AGRO OUTLET KKU / S PACE STUDIO

00

 อาคารจั่วหลังใหม่ ในบริบทที่เหลื่อมซ้อน  

 

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Sofography (เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู)
Architect, Interior Designer, Landscape Architect: S Pace Studio (ทวิชากร เหล่าไชยยงค์, ปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส)

ด้วยความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่าและคณาจารย์ในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ‘Agro Outlet KKU’ คือชื่อของอาคารขายสินค้าจากการเกษตรหลังใหม่ของพวกเขา แต่เดิมนั้นสินค้า อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ ผักปลอดสารพิษ ไข่ ไก่ หมู ที่เลี้ยงเอง จะถูกส่งขายไปยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ อยู่แล้ว แต่เพื่อต้องการแสดงตัวตนให้ชัดเจน และให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักถึงสินค้าคุณภาพจากฝีมือของพวกเขามากขึ้น คณะเกษตรฯ จึงต้องการที่ทางที่จะสามารถโชว์ผลงานรวมถึงพาตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับผู้คนในรูปแบบของสินค้าที่พร้อมนำเสนอ เหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือสถานที่ที่สินค้าเหล่านี้จะไปปรากฏ พร้อมกับภาษาที่พวกเขาจะสามารถสื่อสารได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาใคร

ความต้องการให้อาคารเข้าถึงได้ง่ายให้มากที่สุดเป็นคอนเซ็ปต์หลักที่ชัดเจนที่ถูกส่งต่อมายังสถาปนิกศิษย์เก่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ครอบคลุมภาพรวมทั้งหมดของโครงการตั้งแต่การเลือกที่ตั้ง ขนาด รูปฟอร์ม แลนด์สเคป จนถึงวัสดุ

อาคารเหล็กรูปทรงจั่วหลังใหม่จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ของ ‘Agro Park’ พื้นที่อุทยานเทคโนโลยีการเกษตรของคณะเกษตรศาสตร์ บนถนนเส้นหลักที่เชื่อมต่อจากถนนใหญ่สำหรับขับผ่านเข้า-ออกมหาวิทยาลัย อาคารหลังนี้เกิดขึ้นบนหนึ่งในพื้นที่ว่างโล่งในบริเวณนั้น คณะเกษตรฯ เปิดโอกาสให้สถาปนิก S Pace Studio ที่นำโดยสองสถาปนิกจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทวิชากร เหล่าไชยยงค์ และปัณณพัฒน์ เพ็ชรจรัส เป็นผู้เลือกที่ตั้งของอาคารหลังใหม่ด้วยตัวเอง และเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบทั้งสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน รวมทั้งแลนด์สเคปทั้งหมดของโครงการ

ความต้องการให้อาคารเข้าถึงได้ง่ายให้มากที่สุดเป็นคอนเซ็ปต์หลักที่ชัดเจนที่ถูกส่งต่อมายังสถาปนิกศิษย์เก่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ครอบคลุมภาพรวมทั้งหมดของโครงการตั้งแต่การเลือกที่ตั้ง ขนาด รูปฟอร์ม แลนด์สเคป จนถึงวัสดุ อีกส่วนหนึ่งในแนวความคิดของการออกแบบ สถาปนิกก็สร้างงานขึ้นด้วยคำนึงถึงบริบทที่แวดล้อมเป็นหลักด้วย ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของแดดและลม ถนนที่เข้าถึง หรือลักษณะของที่ตั้งเองที่ก็ยังแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่และบรรยากาศร่มรื่นภายในมหาวิทยาลัย

อาคารจั่วหลังหนึ่งในทั้งหมด 4 หลัง เบื้องหลังผนังทึบและระแนงสีดำนี้เป็นส่วนวางงานระบบปรับอากาศซึ่งสถาปนิกต้องการซ่อนไว้ไม่ให้รบกวนสายตา โดยตกแต่งบดบังให้กลมกลืนไปกับงานออกแบบโดยรวมและบรรยากาศภายนอก ด้วยวัสดุที่มิตรอย่างหลังคาไม้ซีดาร์ให้ความรู้สึกอบอุ่น ไม่แข็งกระด้าง ประนีประนอมงานออกแบบกับสภาพแวดล้อมได้อย่างลงตัวรับกับคู่สีที่แฝงอยู่ภายนอกคือสีดำ ที่ทั้งขับรูปทรงให้โดดเด่น แต่ก็ไม่แข่งกับธรรมชาติแต่อย่างใด

“พื้นที่ตั้งเป็นพื้นที่โล่งเลย มีต้นไม้อยู่รอบๆ บางส่วน ผมคิดว่าหากจะมีอาคารเกิดขึ้นตรงนี้นอกจากมันจะต้องเข้าถึงได้ง่าย แล้ว อาคารมันต้องใกล้ชิดกับธรรมชาติ คือมันต้องใกล้เคียงกับธรรมชาติรอบๆ ไม่แตกต่างออกมาอย่างสิ้นเชิง” คุณปาล์ม – ทวิชากร เล่าให้เราฟังถึงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบอาคารหลังใหม่ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย นอกจากอาคารจะถูกวางบนถนนเส้นหลักที่มีผู้สัญจรตลอดวันแล้ว สเกลของอาคารจึงเป็นสิ่งที่สถาปนิกคำนึงถึงในลำดับถัดมา เนื่องจากความเป็นพื้นที่โล่งมากๆ แต่เดิม สถาปนิกจึงไม่ต้องการให้อาคารที่เกิดขึ้นใหม่เป็นสิ่งแปลกแยกจากบริบทแบบเดิมหรือแม้แต่จากภาพจำเดิมของพื้นที่ อาคารหลังใหม่ของสถาปนิกจึงถูกซอยย่อยเป็น 4 ก้อนอาคาร และวางตัวซ้อนเหลื่อมกันในทิศทางที่สัมพันธ์กับการรับรู้อาคารที่คำนึงถึงการให้ทั้งสามารถมองเห็นสินค้าภายในได้โดดเด่นและแนบเนียนไปกับบรรยากาศอย่างไม่โดดเด่นใหญ่โตเกินจริงไปพร้อมๆ กัน “ผมเลือกรูปทรงอาคารเป็นรูปทรงจั่ว 4 จั่ว เพราะมองว่าหากมันเป็นรูปทรงใหญ่เดี่ยวๆ มันจะดูอึดอัดและเข้าถึงยาก เนื่องจากสเกลมันจะใหญ่มาก จัดวางให้เหลื่อมกันเพื่อเปิดมุมมอง เวลาที่คนเข้าไปในพื้นที่ มันจะค่อยๆ เปิดมุมมองให้ทิวทัศน์ที่ดูกว้าง เพราะฉะนั้นอาคารมันจะไม่ดูเด่นชัดมาก เมื่อเวลาที่คนค่อยๆ เข้าถึง” ดังเช่นที่สถาปนิกได้กล่าวไว้

รูปทรงจั่วเป็นรูปทรงแรกที่สถาปนิกนึกถึง เพราะนอกจากจะเข้าใจง่าย สื่อสารได้โดยตรง ยังสัมพันธ์กับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นที่ฝนตกชุก ความสูงของอาคารโดยรวมที่สูงราว 8.5 เมตร จากยอดมุมสูงสุดจรดพื้นดิน อาคารถูกคลุมด้วยหลังคาจั่วในองศาราว 70 องศา พุ่งโดยตรงลงสู่พื้นครอบคลุมพื้นที่อาคารทั้งสิ้น 3 จั่วทึบ กับอีกหนึ่งจั่วโปร่งโชว์โครงสร้าง ด้วยวิธีนี้ อาคารที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างเหล็กทรงหลังคาจั่วแทบทั้งหมดทำให้ช่วยประหยัดการก่อผนัง ช่วยลดราคาค่าก่อสร้าง และทำให้งานก่อสร้างเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ในเรื่องงบประมาณที่จำกัดของเจ้าของโครงการ พร้อมๆ กับการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับอาคารด้วยในขณะเดียวกัน

“ผมเลือกรูปทรงอาคารเป็นรูปทรงจั่ว 4 จั่ว เพราะมองว่าหากมันเป็นรูปทรงใหญ่เดี่ยวๆ มันจะดูอึดอัดและเข้าถึงยาก”

ทางเข้าหลักด้านทิศตะวันออกของอาคาร โดดเด่นด้วยสนามหญ้าปูทางไปสู่ส่วนใช้งานภายใน ประดับด้วยต้นกันเกราเป็นมงคลตามความเชื่อแบบไทยในความต้องการของเจ้าของโครงการ เป็นส่วนหนึ่งในแนวความคิดในการออกแบบแลนด์สเคป

ทิศทางการวางตัวของอาคารก็ถูกคิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กับบริบทของธรรมชาติ ตามพื้นที่ตั้ง ทิศตะวันตก คือด้านที่หันออกไปยังถนนเส้นหลัก ผู้คนที่สัญจรไปมาจะมองเห็นอาคารในส่วนนี้เป็นสำคัญ นอกจากจะออกแบบให้อาคารเหลื่อมกันเพื่อสร้างมุมมองที่น่าสนใจให้กับด้านนี้ของอาคารแล้ว สถาปนิกยังออกแบบทิศนี้ของอาคารให้โปร่งโล่งที่สุดด้วยการกรุผนังกระจกสร้างความโปร่งทะลุตลอดทุกผนัง เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงพื้นที่ภายใน และให้เห็นเป็นด้านที่โดดเด่นที่สุดในการรับรู้ภาพรวมของอาคาร ส่วนด้านทิศตะวันออก จะสัมพันธ์กับถนนย่อยอันจะเป็นทางเข้าหลักของอาคาร ผนังกระจกยังถูกดึงมาถึงฟากฝั่งนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรยากาศของทั้งสองฝั่งทะลุถึงกันโดยตลอด ในขณะเดียวกันด้านฝั่งทางเข้านี้อาคารจะถูกเซ็ตให้ลึกขึ้นไปเป็นสเต็ป ผู้คนจะเดินผ่านพื้นที่สีเขียวของสนามหญ้าและต้นไม้น้อยใหญ่ก่อนจะเข้าสู่ตัวอาคาร สร้างความรับรู้ในอีกแบบหนึ่ง ผ่อนคลายบรรยากาศก่อนจะสัมพันธ์ต่อเนื่องไปกับการใช้งานภายใน

“พื้นที่ฝั่งขวาที่ติดกับตัวอาคาร คือด้านทิศใต้ เป็นพื้นที่ว่างโล่งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย ฝั่งซ้ายคือกลุ่มต้นไม้ใหญ่ที่สูงมากๆ ประมาณ 30 – 40 เมตร พื้นที่เราอยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้น จั่วที่อยู่ติดกับฝั่งต้นไม้ก็จะสูงที่สุด แล้วค่อยๆ ลดหลั่นลงมา เตี้ยลงทีละประมาณ 70 เซนติเมตร ตัวสุดท้ายคือก้อนโครงเหล็กด้านทิศใต้ ที่จะค่อยๆ ให้มันกลมกลืนหายไปกับพื้นที่ว่าง” จั่วเหล็ก 3 จากใน 4 จั่วเป็นส่วนใช้งานหลักอันเป็นส่วนจับจ่ายภายในอาคาร อีก 1 จั่วสุดท้ายนั้นวางอยู่ในด้านทิศใต้ของอาคาร สถาปนิกออกแบบให้เป็นจั่วโปร่งโชว์โครงเหล็ก ในส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ ที่สัมพันธ์กับหลายแนวความคิดการออกแบบ นอกเหนือจากการสร้างความกลมกลืนกับบริบท ในเบื้องต้นนั้นจั่วโชว์โครงสร้างเหล็กนี้เกิดขึ้นตามความต้องการฟังก์ชันการใช้งานที่เปิดกว้างแบบอีเวนท์ชั่วคราวของเจ้าของโครงการ ในขณะเดียวกันจั่วเหล็กที่วางอยู่ในทิศใต้นี้ สถาปนิกยังออกแบบให้มีประโยชน์ในเชิงการตอบรับรับสภาพแวดล้อม ทิศทางของแดด ลม ฝน ที่ต่อเนื่องไปกับการวางอาคารในภาพรวมทั้งหมดอีกด้วย “เราทำให้มันเป็นโครงเหล็กเปล่าๆ เพราะต้องการใช้เป็นพื้นที่จัดอีเว้นท์ หรือพื้นที่ที่สามารถวางขายสินค้าบางช่วงที่ผลัดเปลี่ยนกันได้ ทำเป็นโครงเหล็กที่ทำไว้ให้ใบระบาดเลื้อย เมื่อมันเลื้อยปกคลุมทั้งหมด มันจะเป็นส่วนกรองแสง บังความร้อนให้กับอาคารได้ทั้งหมด ได้ เวลามีลมร้อนพัดเข้ามาผ่านโครงสร้างนี้ มันจะทำให้อากาศมันเบาบางลง”

สิ่งที่เราเห็นได้จากอาคารทรงจั่วที่โดดเด่นหลังนี้คือแนวความคิดที่แข็งแรงชัดเจน อาจเพราะเกิดจากแนวความคิดที่เรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ประกอบกับความเข้าใจในบริบทอย่างลึกซึ้งของนักออกแบบ ทำให้สถาปัตยกรรมสามารถเล่าเรื่องของมันเองได้อย่างหมดจด จนเสมือนว่าความโดดเด่นและความกลมกลืนก็มาบรรจบกันได้ ณ ที่แห่งนี้ อย่างไม่มีสิ่งใดขาดหรือเกิน

สถาปนิกตกแต่งภายในด้วยฝ้าสีขาวจัดเป็นระนาบหลัก มีผนังและเสาบางส่วนเป็นสีดำ เมื่อมองจากภายนอกพื้นที่ภายในจะโดดเด่นออกมาจากการปกคลุมของหลังคา เป็นไฮไลท์ของโครงการไปโดยปริยาย

ภาพของอาคารด้านทิศตะวันตก คือด้านที่จั่วหันออกสู่ถนนหลัก เมื่อดูเผินๆ อาจไม่รู้สึก แต่สถาปนิกเล่นกับมุมมองด้วยการเหลื่อมอาคารสลับขึ้นลงเล็กน้อย ทำให้การรับรู้อาคารมีมิติไม่แบนราบหรือโดดเด่นจนแข็งกระด้าง

05-diagram-agro-outlet

ไดอะแกรมแสดงแนวความคิดภาพรวมทั้งหมดของการเกิดขึ้นของอาคาร (ภาพโดย S Pace Studio)06-agro-outlet-plan
แปลนแสดงฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคาร

07-agro-outlet-section
รูปตัดแสดงปริมาตร ความสูง และความสัมพันธ์ของพื้นที่ตลอดทั้งอาคาร

 

Leave A Comment