BRICK HOUSE
ที่เก่าเวลาเดิมกับบ้านที่เปลี่ยนไปด้วยอิฐ
บ้านทุกหลังภายใต้ลายเซ็นต์ของ Junsekino Architect and Design มักเป็นที่พูดถึงและได้รับการยอมรับในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในเสมอมา ยิ่งสำหรับใครที่คิดว่าสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมักเลือกรับงานออกแบบให้เฉพาะคนรวยและมีหน้ามีตาทางสังคมเท่านั้น คุณจูน เซคิโน คงไม่ใช่เคสที่ว่าแน่ๆ หนึ่งในหลักฐานเด่นชัดคือบ้านอิฐของ คุณปิติ สวัสดิ์วงศ์ นักลงทุนมาดนิ่งหลังนี้นั่นเอง
คุณปิติซึ่งใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้านร่วมกับสมาชิกภายในครอบครัวทั้งหมด4 ชีวิตคือคุณพ่อคุณแม่ตัวเขาและน้องชายบอกกับเราถึงที่มาของบ้านหลังใหม่บนที่ดินผืนเดิมย่านงามวงศ์วานแห่งนี้ไว้ว่า “ตอนแรกคิดแค่จะรีโนเวตแต่พอคุยกันไปคุยกันมาก็เลยลงเอยที่จะสร้างใหม่” นั่นก็เพราะครอบครัวของเขาต้องผจญกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อสามปีก่อนจนเป็นเหตุให้บ้านอันเป็นที่รักได้รับความเสียหายจนเกินเยียวยา
จากบ้านชั้นเดียวหลังเดิมสู่บ้านสองชั้นที่ยกพื้นสูงกว่าปกติเพื่อทำให้แน่ใจว่าน้ำจะทำอะไรบ้านไม่ได้เป็นคำรบที่สอง คุณปิติใช้วิธีการเดียวกับใครอีกหลายๆ คนที่มองหาสถาปนิกมือดีมาช่วยสร้างบ้านฝันให้กลายเป็นจริงจากการไปเดินงานสถาปนิกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
“ตอนจะเริ่มสร้างบ้านก็เริ่มหาข้อมูลจากงานสถาปนิก” คุณปิติเริ่มอธิบาย“หาข้อมูลจากงานสถาปนิกแต่ก็ยังไม่เคลียร์ก็เลยลองไปดูตามเว็บไซต์หาแบบบ้านที่เราชอบหามาได้ 2 หลังหลังหนึ่งของคุณจูนอีกหลังหนึ่งของ Thingsmatter ก็เอามาให้ที่บ้านโหวตเสียงกันว่าชอบหลังไหนทุกคนโหวตไปหลังของคุณจูนหมดเลย”
ซึ่งบ้านต้นแบบของ Junsekino Architect and Design ที่คุณปิตินำมาประกอบการตัดสินใจร่วมกับคนในครอบครัวนั้นแตกต่างจากบ้านหลังปัจจุบันของเขาอย่างสิ้นเชิง “บ้านหลังนี้ออกมาเป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะโจทย์ด้วย รูปแบบบ้านเราเป็นคนเลือกเองแต่วัสดุที่เป็นตัวอิฐมาจากคุณจูน ครั้งแรกที่เห็นแบบตอนคุณจูนมาพรีเซ็นท์เพิ่งจะเริ่มต้นดีเวลล็อป ตอนแรกผมมองว่ามันไม่ใช่ แต่พอมาดีเวลล็อปเรื่อยๆ จนมาถึงประมาณครั้งที่ 3 ที่เขาเอามาให้เลือกตัวปิดผิว คุณจูนเขาเสนออิฐที่ผมดูแล้วมันใช่เลย ก็เลยมาลงเอยที่อิฐ บ้านหลังนี้คล้ายๆ บ้านเก่า บ้านเก่าจะอยู่ชั้นเดียวเป็นพื้นที่ร่วมกัน แต่พอจะสร้างใหม่คิดว่าพื้นที่ชั้นเดียวมันไม่พอ ก็เลยทำเป็นสองชั้น ณ ปัจจุบันชั้นสองก็เอาไว้นอนอย่างเดียว ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ก็ลงมาอยู่ข้างล่างเหมือนบ้านเก่า” คุณปิติกล่าว
บ้าน 2 ชั้น หลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 235 ตารางเมตร โดยชั้นล่างประกอบไปด้วย ห้องนั่งเล่น กับ ห้องรับแขกด้านหน้า มีคอร์ตตรงกลางของบ้าน มีห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ทางด้านหลัง ส่วนชั้นสองเป็นห้องนอนของคุณปิติกับน้องชาย พร้อมด้วยห้องน้ำ และลานอเนกประสงค์แบบโอเพ่นสเปซ
ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของผู้พักอาศัยที่อยู่บ้านมากกว่าออกไปทำงานข้างนอกคุณจูนเซคิโนสถาปนิกจึงเลือกใช้คอร์ตเป็นพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในบ้านให้เป็นที่นั่งพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเช่นการรับประทานอาหารและตั้งวงสนทนาได้ตลอดทั้งวันโดยมีต้นกระพี้จั่นเป็นประธานคอยสร้างความร่มรื่นอีกหนึ่งชั้นนอกเหนือไปจากผนังอิฐสูงโปร่งที่ช่วยให้บ้านเย็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทั้งยังมีประตูบานเลื่อนกรุกระจกใสคอยทำหน้าที่แบ่งสัดส่วนสเปซภายในบ้านเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวนอกจากนี้บริเวณบันไดทางขึ้นชั้นสองยังมีช่องเปิดที่ลมสามารถพัดผ่านได้รอบทิศทางบ้านจึงเย็นตลอดทั้งวันอย่างเป็นธรรมชาติ
“ความรู้สึกตั้งแต่ตอนมองภาพตอนแรกไว้กับตอนมาอยู่จริงรู้สึกโอเคเลย คือบ้านมันไม่ร้อน ไม่อึดอัดเหมือนบ้านเก่าที่ค่อนข้างจะอับเพราะมันทึบไปหมด บ้านใหม่มันจะโล่งสบาย ดูแล้วคุ้มเหนื่อย งบประมาณหลังนี้ประมาณหกล้านบาท ถือว่าไม่แพงมากกับการได้บ้านสวยขนาดนี้” คุณปิติเผยความประทับใจทิ้งท้าย
Text: Mr.Daybeds
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม