ARTIST IN RESIDENCE

 

“ARTIST IN RESIDENCE”

Text : Doowoper
Photo : ภคนันท์ เถาทอง 

นัสพิชญา โอสถเจริญผล ศิลปินสาวมากความสามารถ ผู้อยู่เบื้องหลังชิ้นงานศิลปะสุดเก๋ ซึ่งนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาผสมผสานผ่านการนำเสนอในเชิงสนุก ทว่าสอดแทรกเส้นสายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยในรูปแบบร่วมสมัยได้อย่างสวยงาม  

สำหรับศิลปินสาวผู้นี้เรียกว่ามีพลังสร้างสรรค์ที่เหลือล้นทีเดียว เพราะหลังจากเรียนจบปริญญาตรี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบัน Raffles International College เธอก็ได้เข้าร่วมงานกับกระทรวงพลังงาน และเป็นนักออกแบบที่ได้จดสิทธิบัตร ‘เตาวายุบุตร’ หรือเตาชีวมวลที่เป็นพลังงานทดแทนทางเลือกใหม่ 

ก่อนสยายปีกไปหาประสบการณ์ต่อ ที่มีทั้งโดดไปออกแบบให้กับแบรนด์ Propaganda และดอดไปรังสรรค์ลายผ้าให้กับแบรนด์  Disaya แถมมิวายเจียดเวลาปลุกปั้นแบรนด์กระเป๋า Daydream ของตัวเอง 

และล่าสุด… ทางโรงแรมเพนินซูล่าได้เลือกให้เธอเข้าร่วมโครงการ “Artist in Residence” (ครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เฟ้นหาศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์และจัดแสดงผลงาน เพื่อต้องการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมไทย  

ซึ่งผลงานครั้งนี้ เธอได้นำภาพวาดป่าหิมพานต์ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี AR มาสอดแทรกไว้ในเมนูและชุดน้ำชายามบ่าย  (Afternoon Tea Set) เพื่อให้ลูกค้าของทางโรงแรมได้เข้าจิบชาพลางชื่นชมงานศิลปะผ่านทาง Mobile Application ที่ชื่อว่า Recall 

รวมถึงยังมีการนำลวดลายวัดวาอารามและดอกไม้ของไทย (ผสานด้วยเทคโนโลยี AR เช่นกัน) มารังสรรค์ไว้บนของใช้ของตกแต่งบ้าน ที่จัดไว้อยู่ในห้องสุดพิเศษ สำหรับเปิดให้แขกจากทางโรงแรมได้เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วย 

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้นัสได้ค้นพบว่างานศิลปะคือตัวตนของตัวเองนั้นมาจากตอนที่สุนัขของนัสเสียชีวิตค่ะ หลังจากบวชให้เขา เราก็นำประสบการณ์การวาดลวดลายผ้าที่เคยทำให้ Disaya มาต่อยอดวาดเป็นคอลเลคชั่นให้กับน้องสุนัข แล้วนำรายได้ไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มทำโปรเจคท์การกุศลต่างๆ ก่อนได้มีโอกาสเข้าร่วมกับ Art for Cancer by Ireal ซึ่งเป็นงานแรกที่นัสนำเทคโนโลยี AR มาใช้กับงานศิลปะ เพื่อช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง โดยวาดเป็นภาพดอกไม้ เมื่อนำมือถือไปส่องก็จะปรากฏรูปผีเสื้อบินออกมา นัสทำขึ้นแทนการใช้ดอกไม้สดมาเยี่ยมผู้ป่วย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการทำให้ติดเชื้อได้นั่นเองค่ะ”

 เธอยังเล่าต่อถึงการทำงานศิลปะเพื่อการกุศลเพิ่มเติมว่า ในปีหนึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำงานการกุศลให้ได้สัก 1-3 งาน เพราะคิดว่าการทำงานศิลปะนอกจากเลี้ยงชีพตัวเองแล้ว ควรสร้างคุณค่าให้คนอื่นๆ ด้วย นั่นล่ะคือความสุขที่แท้จริงในการสร้างงานศิลปะ

นัส-พิชญา เล่าถึงเบื้องหลังชีวิตที่ทำให้เธอนั้นได้หันมาสร้างผลงานศิลปะอย่างจริงจัง โดยก่อนที่จะได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้ เธอถูกทาบทามหลังจากที่ได้ไปจัดแสดงงานศิลปะ Art Ground ที่ The Jam Factory  นั่นเอง

ซึ่งเธอบอกเราว่ารู้สึกแปลกใจจริงๆ เพราะโครงการ Art in Residence ปีที่แล้ว ทางโรงแรมได้จัดแสดงผลงานของศิลปินชื่อดังอย่าง กวิตา วัฒนะชยังกูร ทีเดียว ส่วนปีนี้เป็นทีของเธอ จึงทำให้รู้สึกว่าได้รับเกียรติจากทางผู้ใหญ่มากๆ 

แม้เธอจะแลดูเป็นคนถ่อมตน แต่เราก็รู้สึกถึงความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นที่เธอบอกเล่าให้เราฟัง เพราะมันแฝงเร้นไปด้วยความรัก มุ่งมั่น  จริงใจ 

แถมสร้างความจรรโลงใจให้กับผู้เสพผลงานจริงๆ ซึ่งเราคิดว่านี่ล่ะคือความมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ทุกโอกาสที่แล่นเข้ามาในชีวิต เกิดขึ้นเพราะฝีมือของเธอเอง ใช่เพราะความบังเอิญอย่างแน่นอน  

 

การทำงานศิลปะนอกจากเลี้ยงชีพตัวเองแล้ว ควรสร้างคุณค่าให้คนอื่นๆ ด้วย นั่นล่ะคือความสุขที่แท้จริง 

Leave A Comment