APERTURE HOUSE / STU/D/O ARCHITECTS
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: Courtesy of Stu/D/O Architects
นับเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับสถาปนิกที่มักจะพบปัญหาเรื่องขนาดที่ดินซึ่งค่อนข้างจำกัดในเขตเมืองกรุงเทพฯ ที่เป็นชุมชนหนาแน่นไปด้วยอาคารบ้านเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นเองคงจะเป็นโจทย์ความท้าทายอย่างหนึ่งที่สถาปนิกมักไม่ขัดเขินที่จะพบ และพร้อมก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นด้วยความสามารถทางวิชาชีพที่มี ในการสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยให้ออกมาสวยและน่าอยู่แบบวิน-วินสำหรับทั้งผู้ออกแบบและเจ้าของบ้าน สำหรับบ้านหลังนี้ก็เช่นกัน บ้านของช่างภาพและภูมิสถาปนิก คุณไชยชุมพล วัฑฒกานนท์ ที่ได้ คุณอภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และ คุณชนาสิต ชลศึกษ์ เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยวัยรุ่นจนตอนนี้กลายมาเป็นสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิกในนาม Stu/D/O Architects มาช่วยออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของขนาดที่ดินและสภาพแวดล้อมที่เป็นชุมชนหนาแน่นในซอยโดยรอบ
บ้านกล่องสี่เหลี่ยมสูง 4 ชั้น บนที่ดินขนาด 50 ตารางวา ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางชุมชนอย่างสังเกตได้จากระยะไกล ภายในมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 350 ตารางเมตร จุดสังเกตหลักที่เราสะดุดตาได้ตั้งแต่แรกเห็น คืออาคารสีขาวโพลนมีการออกแบบที่ว่างซึ่งมีลักษณะเหมือนอาคารถูกคว้านสเปซเข้าไปด้านใน ทั้งนี้เพื่อดึงธรรมชาติภายนอกเข้าไปสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ใช้สอยภายใน โดยเฉพาะบริเวณห้องนั่งเล่นที่มีลักษณะเป็นโถงเพดานสูงต่อเนื่องกับส่วนรับประทานอาหาร นอกจากนี้แล้วสเปซที่ถูกคว้านเข้าไปยังทำหน้าที่เป็นมุมมองหลักให้กับห้องต่างๆ ภายในบ้าน ในขณะที่ผนังของอาคารที่เป็นส่วนทึบโดยรอบยังช่วยสร้างความต่อเนื่อง และความสมบูรณ์ให้กับรูปทรงอาคารทั้งหมดที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมได้ดี โดยผนังนี้ยังออกแบบให้สามารถบังแดดในระหว่างวันให้กับห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นพื้นที่หลักของบ้านอีกด้วย
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีความสอดคล้องกับตัวตนของเจ้าของบ้านที่ต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนสตูดิโอถ่ายภาพ ที่มีบรรยากาศแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเล่นไปกับลักษณะของแสงและเงาที่ผ่านเข้ามาจากช่องเปิดที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา
ช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่เป็นส่วนใช้งานหลักของอาคาร ในขณะที่ช่องเปิดขนาดเล็กเน้นเปิดไปยังส่วนที่เป็นทางเดินหลักของอาคาร เพื่อให้แสงสามารถเข้ามาสร้างจุดเด่นที่ให้กับพื้นที่ภายใน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและแนวคิดหลักของการออกแบบบ้านหลังนี้
ในส่วนการออกแบบเปลือกอาคาร หรือ Façade ของบ้านหลังนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจของเจ้าของบ้าน และบริบทโดยรอบซึ่งนำไปสู่แนวความคิดในการออกแบบกรอบของมุมมองด้วยช่องเปิดที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เพื่อสร้างให้เกิดทัศนียภาพที่ดีให้กับห้องต่างๆ ภายในบ้าน ในขณะที่ช่องแสงขนาดเล็กจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 0.60×0.60 เท่ากันทั้งหมด บริเวณภายนอก แต่ภายในจะมีการเอียงเข้า ทำให้ช่องเปิดที่เห็นจากภายในมีขนาดเล็กลงเป็น 0.40×0.40 และ 0.20×0.20 แตกต่างกันไปตามจังหวะที่สวยงาม ซึ่งนอกจากจะทำให้แสงและเงาที่เกิดขึ้นมีความน่าสนใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาแล้ว แสงยังสร้างมิติที่สวยงามให้กับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมภายนอกอีกด้วย
กระทั่งสิ่งหนึ่งที่เรามักเห็นกันอยู่เสมอในงานออกแบบของ Stu/D/O Architects คือต้นไม้และอาคารที่มักจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอยู่ตลอด ภาย ในบ้านหลังนี้มี ต้นศรีตัง ที่ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่พักอาศัยคอยทำหน้าที่ให้ความร่มรื่น และลดความแข็งกระด้างของสถาปัตยกรรมคอนกรีตลงมาอยู่ในจุดที่สมดุลโดยไม่ไปรบกวนโครงสร้างโดยรวม ซึ่งด้วยวิธีคิดที่ใส่ใจทุกรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติที่พวกเขายึดมั่นมาตลอดในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในแบบ Stu/D/O Architects จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมบ้านช่องหลังนี้จึงได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 – รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น (Gold Medal Awards) ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ
ลักษณะอาคารที่ถูกคว้านสเปซเข้าไปด้านใน ดึงธรรมชาติภายนอกเข้าไปสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ใช้สอยภายใน ภายนอกโดดเด่นด้วย Façade อาคารที่เกิดมิติของแสงและเงาขึ้นในบริเวณช่องเปิดขนาดใหญ่ และช่องแสงขนาดขนาดเล็กแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งถูกคิดมาอย่างละเอียดให้มีขนาด 0.60×0.60 เท่ากันทั้งหมดจากภายนอก แล้วค่อยๆ ลาดเอียงเข้าไปสู่ภายในตามจังหวะจนเล็กลงเหลือ 0.40×0.40 และ 0.20×0.20
Mass ของอาคารในมุมสูงมีช่องเปิดสู่คอร์ดเพื่อการรับแสงธรรมชาติและเปิดมุมมองจากภายในสู่ภายนอกได้โดยอิสระ
ห้องนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร พื้นที่การใช้งานหลักของบ้าน
ช่องเปิดขนาดเล็กเน้นเปิดไปยังส่วนที่เป็นทางเดินหลักของอาคาร
Stu/D/O Architects
สถาปัตยกรรมคู่กับต้นไม้เสมอ
“ถือว่าเป็นแนวคิดหลักได้เลยครับ เพราะเราเชื่อว่าคนชอบอยู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่บ้านที่ต้องใกล้ชิดกับธรรมชาติ ฟังก์ชันอื่นๆ ก็มีประโยชน์ที่คนจะ Access เข้าไปหาธรรมชาติได้ง่ายๆ”
ชนาสิต ชลศึกษ์
สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Stu/D/O Architects
“เรื่องของต้นไม้มันเกิดจากสองไอเดียหลัก หนึ่งคือคุณดิว (ชนาสิต ชลศึกษ์) ได้ไปศึกษาต่อด้าน Sustainable Design มาโดยเฉพาะ จึงสนใจการออกแบบการประหยัดพลังงานในแบบ Passive คือไม่ใช่เน้นการติดเครื่องปรับอากาศหรือใช้กระจกพิเศษเพื่อกันความร้อน แต่เป็นเทคนิคการวางอาคารให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันความร้อนได้ดีอย่างหนึ่ง ส่วนของผมจะเน้นที่การเล่นพื้นที่อาคารกับพื้นที่ว่างและ Court อยู่เสมอ สุดท้ายพอมาผสมกัน อาคารของ Stu/D/O จึงมักจะเป็น Mass ของต้นไม้มาอยู่ร่วมกับอาคารในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่เสมอ”
อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ
สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Stu/D/O Architects