BANGKOK CITYCITY GALLERY
ผ้าใบผืนใหม่ของเมืองกรุง
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
การปรากฏขึ้นของอาคารสีขาวบนถนนสาธรซอย 1 ดูเหนือจริงราวกับที่ว่างที่หลุดออกมาจากหน้ากระดาษ แกลเลอรีสีขาวเกลี้ยงตระหง่าน อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่หลากหลายที่ล้วนแล้วแต่น่าค้นหา จากความฝันที่ต้องการจะมีห้องแสดงงานศิลปะของตัวเอง คุณลูกตาล – ศุภมาส พะหุโล และ คุณอ๊อป – อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา ร่วมก่อตั้งแกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ ในมิติของพื้นที่ ที่พวกเขาสามารถนิยามขึ้นได้เอง
‘Melo House’ โดย คุณตั้ม – วิศุทธิ์ พรนิมิต มาพร้อมกับ ‘มะม่วง’ สาวน้อยหนึ่งในคาแร็คเตอร์ของคุณตั้มที่หลายคนรู้จัก คือนิทรรศการแรกของแกลเลอรีแห่งใหม่ ที่แนะนำตัวกับผู้คนพร้อมๆ กับการเปิดตัว ‘Bangkok CityCity Gallery’ พื้นที่แสดงศิลปะที่นิยามคำว่า ‘ร่วมสมัย’ ให้กว้างขวางขึ้นกว่าที่หลายคนเคยเข้าใจ รวมถึงพวกเรา Daybeds ที่ได้มีโอกาสมาเยือนและได้รับการต้อนรับพูดคุยกับทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้งเป็นอย่างดี
“ภาพของเมื่อก่อนมันอาจจะอันเดอร์กราวน์กว่านี้” คุณลูกตาลเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป เมื่อเริ่มคิดที่จะสร้างพื้นที่อะไรก็ได้ของตัวเองเพื่อแสดงงานศิลปะขึ้นสักที่หนึ่ง คล้ายกับความต้องการที่จะเปิดร้านดอกไม้ ร้านกาแฟ หรือร้านอาหาร ของใครหลายๆ คน
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ตรงกันและความชื่นชอบในงานศิลปะ ‘Bangkok CityCity Gallery’ จึงได้สถาปนิกมากฝีมือ Site-Specific Company Limited เป็นผู้ทดลองและออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมกับเจ้าของโครงการทั้งสอง และได้ Shma SoEn เป็นผู้ออกแบบแลนด์สเคปที่สอดประสานไปกับอาคารสีขาวหลังใหญ่
“ห้องห้องหนึ่งหรือเสปซเสปซหนึ่ง มันต้องสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ในลักษณะของ medium ที่จะใช้สื่อสารกับคนได้ คือหมายความว่า มันอาจจะเป็นการใช้ตาดู มันอาจจะเป็นการใช้กลิ่น ลม เสียง หรืออะไรก็ตาม ถ้าสมมุติเราอยากจะโชว์ ภาพยนตร์ เราต้องสามารถที่จะแสดงในที่ที่นั้นได้ นั่นหมายความว่า มันก็ต้องสามารถที่จะคอนโทรลแสงได้ในระดับนึง ถ้าเราอยากจะคอนโทรล ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดว่าเราอยากจะแสดงประติมากรรม แล้วอยากจะได้แสงธรรมชาติเข้ามา เราก็ต้องสามารถเปิดเอาแสงเข้ามาได้ มันก็เลยเป็นโจทย์ต่อเนื่อง ในการที่เราทำตัวพื้นที่อันนี้ขึ้นมา” คุณลูกตาล เล่าให้ฟังถึงความต้องการพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นมากพอ ที่จะสามารถจัดแสดงงานศิลปะ ในภาพฉากต่างๆ ที่เธอชื่นชอบ “คือที่จริงมันหลากหลายมากๆ แต่ว่าตอนเริ่มต้น คือ เราคิดถึงซีนาริโอแล้วกัน ว่าแบบ เออ อยากที่จะมีประติมากรรม อยากที่จะมีสกรีนเพลย์ อยากที่จะมีคอนเสิร์ตอะไรสักอย่าง เราอยากสามารถที่จะทำได้”
แกลเลอรีถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ โถงนิทรรศการขนาดใหญ่ เป็นโถงจัดแสดงงานหลัก ใช้จัดแสดงงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์ ในรูปแบบห้องเอนกประสงค์ ขนาด 200 ตารางเมตร ด้วยความสูงจากพื้นถึงฝ้าราว 6 เมตร และ ห้องจัดแสดงขนาดเล็ก ที่ควบมาด้วยคาเฟ่ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ใช้นั่งพูดคุย ฉายหนัง หรือจัดเวิร์กช็อป ร่วมกับศิลปินในหลากหลายโอกาส และเป็นเหมือนเวทีที่ใช้แลกเปลี่ยนความคิด เป็นจุดพบเจอกันของผู้คน ที่แวะเวียนมาชื่นชมผลงานในนิทรรศการต่างๆ “คือมันมีหลายคนมากที่พูดว่า โห มินิมัลมาก ขาวสุดๆ ไปเลย ความจริงคือ มันไม่มีอยู่ในหัวเลย ไม่มีคำนี้เลยตั้งแต่ต้น คือ เราต้องการแค่ว่าพื้นที่นี้ ใช้งานอะไร”
เส้นสายของแมสฟอร์มอาคารสีขาวที่เฉือนตัดไปบนท้องฟ้า เปลี่ยนทัศนียภาพบนฟากฝั่งถนนไปโดยสิ้นเชิง ชวนให้สงสัยถึงหน้าตาของแกลเลอรีที่ “ดูน้อยแต่มาก” ที่ต้องนับว่ามีเอกลักษณ์ ดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่พบเจอได้ไม่น้อย “สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้ มาจนถึงตอนนี้ มันก็เป็นเพราะ งบประมาณ ตอนแรกที่เราออกแบบกัน เราไม่ได้ตั้งใจว่า ฉันจะเป็นอาคารอินดัสเทรียล ฉันจะเป็นมินิมอล ฉันจะเป็นอเมริกันโมเดิร์น อะไรก็ไม่รู้อะ คือเราไม่ได้มีคำพวกนี้ เราเริ่มจากว่า คือเราต้องการพื้นที่ห้องนี้ อาจจะประมาณ 40 – 70 ตารางเมตร เราอยากจะได้ห้องใหญ่ประมาณ 300 ตารางเมตร มีพื้นที่ในการเก็บ Storage งาน ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะเป็น 1 ใน 3 ของส่วนจัดแสดง อาจต้องมีสวนด้านหลังด้วย เพราะเราชอบที่จะมี Outdoor Event มันเริ่มต้นมาจากฟังก์ชันล้วนๆเลย แล้วเราก็ค่อยมาปรับ มันมีเวอร์ชันที่แบบหน้าตา ตัด เฉียง ไปมาด้วย แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่ายมันสูงมาก”
“แม้แต่สีของมัน ที่คนบอกว่า เฮ้ย มันขาวมาก คือจริงๆมันไม่ได้เป็นสีขาว เพียงแต่ว่าตอนเริ่มต้นในการทำโมเดลตัวอาคารนี้ขึ้นมา เราไม่ได้ใส่สีให้มันตั้งแต่ต้น นั่นหมายความว่า เราก็เลยไม่ได้มองว่า มันเป็นสีอะไรอยู่ คือมันไม่มีสี คือ มันเหมือนเป็นแค่กล่องอาคารที่เราทำขึ้นมา อ้อ แต่อีกเรื่องที่น่าจะพูดถึงก็คือ สีขาวมันเป็นสีที่เราสามารถที่จะจัดแสดงงานได้โดยที่ไม่มีแสงสีอื่นสะท้อนเข้าไปเปื้อนตัวงานด้วย คือข้างในมันต้องขาวอยู่แล้ว หลายๆอย่างเราไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่สนใจศึกษาตอนแรกจริงๆ คือ ถ้าเวลาคนเดินมา จะมองเห็นมันในความรู้สึกยังไง คนขี่จักรยาน ด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน จะมองเห็นอาคารนี้ยังไงมากกว่า”
“ลองคิดดูสิว่า กระบวนการในการที่เราสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมากับสิ่งที่เป็นการรับรู้ของคนที่มองเข้ามา คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่ามันมินิมอล แต่ว่าจุดเริ่มต้นของเรามันไม่ใช่ ในขณะเดียวกันแม้กระทั่งชื่อตัวแกลเลอรีของเราเองก็ตาม คนจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมี City สองตัว มันก็ดีตรงที่เราทำให้คนได้ตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน ซึ่งจริงๆแล้ว ศิลปะร่วมสมัย ส่วนหนึ่งมันก็มีความหมายอยู่ในลักษณะแบบนี้ด้วย”
เวทีที่ใช้เชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลายที่ไม่ใช่เฉพาะผู้คนในแวดวงศิลปะ ได้มอบมิติทางความคิดที่หลากหลายให้กับผู้คน ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย เพียงนิทรรศการแรกของแกลเลอรีแห่งใหม่แห่งนี้ ที่ได้สาวน้อย ‘มะม่วง’ มาวิ่งเล่นในเขาวงกตของบ้าน (ที่สมมุติว่า) ไฟดับ ก็สร้างความสนใจให้กับผู้คนได้ ไม่มากก็น้อย ศิลปะร่วมสมัยที่มีรูปแบบที่หลากหลายและกินความหมายได้กว้างขวางเช่นนี้ เปิดมุมมองและมอบความคิดในแง่มุมใหม่ๆให้กับสังคมได้อย่างเป็นภาพรวมในพื้นที่ที่ตัดขาดราวกับอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง งานศิลปะที่จัดแสดงภายในทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมที่กำเนิดขึ้นบนเงื่อนไขของปัจจุบัน เป็นเสมือนชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยอีกชิ้น ที่ใช้พื้นที่ของเมืองทั้งเมือง เป็นพื้นที่จัดแสดง
“ลองคิดดูสิว่า กระบวนการในการที่เราสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมากับสิ่งที่เป็นการรับรู้ของคนที่มองเข้ามา คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่ามันมินิมอล แต่ว่าจุดเริ่มต้นของเรามันไม่ใช่ ในขณะเดียวกันแม้กระทั่งชื่อตัวแกลเลอรีของเราเองก็ตาม คนจะต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมี City สองตัว มันก็ดีตรงที่เราทำให้คนได้ตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน ซึ่งจริงๆแล้ว ศิลปะร่วมสมัย ส่วนหนึ่งมันก็มีความหมายอยู่ในลักษณะแบบนี้ด้วย”
มุมมองจากด้านที่ติดถนน ความเรียบและชัดเจนของสถาปัตยกรรม สร้างกรอบของพื้นที่ศิลปะที่ชัดเจนขึ้นบนฟากฝั่งถนนสาธรซอย 1 อาคารที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ใช้สอยอย่างไม่บิดพลิ้ว เกิดจากกรอบของการใช้งานที่เที่ยงตรง คลี่คลายออกมาเป็นอาคารด้วยสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมที่พอเหมาะพอดี
ผนังสีขาวทึบตันของสถาปัตยกรรมที่ไม่บอกเล่าเรื่องราวใดๆ ในทางกลับกัน กลับเรียกร้องความน่าสนใจจากผู้คนได้อย่างน่าประหลาด เรื่องราวทั้งหมดถูกเก็บงำไว้ภายในรอเพียงผู้คนที่จะกล้าเปิดประตู และก้าวเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งที่แกลเลอรีแห่งนี้อยากจะบอกเท่านั้น
แลนด์สเคปหินกรวด เพิ่มความน่าสนใจให้กับมิติด้านการมองรอบๆอาคาร ขั้นบันไดลาดลงไปสู่ลานกรวดด้านล่าง ใกล้ชิดกับร่มเงาของต้นไม้น้อยใหญ่ ที่ตั้งอยู่โดยไม่ไปรบกวนผนังสีขาวเรียบของแกลเลอรีแต่อย่างใด
นิทรรศการ ‘Melo House’ โดย คุณตั้ม – วิศุทธิ์ พรนิมิต ที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. – 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ภายในพื้นที่โถงจัดแสดงหลัก ขนาด 200 ตารางเมตร และฝ้าสูงราว 6 เมตร เป็นพื้นที่จัดแสดงแบบ Multi-Purpose ที่ยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยได้ไม่จำกัดเพียงแต่งานจิตรกรรม ประติมากรรม แต่สามารถรองรับงานศิลปะที่ต้องใช้แสง เสียง กลิ่น หรือการแสดงๆ อื่นๆได้ด้วย
Contact: BANGKOK CITYCITY GALLERY
3/3 สาธร ซอย 1 ถนนสาธรใต้
แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพฯ
โทร.08-3087-2725
http://www.bangkokcitycity.com/
จากคอลัมน์ CREATIVE SPACE
DAYBEDS 158