CONTEMPORARY GLAMOUR  

เสน่ห์ไทยประยุกต์

 

Text : Doowoper
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ
Design : JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN 

ท่ามกลางสายลมพัดเอื่อยเย็นผสานกับเสียงก้องกังวานของโมบายห้อยประดับตกแต่ง  จากพื้นที่รับประทานอาหารมองทะลุผ่านกระจกเห็นชานเรือนอันโล่งกว้าง ชวนให้นึกถึงใต้ถุนบ้านไทยสมัยก่อน ทว่าตัวอาคารเผยพื้นผิวและเส้นสายที่ดูดิบเท่ บวกกับความพลิ้วไหวในบ่อน้ำซึ่งมีปลาคาร์พแหวกว่ายไป-มา ช่างเป็นภาพและบรรยากาศที่ชวนผ่อนคลายไม่หยอก แต่กว่าบ้านของคุณป๊อป-ธาวิน เรืองสวัสดิ์ และพ.ญ. กุ๊ก-เนตรนิภา พรหมนารท จะแล้วเสร็จ ก็ใช่จะราบเรียบดังที่ทั้งคู่หวังใจไว้ซะทีเดียว… 

เนื่องจากตัวบ้านเก่ากว่า 30 ปีแล้วค่ะ ค่อนข้างโทรมหลังคาเริ่มรั่ว เราเลยอยากจะทำบ้านใหม่

คุณกุ๊กเท้าความถึงที่มาของการทำบ้านสั้นๆ (ขณะเรากำลังอินกับบรรยากาศ) ก่อนคุณป๊อปขยายความต่อ

บ้านหลังเดิมเนี่ย นอกจากผม คุณกุ๊ก ภูและพลอย (ลูกชายและลูกสาว) ก็มีคุณตาคุณยาย และคุณป้าอาศัยอยู่ด้วยกัน จริงๆ คิดไว้นานแล้วว่าจะทุบทิ้งและสร้างใหม่ จนบังเอิญได้เจอผลงานบ้านหลังหนึ่งของคุณจูน เซกิโน่ เห็นแล้วชอบมากจึงตัดสินใจติดต่อให้มาออกแบบบ้านให้กับเราครับ นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านหลังใหม่ครั้งนี้ 

โดยโจทย์ที่ คุณจูน เซกิโน่ (สถาปนิก/ผู้ก่อต้ัง JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN) ได้รับจากเจ้าของบ้านนั่นก็คือ… อยากได้บ้านสไตล์โมเดิร์น ใช้วัสดุหลักเป็นปูนเปลือย ไม้ และเหล็กที่ดูอบอุ่นและดิบเท่ แต่ต้องไม่ร้อน รวมถึงมีหลังคารอบๆ ยื่นออกไปเยอะๆ เพื่อไม่ต้องไล่ปิดหน้าต่างยามฝนตกเหมือนบ้านเดิม 

จุดสำคัญของบ้านหลังนี้ สถาปนิกมองว่าเราอยู่กันเป็นครอบครัวค่ะ เขาจึงตีโจทย์ในการออกแบบโครงสร้างให้สามารถมองเห็นกันได้หมด ผ่านผนังกระจกบานใหญ่ โดยตรงกลางบ้านทำเป็นคอร์ตที่โปร่งโล่ง ลักษณะคล้ายใต้ถุนบ้านแบบในต่างจังหวัด ซึ่งเราเองก็ชอบดีเทลที่มีความเป็นไทยมาผสมตรงนี้มากๆ เช่นกันคุณกุ๊กเสริมอีกนิดถึงการตีโจทย์ของสถาปนิก ก่อนนำสายตามองไปรอบๆ บ้าน 

สุดท้ายการออกแบบโปรเจ็คท์นี้ ก็ถูกนำเสนอเป็นบ้านขนาด 2 ชั้นครึ่ง ที่มีดีไซน์แปลกตา (โดยสร้างอีก 1 หลังเล็กๆ บนเนื้อที่เดียวกันให้กับคุณตาคุณยาย) เผยรูปทรงคล้ายกล่อง ที่ด้านในถูกคว้านออกไป ยามมองจากด้านนอกจึงมอบอารมณ์ความรู้สึกที่ดูเป็นส่วนตัว ขณะที่ด้านในนั้นมีความโปร่งโล่งเป็นทุน เน้นการนำลมธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้าน เพื่อให้เกิดอากาศที่ถ่ายเทได้สะดวก

โดยชั้นหนึ่ง พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และแพนทรี่ครัวถูกออกแบบให้ต่อเนื่องถึงกัน แถมมองเห็นชานบ้าน และวิวผ่านประตูกระจกบานใหญ่ 

ส่วนชั้นสอง เน้นให้มีหน้าต่างกระจกเปิดรับลมและวิวภายนอกเช่นกัน ห้องนอนใหญ่ แอบหยอดลูกเล่นนิดๆ ด้วยการออกแบบฝ้าไล่ไปตามความสโลปของหลังคา ซึ่งทำให้ห้องมีมิติที่สวยงามเมื่อต้องแสงไฟ 

แถมรอบอาคารทำเป็นฟาซาด (Facade) ระแนงไม้ สำหรับกรองแสง เพื่อให้ห้องต่างๆ นั้นดูอบอุ่นผ่อนคลาย รวมถึงชั้นบนสุดเป็นส่วนที่คุณหมอกุ๊กขอไว้สำหรับเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของตัวเอง ซึ่งต้องบอกว่ามีลมโกรกและสามารถมองเห็นวิวได้โดยรอบเลยทีเดียว 

แม้ทั้งคู่จะได้แบบบ้านที่ตัวเองชอบก็จริง แต่… ก็ต้องใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างถึง 2 รายด้วยกัน เพราะระหว่างการก่อสร้างนั้นรายแรกดันมีบางจุดที่ค่อนข้างทำไม่ค่อยตรงตามแบบสักเท่าไหร่ งานบางอย่างไม่ละเอียด และมักไม่ฟังความต้องการของผู้อยู่อาศัย จนในที่สุดเจ้าของบ้านตัดสินใจเปลี่ยนผู้รับเหมาเป็นรายที่สองซึ่งเคยทำบ้านให้กับพี่ชายแทน

ระหว่างทำบ้านก็มีสะดุดบ้างครับ พอเปลี่ยนผู้รับเหมาใหม่ก็ดีขึ้น คุยกันง่ายขึ้นถึงแม้เขาจะไม่เคยแตะสไตล์นี้มาก่อนเลย แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว ซึ่งเคสการทำบ้านครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจเลยว่าควรเลือกหาช่างรับเหมาที่คุ้นเคยมาทำดีที่สุด ในกรณีที่คุณมีนะ เพราะการทำบ้านให้สวยอย่างเดียวคงไม่ดีพอ แต่มันต้องมีดีไซน์ที่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้อยู่อาศัยต้องการด้วย นั่นล่ะถึงจะพอดี สุดท้ายเมื่อบ้านเสร็จก็รู้สึกดีค่ะ เสมือนได้ที่พักอาศัย และงานศิลปะด้วยในตัว (หัวเราะ) ก็ถือว่าพอใจมาก ค่ะ 

และนี่เป็นคำทิ้งท้ายของทั้งคู่ ที่เราตัดมานำเสนอแค่บางช่วงบางตอน หลังจากที่พวกเขาเล่าถึงปัญหาระหว่างการสร้างบ้านให้ฟัง ทำให้รู้สึกว่าทั้งคู่นั้นใส่ใจในรายละเอียดมาก… ควงกันไปดูหน้างานประจำจนได้เห็นถึงปัญหา และสามารถระงับเหตุโดยใช้สติปัญญาและความใจเย็น

สำหรับบ้านหลังนี้ยังมีดีเทลต่างๆ ที่น่าสนใจอีกหลายจุด ซึ่งคุยไปคุยมาทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่เป็นไอเดียมาจากคุณป๊อป ที่ตั้งใจศึกษาหาข้อมูลก่อนลงมือทำขึ้นจริง หรือบางอย่างนำมาบอกช่างให้สานต่อในสิ่งที่ต้องการ อาทิเช่น ไอเดียการปูพื้นหินขัดในพื้นที่ชั้นล่างและห้องน้ำ การออกแบบโคมไฟขนาดใหญ่ไว้ตรงคอร์ตกลางบ้าน การนำไม้เก่าจากบ้านเดิมมารีดและให้ช่างปูใหม่ทำเป็นพื้นของชานบ้าน รวมถึงการใช้น้ำยามากัดสนิมบริเวณบันไดเหล็กเพื่อสร้างให้เกิดพื้นผิวที่ดูดิบสวย เป็นต้น 

ล่าสุด หลังจากเข้ามาอยู่ได้ 1 ปี เจ้าของบ้านทั้งคู่ก็ได้พบเจอกับปัญหาใหม่! เมื่อได้เก็บแมวที่ถูกทิ้งไว้ในท่อมาเลี้ยง โดยตอนนี้เฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาต้องหาผ้ามาคลุมไว้รับกับกรงเล็บของเจ้าเหมียวอีกที

พอเราเก็บเขามาเลี้ยงก็รู้สึกผูกพันธ์ครับ กลายเป็นว่ามีแมวเป็นสมาชิกใหม่ในบ้านเพิ่มขึ้นอีก (หัวเราะ) ”

ปัญหานี้ดูแล้วค่อนข้างซอฟท์ และทุกคนในบ้านก็ยินดีที่จะร่วมกันแก้ไข ทำให้เราเห็นว่าการมีบ้านสวยแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ก็ยากที่บ้านนั้นจะดูน่าอยู่ แต่สำหรับครอบครัวนี้ ทุกรอยยิ้มของคนในบ้านได้เป็นสิ่งยืนยันที่บอกกับเราว่าพวกเขาเลือกมีบ้านน่าอยู่ในแบบที่ใจต้องการ 

ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถรวบรวมความสุข รวบรวมทุกความต้องการในการใช้ชีวิตที่ดีให้กับทุกคนได้ นี่คือ “บ้านแห่งจิตใจ” ที่กรุ่นกลิ่นอายแบบไทยประยุกต์ในจินตนาการของพวกเขานั่นเอง

 

 การทำบ้านให้สวยอย่างเดียวคงไม่ดีพอ แต่มันต้องมีดีไซน์ที่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้อยู่อาศัยต้องการด้วย นั่นล่ะถึงจะพอดี 

Leave A Comment