีอยู่ใจกลางเมือง ค่อนข้างเงียบสงบ แล้วสถาปนิกเขาออกแบบเก่ง มีช่องเปิดโล่งอยู่ตรงกลาง เพื่อให้แสงแดดเข้ามาได้ ซึ่งหายากมากกับทาวส์เฮาน์สมัยนี้ ยิ่งหลังบ้านมีสวนต้นไม้ เราทั้งคู่ยิ่งชอบ ก็เลยตัดสินใจซื้อตรงนี้เลย” คุณแคทเอ่ยถึงจุดเริ่มต้น

“เราชอบช่องเปิดตรงกลางที่เชื่อมต่อกันทั้งสามชั้น ทำให้เรื่องของลม และแสงแดดจะเชื่อมกันเป็นแนวตั้งและแนวนอน คือชั้นล่างจากหน้าบ้านสู่หลังบ้าน ลมจะพัดได้หมด บ้านก็ระบายอากาศดี เรื่องแสงแดด เราเจาะสกายไลท์บนหลังคาเพิ่ม จากตอนแรกเป็นแค่บานเกล็ด มันก็เลยให้แสงสว่างลงมาสู่ชั้นล่างได้มากขึ้น ส่วนสไตล์การแต่งบ้านก็ตามมา เพราะชอบเรียบๆ เลยทำให้ทุกอย่างดูเรียบที่สุดในโทนสีขาวดำ เพิ่มความอบอุ่นด้วยท็อปครัวและเฟอร์นิเจอร์ไม้ มีกลิ่นอินดัสเตรียลเล็กน้อยจากผนังที่เราทำเป็นเฟรมกระจกคล้ายกับในโรงงาน และโชว์พวกสายไฟ ท่อน้ำ ส่วนฝ้าเพดานเนื่องจากคานมันลึกมาก เลยเอาฝ้าออกแล้วโชว์ข้างในก็สวยดี เหมือนทุกอย่างมันไปด้วยกัน” สถาปนิกหนุ่มนักดนตรีกล่าวเสริม

โฮมออฟฟิศขนาด 250 ตารางเมตร จากชั้นแรกเมื่อเข้าสู่ตัวบ้านจะเป็นพื้นที่ห้องครัว มีครัวไอแลนส์ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง สร้างจุดเด่นและคาแรกเตอร์ให้กับทาวส์เฮาน์หลังนี้ พื้นที่เปิดโล่งเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่น มีโซฟาสีดำขนาดใหญ่ และชุดเก้าอี้ที่ไม่เข้ากัน ดูแปลกตาอยู่ในที รายล้อมด้วยเทปซีดีเพลง ภาพถ่าย และเครื่องเสียงเก่า ที่สามารถมองออกไปยังสวนข้างหลังได้ เมื่อขยับขึ้นชั้น 2 เป็นส่วนของห้องทำงาน เมื่อผลักประตูกรุกระจกบานใหญ่ เป็นโต๊ะทำงานลอยตัวสีดำอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยชั้นวางที่ทำจากไม้เก่า สำหรับวางหนังสือ เครื่องดนตรี ตุ๊กตา หน้ากากชนเผ่าจากโมร็อกโก โปสเตอร์จากรัสเซีย ทั้งหมดนี้เป็นของที่ระลึกจากการท่องเที่ยว จากนั้น 2 เมื่อเดินสู่ชั้น 3 เป็นห้องนอนขนาดไม่ใหญ่นัก จึงทำให้ดูกว้างด้วยการเจาะกำแพงเป็นกระจกบานเกล็ด ภายในห้องนอนเน้นโทนขาวดำ จากตู้เสื้อผ้าเหล็กกรุกระจกขุ่น เตียงนอนสีดำ มีโครงเหล็กด้านบน เก้าอี้ผ้าสีขาวดำ แต่เพิ่มความอบอุ่นด้วยชั้นวางท็อปไม้เก่า สำหรับวางของใช้ส่วนตัว  เชื่อมต่อกับห้องน้ำ ที่อีกฝากจะทะลุถึงสตูดิโอทำเพลงของคุณต๋งนั่นเอง

            “พยายาทำให้จบทุกอย่างในบ้าน โดยไม่ต้องพึ่งพาข้างนอก สังเกตว่าคนส่วนใหญ่ชอบออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไปทานข้าว ช้อปปิ้ง ดูหนัง เพราะในบ้านเขาอาจอยู่ไม่ค่อยสบาย แต่ถ้าเราทำบ้านให้ดีอยู่สบาย เราก็สามารถควบคุมการใช้ชีวิตของเราได้ เพราะข้างนอกบ้านเราควบคุมอะไรไม่ได้”

Designer’s Tips
“จะใช้เวลากับเรื่องการจัดวางฟังก์ชันเยอะ เริ่มจากการแบ่งว่าชั้นล่างเป็นพื้นที่นั่งเล่น ชั้นสองเป็นห้องทำงาน และชั้นสามเป็นห้องนอน เหมือนกับว่าเราคิดจากฟังก์ชันก่อน ยังไม่ได้คิดถึงสไตล์ เพราะแต่เดิมชั้นสองเป็นห้องนอน ชั้นล่างเป็นที่พัก แล้วชั้นสามเป็นส่วนซักล้าง กับห้องนอนเล็กๆ ทำให้เราต้องทุบส่วนซักล่างแล้วขยายเป็นห้องนอน เหมือนเพิ่มฟังก์ชันเข้า แต่บางส่วนเราก็ต้องคงของเดิมเอาไว้ เช่น ห้องน้ำ เพราะมันมีเรื่องของท่อน้ำที่เราปรับเปลี่ยนไม่ได้”

Leave A Comment