AGORA
เสื่อไทย รักษ์โลก รักดีไซน์
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
จากคอลัมน์ Day Factory, Daybeds 165
หลังจากที่ได้ลุยเก็บภาพบรรยากาศงาน TIFF 2016 งานแสดงสินค้าและเฟอร์นิเจอร์มากดีไซน์ประจำปีจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สินค้าที่ติดตา Daybeds มากที่สุดหนึ่งในนั้นคือ ‘เสื่อ’ พลาสติกดีไซน์เก๋ ที่มีภาพลักษณ์แปลกไปจากเสื่อธรรมดาแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยฝีมือของคุณปาล์ม-ภูริณัฐ อัศรัสกร เจ้าของแบรนด์เสื่อไทยมีดีไซน์ในชื่อ ‘Agora’ ภายใต้การผลิตของโรงงานเสื่อเก่าแก่ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์’ ที่หยิบเอาสิ่งที่คล้ายว่าจะถูกลืมไปแล้วอย่างเสื่อ มาพลิกโฉมให้กลับมามีชีวิตชีวา ให้กับของใช้คู่บ้านคนไทย ในท่ามกลางกระแสที่ท้วมท้นของเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ ได้อย่างน่าสนใจ
“เสื่อรีไซเคิล เราก็ทำกันอยู่แล้ว ‘Agora’ เหมือนมาเพิ่มตลาดอีกตลาดหนึ่ง เพราะเสื่อพวกนี้มันเริ่มที่จะเชยแล้ว ยอดขายก็เริ่มน้อยลง ประจวบกับว่า คนรุ่นใหม่ที่กำลังขึ้นมา เสื่อพวกนี้มันเป็นอะไรที่คนไทยเราชอบ มันอยู่กับคนไทยมานานแล้ว แต่ว่ามันเริ่มไม่มีคนซื้อ”
กิจการของครอบครัวที่ดำเนินมากว่า 40 ปีจากโรงงานผลิตเสื่อพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทยบนถนนทรงวาด สู่อุตสาหกรรมเสื่อรีไซเคิลที่เก่าแก่ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์’ นำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรจากญี่ปุ่นและเริ่มผลิตเสื่อจากพลาสติกรีไซเคิลออกจำหน่ายไปทั่วประเทศไทยตั้งแต่ปี 2513 กิจการดำเนินมาจนถึงมือของรุ่นหลาน ที่เริ่มเห็นช่องทางการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนโลกทัศน์ของสิ่งใกล้ตัวด้วยมุมมองที่แตกต่าง พลิกแพลงทรัพยากรที่มีด้วยกระบวนการการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องหาของใหม่ นอกจากจะประหยัดทรัพยากร ประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลกได้อย่างเห็นผล
“เม็ดพลาสติกของเราก็จะใช้วัตถุดิบเป็นรีไซเคิลทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ซื้อมาจากโรงงานรีไซเคิลพลาสติกอีกที คือเขาจะรับพวกพลาสติก ตระกูล PP (Polypropylene) พวกขวด พวกถังพลาสติก อะไรที่เป็น PP ทั้งหมด เอาไปหลอม หลอมแล้วเขาก็ตัดออกมาเป็นเม็ดมาให้เรา” แม้ในอดีตจะยังไม่มีกระแสรักษ์โลกหรือกระแสผลิตภัณฑ์อีโคเหมือนที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน แต่เสื่อของรักชาติพาณิชย์อันเป็นที่มาของแบรนด์ ‘Agora’ ก็มีการเลือกใช้วัตถุดิบช่วยโลก จนถึงกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน มาตลอดช่วงระยะเวลาอันเนิ่นนาน หลังจากที่สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) เปิดโอกาส คุณปาล์มก็ได้นำทรัพยากรเดิมที่มีมาต่อยอดเสื่อรีไซเคิลสู่แบรนด์ผลิตภัณฑ์เสื่อรักษ์โลกให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนแปลงเสื่อให้มีสีสันแปลกตา ทั้งสีส้ม ขาว คราม ม่วง เหลืองมะนาว ฟ้าอ่อน ยังไม่รวมลวดลายที่ยังไม่มีใครนึกถึงทั้งเสื่อลายหินอ่อน ลายกระเบื้องร้าว รวมถึงลวดลายกราฟิกทันสมัย อีกทั้งภาพลักษณ์รูปทรงที่ปรับให้กะทัดรัดน่าใช้สำหรับคนเมือง ในขณะที่ยังคงเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์แบบไทยๆ ไว้ไม่เลือนหาย โดยได้ทีมออกแบบที่นำโดย ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เข้ามาร่วมออกแบบและทำงานกับโรงงานเสื่อรักชาติพาณิชย์ด้วยตัวเอง
ขั้นตอนการออกแบบและผลิตเสื่อโดยทั่วไปนั้นแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก คือ หนึ่ง เตรียมเม็ดพลาสติกและผสมสี, สอง หลอมและยืดเส้นพลาสติก, สาม การทอ และสี่ เก็บรายละเอียด โดยจากขั้นตอนทั้ง 4 เสื่อ ‘Agora’ แม้จะมีหน้าตาไม่เหมือนกับเสื่อรุ่นเก๋าในโรงงาน แต่ก็ไม่ได้มีวิธีการผลิตที่แตกต่างกันแต่อย่างใด จะต่างก็เฉพาะในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน อาทิ ขั้นตอนการเตรียมเม็ดพลาสติกและผสมสีที่ก็จะใช้เม็ดสีที่ต่างออกไปตามการออกแบบ ขั้นตอนการทอ ที่ช่างทอก็จะขึงเส้นด้านบนเครื่องจักรผ่านการ์ด (Card) ให้ได้ลวดลายแปลกตาตามที่ออกแบบไว้ ในขณะที่เครื่องทอของห้างหุ้นส่วนจำกัด รักชาติพาณิชย์นั้นจะประกอบไปด้วยเครื่องแบบหน้าตัด 1 เมตร และ 2 เมตร ‘Agora’ ที่ถูกผลิตขึ้นมาในคอนเซ็ปต์ของความเป็นเสื่อรุ่นใหม่พกพาสะดวก ก็จะถูกลดหน้าตัดให้เหลือเพียง 93 เซนติเมตร และยาวเพียง 190 เซนติเมตร เพื่อเหลือด้านยาวอีก 10 เซนติเมตรให้เป็นส่วนของสายรัดที่จะติดตามมาภายหลัง และยังให้ขนาดที่พอดีกับการปูนอนสำหรับ 1 คน ไปด้วยในขณะเดียวกัน และขั้นตอนสุดท้ายการเก็บรายละเอียด ที่เสื่อโดยทั่วไปจะใช้วิธีมัดเส้นด้ายที่เหลือเป็นปลายรวมกันป้องกันเส้นเสื่อหลุดลุ่ย แต่ ‘Agora’ จะใช้วิธีกุ๊นและติดกาวเพื่อความเรียบร้อยและให้หน้าตาที่หน้ามอง มากไปกว่านั้น เศษเสื่อพลาสติกทั้งหมดที่เหลือจากการตัดแต่งหรือจากผืนเสื่อที่ทอแล้วไม่ได้มาตรฐาน จากเดิมที่เคยทิ้งไปโดยที่ไม่เกิดประโยชน์ เศษเสื่อในส่วนนี้ก็จะถูกนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทั้งถูกหลอมเพื่อนำกลับมาเป็นเม็ดพลาสติก และถูกนำกลับมาประยุกต์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อันเป็นไอเดียที่กำลังถูกพัฒนา โดยในปัจจุบัน Agora ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์จากเศษเหลือของเสื่อพลาสติกออกมาแล้วมากมาย อาทิ โคมไฟเสื่อพลาสติก กระเป๋าเสื่อพลาสติก จานรองแก้วเสื่อพลาสติก โดยในอนาคตก็จะมีบีนแบ็กจากเสื่อพลาสติกให้ได้รอชมกันอีกด้วย
นอกเหนือจากการหมุนเวียนวัตถุดิบและการผลิตผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบรีไซเคิล ภายในโรงงานผลิตเองก็มีแนวคิดที่เอื้อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งการหมุนเวียนพลังงานน้ำในเครื่องจักรในขั้นตอนหลอมและขึ้นรูปเส้นเสื่อ การลดการใช้ไฟฟ้า พึ่งพาช่องเปิดเพื่อการระบายอากาศและความสว่างจากแสงธรรมชาติ ลดการพึ่งพาเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ใช้การปรับปรุงพัฒนาของเดิมให้ดียิ่งขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2558 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบรางวัล ‘Gold Award G-Upcycle 2015’ ให้กับแบรนด์เสื่อและโรงงานผลิตเสื่อรักษ์โลก เพื่อเป็นเครื่องหมายของความสำเร็จในการประยุกต์เอาสิ่งที่มี ผลิตและพลิกแพลงสิ่งใกล้ตัวให้น่าสนใจ และยังเป็นมิตรกับโลกไปด้วยในขณะเดียวกัน
แม้จะถูกหลงลืมไปบ้าง แต่ด้วยความไม่เรื่องมาก เปื้อนได้ ทนแดดทนฝน รองนั่งรองนอนได้ทุกอิริยาบถ ก็ยังทำให้ ‘เสื่อ’ ยังคงอยู่คู่บ้านคนไทยมาเป็นเวลาเนิ่นนาน จากหน้าตาสีเหลือง เขียว แดง น้ำเงิน จนปัจจุบันเราได้เห็นเสื่อในหน้าตาและสีสันแปลกใหม่ที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากที่เป็นเพียงแค่ของใช้ เชื่อแน่ว่าตอนนี้คงมีหลายคนบรรจุ ‘เสื่อ’ ลงในลิสต์ของของประดับตกแต่งบ้านกันบ้างแล้วล่ะ หากสนใจเสื่อไทยมีดีไซน์ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.agora-design.com หรือ www.facebook.com/Agora-Design
“เราเป็นโรงงานอีโคอยู่แล้ว แต่เดิมที่ไม่มีใครรู้จักรักชาติพาณิชย์เลย พอมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปแบบของ Agora คนก็จะรู้จักเรามากขึ้น แล้วก็มันก็ดีเหมือกันที่เราก็สามารถลดโลกร้อน ลดก๊าซคาร์บอนจากการผลิต โดยการไม่ใช้วัตถุดิบใหม่ และด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้ให้มันรีไซเคิล ให้กระบวนการทั้งหมดมันเสร็จอยู่ในนี้”
ภูริณัฐ อัศรัสกร
เม็ดพลาสติกรีไซเคิลตระกูล PP (Polypropylene) ที่ถูกหั่นเป็นเม็ด รอการนำไปผสมสีและหลอมเป็นเส้นเสื่อต่อไป
ห้องผสมสีเม็ดพลาสติก สามารถผสมสีสันได้ทุกเฉดตามต้องการ โดยที่มักจะเห็นกันบ่อยๆ โดยทั่วไปมักจะเป็นสีเหลือง แดง เขียว น้ำเงิน
เครื่องหลอมพลาสติก และเส้นเสื่อเมื่อผ่านการคูลดาวน์แล้ว ก็จะถูกนำมารวบเป็นกำเพื่อนำไปรวมกัน โดยในส่วนนี้จะมีการไหลเวียนน้ำเข้ามาหลอม คูลดาวน์ ลงรางออกไปสู่บ่อพัก ก่อนจะเวียนกลับเข้ามาใช้ใหม่เป็นหนึ่งในแนวคิดการประหยัดพลังงาน
เส้นเสื่อสีสันต่างๆ ที่พร้อมนำไปเข้าเครื่องจักร
เครื่องทอเสื่อขนาดหน้าตัด 1 เมตร สามารถทอเสื่อได้ยาวไม่จำกัด โดยในโรงงานมีเครื่องทั้งชนิด 1 เมตรและ 2 เมตรรวมกันเกือบ 100 เครื่องเลยทีเดียว
การ์ด (Card) ทอเสื่อ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดลวดลายบนผืนเสื่อ 1 การ์ดเท่ากับ 1 เส้นเสื่อ โดยในแถบกว้าง 1 เซนติเมตรจะใช้ประมาณ 4 การ์ดรวมกัน การ์ดจะเป็นตัวคัดเลือกเส้นด้าย ที่จะกำหนดลายเสื่อต่อไป
<img class="alignnone size-large wp-image-7675" src="http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-1024×683.jpg" alt="06" srcset="http://www look at this website.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-1024×683.jpg 1024w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-300×200.jpg 300w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-1075×717.jpg 1075w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-400×267.jpg 400w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/07/06-600×400.jpg 600w” sizes=”(max-width: 1024px) 100vw, 1024px” />ขั้นตอนการเก็บรายละเอียด ตัดเศษเสื่อส่วนเกิน กุ๊นเก็บขอบ ติดสายสะพาย ก่อนแพ็คออกจำหน่าย
สีสันและลวดลายเสื่อแปลกตาจากที่เคยเห็น ขนาดการใช้งานก็ถูกปรับให้เหมาะกับคนเมืองมากขึ้นด้วย