ASSOCIATION OF SIAMESE ARCHITECTS (LANNA) OFFICE / SOMDOON ARCHITECTS X CREATIVE CREWS
เรื่องเล่าเก่าในภาพใหม่ ของสถาปัตยกรรมแห่งล้านนา
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร
Architect: Somdoon Architects in collaborate with Creative Crews
Landscape Consultant: Shma
ในช่วงปลายปี 2559 นี้ ‘เชียงใหม่’ ไม่ได้มีแต่ ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่’ หรือ ‘Chiangmai Design week’ เท่านั้นที่เป็นกิจกรรมที่ถูกจับตามอง เพราะในระหว่างช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ ยังได้จัดงานประจำปี ‘สถาปนิกล้านนา’ ขึ้นอีกครั้งต่อเนื่องจากทุกปีติดกับเทศกาลงานออกแบบครั้งใหญ่ที่ถูกจัดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้า สำคัญที่ว่างานสถาปนิกทุกครั้งนั้นก็ได้เติมเต็มเรื่องงานออกแบบในแง่ของวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะเรื่องราวของงานออกแบบและสถาปนิกในพื้นที่เอง
อาจคล้ายเป็นสัญญาณอันดีของทุกกลุ่มสถาปนิกในภาคเหนือ เพราะนอกจากจะมีกิจกรรมรวมผู้คนที่สนใจวิชาชีพด้านงานออกแบบที่จัดกันเป็นประจำทุกปีแล้ว สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ยังเพิ่งจะได้เปิดใช้อาคารทำการหลังใหม่หลังผ่านที่การประกวดแบบมาตั้งแต่ปี 2557 หากใครได้เคยผ่านตา ‘ที่ทำการสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ (ล้านนา)’ หลังใหม่นี้ ก็เป็นอีกครั้งที่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนในวงการออกแบบได้ จนทำให้เชียงใหม่เป็นสถานที่ที่ยากที่จะละสายตาไปได้ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา
คุณเป้ง – พันธุ์พงษ์ วิวัฒน์กุล หัวเรือใหญ่แห่งสำนักงานออกแบบ Somdoon Architects เจ้าของรางวัลชนะเลิศการประกวดและเจ้าของแบบที่ทำการใหม่ของสมาคมฯ เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดที่หยิบยกเอาความเป็นพื้นถิ่นของท้องที่มาเป็นประเด็นสำคัญในการนำเสนอ คล้ายต้องการคืนถ้อยความที่หายไปจากสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยหลังในแถบจังหวัดทางภาคเหนือ ให้กับอาคารหลังใหม่ที่จะเป็นสัญลักษณ์ของอาคารในถิ่นแถบแห่งนี้ไปโดยปริยาย นอกจาก ‘ศาลา’ หลังเด่นในงานออกแบบที่หยิบเอาภาพของวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมของผู้คนในสมัยก่อนมาปรากฏย้ำเตือนให้เห็นแล้ว ‘ทุ่งนา’ ก็ยังถูกนำเสนอประกอบกัน สื่อความถึงความหมายเดิมของคำว่า ‘ล้านนา’ ที่มาจากคำว่า ‘ดินแดนที่มีนานับล้าน’
“ในเชิงสัญลักษณ์ เราตีความภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแถบนี้ว่ามันคือ ‘ศาลา’ กับ ‘นาข้าว’ ซึ่งมันมาจาก ‘ล้านนา’ ที่มีความหมายจาก ‘นานับล้าน’ ในสมัยก่อน ซึ่งมันก็คือภาพของความเป็นล้านนา หรือของสถานที่นี้นั่นเอง”
พันธุ์พงษ์ วิวัฒน์กุล
ความต้องการในเบื้องต้นของกรรมาธิการสมาคมฯ คือต้องการพื้นที่จัดประชุม, พื้นที่สำนักงาน, ห้องสมุด และร้านกาแฟ สถาปนิกออกแบบจากความต้องการเบื้องต้นรวมกับแนวความคิดเรื่องศาลาและนาข้าวได้เป็นอาคาร 2 ชั้น ในพื้นที่ใช้งาน 800 ตารางเมตร ในแบบแรกของการประกวดนั้น ในระดับพื้นดินจะปรากฏเพียงศาลาหลังเด่นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางนาข้าวราบกว้าง โดยมีส่วนใช้งานหลักอื่นๆ ซ่อนอยู่ด้านล่างในชั้นใต้ดิน เพื่อสะท้อนความเป็นท้องถิ่นที่ยังคงแข็งแรงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่มาพร้อมกับความต้องการใช้งานอาคารแบบสมัยใหม่ จนเมื่อแบบถูกพัฒนาเพื่อนำไปก่อสร้างจริง ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณของการก่อสร้าง ศาลาและนาข้าวจึงถูกยกสูงเป็นนาขั้นบันไดขึ้นไปสู่ชั้น 2 โดยมีส่วนใช้งานหลักอันได้แก่ห้องประชุม, ห้องทำงาน, ห้องสมุด และส่วนใช้งานหลักอื่นๆ ซ่อนอยู่ในชั้นล่าง โดยมีสิ่งที่ยังคงเดิมคือคอร์ทกลางขนาดใหญ่ หรือ ‘ลาน’ เป็นส่วนที่อาคารจะใช้หายใจ และทำให้ส่วนใช้งานทั้งสองชั้นไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไปด้วยในขณะเดียวกัน
“ตรงกลางมันก็จะมีคอร์ท เชื่อมระหว่างผืนนากับฟังก์ชันข้างล่าง คอร์ทนี้มันสามารถนำแสงธรรมชาติจากข้างบนลงไปยังห้องข้างล่างได้ และมันก็สามารถใช้จัดกิจกรรมหรือจัดงานเลี้ยงอะไรต่างๆ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่ตอบรับเรื่องความยืดหยุ่น เพราะที่นี่ก็จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ กันต่อเนื่อง ลานตรงนี้มันจะสามารถตอบโจทย์ของเขา”
ตั้งแต่แรก สถาปนิกแผ่การใช้งานออกไปในแนวราบให้มากที่สุดตามแนวคิดหลัก ทำให้อาคารมีพื้นที่กว้างขวางเป็นทุนเดิม เมื่อผนวกกับการเปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นการใช้งานกลางแจ้ง ก็ยิ่งทำให้อาคารนอกจากจะไม่ปิดทึบ ยังได้รับแสงและอากาศถ่ายเทไหลเวียนอยู่ในอาคารตลอดเวลา ในขณะเดียวกันบริบทโดยรอบที่เป็นที่โล่งกว้างก็เอื้อให้อาคารที่พื้นที่ใช้งานส่วนใหญ่ถูกซ่อนไว้ไม่รู้สึกอึดอัด และในขณะเดียวกัน พื้นที่บนชั้นสองรวมถึงบริเวณศาลาท่ามกลางนาข้าว ก็ได้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนชั้นดีสำหรับพนักงานและผู้คนทั่วไป ที่สามารถมานั่งเล่น ซื้อกาแฟจากร้านขายในอาคาร พักผ่อนในท่ามกลางบรรยากาศสีเขียวที่ผ่อนคลายนี้ได้ด้วย
ไม่น่าแปลกใจแล้วว่า ‘เชียงใหม่’ ได้กลายเป็นดินแดนหนึ่งของการนำเสนอด้านงานออกแบบที่ใครๆ ต่างก็จับตามอง น่าสนใจว่าความเป็นเมืองที่คืบคลานมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่สู่ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างดินแดน ‘ล้านนา’ นี้ จะพาสิ่งใดมาสู่ดินแดนแห่งนี้ให้ต้องประหลาดใจอีกในอนาคต หรือจะพาสิ่งใดจากไป โดยที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัวหรือไม่