BAAN HOME BOON

บ้านโฮมบุญ

Text : ณิชา เตชะนิรัติศัย
Photo : S Pace Studio

ก่อนจะมาเป็นบ้านโฮมบุญนั้น เดิมทีตัวบ้านเดิมเป็นบ้านสองชั้น ชั้นแรกตกแต่งด้วยวัสดุปูน ส่วนชั้นสองตกแต่งด้วยวัสดุไม้ ซึ่งเป็นไม้เก่าแก่อายุกว่า 40 ปี ที่คัดสรรมาจากป่าบนภูเขาโดยคุณตาซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณแจ๋ว -คุณวาทินี สุดตา เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน

เมื่อเวลาผ่านไป ตัวบ้านเริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา คุณแจ๋วจึงอยากปรับปรุงบ้านให้ดีขึ้น แต่ด้วยสภาพที่ผุพังค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นอาคาร 2 ชั้น ทำให้ยากต่อการปรับปรุง โดยสถาปนิกมองว่าโครงสร้างบ้านหลังเดิมไม่เหมาะกับสมาชิกในบ้าน จึงแนะนำให้ก่อสร้างใหม่ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของสมาชิกภายในบ้านที่มีหลายช่วงวัย โดยนำไม้เดิมมาใช้เป็นส่วนประกอบของบ้านหลังใหม่ เพื่อให้คงคุณค่าทางความรู้สึกและเก็บเรื่องราวความทรงจำระหว่างคุณพ่อของคุณแจ๋วและคนในหมู่บ้านที่ช่วยกันเก็บไม้มาสร้างบ้านหลังนี้ด้วย

“ผมรู้สึกว่าการได้พูดคุยกับผู้ใช้สอยในบ้านทั้งคุณแจ๋ว สามี คุณยาย และลูกๆ รวมทั้งเพื่อนบ้าน ทำให้ผมสัมผัสถึงเสน่ห์ของบริบทสังคมคนอีสานต่อครอบครัว ในช่วงกลางวัน บ้านจะเป็นที่รวมตัวสมาชิกในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เพื่อนบ้านให้มาพบปะรับประทานอาหาร พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ในช่วงที่มีเทศกาล หรืองานบุญก็จะมารวมตัวกัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งชุมชนและที่ประชุมของคนในชุมชนนี้ด้วย

พฤติกรรมของคนอีสานที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ล้วนแล้วแต่มีกิจกรรมที่ต้องใช้พื้นที่แบบ semi-outdoor อาทิ พื้นที่ใต้ต้นไม้ ใต้ถุนบ้าน ใต้ชานคา เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือจะไม่นิยมการใช้โต๊ะและเก้าอี้ในการนั่ง ผู้คนเคยชินกับการนั่งบนแคร่หรือพื้นบ้านมากกว่า ด้วยตัวพื้นมีพื้นที่ขนาดใหญ่ นั่งสบาย สามารถนั่งได้หลายคน เวลาทานข้าวสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ตามจำนวนผู้ใช้สอยว่าจะนั่งทานแบบวงเล็กหรือวงใหญ่”

ลักษณะการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าว นับเป็นวิถีชีวิตของชาวอีสานที่เป็นเอกลักษณ์ คุณทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และคุณปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส สถาปนิกจึงหยิบยกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้าน พร้อมๆ กับการตอบโจทย์ในหลายมิติ อาทิ งบประมาณการก่อสร้าง ผู้ใช้งาน สภาพแวดล้อม เวลา การใช้งาน วัสดุเดิม ทิศทาง ค่านิยมสังคม ตลอดจนบริบทโดยรอบด้วย

ตัวบ้านหลังใหม่ถูกออกแบบให้มีขนาด 1 ชั้น หลังคาทรงจั่ว ยกพื้นสูงเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว โดยออกแบบให้มีการไล่ลำดับจากระดับความสูงของพื้น จากส่วนต่ำสุดคือลานจอดรถ พื้นที่อเนกประสงค์ ถัดขึ้นมาจะเป็นชานบ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ถัดมาเป็นส่วนของห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร และครัวที่เชื่อมต่อกับชาน อีกสเต็ปถัดมาคือส่วนที่จะเข้าไปยังโซนห้องนอน ห้องทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวและถูกกั้นด้วยประตูกระจกจากส่วนห้องนั่งเล่น ส่วนของด้านหน้าบ้านฝั่งที่ติดถนนเส้นหลักในหมู่บ้านเป็นส่วนพื้นที่ชานบ้านขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถูกคั่นระหว่างบ้านและถนนด้วยตัวสวนและแนวรั้วต้นไม้เพื่อเป็นแนวป้องกันฝุ่นละอองและเสียงรบกวน

ในส่วนของชานหน้าบ้านใช้วัสดุพื้นไม้เดิมปูเว้นร่อง เพื่อช่วยระบายน้ำ และเมื่อสังเกตดูชานบ้านจะพบว่าไม้มีความหลากหลายโทนสีทั้งเข้ม อ่อน ซีด ตามธรรมชาติ ตัวชานถูกยกระดับ ซึ่งผู้ใช้สอยสามารถนั่งห้อยขา หรือนั่งในลักษณะที่นั่งยกสูงได้  ส่วนระนาบที่ปกคลุมชานนั้นคือหลังคาลอนเมทัลชีทชนิดโปร่งแสง ซึ่งช่วยเพิ่มความโปร่งของพื้นที่ชาน และมีระแนงอะลูมิเนียมช่วยกรองแสงที่ผ่านลงมาให้ลดลงได้เกือบ 70 เปอร์เซนต์ สามารถลดความร้อนในยามแดดแรง  นอกจากนี้ด้วยตัวชานบ้านที่เปิดโล่ง จึงสามารถรับลมได้เกือบทุกทิศทาง ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มการถ่ายเทและการหมุนเวียนอากาศในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี

ส่วนของหลังคาโปร่งแสงด้านหน้าทั้งหมดถูกรับน้ำหนักด้วยเสาไม้เก่า โดยสถาปนิกออกแบบให้เกิดความต่อเนื่องของยุคสมัยโดยการผสานวัสดุโครงสร้างไม้กับเหล็กเข้าด้วยกัน ด้วยเส้นสายของระนาบหลังคาที่ค่อยๆเปลี่ยนจากจั่วสูงมาเป็นหลังคาแบนลาดทอดยาวยื่นออกจากแนวตัวบ้าน ไปจนถึงส่วนทางขึ้นบ้านและลานจอดรถราวๆ 3 เมตร และเจาะกลางหลังคาให้ต้นไม้ทะลุขึ้นไปเหนือหลังคา เพื่อสอดแทรกธรรมชาติจากสวนให้เข้าไปใกล้ชิดกับตัวบ้านและคนในบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ตัวบ้านมีความนุ่มและดูอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง

บริเวณพื้นที่จอดรถฝั่งทิศใต้ถูกออกแบบให้มีหลังคาโปร่งแสงยื่นออกมาบังแดดและฝน โดยแนวจอดรถจะขนานกับตัวบ้าน ข้อดีของการวางตำแหน่งลานจอดรถขนานกับตัวบ้านคือ ผู้ใช้สอยสามารถขับรถเข้ามาจอดเทียบได้ง่าย และรองรับการจอดรถได้มากถึง 3 คัน นอกจากนี้เจ้าของบ้านยังสามารถใช้พื้นที่นี้ในการตากผ้าหรือเป็นลานซักล้าง และส่วนอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ได้ แต่บางฤดูแดดจะแรงและเข้าไปในบ้านตลอดทั้งวัน จึงมีการออกแบบให้มีแนวต้นหมากเขียวและไม้พุ่มช่วยในการกันแดดอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านจะพบว่า การออกแบบภายในตัวบ้านนั้น ถูกออกแบบให้มีลักษณะการจัดวางฟังก์ชั่นที่กระทัดรัดและใช้งานง่าย โดยกำหนดให้มีแกนทางเดินจากโถงนั่งเล่นตรงเข้าไปยังส่วนในสุดของบ้านและแยกออกสู่ห้องทำงานและห้องนอนต่างๆ

บริเวณพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารถูกออกแบบให้มีชุดโต๊ะรับประทานอาหารและชุดโซฟารวมในโถงเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่และกระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว

ส่วนของพื้นที่นั่งเล่น สถาปนิกออกแบบแนวรางไฟซ่อนให้เป็นเหมือนกำแพงบางๆที่กั้นส่วนสาธารณะในบ้านออกจากส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว โดยแนวแสงไฟซ่อนนี้ยังช่วยสร้างบรรยากาศให้กับทุกการใช้งานด้วย  อีกทั้งในแนวไฟซ่อนนั้น ตรงบริเวณด้านล่างถูกออกแบบให้เป็นชั้นวางทีวี build-in ทำหน้าที่กั้นส่วนใช้งาน 2 ฝั่งออกจากกัน แต่ใช้ประโยชน์ของการเป็นชั้นร่วมกัน ซึ่งแนวคิดนี้ สถาปนิกออกแบบให้ตัวชั้นวางทีวีมีความโปร่งแสงแต่ไม่ทะลุ ด้วยขนาดห้องที่จำกัด ทำให้พื้นที่ดูอึดอัด ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยชั้นวางทีวีที่โปร่งแสงบางช่อง ทำให้ห้องดูมีมิติและลูกเล่นพร้อมการใช้งานจริงได้ นอกจากนี้ัตัวบานกระจกยังมีความโปร่งและมเพิ่มมิติให้กับห้องด้วยเช่นกัน

ในส่วนห้องทำงานนั้นเชื่อมต่อจากโถงทางเดินหลักกลางบ้านโดยถูกกั้นจากทางเดินด้วยชุดประตูกระจกใส เพื่อให้ความรู้สึกโปร่งเมื่อใช้งานและแสงสว่างธรรมชาติจากหน้าต่างฝั่งห้องทำงานที่ส่องผ่านมายังทางเดิน ช่วยทำให้ทางเดินที่มีขนาดเล็กดูน่าใช้งานยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ห้องทำงานยังถูกออกแบบให้ขนานและชิดฝั่งด้านแนวจอดรถ ซึ่งในช่วงกลางวันที่ไม่มีรถจอด สามารถมองเห็นทิวต้นหมากเขียวที่ปลูกไว้เพื่อบังแดดและแนวไม้พุ่มด้านล่างช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับพื้นที่ใช้งานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีชายคาโปร่งแสงพร้อมระแนงอะลูมิเนียม ทำให้สามารถเปิดช่องหน้าต่างเพื่อรับลมได้ตลอดวันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงแดดสะท้อนเข้ามาในส่วนนี้

เมื่อเข้ามาสู่บริเวณห้องนอน master bedroom จะอยู่รวมกับห้องแต่งตัวซึ่งถูกกั้นแบ่งสัดส่วนด้วยบานสไลด์สูงจรดฝ้าเพดานเพื่อให้ความรู้สึกถึงการต่อเนื่องของพื้นที่ ตำแหน่งทางเข้ายังคงสามารถเข้ามาใช้งานได้ง่าย เพราะห้องน้ำและห้องอาบน้ำจะอยู่ภายนอกห้องนอน

“โจทย์ในการออกแบบห้องนอนนั้นคือความอิสระภายใต้ความอบอุ่น เนื่องด้วยห้องนอนมีพื้นที่ใช้งานจำกัด  โจทย์ในการออกแบบห้องนอนจึงต้องดูไม่แคบและอึดอัด ดังนั้นผมจึงต้องเลือกเทคนิคว่าจะทำอย่างไรบ้างภายใต้เงื่อนไขเรื่องงบประมาณที่มีจำกัดเช่นกัน โดยผลที่ได้คือ การติดหัวเตียงด้วยกระจกเพื่อเพิ่มมิติความลึกให้กับห้อง การใช้เฉดสีเข้มในส่วนหลังช่องกระจกเพื่อเพิ่มความต่อเนื่องของชุดกระจกให้รู้สึกว่าช่องเปิดนั้นสูงจรดฝ้าเพดาน การเลือกใช้ไฟซ่อนเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าใช้งานให้ห้องนอน”

ห้องน้ำหลักและห้องน้ำรวมถูกออกแบบให้วางในจุดที่อยู่ฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตกของบ้าน(มุมบ้านด้านหลัง) เพื่อใช้ห้องน้ำซึ่งถือว่าเป็นฟังชั่นที่อับชื้นมาอยู่ในจุดที่สัมผัสแดดได้ทั้งวัน เพื่อให้แสงแดดกำจัดเชื้อโรคและความชื้น อีกทั้งยังช่วยกันความร้อนจากแสงแดดจากทิศตะวันตก พร้อมเลือกใช้โทนสีเรียบง่ายและเบสิค อย่างผนังสีขาวมันและพื้นเทาเข้มด้านมาตกแต่งห้องน้ำ เนื่องจากเหมาะกับผู้ใช้งานหลากหลายวัย ดังนั้นการเลือกโทนสีที่เป็นกลางจึงคือคำตอบที่ดีที่สุด และยังสัมพันธ์กับการจัดวางฟังก์ชั่น โดยออกแบบให้ส่วนเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าเป็นจุดแรกที่ผู้ใช้งานเข้ามาถึงและแยกซ้าย-ขวาออกเป็นส่วนเปียกและแห้งอย่างชัดเจนในพื้นที่เดียวกัน

ขนาดพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวบ้านและชาน มีขนาดประมาณ 185 ตร.ม. (ไม่รวมส่วนจอดรถ) งบประมาณก่อสร้าง 3.1 ล้านบาท (งานโครงสร้าง ระบบอาคาร สถาปัตยกรรม รวมตกแต่งภายในและสวน) ออกแบบโดย S Pace Studio

องค์ประกอบภายในบ้าน ประกอบด้วยทั้งหมด11อย่าง คือ ส่วนจอดรถ 3 คัน,ชานบ้าน ,พื้นที่นั่งเล่นรวม ,พื้นที่รับประทานอาหาร, ครัว, ห้องน้ำส่วนกลาง, ห้องทำงาน, ห้องนอนลูก ,ห้องนอนคุณยาย,  ห้องนอน master bedroom พร้อมห้องแต่งตัวและห้องน้ำ

 

 

Leave A Comment