CK HOUSE
อาศัยบนเส้นขอบฟ้า
ภูมิประเทศที่สลับซับซ้อน คือบริบทอันเป็นเอกลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ทั่วขอบเขตของจังหวัดในเขตภาคเหนือ กอปรกับภูมิอากาศที่เย็นตลอดทั้งปีแบบภูเขาสูง ก่อให้เกิดสิ่งปลูกสร้างที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่แฝงอยู่ในอาคารโดยส่วนใหญ่ในถิ่นแถบของภาคเหนือ สิ่งปลูกสร้างที่ถูกบริบทกลั่นกรองนำมาซึ่งภาพสะท้อนของวิถีชีวิตการอยู่อาศัยอันเป็นเอกลักษณ์ของถิ่นแถบ ที่ธรรมชาติ คน และสิ่งโอบล้อมชีวิต สัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างที่อาคารในเมืองใหญ่ไม่สามารถเกิดขึ้นในเงื่อนไขแบบเดียวกันได้
รองจากจังหวัดเชียงราย บนพื้นที่ตั้งของจังหวัดที่อยู่เกือบเหนือสุดของประเทศไทย อุณหภูมิเฉลี่ยของจังหวัดพะเยาอยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะพอดีกับชีวิตที่สงบเรียบง่าย พะเยาจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากนิยมไปแวะพัก สูดกลิ่นธรรมชาติ ผ่อนคันเร่งของชีวิตด้วยสายลมและแสงแดด เช่นเดียวกับอำเภอเชียงคำ ที่ก็เป็นที่รู้จักไม่น้อยไปกว่าที่ใด ณ ที่แห่งนี้ บนเส้นขอบฟ้าเหนือเนินเขาที่ที่ผืนหญ้าสีเขียวตัดกับปุยเมฆเปื้อนสีฟ้าสดใส บ้านอิฐหลังเล็กอวดตัวอยู่เหนือปุยเมฆเพียงเล็กน้อย บนเนื้อที่ใช้สอยที่ไม่มากไปกว่า 150 ตารางเมตร คือที่พักอาศัยของครอบครัวขนาด 3 คนของคุณธีรยุทธ ใจดี ที่เร้นหลบหลุบโผล่อยู่ภายใต้บรรยากาศของพื้นที่ที่สงบสบายมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
‘CK House’ ออกแบบโดยสถาปนิกมากฝีมือแห่งจังหวัดเชียงใหม่ บ้านพักอาศัยและอาคารร้านรวงหลากหลายประเภท ผ่านฝีมือคุณ อรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม ‘Full Scale Studio’ ที่อวดผลงานการออกแบบในแถบจังหวัดทางภาคเหนือมาไม่น้อย บ้านอิฐหลังเล็กที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จในปี 2015 ที่ผ่านมา หลังนี้เองก็เป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดหลังหนึ่งในช่วงขวบปีที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการสร้างบ้านหลังเล็กๆ สำหรับครอบครัว ในอาณาเขตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยเดิมในผืนดินผืนเดียวกัน บ้านขนาด 3 ห้องนอนในพื้นที่บ้านแบบ 1 ชั้นกับอีกชั้นลอย สื่อสารฟังก์ชันการใช้งานภายในออกมาเป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรมภายนอกอย่างตรงไปตรงมา เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงและการใช้งานหลักไม่ถูกบิดเบือน ทุกตารางเมตรในบ้านจึงก่อให้เกิดประโยชน์ใช้งานอย่างไม่มีเศษเหลือ และสร้างให้เกิดฟังก์ชันการใช้งานที่เข้าใจได้ง่าย ลดทอนชีวิตให้เรียบง่ายโดยไม่จำเป็นต้องแต่งเติม ซึ่งเป็นประโยชน์ใช้สอยในแง่ที่เจ้าของบ้านต้องการมาตั้งแต่ต้น
รูปทรงเรขาคณิตของสถาปัตยกรรมนำมาซึ่งสเปซสีขาวสะอาดภายใน โดยมีการใช้งานง่ายๆ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนด้านหน้าเป็นโถงอยู่อาศัยแบบ Double Volume ที่ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และครัวแบบเปิด ทั้งหมดหลอมรวมอยู่ในสเปซแบบ Open Plan อีกส่วนด้านหลังเกาะกลุ่มกันเป็น ห้องนอนทั้ง 3 ห้อง และห้องน้ำ ที่แบ่งออกเป็น 2 ชั้น เชื่อมต่อกับพื้นที่ด้านหน้าด้วยบันไดแบบเปิดที่ถูกออกแบบให้รวมอยู่ในสเปซแบบ Double Volume จึงให้ความรู้สึกว่าพื้นที่ที่อยู่สูงถัดขึ้นไปนั้นเป็นชั้นลอยมากกว่าจะเป็นชั้นสอง ซึ่งสเปซแบบที่ว่านี้ก็สอดรับไปพร้อมๆ กับรูปทรงของอาคารแบบหลังคาจั่ว หลังคาที่เฉียงขึ้นเป็นมุมสูงในด้านทิศใต้ สัมพันธ์กับฟังก์ชันการใช้งานในชั้น 2 ที่เป็นห้องนอน สถาปนิกยังออกแบบความสัมพันธ์เรื่องหลังคาและทิศทางของตัวอาคารให้สอดคล้องไปกับแสงและเงาจากทิศทางของดวงอาทิตย์ ในช่วงบ่าย เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ทิศใต้ ห้องนอนในชั้นสองที่ไม่ถูกใช้งานก็จะซึมซับป้องกันความร้อนไม่ให้แผ่ไปสู่ส่วนใช้งานอื่นๆ ในบ้าน ในขณะที่ห้องนั่งเล่นในด้านล่างที่ถูกออกแบบมาให้ตั้งอยู่ในด้านทิศเหนือ จะได้รับแสงธรรมชาติที่ไม่ร้อนจนเกินไปตลอดทุกช่วงเวลาของวัน
ในด้านทิศเหนือนี้ สถาปนิกออกแบบให้เป็นผนังกระจกที่ลดตัวอยู่ใต้ชายคาที่ยื่นลงมาเล็กน้อย ให้ลานไม้ที่เชื่อมต่อพื้นที่ชั้น 1 ออกสู่ภายนอกบ้าน สามารถใช้ประโยชน์นั่งเล่นได้ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะตื่นมารับแดดเช้า จิบกาแฟในช่วงบ่าย หรือรับประทานอาหารและดื่มบรรยากาศตามในช่วงเย็น ในขณะเดียวกัน ช่องเปิดของหน้าต่างที่เหลือในบ้านก็ทำหน้าที่ตามสัดส่วนการใช้งานในตัวของมันเองอย่างไม่เอิกเกริก จะมีก็แต่เพียงช่องเปิดจัตุรัสเหนือหลังคาของส่วนนั่งเล่นในด้านทิศเหนือที่เป็นเหมือนกิมมิคเล็กๆ ของบ้าน ที่ทำหน้าที่นำพาแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกมิติ แสงที่ลอดผ่านบานกระจกที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไปนี้ ส่องกระทบไปยังส่วนใช้งานสำคัญที่เป็นครัวและส่วนรับประทานอาหารเสียส่วนใหญ่ และเสมือนว่ามันได้นำพาเอาบรรยากาศใหม่ๆ เข้าสู่ตัวบ้าน แสงและเงาที่ตกกระทบจากช่องเปิดดังกล่าวเติมชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ใช้งานหลักอย่างเบาบางและมอบมิติการอยู่อาศัยที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวันให้กับผู้เป็นเจ้าของ
ผนังสีส้มของอิฐมอญให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนำมาซึ่งภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน อีกทั้งทำให้อาคารที่เกิดขึ้นใหม่หลังนี้ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเพื่อนบ้านแต่อย่างใด วัสดุที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบริบทรอบตัวได้กลายเป็นสิ่งร้อยเรียงผู้ใช้งานเข้ากับเรื่องราวของที่ตั้งและบรรยากาศที่ไหลเวียนผ่านสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่กึ่งกลาง และเสมือนว่าธรรมชาติทั้งหลายนั้นได้เกาะเกี่ยวอยู่ตามช่องว่างระหว่างระเบียบของวัสดุ อิฐสีส้มอ่อนเข้มสลับจากธรรมชาติของห้วงเวลา บอกเราว่าความโดดเด่นของรูปลักษณ์ภายนอก หรือความหมายของสัญลักษณ์ใดๆ ที่อาจแฝงอยู่ อาจไม่ใช่สาระสำคัญของการอยู่อาศัยที่แท้จริง เมื่อลดทอนความสำคัญภายในตัวของตนเองลงได้แล้ว ที่เหลืออยู่จึงเป็นความเรียบง่ายของสิ่งโอบล้อมชีวิต ที่สื่อสารระหว่างเรากับธรรมชาติแวดล้อมได้อย่างพอเหมาะพอดี
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ชัยพร โสดาบันลุ
Architect: Full Scale Studio
Project Architect: อรรถสิทธิ์ กองมงคล
Structural Engineer: พิษณุ บำรุง