CHOUI FONG TEA CAFÉ / IDIN ARCHITECTS
Text : กรกฎ หลอดคำ
Photo : Spaceshift Studio
Architect : IDIN Architects (จีรเวช หงสกุล, รับพร สุขทัพท์, เอกลักษณ์ ศิริจริยวัตร, ศุภชัย ภิรมย์ราช)
Interior designer : IDIN Architects (จุรีรัตน์ ก่อวาณิชย์กุล, ศรินทร์ รังสิกรรพุม)
Structural engineer : ภคณัช ศิริประสพโสธร
กิจการไร่ชาที่สืบทอดมารุ่นสู่รุ่น ‘ไร่ชาฉุยฟง’ กลายเป็นที่รู้จักในชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวทิวทัศน์สวย จุดมุ่งหมายของใครหลายคนเมื่อได้มีโอกาสมาเยือนดินแดนของจังหวัดเหนือสุดของ ไทย ถ้าไม่นับทิวทัศน์สีเขียวของเนินเขาที่ไกลสุดสายตา การได้มาสูดชากลิ่นกรุ่นถึงที่ปลูก ก็เป็นอีกจุดหมายของสถานที่เติมความสุข ที่ควรค่าแก่การเดินทางมาเยือน
เหนือเนินเขาลูกใหญ่ ของอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นอกเหนือพื้นที่ปลูกไร่ชาที่กว้างไกลกว่า 500 ไร่ที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ก็เห็นจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนใฝ่หาเพื่อการได้มาพักผ่อน เอนหลังหย่อนขา อิ่มเอมกับกลิ่นใบชาในอากาศ พร้อมๆ กับการได้สัมผัสรสชาอุ่นๆ ที่ริมฝีปาก อาคารที่จะทำหน้าที่เป็น ‘Tea Café’ แห่งใหม่ของไร่ชาฉุยฟง จึงเป็นโจทย์จากเจ้าของโครงการ ที่ถูกส่งต่อให้กับสถาปนิก ‘IDIN Architects’ ตีความและออกแบบสถาปัตยกรรมภายใต้บริบทของสถานที่ที่พิเศษแห่งนี้
ท่ามกลางเนินเขาน้อยใหญ่ที่สลับซับซ้อน เจ้าของโครงการเลือกพื้นที่หนึ่งในเนินเขาเป็นจุดที่ตั้งของโครงการร่วมกับ สถาปนิกผู้ออกแบบ ด้วยความต้องการให้เนินเขาลูกสำคัญ สามารถเผยทัศนียภาพที่งดงามที่สุดในบรรดาเนินเขาทั่วทั้งไร่ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นจุดหมายตาสำคัญ ที่ผู้คนจะสามารถมองเห็นอาคารได้จากทั่วทุกมุมในท้องไร่ชา
สถานที่ที่พิเศษยิ่งนำมาซึ่งบริบทอันเป็นเอกลักษณ์ ความต้องการเดิมของเจ้าของโครงการคือต้องการให้อาคารวางอยู่ตัวอยู่บนเนินเขา เพื่อเปิดทัศนียภาพของไร่ชาให้กว้างไกลสุดสายตาได้มากที่สุด แต่เพื่อรักษาบริบทที่มีเสน่ห์ให้ยังคงเดิม สถาปนิกเลือกใช้วิธีที่ต่างออกไป กล่องสี่เหลี่ยม 3 กล่องของอาคารหลัก ถูกฝังลงในเนินดินแทนที่การตั้งอาคารอยู่เหนือยอดเนินอย่างเปิดเผย เพื่อให้เส้นนอนของอาคารวางตัวเป็นระนาบเดียวกับบริบทเดิมของเนินเขา และเพื่อเก็บทัศนียภาพเหนือยอดเนินไว้อย่างที่ควรจะเป็น อาคารจึงไม่ได้ลอยตัวอยู่เหนือเนินดินอย่างไม่มีที่มีที่ไป แต่เกิดจากการพุ่งตรงออกมาจากเนิน ในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง และในทิศทางที่ตอบรับกับทัศนียภาพเบื้องหน้า
มุมมองจากภายในส่วนที่นั่งของคาเฟ่ ในบรรยากาศแบบกึ่งภายนอก ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสอากาศจริง ทั้งอุณหภูมิ ลมที่พัดผ่าน กลิ่น เสียง และบรรยากาศโดยรอบไร่ชาได้โดยตลอด
ภายในโถงสูงของห้องกระจก เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าจากไร่ แผ่นกระจกบานใหญ่ถูกกรุรอบ รอบแสงธรรมชาติและเปิดให้เห็นทิวทัศน์โดยชัดเจนอย่างไม่จำเป็นต้องปิดกั้น ทั้งจากภายในสู่ภายนอก และจากภายนอกสู่ภายใน
แนวความคิดหลักในการวางตัวอาคาร ยังส่งผลถึงการใช้งานอาคารที่ยิ่งสร้างเสน่ห์ให้กับสถานที่ จากต่ำไปสูง อาคารทรงสี่เหลี่ยม 3 กล่องตระหง่านรอคอยผู้คนอยู่เหนือเนินดิน ให้นักท่องเที่ยวเดินไต่ระดับเพื่อเข้าถึงอาคารที่อยู่บนเนิน ผู้ใช้งานจะเข้าถึงอาคารที่ส่วนพื้นที่ส่วนกลางและเคาน์เตอร์บาร์ในส่วนกลาง ของอาคารเบื้องหลังกล่องทั้งสาม ก่อนจะแจกจ่ายผู้ใช้งานไปยังส่วนต่างๆ ได้แก่ส่วนนั่งรับประทาน ส่วนร้านค้าในกล่องกระจก และห้องน้ำที่อยู่ลึกเข้าไป
ในบรรดากล่องของอาคาร หนึ่งในนั้นเป็นกล่องกระจกโถงสูงเปิดรับทัศนียภาพได้รอบ ทำหน้าที่เป็นร้านค้าขายสินค้าในไร่ อีก 2 จากใน 3 เป็นกล่องของพื้นที่นั่งรับประทานที่ลอยตระหง่านเรียดขอบฟ้า ตามแนวความคิดของผู้ออกแบบที่ต้องการให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเสมือนได้ลอยตัว อยู่ท่ามกลางทุ่งชาสีเขียวขจี พร้อมๆ กับการได้สัมผัสบรรยากาศของไร่ชาในทุกมิติรอบตัว ด้วยการเปิดกล่องอาคารทั้งสองให้เป็นแบบกึ่งกลางแจ้ง ให้ผู้ได้คนสูดอากาศเจือกลิ่นอายใบชาที่ลอยปะปนได้อย่างเต็มปอด เห็นบรรยากาศการเก็บใบชาของพนักงานในสวนให้อาคารใช้ร่มเงาจากหลังคากันแดดฝนโดยมีทุ่งหญ้าสีเขียวและต้นชาที่เรียงรายแทนเปลือกหุ้มในขณะเดียวกันก็ยังห้อมล้อมไปด้วยทัศนียภาพมุมสูงของเนินเขาน้อยใหญ่และขุนเขาที่ไกลออกไปเป็นฉากหลัง
เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นภาพรวมของอาคารที่ถูกฝังอยู่ในเนินดินสถาปนิกหันหน้าอาคารออกสู่ทัศนียภาพเบื้องล่างที่ไกลออกไป ในขณะเดียวกันพื้นที่ชั้นดาดฟ้าก็จะถูกใช้งานเป็นระเบียงชมทิวทัศน์ในระนาบเดียวกับระดับของเนินเขาเดิมด้วย
พื้นที่เชื่อมต่อสู่ระเบียงดาดฟ้า เป็นกำแพงกันดินปูนเปลือยและคอร์ตรับแสงธรรมชาติ พื้นผิวที่แสดงตัวอย่างเป็นธรรมชาติช่วยให้ผู้ที่มาเยือนไม่รู้สึกแปลกแยก จากบรรยากาศของธรรมชาติรอบข้าง
เมื่อผ่านจากกล่องอาคารทั้ง 3 หลัง พื้นที่ที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในเนินดิน ถูกกั้นด้วยกำแพงกันดินปูนเปลือย และคอร์ตต้นไม้สีเขียวขนาดเล็ก ให้อารมณ์ที่เงียบสงบ ก่อนจะพาผู้ใช้งานเดินทะลุ และนำออกสู่บรรยากาศภายนอกอีกครั้งที่จุดยอดสุดของเนินดิน ที่ที่หลังคาของอาคารจะราบเรียบไปในระนาบเดียวกับเนินดินตามแนวคิดการฝัง อาคารจากนักออกแบบ ในที่นี้ ดาดฟ้าอาคารที่ถูกโอบรับไว้ด้วยทัศนียภาพโดยรอบตลอด 360 องศา จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่พักผ่อนชื่นชมทิวทัศน์แบบพานอรามาอย่างที่ไม่มีอะไร ปิดกั้น เสมือนยืนอยู่บนจุดสูงสุดจุดเดียวกันกับของเนินเขาดั้งเดิม ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างได้ตลอดจนสุดสายตา
ในพื้นที่โล่ง เพื่อให้อาคารดำรงอยู่อยากไม่แปลกแยก วัสดุอาคารเป็นอีกสิ่งที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้กับสถาปัตยกรรมหลังนี้ไม่ เป็นอื่นจากเนินเขาสูง วัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก และปูนเปลือย แสดงความดิบในบริเวณภายนอกอาคาร จนถึงไม้สน ที่ครอบคลุมการตกแต่งพื้นที่ใช้งานที่เรียบร้อยภายใน ทั้งหมดเข้ากันด้วยความเป็นธรรมชาติในเนื้อแท้ของวัสดุที่ไม่ถูกปรุงแต่ง สื่อสารด้วยภาษาที่เรียบง่ายกับผู้คน และไม่สร้างความเป็นอื่นจากธรรมชาติที่โอบล้อมแต่อย่างใด
เหมือนความเป็น ‘สถาปัตยกรรมที่เฉพาะเจาะจงกับสถานที่’ แนวความคิดที่แฝงอยู่ในตลอดภาพรวมของโครงการ คาเฟ่ชาฉุยฟงจึงนอกจากจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพื้นที่อย่างไม่อาจแยกขาด อาคารยังส่งเสริมสถานที่ให้มีเรื่องราว และยังมอบภาพใหม่ให้กับสถานที่ให้ควรค่ายิ่งแก่การจดจำ
พื้นที่เหนือชั้นดาดฟ้าที่รับทิวทัศน์แบบพานอรามาได้โดยตลอด 360 องศา เปิดให้เป็นระเบียง และเก้าอี้นั่งชมทิวทัศน์โดยไม่จำเป็นต้องตกแต่งใดๆ เพิ่มเติมอีก
เมื่อมองจากด้านหน้าอาคารยื่นตัวลอยอยู่เหนือเนินดินเพียงเล็กน้อยสร้างประสบการณ์ให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนรู้สึกเสมือนลอยตัวอยู่ไร่ชาสีเขียวสดที่กว้างไกลสุดสายตา
แปลนแสดงการใช้งานชั้น 1
แปลนแสดงการใช้งานชั้น 2
รูปตัดแสดงการใช้งานภายในอาคาร
A I Cafe
B I Counter
C | Tea Gallery
D | Toilet
E | Roof Desk