ANONYMOUS CHAIR EXHIBITION


นิทรรศการเก้าอี้นิรนาม จิตวิญญาณเก่าในร่างใหม่ 

TEXT นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTO เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

นิทรรศการที่ Daybeds มุ่งความสนใจเป็นพิเศษในงาน Chiang Mai Design Week 2016 จัดแสดงอยู่ที่ท่าแพอีสต์ (Thapae East – Venue for the Creative Arts) ภายใต้โครงเหล็กสีแดงซึ่งถูกก่อสร้างค้างเติ่งอยู่กลางเวิ้งเล็กๆ ที่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางศิลปะและการดนตรีของคนเชียงใหม่ นั่นคือ ‘Anonymous Chair Exhibition’ นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่อง ‘เก้าอี้’ ที่มีสารพันชื่อเรียกไม่ซ้ำกัน บ้างเรียกเก้าอี้แขนโค้ง บ้างเรียกเก้าอี้ล้านนา บ้างเรียกเก้าอี้คุณตา บ้างเรียกเก้าอี้รถถัง เป็นต้นว่า กระนั้นจะเรียกอะไรก็ตามคงไม่สำคัญเท่ากับจุดประสงค์ของการจัดแสดงในครั้งนี้


จุดเริ่มต้นจากพลังงานก้อนเล็กๆ ของกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ 4-5 ชีวิตในนาม ‘อิสรภาพ’ (Issaraphap) ซึ่งมุ่งประเด็นความสนใจไปยังเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในเก้าอี้ไม้ลักษณะแขนโค้งที่พวกเขาคุ้นตา และมักพบเจอระหว่างการเดินทางไปตามบ้านเรือนหรือร้านอาหารในต่างจังหวัด จนเรียกกันติดปากในหมู่พวกเขาเองว่า ‘เก้าอี้ล้านนา’ ภายหลังจากผ่านกระบวนการค้นคว้าหาข้อมูล ตระเวนถ่ายภาพ ตลอดจนพูดคุยกับทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของและเป็นผู้ผลิตเก้าอี้ลักษณะดังกล่าวมากหน้าหลายตาจนตกผลึกเป็นก้อนความคิด กลุ่มนักออกแบบอิสรภาพได้ต่อยอดแนวคิดนี้ไปสู่การถ่ายทอดเรื่องราวของเก้าอี้ล้านนาในรูปแบบใหม่ พร้อมตั้งชื่อเล่นให้มันใหม่ว่า ‘เก้าอี้นิรนาม’ (Anonymous Chair) โดยร่วมมือกับ Dibdee Studio ชักชวนรุ่นพี่และเพื่อนร่วมวงการทั้งสถาปนิกและนักออกแบบอีกทั้งหมด 11 กลุ่มทั้งจากกรุงเทพฯและเชียงใหม่ มาร่วมปัดฝุ่นรีดีไซน์เก้าอี้ล้านนาตามแบบฉบับของแต่ละกลุ่ม เพื่อบอกเล่าแนวคิด แรงบันดาลใจ และยุทธวิธีในการออกแบบผ่านวัสดุหลากหลาย ทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับงานออกแบบที่สามารถประยุกต์ให้กับยุคสมัยได้อย่างไม่เคอะเขิน

เก้าอี้ต้นแบบจากตระกูลบุนนาค, ตระกูลอาสนจินดา และคุณสุวรรณ คงขุนเทียน จาก โยธกา ถูกนำมาจัดแสดงภายในงานนี้ด้วย

เก้าอี้ล้านนาที่ถูกก๊อปปี้มากที่สุดทั้งแบบแขนโค้งและแขนตรง และเก้าอี้ล้อเกวียนที่ชาวต่างจังหวัดชอบสะสม อีกทั้งล้อเกวียนยังเป็นความเชื่อของชาวเหนือที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า

เก้าอี้ในหมวดแยกชิ้นส่วนวัสดุ

Adisak Wattanatanta, Atelier2+, Doonyapol Srichan, ease studio, Full Scale studio, INLY+กอปร, Issaraphap, o-d-a, PANTANG Studio, SATAWAT, Teerapoj Teeropas และ ยางนาสตูดิโอ คือ 12 แขกรับเชิญในการร่วมถ่ายทอดจิตวิญญาณเก่าในร่างใหม่ให้เก้าอี้ล้านนา 12 ตัว ใน ‘Anonymous Chair Exhibition’

‘Jarun’ คือเก้าอี้ที่ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นตัวแรกสำหรับโปรเจ็กต์นี้โดย Issaraphap ที่ตั้งใจคงเส้นสายและรูปลักษณ์เดิมของเก้าอี้ไว้ เพียงเปลี่ยนจากเก้าอี้ที่ผลิตจากไม้สักมาใช้วัสดุอย่างเหล็กและการหุ้มเบาะ ผสานเทคนิคการผลิตในรูปแบบและสีสันที่ต่างออกไปจากเดิม ในขณะที่อีกหนึ่งสตูดิโอจากกรุงเทพฯ ก๊อง-วนัส โชคทวีศักดิ์ และ พลอย-ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก จาก ease studio สองผู้ร่วมก่อตั้ง Issaraphap ที่ในการนิทรรศการครั้งนี้พวกเขานำกิริยาสำหรับการนั่งพักผ่อนอย่าง ‘พิง’ มาตั้งชื่อเก้าอี้แขนโค้งสำหรับตั้งกลางแจ้ง โดยคงไว้ซึ่งองศาของพนักพิงเพียงแต่ปรับเส้นสายส่วนแขนโค้งในจังหวะที่เหมาะสมให้สัมพันธ์กับพนัก และปรับเปลี่ยนวัสดุให้เหมาะสมกับการนั่งกลางแจ้งมากขึ้น อีกทั้งเทคนิคการสานที่ทั้งคู่นำมาใช้ยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับเก้าอี้ล้านนาไปในตัว เช่นเดียวกับ ‘ดากานดา’ โดย SATAWAT ที่นำเสนอเก้าอี้ล้านนาแบบโยกได้ผ่านงานสานด้วยหวาย ที่ใครได้ลองนั่งแล้วคงสนุกไปอีกแบบ

ด้านสตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ Pantang Studio หนึ่งในทีมสร้างสรรค์ที่มีสตูดิโอตั้งอยู่ในโครงการท่าแพอีสต์แห่งนี้ นำวัสดุอย่างไม้สักและสแตนเลสมาร้อยเรียงผ่าน ‘ข้อต่อ’ ในชื่อ ‘Connector’ โดยมองข้ามเรื่องรูปทรงที่พวกเขามองว่าดีและได้รับความนิยมอยู่แล้ว และหันมาตั้งคำถามกับการกระจายตัวของเก้าอี้แขนโค้งที่สามารถแยกชิ้นส่วนเพื่อการขนย้ายที่สะดวก ทั้งยังสามารถประกอบติดตั้งได้ด้วยตัวเองแทน ส่วนอีกหนึ่งเก้าอี้ล้านนาโดย Adisak Wattanatanta ที่จัดการเปลี่ยนวัสดุไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในชื่อ ‘ปึกแผ่น’ ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เหล็กแผ่นฉลุและพับขึ้นรูปให้เหลือเศษน้อยที่สุด ก็สร้างความน่าสนใจให้กับรูปลักษณ์ของเก้าอี้ที่เปลี่ยนไปได้ไม่น้อยทีเดียว ทว่า ‘ก้อม’ เก้าอี้ที่เตี้ย (ก้อม) ที่สุดในโปรเจ็กต์นี้โดย ยางนาสตูดิโอ นักออกแบบท้องถิ่นเล่าเรื่องต่างออกไป โดยย้อนกลับไปสู่ยุคล้านนาในอดีตที่มีการใช้งานเครื่องเรือนในท่านั่งกับพื้น ซึ่งสะท้อนไปถึงนิสัยและความเคยชินของคนไทยในอดีต

‘Jarun’ โดย Issaraphap ที่คงเส้นสายและรูปลักษณ์เดิมของเก้าอี้ไว้ แต่เปลี่ยนวัสดุมาใช้เหล็กและการหุ้มเบาะเพื่อสร้างสีสันต่างออกไปจากเดิม (ขนาด W750 D800 H780)

‘ปึกแผ่น’ โดย Adisak Wattanatanta ผลิตโดยใช้เหล็กแผ่นฉลุและพับขึ้นรูปให้เหลือเศษน้อยที่สุด

‘same same’ โดย o-d-a (object design alliance) ที่ความรู้สึกและสัมผัสยังคงความคล้ายเก้าอี้ล้านนาตัวเดิม เพียงปรับเรื่องการผลิตในส่วนเท้าแขนของเก้าอี้ ด้วยการใช้ไม้อัดดัดโค้งแทนการขึ้นรูป เพื่อลดความสิ้นเปลืองอันเป็นจุดมุ่งหมายของการออกแบบใหม่ในครั้งนี้ (ขนาด W590 D635 H720)

‘Tanx Chair’ โดยทีมสถาปนิก Full scale studio ตัดสินใจปรับมุมมองเก้าอี้ล้านนา หรือเก้าอี้รถถังที่เขาเรียกใหม่ตั้งแต่วิธีคิด ทดลองใช้วัสดุ ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตที่ง่ายขึ้น และใช้ต้นทุนต่ำลง แต่ยังคงสามารถใช้งานได้หลากหลาย (ขนาด W570 D470 H700)

‘Share& Chair’ โดย INLY + กอปร นำเสนอเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ผ่านการแชร์ความรู้และแนวคิดผ่านวิธีการรีดีไซน์เก้าอี้ล้านนาจากวัสดุอย่างไม้อัด ใช้วิธีการตัดไม้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งบ่งบอกถึงเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญสำหรับงานดีไซน์มากขึ้นในอนาคต

‘พิง’ โดย ease studio คงไว้ซึ่งองศาของพนักพิง เพียงแต่ปรับเส้นสายส่วนแขนโค้งในจังหวะที่เหมาะสมให้สัมพันธ์กับพนัก และปรับเปลี่ยนวัสดุให้เหมาะสมกับการนั่งกลางแจ้งมากขึ้น (ขนาด Size: W555 D565 H730 SH355)

‘แคร่’ โดย Teerapoj Teeropas เก้าอี้ที่ผลิตจากไม้ไผ่ทั้งตัวจากการตีโจทย์ในการผลิตเก้าอี้ โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้แต่ละพื้นที่และออกแบบให้เสียเนื้อไม้น้อยที่สุด โครงสร้างทั้งหมดจึงเป็นเส้นตรงเพื่อทำให้ง่ายต่อการผลิต และส่วนท้าวแขนทั้งสองข้างผลิตจากไม้ไผ่ปล้องเดียวกัน โดยสร้างเส้นสายโค้งมนจากเทคนิคการเฉือนเนื้อไม้บางส่วนออก (ขนาด W685 D720 H700)

‘ดากานดา’ โดย SATAWAT ที่อุทิศเก้าอี้ตัวนี้ให้กับหญิงผู้ซึ่งเคยเป็นที่รัก สะท้อนการสร้างเก้าอี้ขึ้นมาสักตัวหนึ่งจากความรู้สึก ‘รักและคิดถึง’ (ขนาด W730 D810 H860)

‘ELE’ โดย Doonyapol Srichan ที่เปลี่ยนคาแรคเตอร์บางส่วนของเก้าอี้ช้างที่ดูย้อนยุค ด้วยการรื้อวัสดุและปรับสัดส่วนให้ดูสง่าและนั่งสบายมากขึ้น แต่ยังคงเน้นการทำให้เรียบง่าย เพราะมีเป้าหมายคือทำให้ผลิตง่าย เป็นแมสได้ ลดการใช้ไม้ และมีรูปแบบที่กลับมาอยู่ในยุคปัจจุบันมากขึ้น (ขนาด W567 D523 H795 SH435)

‘Connector’ โดย ‘Pantang Studio’ มองข้ามเรื่องรูปทรงและหันมาตั้งคำถามกับการกระจายตัวของเก้าอี้แขนโค้งที่สามารถแยกชิ้นส่วนเพื่อการขนย้ายที่สะดวก ทั้งยังสามารถประกอบติดตั้งได้ด้วยตัวเองแทน (ขนาด W600 D500 H600)

‘Steel Series#1’ โดย Atelier2+ มุ่งความสนใจไปที่ประเด็นเรื่องการทำซ้ำ (copy) ซึ่งมีรายละเอียดที่ต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตและช่างฝีมือที่ทำ และค้นหาเรื่อง visual identity ของเก้าอี้ในวัสดุและเทคนิคการผลิตที่แตกต่างออกไป โดยนำวัสดุเหล็กที่พวกเขาสนใจและอยากทดลองสำหรับโปรเจ็กต์นี้ มารีดีไซน์เก้าอี้ล้านนาให้สามารถอยู่ร่วมกับดีไซน์ร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืนและถ่อมตัว

‘ก้อม’ เก้าอี้ที่เตี้ยที่สุดในโปรเจ็กต์นี้โดย ยางนาสตูดิโอ ย้อนกลับไปสู่ยุคล้านนาในอดีตที่มีการใช้งานเครื่องเรือนในท่านั่งกับพื้น ซึ่งสะท้อนไปถึงนิสัยและความเคยชินของคนไทยในอดีต (ขนาด ก้อม 1 W250 D420 H150 / ก้อม 2 W250 D420 H150 / โต๊ะ W250 D60 H320)

“ในนิทรรศการไม่ได้บอกว่าของเก่าคือล้าหลัง ของใหม่คือก้าวหน้า แต่เราต้องการให้ทุกคนตีคำถามปลายเปิดว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้ถูกหรือผิด”

รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ

“ในนิทรรศการไม่ได้บอกว่าของเก่าคือล้าหลัง ของใหม่คือก้าวหน้า แต่เราต้องการให้ทุกคนตีคำถามปลายเปิดว่า สิ่งที่เราทำไม่ได้ถูกหรือผิดนะ” อบ-รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ หนึ่งในสมาชิกของอิสรภาพ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ SATAWAT กล่าว “ทุกคนตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อให้เป็นเก้าอี้ที่ผลิตได้จริง เพราะว่าเก้าอี้สามารถเข้าถึงคนได้มากที่สุด ถ้าในมุมมองของคนทั่วไปมองว่ามันคือเก้าอี้ตัวใหม่ที่สวยขึ้น แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว หรือถ้าคนทั่วไปมาก๊อปปี้โดยรู้วิธีการคิด แล้วทำให้มันไม่เปลืองทรัพยากรได้ แค่นี้เราทุกคนก็แฮปปี้แล้วครับ”

การค้นคว้าหาอดีตของกลุ่มนักออกแบบอิสรภาพอาจไม่พบคำตอบที่แน่ชัดว่าใครกันนะที่เป็นผู้ออกแบบเก้าอี้ล้านนาคนแรก แต่มันคงไม่สลักสำคัญอะไรแล้วกระมัง เพราะอย่างน้อยๆ ตอนนี้ พวกเขาและพี่น้องผองเพื่อนก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มการรีดีไซน์เก้าอี้ล้านนาให้กลับมามีความโดดเด่น ร่วมสมัย มีความสมวัยเสมือนเติมจิตวิญญาณที่แห้งเหือดไปให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Leave A Comment