BOONSERM PREMTHADA
“สุทรียศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ ในงานสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า”
Text: Boonake A.
Photo: ภคนันท์ เถาทอง
นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในปีนี้ เมื่อมีการประกาศผู้ชนะเลิศจากรางวัล Royal Academy Dorfman Award อันเป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดยRoyal Academy of Arts (RA) หรือราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนสถาปนิกหน้าใหม่ ผู้ตีความสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตขึ้นใหม่ และผลงานมีปฏิสัมพันธ์อย่างสูงกับบริบทในระดับท้องถิ่นและระดับโลก
ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกแห่ง Bangkok Project Studio และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“งานของเขาแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่อย่างเป็นพิเศษ มีความเป็นต้นแบบ และมีมาตรฐานทางสุนทรียะ เราตื่นเต้นมากที่ได้ทราบว่างานของเขาพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่เขานำความคิดที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ไปประยุกต์ใช้กับความท้าทายในสภาพแวดล้อมของเมืองได้อย่างไร” นี่คือโค๊ทว์คำพูดบางส่วนของ อลัน สแตนตัน ประธานและ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินที่มีต่องานออกแบบอันโดดเด่นของผศ. บุญเสริม
ซึ่งในคอลัมน์ Interview ฉบับนี้ ผศ.บุญเสริม เปิดโอกาสให้นิตยสาร Daybeds ได้มานั่งพูดคุย หลังจากที่ได้รับรางวัลนี้มาหมาดๆ เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงของการสนทนา เราพูดคุยกับเขาในหลากหลายประเด็นที่เปิดเปลือยให้เห็นถึงแนวคิด ตัวตน วิธีการทำงาน รวมถึงวิธีการการนำสุทรียศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์มาใช้ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมในแบบเฉพาะตัวของเขา ถ่ายทอดออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้
ทราบมาว่าคุณไม่ชอบทำงานที่ไม่ใหม่ และไม่มีความสร้างสรรค์ แต่ในโลกที่มีเต็มไปด้วยการผลิตซ้ำความคิดด้านสถาปัตยกรรม คุณมีวิธีการแสวงหาความเป็นได้ใหม่ๆ เพื่อใช้สร้างงานอย่างไร
ผมทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่มีอยู่ คำว่าใหม่และสร้างสรรค์ของผมหมายถึงความมีอิสระ ไม่ใช่เพียงทำตามเงื่อนไขที่ถูกสั่งมา การทำงานที่โดนสั่งมา คุณก็จะทำได้เท่านั้น มันก็ไม่เกิดเป็นสิ่งใหม่หรือความสร้างสรรค์อะไรทั้งนั้น
อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมของคุณ
สำหรับงานออกแบบของผม สิ่งแรกที่สำคัญคือตัวโปรแกรมต้องดี มีความชัดเจน และแตกต่างจากคนอื่น คือถ้าตัวโปรแกรมเริ่มต้นเหมือนกับคนอื่น คุณไม่มีวันที่จะออกแบบอะไรก็ตามที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ได้
คุณใช้วิธีการใดในการสร้างโปรแกรมที่ดีในการออกแบบ
รีเสริช์อย่างเดียวเท่านั้น ค้นคว้าวิจัยทุกอย่างที่สามารถสังเคราะห์เป็นงานออกแบบได้ ในทุกงานเรามีการออกแบบวิธีวิจัยใหม่ทุกครั้งที่เริ่มงาน การวิจัยที่ดีมันทำให้เราได้แนวทางที่สามารถเอาไปพัฒนาต่อ สังเคราะห์ต่อ ตีความต่อได้ ซึ่งรีเสิร์ชที่ดีในความหมายของผม ต้องมีการออกแบบวิธีวิจัย มีการออกแบบระเบียบวิธีวิจัย(Methodology) ที่ชัดเจน ไม่ใช่การตอบแบบสอบถามเหมือนที่ทำกันมา การวิจัยที่ดีสามารถทำได้หลายวิธี บางวิธีต้องใช้การสังเกต บางวิธีคุณต้องใช้ภาพถ่ายเพื่อบันทึก ต้องตั้งคำถามที่นำไปทำงานต่อได้ แล้วคุณจะได้ข้อสรุปบางอย่างที่เอาไปสร้างเป็นโปรแกรม การไร้ซึ่งโปรแกรมคือความล้มเหลวของงาน
ในแต่ละงานมีเกณฑ์ระยะเวลาในการรีเสิรช์นานแค่ไหน
ผมใช้เวลาในการรีเสิร์ชต่อหนึ่งงานประมาณ 4เดือน บางงานนี่ใช้เวลาเป็นปี ยกตัวอย่างงาน The Wine Ayutthaya เรา วิจัยทั้งเรื่อง Materials และวิธีการก่อสร้างส่วนเรื่องสภาพแวดล้อมเราไม่ได้เข้าไปแตะ เราแค่หาวิธีการว่าทำอย่างไรให้ตัววัสดุ และวิธีการก่อสร้างสามารถกลมกลืนไปกับพื้นที่ได้มากกว่า
อย่างในงานอาคารสถาบันกันตนาคุณทำการรีเสิร์ชเรื่องใด
ตัวของอาคารสถาบันกันตนาเราทำการรีเสิร์ชเรื่อง “Sense” ประกอบด้วย 2 เรื่องคือเรื่องอิฐกับเรื่อง Senseของมนุษย์ฉะนั้นเราต้องการออกแบบอาคารให้ผู้ใช้ทั้งนักเรียนและอาจารย์ได้เข้าใจถึงความเป็นมนุษย์เสียก่อน ความเป็นมนุษย์ก็คือ Sense ทั้ง 6 ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กาย จิต
ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่คุณได้กล่าวไป มีผลโดยตรงอย่างไรกับการออกแบบตัวอาคาร
ถ้าคุณไม่มี sense คุณก็ไม่มีชีวิตและมีวิญญาณ ดังนั้นถ้าคุณมี sense ทั้ง 6 คุณได้กลิ่น คุณได้ยิน คุณมองเห็น คุณรู้สึกอุ่น นั่นคือคุณเป็นมนุษย์ เมื่อคุณทำให้สถานที่มี Sense มันก็คือความเป็นมนุษย์ เมื่อคุณเข้าใจความเป็นมนุษย์แล้ว ในเวลาที่คุณทำภาพยนตร์ ทำแอนิเมชั่น ก็จะมีชีวิตไม่แข็งทื่อเช่นกัน
แล้วในส่วนของตัววัสดุหลักสำหรับการสร้าง คุณทำการศึกษามันอย่างไร
ผมศึกษาในเรื่อง Sense of Brickและชีวิตคนทำอิฐซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครศึกษาหรือพูดถึง นอกเหนือไปจากความเข้าใจเรื่องพื้นฐานทั่วไปของอิฐ ธรรมชาติของอิฐ วิธีการทำ วิธีการก่ออิฐ ความแข็งแกร่งของอิฐ ซึ่งพบว่า การใช้อิฐในบ้านเราในช่วงนั้นแทบจะไม่มีใครใช้เลย ผมก็มีความคิดว่าทำอย่างไรให้อิฐนั้นสามารถกลับมาเป็นสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันได้
แสดงว่าในเวลานั้นอิฐเป็นวัสดุที่คนไม่นิยมเอาเสียเลย
สถานการณ์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคก่อนปี 2011 มันถูกกำหนดด้วยแฟชั่นที่เต็มไปด้วยความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ผมจึงทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสมัยนิยม ด้วยการใช้อิฐที่คนมองว่าเป็นวัสดุธรรมดาสามัญ ไม่ได้มีค่าอะไรมาออกแบบ เพื่อยกคุณค่าเชิงสถาปัตยกรรมในตัวมันออกมานั่นคือเป้าหมายหลัก ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ทำให้ตัวอาคารกันตนามีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ความแตกต่างจากสถาปัตยกรรมทั่วไปในช่วงเวลานั้น
แนวคิดการนำสิ่งธรรมดาสามัญมาสร้างเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า มันเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างไร
มันเริ่มก่อรูปร่างขึ้นมาหลังปี 40 ที่ประเทศเราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเศรษฐกิจล่มสลาย หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมหาศาล จากคนธรรมดาที่มีเงินเดือนถูกเลย์ออฟจากงาน ผมคิดว่านี่เป็นบทเรียนที่คนไทยต้องจดจำ ต้องเรียนรู้ แน่นอนมันเป็นความเศร้า แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง อย่างผมเองนับตั้งแต่วันนั้น ผมต้องกลับมาคิดใหม่ เรียนรู้ใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อเปลี่ยน และตัดทอนความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ในงานออกแบบที่เคยมีอยู่ออกไปให้หมดโดยย้อนกลับมาที่ความพยายามในการนำเอาวัสดุที่อยู่รอบๆตัว อันเป็นสิ่งของที่เรามีอยู่ หาได้ง่าย มาสร้างเป็นงานออกแบบที่มีคุณค่า มันหมดเวลาสำหรับการที่เราจะไปวิ่งไล่ตามใครแล้ว มันไม่มีประโยชน์ เป็นบทเรียนราคาแพงที่เอาไว้เตือนสติ
คุณใช้เวลาสังเคราะห์ความคิดนี้อยู่นานไหม หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40
ผมใช้เวลากว่า 6ปี ค่อยๆ บ่มเพาะความคิด ความเชื่อมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2003 ที่เป็นช่วงเวลาในการก่อตั้ง Bangkok Project Studio ขึ้นมา ด้วยความเชื่อที่ว่าการออกแบบไม่ได้มีวิธีการเดียว มันควรจะมีวิธีการอื่นในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมรวมถึงแนวคิดที่ว่าการใช้สถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้ถูกจำกัดการใช้งานเพียงแค่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สถาปัตยกรรมต้องสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสมบัติของสาธารณะ และสาธารณะสามารถใช้ประโยชน์และหาประโยชน์จากมันได้
คุณต้องประนีประนอมมากแค่ไหน เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้คนทั่วไปยอมรับในแนวคิดนี้
เส้นทางของผมเป็นเส้นทางที่วิบาก ซึ่งความวิบากคือการที่ผมต้องอดทนคุยกับคนที่เขาไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมทำ บางทีอธิบายไปไม่เข้าใจ จนในที่สุดต้องยุติการทำและจากกันด้วยความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะสถาปัตยกรรมมันไม่สามารถประนีประนอมได้ ไม่สามารถพบกันครึ่งทางได้เพราะมันเริ่มต้นที่ผม
คุณกำลังจะบอกว่าให้เรามองออกไปกว้างๆ มากกว่า มันจะเจอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ใช่ไหม
ใช่ ก่อนอื่นคุณต้องใจกว้าง คุณต้องมองให้ออก ผมถึงบอกว่าวิธีการของคุณคือการยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองเรียนมา แล้วคุณก็เอาสิ่งที่คุณเรียนมาปฏิบัติ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกวินาที สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำให้สิ่งแรกคือคุณต้องลืมในสิ่งที่คุณเรียนมาก่อนถ้าคุณอยากจะเป็นอิสระ
แต่กับการเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและแนวคิดของสถาปนิกระดับมาสเตอร์ คุณมีวิธีทลายกรอบความคิดเหล่านี้อย่างไร
ผมเคารพในความคิดของมาสเตอร์ และผมศึกษาความคิดเหล่านั้นและผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับพื้นฐานของคนที่เริ่มเรียนหนังสือ อย่างน้อยก็ได้มีหลักเอาไว้จับ แต่คำถามของผมก็คือสิ่งที่เรียนมา หรือสิ่งที่เราเชื่อนั้น มันเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะเอาสิ่งเดียวมาไปปฎิบัติเหมือนกันทั้งโลกที่แตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ผมคิดว่ามันน่าจะมีวิธีอื่น ผมเลยเลือกหันมามองในสิ่งตรงกันข้ามที่มาสเตอร์ไม่ได้ทำ นั่นก็คือการหาความรู้จาก Non Architect ซึ่งก็คือพวกชาวบ้านธรรมดานั่นเอง
หลักแนวคิดแบบ Non Architect คุณได้เรียนรู้จากชาวบ้านธรรมดา คือเรื่องใด
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือชาวบ้านเขาทำตามความจำเป็นและลำดับความสำคัญของเขา เรียกว่าทำตาม Common Sense ที่ถูกส่งต่อกันมาจากอดีต วิธีการของเขาจึงเป็นหลักการที่บริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง ใช้ได้จริงกับชีวิต และมีจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์สูงมากซึ่งผมมีหน้าที่วิเคราะห์ สังเคราะห์ Common Sense ที่บริสุทธ์นั้นออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม หรือสิ่งปลูกสร้างรูปแบบต่างๆแม้กระทั่งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างในการนำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบให้เราฟังได้ไหม
อย่างงาน Elephant World เราใช้ภูมิปัญญาพื้นถิ่นมากออกแบบให้ตัวสถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นหลังคาทรงจั่วของชาวบ้าน บนแนวคิดเชิงวิถีชีวิตที่คนแชร์พื้นที่อยู่ร่วมกันกับช้างภายในอาคารเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องประหลาดสำหรับคนต่างชาติมากแต่มันไม่ใช่เรื่องประหลาดสำหรับคนสุรินทร์ ในส่วนตัว Elephant Village มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช้าง เราก็ต้องคิดถึงสเกลของช้างที่มันต่างจากคน แต่บางครั้งช้างตัวใหญ่มากๆ หรือมีหลายตัวก็ต้องเอาไปไว้ข้างนอก ทำเป็นลักษณะโรงเรือนสำหรับช้างโดยเฉพาะ
ข้อจำกัดในการสร้าง Elephant Village มีเรื่องใดบ้าง
ถ้าคุณทำโรงเรือนที่เป็นสี่เสาช้างจะเดินไม่ได้ ดังนั้นต้องทำเสาเดียวหลังคาจั่วเพื่อให้ช้างเดินได้รอบ คือผมทำบ้านให้ช้างอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ผมออกแบบ Observation tower ให้เป็นที่ๆ ปลอดภัยสำหรับคนที่ขึ้นมาชมวิว และสามารถดูได้ช้างจากมุมมองด้านล่าง
ในส่วนของตัววัสดุที่มาใช้สร้างโครงสร้างอาคาร สร้างขึ้นจากอะไร
เป็นดินได้จากการขุดบ่อเก็บน้ำ ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังแล้วก็บดอัด แล้วก็ดาดด้วยหินบะซอลต์ให้มันแข็งแรงขึ้น หินบะซอลต์นั้นพบที่สุรินทร์เป็นส่วนใหญ่ เอามาทำเป็นอัฒจันทร์ใน Elephant Stadium นั่นคือวิธีการที่ใช้ประโยชน์จากดินที่ขุดแล้วทำให้เกิดฟังก์ชันขึ้นมา
นอกเหนือจากเรื่องงาน อีกสิ่งที่อยากรู้คือคุณกำหนดนิยามให้รูปแบบงานของตัวเองมีสไตล์เป็นแบบไหน
งานของผมไม่มีพรมแดน(Borderless) มันเป็นอะไรก็ได้ทั้งLandscape ,Art Installation, Architecture ,Interiorหรือเป็นได้ทั้งUrban
งานของคุณมีความสอดคล้องกับแนวคิด Urban Design อย่างไร
คือต้องเข้าใจก่อนว่า Urban Design มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางผังเมืองจากใหญ่ไปเล็กเสมอไป หรือการสร้างจากMacroไปสู่Microตามทฤษฎีแต่อย่างใด บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของเมืองมันเริ่มต้นจากสถาปัตยกรรมเล็กๆหลังเดียวก็เป็นได้ ระบบของผังเมืองจะค่อยๆ ปรับตัวตามวิถีชีวิต การเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้น ในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายๆแห่งในโลกที่มีงบประมาณจำกัดอาจต้องเริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่ เราไม่สามารถทุ่มงบประมาณทั้งหมดเพื่อInfrastructureเหมือนในประเทศที่มีพร้อมในทุกๆ ด้านได้ ตรงนี้มันเป็นต้นทางความคิดที่ทำให้ผมสร้างสถาปัตยกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้
มีงานไหนบ้างที่สามารถเปลี่ยนอนาคตของเมืองได้
ตัวอย่างเช่นที่ The Wine Ayutthaya ซึ่งตัวสถาปัตยกรรมไปตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ไม่มีใครรู้จัก(Middle of Nowhere)ในจังหวัดอยุธยา ถนนหนทางไม่ดี มีเพียงวัดเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเลย อยู่มาวันหนึ่งอาคารหลังนี้ก็ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนที่นั่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพวกเขา ชาวบ้านเริ่มมีไอเดียจะทำโฮมสเตย์ของตัวเองขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยว ถนนเมื่อก่อนแย่ๆ ตอนนี้ลาดยาง ทุกอย่างก็เจริญขึ้นมา พัฒนาขึ้นตามมา หรืออย่าง Elephant World ที่สุรินทร์นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง อาคารหลังนี้ก็สามารถเปลี่ยนให้จังหวัดและคนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เช่นกัน เริ่มมีคนสุรินทร์ที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯหรือหัวเมืองใหญ่ๆอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของตนเอง เพราะเศรษฐกิจท้องถิ่นเริ่มดีขึ้น แล้วเขาก็มีความภูมิใจในสิ่งปลูกสร้างนี้ มันก็เป็นความดีงามที่เกิดขึ้นจากงานชิ้นเล็กๆ ของผมที่พยายามจะรักษาแนวคิดนี้ไว้กับทุกงานที่ออกแบบ
คุณมีหลักการอย่างไรในการฝึกฝนตัวตน และความคิด ส่งผ่านออกมาเป็นงานที่มีคุณค่า
หลักการของผมก็คือการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ผมมีพ่อเป็นช่างไม้ ตั้งแต่เด็กสิ่งที่พ่อสอนก็คือการอยู่กับความเป็นจริง ก็คือสเกล 1:1 คือคุณต้องลงมือทำ อะไรที่ทำไม่ได้ ก็ต้องเป็นค้นหาวิธีทำให้ตัวเองทำได้ มันถูกสอนให้อยู่กับของจริงมาตลอดจนมาถึงสมัยที่เรียนอุเทนฯ ก็เป็นแบบนั้น ผมเรียนรู้เรื่องเทคนิค การใช้เครื่องมือ ความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ ทางด้านเทคนิคสถาปัตย์ทั้งหมดและนำไปสู่การออกแบบเครื่องมืออย่างง่ายๆที่สอดคล้องกับเทคนิคการก่อสร้างในราคาย่อมเยาว์ ความพิเศษของอาคารเกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ คุณก็สามารถที่จะเข้าใจว่าสถาปัตยกรรมที่ดีมันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ส่วนในด้านความคิด ผมเอาตัวไปอยู่ในสถานที่จริงของสถาปัตยกรรมหลายๆแห่งในโลก เพื่อต้องการไปเรียนรู้ Sense of Place ของสถานที่นั้นๆ
ในเรื่องการค้นหา Sense of Place มีสถานที่ไหนที่คุณรู้สึกกับมันมากที่สุด
ผมไปที่ Vardo เมืองเล็กๆที่อยู่เหนือสุดของประเทศนอร์เวย์ ดั้นด้นขับรถฝ่าหิมะท่ามกลางความหนาวไปเป็นพันกิโลเมตร เพื่อไปดูพิพิธภัณฑ์แม่มด Steilneset Memorial ด้วยความรู้สึกตัวเอง ให้เข้าใจในบรรยากาศแห่งความกลัวของการถูกขังในที่มืดไร้แสงสว่างของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด มันเต็มไปด้วยความกลัว ความสิ้นหวัง และความเศร้า เมื่อคุณต้องเอาตัวไปเรียนรู้กับความรู้สึกของสถานที่นั้นๆ Sense ทั้ง 6 ของคุณก็จะได้สัมผัสและทำงาน นี่คือรูปธรรมของคำว่า Sense
คำถามสุดท้าย คุณคิดว่าสถาปัตยกรรมจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศของเราได้อย่างไร
สถาปัตยกรรมของผมได้สร้าง”ปัจจุบัน”ที่ดีให้กับมนุษย์ สัตว์และธรรมชาติ อย่างสมดุลย์ สถาปัตยกรรมของผมสามารถยกระดับชีวิตของคนที่ถูกมองข้ามจากผู้ใช้แรงงานไปสู่คราฟท์แมนทางสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมของผมสร้างโอกาสให้กับพื้นที่ที่โลกลืม เมื่ออาคารที่มีคุณค่าถูกสร้างขึ้นคนก็จะมา เมื่อคนมามากขึ้น มันก็จะกลายเป็นที่ท่องเที่ยว คนที่พื้นที่ตรงนั้นจะมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีเศรษฐกิจที่ดี ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองโดยไม่ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม คนก็จะเริ่มเห็นความสำคัญของการมีสถาปัตยกรรม ใช้ประโยชน์จากมัน หาประโยชน์จากมันได้ ผมไม่มีความเห็นเรื่องอนาคตเพราะเป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปที่ต้องคิดต่อยอดกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ผมมีหน้าทีสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ดีให้กับประเทศไทยอันเป็นที่รักของผมและอยู่กับ”ปัจจุบัน”แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว