BLUR BOUNDARY
“เขตแดนที่ลบเลือน เคลื่อนความสุขให้ใกล้กันมากขึ้น”
Text: Boonake A.
Photo: FANGBakii
Design: Make It Pop
Construct: บริษัท สุบรรณซีซีจำกัด
บ้านสีขาวในสไตล์มินิมอลหลังนี้ถูกสร้างขึ้นจากฝีมือการออกแบบของคุณก้อง – คมน์พฐ นิ่มนวล และคุณแป้ง – ใยชมภู นาคประสิทธ์ สองสถาปนิกจากบริษัทMake It Pop จำกัด โดยในขั้นตอนการออกแบบ และการสร้างสรรค์ได้รับอิทธิพลมากจากงานในแบบของ Frank Lloyd Wrightบรมครูแห่งวงการสถาปนิกของโลกผสมสานเข้ากับแนวคิดความกลมกลืนกับธรรมชาติและภูมิอากาศ จนได้ออกมาเป็นบ้านสุดเท่หลังนี้
นอกจากสไตล์การออกแบบที่เราได้เล่าไป ทั้งสองสถาปนิกยังได้บรรจุแนวคิดแสนพิเศษเข้าไปที่เรียกว่า Blur Boundary ซึ่งเป็นชื่อที่ทั้งคุณก้องและคุณแป้งใช้เรียกผลงานชิ้นนี้ ส่วนในรายละเอียดจะเป็นอย่างไร เรามีภาคขยายจากบทสรุปตรงนี้มาเล่าให้คุณเข้าใจ เพื่อเปิดเผยความสวยงามในทุกรายละเอียดของบ้านหลังนี้
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจการสร้างจากFrank Lloyd Wright
ในจุดเริ่มต้นคงต้องเริ่มต้นที่โจทย์ความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัย คุณแป้งแจกแจงรายละเอียดโจทย์ดังกล่าวให้เราฟังว่า ความต้องการจากทางเจ้าของบ้านคืออยากสร้างบ้านหลังเป็นเรือนหอที่สามารถควบคุมราคาค่าก่อสร้างอย่างสมเหตุสมผล
และอีกหนึ่งโจทย์อีกเจ้าของบ้านฝ่ายชายต้องการเป็นพิเศษก็คือบ้านที่มีการอ้างอิงงานออกแบบและแรงบันดาลใจมาจากFrank Lloyd Wrightบรมครูแห่งสถาปนิกชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ที่มีสไตล์การออกแบบสิ่งปลูกสร้างสถาปัตยกรรมที่กลมกลืน หรือกลืนกลายไปกับธรรมชาติรอบข้างแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน
“เราต้องไปแกะว่าความ Frank Lloyd Wright ที่เขาชอบคืออะไร แน่นอนว่ามันต้องกลมกลืนไปกับบริบทรอบข้าง แต่ถ้าทำแบบนั้นมันจะยากมากในการก่อสร้าง ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ตัวบ้านสามารถดึงคอนเซปต์ที่ว่านี้ออกมาให้ได้มากที่สุด สรุปสุดท้ายก็คือไอเดียในการทำตัวบ้านให้กลมกลืนไปกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทยน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม”
สร้างความโดดเด่นให้ตัวบ้านด้วยสไตล์ Minimal
เมื่อสามารถแกะไดเรคชั่นในความเป็นบ้านที่มีแรงบันดาลใจจากFrank Lloyd Wrightมาเป็นที่ตั้ง คุณแป้งและคุณก้องผู้เป็นสถาปนิกออกแบบ ก็ได้ทำการค้นหาความต้องการของเจ้าของบ้านลงลึกไปอีก จนพบว่านอกจากความชื่นชอบในงานออกแบบของสถาปนิกชั้นครูแล้ว อีกสไตล์หนึ่งที่เขาชอบก็คืองานออกแบบบ้านในสไตล์มินิมอลลิสต์
ทำให้เขาทั้งสองเริ่มมองเห็นภาพของบ้านโดยรวมที่ได้ชัดขึ้น ก็คือรูปแบบของการเป็นบ้านทรงกล่องเชิงสมมาตร ที่เรียบง่าย ดูสวยงามสะอาดตา แต่มีการเก็บและซ่อนลูกเล่นรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างมากมายภายใน รวมถึงเพียบพร้อมไปด้วยฟังก์ชั่นที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิต
“ในตัวบ้านที่เราออกแบบก็มีความคลีน และมีความเป็นมินิมอลลิสต์ค่อนข้างมาก บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 400 ตารางเมตรภายในจะประกอบด้วยมี 2 ห้องนอนอยู่ชั้นบน โดยมีหนึ่งห้องนั่งเล่นอยู่ข้างล่าง โดยมีส่วนครัวทำกับข้าว และมีสระว่ายน้ำขนาดยาวไว้อยู่นอกบ้านเพื่อออกกำลังกาย”คุณแป้งแจงรายละเอียดอย่างชัดเจน
ผสมผสานแนวความคิดบ้านประหยัดพลังงานในงานออกแบบ
นอกเหนือจากการออกแบบฟังก์ชั่นภายในบ้าน อย่างที่เราได้บอกไปในตอนต้นว่าคุณก้องและคุณแป้งตั้งใจสร้างให้บ้านหลังนี้กลมกลืนไปกับบริบทของสภาพภูมิอากาศอันร้อนชื้น เต็มไปด้วยแสงแดด ทั้งสองคนจึงได้นำความคิดที่ได้จากการเรียนในภาควิชาInnovation Design Of Ecological Architecture มาใช้
นั่นคือการออกแบบภายนอกเสมือนให้มีเปลือกที่เป็นกำแพงกั้นทั้งสี่ด้านทั่วทั้งบริเวณของตัวบ้าน คุณแป้งบอกกับเราว่าเปลือกที่ว่านี้จะเป็นลักษณะฟาสาด(Facade) ที่วางห่างออกจากตัวบ้านประมาณหนึ่งฟุตนี้ช่วยป้องกันทั้งความร้อน และควบคุมทิศทางลมให้ไหลเวียนเข้าตัวตัวบ้าน ซึ่งตัวกำแพงดังกล่าวจะมีช่องกระจายตัวเต็มไปทั้งผืนกำแพง ซึ่งช่องดังกล่าวนี้อนุญาติให้ทั้งลมและแสงสามารถผ่านเข้ามาได้บางส่วน
แถมกำแพงเปลือกยังเป็นตัวสกรีนความร้อนจากแสงแดดไม้ให้เข้ามาปะทะกับผันงกำแพงบ้านโดยตรง อันเป็นการช่วยลดความร้อนภายในบ้าน ชนิดที่ว่าสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ เพราะมีความเย็นสบายจากลมที่ผ่านเข้ามาอยู่แล้ว
การเลือกวัสดุที่สอดคล้องกับบริบทของสภาพอากาศ
“ในส่วนกำแพงเปลือกหุ้มที่เราใช้เป็นฟาสาด ซึ่งเป็นรูให้ลมผ่านได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการสร้าง เราจึงต้องเลือกใช้วัสดุที่มีราคาพอเหมาะสม มันเลยมาจบคอนกรีต กับบล็อกช่องลมที่มีราคาไม่แพง แถมยังดูแลง่าย ทำความสะอาดง่ายเพียงแค่ฉีดน้ำชะล้างก็สะอาด ซึ่งเหมาะสมลงตัวกับความต้องการของเจ้าของบ้าน”
ทั้งคุณแป้งและคุณก้องเล่ามาถึงจุดนี้ เขายังเสริมให้เราฟังด้วยว่านอกจากเปลือกดังกล่าวจะทำให้ตัวบ้านมีการประหยัดพลังงาน มีความสวยงามโดดเด่น กลมกลืนไปกับบริบทของสภาพอากาศของประเทศไทยแล้ว ยังเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนตัว(Privacy)ให้กับเจ้าของบ้านทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเจ้าของบ้านและภรรยารักในความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก
“วัสดุที่ลมผ่านไม่ได้ต้องมีความPrivacy แต่อนุญาตให้แสงผ่านได้บ้าง ก็จะเป็นเลเยอร์ของบล็อกแก้ว ดังนั้นมันประกอบกันด้วยวัสดุแบบนี้ 3-4 อย่าง อีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นบานกระจกไปเลย มันก็จะเป็นการทำงานของวัสดุอยู่แค่ไม่กี่อย่างที่เราคิดว่ามันง่ายๆ แล้วก็เอามาประกอบกัน”
เผยที่มาของคอนเซปต์แบบBlur Boundary
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับเปลือกฟาสาดของตัวบ้านไปแล้ว สถาปนิกทั้งสองท่านก็เล่าถึงโครงสร้างและฟังก์ชั่นภายในตัวบ้าน ซึ่งในส่วนนี้เป็นการเปิดเผยถึงคอนเซปต์ของคำว่า “Blur Boundary” ให้เราฟัง ซึ่งแนวคิดที่ว่าเริ่มต้นมาจากที่ตัวบ้านถูกสร้างขึ้นให้เป็นลักษณะกล่องสีเหลี่ยมผืน 2 ใบตั้งซ้อนทับกันอยู่ จึงทำให้เกิดคอร์ทแนวยาวกลางบ้านเชื่อมต่อตัวบ้านเข้าไว้ด้วยกัน
ซึ่งคอร์ทตรงนี้ทำให้คุณก้องและคุณแป้งนำมาคิดต่อ ออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อในบริเวณชั้นล่างได้ทั้งบริเวณ ด้วยการติดตั้งประตูบานเฟี้ยมให้กับส่วนของอาคารที่สองหลังเข้ามาปะทะกัน เมื่อเปิดบานเฟี้ยมออกทั้งสองบาน รวมถึงบานเฟี้ยมที่อยู่ด้านนอก พรมแดนของอาคารทั้งสองหลังก็ถูกลบเลือนไปสามารถเดินได้ทั่วถึงกันทั้งบริเวณ
พื้นที่กลางเชื่อมต่อทุกกิจกรรมได้แบบไร้เขตแดน
“คอร์ทตรงนี้นอกจากเป็นการเป็นพื้นที่กลางบ้านแล้ว ด้วยความที่ตัวเจ้าของบ้านเองเป็นคนชอบมีกิจกรรม Hang Out ด้วยการปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อน เขาจึงมีความต้องการพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ เราจึงทำหลุมตรงกลางบริเวณกลางลานไว้สำหรับไว้สำหรับนั่งคุยสนทนาหรือสูบบุหรี่เอาไว้”
นอกจากนี้ในพื้นที่ส่วนกลางอันเป็นที่มาของคำว่าBlur Boundary ในวันที่ไม่มีปาร์ตี้แฮงค์เอาท์ พื้นที่ตรงนี้ก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนกลางบ้านขนาดย่อมเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ให้ความชุ่มชื่นร่มเย็นไว้ภายในตัวบ้าน นอกจากนี้พื้นดังกล่าวเจ้าของบ้านยังใช้เป็นพื้นที่ทำงานนอกบ้าน ในยามที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้มีความหลากหลายที่ไม่ได้ยึดติดกับห้องทำงานหลักในชั้นสองของตัวบ้านด้วย
เชื่อมสองสไตล์การออกแบบภายในไว้ในพื้นที่เดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่าแนวคิดการลบเลือนพรมแดนยังทำงานอยู่ในบ้านหลังนี้อย่างแข็งแรงก็คือเรื่องของการตกแต่งภายใน(Interior) ซึ่งในเรื่องนี้นับเป็นเซอร์ไพรส์ในกระบวนการทำงานของคุณแป้งและคุณก้องเลยก็ว่าได้
“เรื่องการตกต่างภายในนี่เซอร์ไพรส์มาก เพราะอย่างที่ทราบคือตอนที่เราเริ่มต้นเราคุยกับเจ้าผู้ชายคือเขาชอบสไตล์มินิมมอล เราเลยกำหนดสไตล์ในการตกแต่งภายในไว้แบบคลีนๆ เนี๊ยบๆ เอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อวันที่ตัวภรรยามาเห็น เขาก็อยากให้เอาสไตล์คลาสสิคที่ชอบใส่เข้าไปด้วย นั่นถือเป็นโจทย์ยากมากของเรา”
วิธีที่สองสถาปนิกเลือกใช้ก็คือความประณีประณอมระหว่างสองสไตล์ ด้วยการสอดแทรกลูกเล่นของสไตล์คลาสสิคเข้าไปในดีเทลสีขาวของการตกแต่งภายใน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่แฝงด้วยอารมณ์วินเทจที่มีรายละเอียดอ่อนช้อย การจัดวางเปียโนหลังใหญ่ไว้กลางห้องนั่งเล่น การเดินเส้นสีทองตามของคิ้วเพดาน หรือตามแนวยาวของขอบบันได รวมถึงสร้างวงกบประตูและหน้าต่างให้มีความเป็นซุ้ม(Arch) โค้งมน ก็ช่วยแต่งเติมอารมณ์คลาสสิคให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีเสน่ห์
“การตกแต่งที่เกิดขึ้นจากการประนีประนอมด้านสไตล์ระหว่างเขาสองคน อีกนัยหนึ่งผมว่ามันก็เป็นเหมือนการลบพรมแดนในจิตใจเหมือนกัน เพราะหากทั้งสองความชอบสามารถผสมผสาน หรือมีจุดร่วมบางอย่างที่เข้ากันได้ คนที่อยู่ในบ้านก็มีความสุขทั้งสองฝ่าย” คุณก้องให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ
นอกจากดีเทลรายละเอียดในงานออกแบบทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ เราถามคุณแป้งและก้องว่าความสำเร็จและของการความพอใจในการออกแบบบ้านหลังนี้ของเขาคืออะไร สถาปนิกทั้งสองตอบเราว่า ความสำเร็จที่สุดในความคิดของเขาคือการทำให้คนเห็นว่าบ้านประหยัดพลังงานก็สามารถสร้างออกมาในสวยดูดีมีสไตล์ได้ อันเป็นที่เขาทั้งเชื่อมาตลอด
และอีกสิ่งหนึ่งที่มองว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุดก็คือการสร้างบ้านที่เป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมต่อทางจิตใจให้สามีภรรยาคู่นี้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข เมื่อถึงเจ้าของบ้านได้เข้ามาตรวจรับบ้าน ทั้งสองมีรอยยิ้ม เดินถ่ายรูปมุมนั้น มุมนี้ในบ้านอย่างตื่นเต้น
รวมถึงการที่เจ้าของบ้านเอ่ยปากว่าบ้านนี่อยู่ได้อย่างเย็นสบาย โยไม่จำเป็นต้องคิดเครื่องปรับอากาศในชั้นล่าง ก็ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าสิ่งที่คุณก้อง และคุณแป้งคิด มันสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วอย่างสมบูรณ์แบบแล้วนั่นเอง