ARCHITECTURE AGALIGO

00

สถาปัตยกรรมที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลาของ
ศิษฏ์ และ ปรีชญา ธีระโกเมน

TEXT: ภคพร ไม้สนธิ์
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, Agaligo Studio, Spaceshift studio

Daybeds รู้จัก Agaligo Studio ครั้งแรกเมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ Let’s Sea Hua Hin Alfresco Resort เปิดตัวแตกต่างจากรีสอร์ทอื่นในหัวหิน แล้วสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายของรีสอร์ทแห่งนี้ก็เปรี้ยง! สถาปนิกผู้ออกแบบถูกถามไถ่ ตามหา เพื่อพูดคุยถึงแนวคิดการทำงาน แต่ต้องยอมรับว่า คุณเล็กศิษฏ์ และ คุณกลางปรีชญา ธีระโกเมน สถาปนิกสองสามีภรรยา ผู้ก่อตั้งสตูดิโอนี้ที่ทำงานออกแบบเนี้ยบกันตั้งแต่ปี 2002 โน่น คงทำงานต่อไปเงียบๆ ไล่เรียงกันมาเช่น Hotel des Artists : Khao Yai, Resort de Paskani หรือ Baan Juk Kob ซึ่งเป็น Private House จนถึงพระมหาสถูป ‘พระศานติตารามหาสถูป’ ปูชนียสถานขนาดใหญ่ ในพระพุทธศาสนา โดยให้งานสถาปัตยกรรมทำหน้าที่พูดคุยกับผู้คนแทนตัวพวกเขาเอง

04 030605

“Architecture is like food.” agaligo studio is a small architectural design studio working on planning and design for small to medium scale projects.

คือสิ่งที่พวกเขาจำกัดความให้ตัวตนเองไว้ใน Facebook เพื่อพูดคุยกับชาวโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก หรือหากอยากคุยและชมผลงานของทีมออกแบบนี้อย่างจริงจังก็คลิก http://www.agaligo.com/ กันได้ ขณะที่พวกเขาให้กับคำจำกัดความของ Agaligo Studio กับ Daybeds ในการพูดคุยครั้งนี้คือ “รักสงบ พบเห็นพวกเขาตามไซต์งานเท่านั้น!”

ล่าสุด เมื่อ MK CK5 ครัวอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ย่านบางนา-ตราด สถานที่ผลิตวัตถุดิบของ MK RESTAURANT ตั้งตระหง่านโดดเด่นสีแดง นั่นล่ะ Daybeds จึงต้องคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ผู้สัมภาษณ์ชอบกิน สุกี้เอ็มเค เพราะสีแดงของอาคารทำให้นึกถึงถาดใส่อาหารภายใน MK RESTAURANT ปั๊บ!

818083สรุปง่ายๆ ก็คือในวันที่กลิ่นของลมหนาวล่องลอยมา ในบรรยากาศสงบดังจัดฉากไว้บนชั้น 2 ในห้องสมุดสีขาวสะอาดตา ของ MK CK5 พวกเราลงนั่งบนเก้าอี้สีแดงสดดีไซน์เฉี่ยว มองผ่านผนังกระจกเห็นสระน้ำผุดด้านหน้าอาคาร เลยออกไปเป็นถนนเลนใหญ่ เลยออกไปคือท้องฟ้ายามอัสดง หลังจากที่เราเดินชมพื้นที่ภายในด้วยกันมาเกือบสองชั่วโมง แล้วการพูดคุยก็พรั่งพรู สนุกสนานเฮฮา เสียงหัวเราะครึกครื้น เป็นช่วงเวลาแห่งและความอบอุ่นจริงๆ

“เราชอบอยู่เงียบๆ ทำงานกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเชื่อว่าผลงานที่เสร็จแล้วเรียบร้อย จะเป็นตัวสะท้อนความคิดและฝีมือของเรา แต่นานๆ ที่ได้มาคุยกันเพื่อแชร์ไอเดียการทำงานก็นับเป็นเรื่องดี” คุณศิษฏ์และคุณปรีชญาออกตัว ทั้งสองดูสุภาพและอ่อนน้อมมาก แต่มีท่าทีมั่นใจมากเช่นกัน ซึ่งคนเก่งที่เราเจอก็มักจะเป็นแบบนี้ล่ะ

DBS: คุณใช้ความพยายามขนาดไหนที่จะค้นหาแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง และลักษณะเฉพาะนั้นคืออะไร บ่งบอกความเป็นตัวคุณได้อย่างไรบ้าง

ปรีชญา : ไม่ต้องใช้ความพยายามนะคะ ตอนที่เรามาทำของตัวเอง พี่กลางออกจากงานประจำก่อนพี่เล็ก แล้วตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า จะทำงานโดยไม่ยึดสไตล์ ซึ่งลักษณะการทำงานของพี่กลางคือ ชอบศึกษา ค้นคว้า ความรู้ที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เพราะสิ่งนี้จะมีประโยชน์มากเมื่อเรารับโปรแกรมต่างๆ มาทำ งานแต่ละครั้งของเราต่างกันมากนะคะ ความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องจะช่วยให้เราเข้าใจโปรแกรมได้เร็ว และเมื่อเราไม่สนใจสไตล์ตั้งแต่ต้น เมื่อศึกษาลงลึกเกี่ยวกับคนที่ใช้ชีวิตในสถานที่นั้นๆ เราจะทำงานได้เร็วมาก

ยอมรับนะคะว่าช่วงเริ่มต้นที่ไม่สนใจสไตล์ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะปรับทัศนคติตัวเองให้หลุดจากสไตล์ให้ได้ แต่เราก็ทำกันได้ เพราะถึงเวลาจริงๆ มันอยู่ที่วิธีคิด แล้วออกแบบให้พอดีกับบริบท กับการใช้งาน เราต้องถามละเอียดๆ ให้มากจากลูกค้า อาศัยรีเสิร์ช เช่น รีสอร์ทจะทำเป็นกล่องๆ มันก็คงไม่พอดีกับพื้นที่และบริบทนั้น ๆ ฉะนั้นไม่ใช่เราเลยที่บอกว่า งานสไตล์นี้ฉันแข็งแกร่งมาก เป็นลักษณะเฉพาะของฉัน การที่เราทำงานโดยไม่ได้ยึดติดกับสไตล์ นับเป็นเรื่องดีมาก

ศิษฐ์ : อย่างที่คุณกลางบอก และส่วนมากรับงานสเกลไม่ค่อยใหญ่นักนะ อย่างบ้าน รีสอร์ท อพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ ก็เล็ก แล้วไม่ค่อยสนใจด้านคอมเมอร์เชี่ยลเท่าไหร่ เมื่อก่อนตอนทำงานประจำก็มีบ้างคือจะคอมเมอร์เซี่ยลจริงๆ และตอนเริ่มเป็นสถาปนิกใหม่ๆ จัดตัวเองให้อยู่ในโมเดิร์นสถาปนิกนะ ต้องออกแบบอย่างตรงไปตรงมา ต้องแสดงให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ สุดท้ายนี่ล่ะเป็นกำแพงที่ขังเราไว้ในกล่อง

จริงๆ แล้วเรื่องพื้นฐานธรรมดาๆ นี่ล่ะ สำคัญมาก เอามารวมกับตัวเจ้าของบ้าน เจ้าของบริษัท คาแร็กเตอร์องค์กร ศึกษาลงลึกกับแลนด์สเคป ที่โปรแกรมตั้งอยู่ แล้วบริบทรอบๆ ข้าง วัฒนธรรมของสังคมรอบๆ เอามาให้หมด เมื่อวันหนึ่งงานออกแบบของเราก็ต่างจากคนอื่นไปเอง เมื่อออกมาทำ Agaligo คิดดู คนเราเกิดมาก็ต่างกันทุกคนอยู่แล้วนะ มันก็ต้องมีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของเราสิ จะมี โคโลเนียล โมเดิร์น มีงานแบบโบราณอย่างการออกแบบมหาสถูป หรือสไตล์บ้างก็ไม่รู้ สุดท้ายเหล่านี้เป็นแค่เปลือก หัวใจของเราจริงๆ คือ สเปช ฟังก์ชัน แต่ก็แปลกนะว่า คนที่เข้ามาคุยกับเราแล้วไปเห็นงานของเรา ไม่ว่าจะสไตล์ไหนก็ตาม เขาจำได้ว่าเป็นงานของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้นะว่าเขาดูจากอะไร แต่เราก็ดีใจ

DBS: บริบทอะไรที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานออกแบบของคุณในวันนี้ เช่น ศิลปะ การอ่าน หรือการออกแบบของสถาปนิกอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ของสถานที่นั้น

ปรีชญา : ผู้ใช้พื้นที่และฟังก์ชชันของโปรแกรมที่เรารับทำงานค่ะ รวมถึงวัฒนธรรมของสังคมของโปรแกรมนั้นๆ เวลาที่เรารับออกแบบ เราจะเอาตัวไปคลุกคลี ไปหาความรู้กับจุดนั้นให้มากที่สุด เป็นบ้านก็คุยๆ กับเจ้าของบ้าน เป็นรีสอร์ทเราก็ไปนอนอยู่ในพื้นที่ ไปทำความรู้จักผู้คน อาหาร วัฒนธรรม และสังคม อย่างที่บอกว่าเอาบริบททั้งหมดมารวมกัน และตอนนี้เราบอกได้เลยว่า สถาปัตยกรรมคือการใช้ชีวิต

ศิษฐ์ : ใช่ครับ หมายความว่า สถาปัตยกรรมที่เรียบร้อยสมบูรณ์ของเราไม่ใช่การอยู่ตัวเดียวโดดๆ นะ ต้องมีสิ่งมีชีวิต มีชีวิตมีกิจกรรม อยู่ในนั้น ดังนั้นเราจะไม่ชอบเลยที่คนมาถ่ายสิ่งที่เราออกแบบแบบโล่งๆ ไม่มีมีสิ่งมีชีวิต ไม่มีกิจกรรม เพราะขณะที่เราออกแบบโครงสร้างทั้งหมด เราก็ออกแบบละพื้นที่พร้อมกันเลย ว่าตรงมุมไหนคนจะนั่งหรือทำกิจกรรมอะไร

ปรีชญา : เราจะพูดว่าแข็งมาก หากถ่ายรูปหรือมาดูแบบไม่มีชีวิต เพราะตอนเราคิดออกแบบก็คิดว่ามันน่าอยู่ ให้กับสิ่งมีชีวิตอยู่ อย่างสไตล์ของMK C5 นี่ก็เป็นความต้องการของลูกค้าอีกล่ะ ที่อยากได้สไตล์โมเดิร์น เห็นมั้ยสุดท้ายก็เป็นบริบทที่มาจากลูกค้า และออกมาก็สวยมีฟังก์ชันการใช้งานครบด้วย นี่คือสิ่งที่เรารู้เลยว่าเรารู้จัก MK จริงๆ ล่ะ

01

DBS: ตลอดระยะเวลาการทำงาน 10 กว่าปีมานี้ อะไรคือสิ่งที่ท้าทายการทำงานมากที่สุด คุณผ่านมันมาด้วยวิธีใด ช่วยเล่าถึงการทำงานครั้งนั้นของคุณให้เราฟังด้วย

ศิษฐ์ : อืม…ไม่มีนะครับ อย่างล่าสุดกับโปรแกรม MK C5 ความท้าทายของมัน นับจากประสบการณ์มาจิ๊บๆ ค่อนข้างน้อย เพราะว่าราบรื่นมาตั้งแต่แรก อย่างที่เล่าไปครับว่าการซึมซับความรู้ที่ลูกค้าบอกให้เต็มที่ครับ มาบวกกับประสบการณ์กับความรู้ วิธีคิดกับวิธีออกแบบจะค่อยๆ ผุดขึ้นมา ต้องไม่ช้า เหมือนได้รับผ้ากับด้ายและเข็ม ซึ่งเราเป็นคนที่อ่านออก จะรู้ละว่าจะสร้างลายให้กับผ้าอย่างไร

โดยเวลาการทำงานจริงๆ คือหมายถึงหน้างาน แน่นอนว่ามันต้องมีปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องติดขัดมากกว่า หรือเป็นสิ่งที่ช่าง หรือวิศวกรไม่เคยเจองานออกแบบอย่างนี้มาก่อน เช่น ที่ MK C5 แต่ละชั้นจะอุปมาจากถาดอาหารที่วางเหลื่อมกัน พื้นที่ยื่นไปยาวกว่าที่เคยมีมาก่อน แถมเราออกแบบไม่ให้มีคานรองรับด้วย ก็เป็นงานใหม่ของช่างกับวิศวกร แต่ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้สามารถแข็งแรงรองรับน้ำหนัก โดยที่ชั้นบนไม่ขบกับเพดานชั้นล่าง มันเริ่มต้นตั้งแต่เราเชื่อว่าทำได้ ผลที่ออกมาก็ทำได้จริงๆ

ปรีชญา : จริงๆ ผ้าชนิดเดียว ด้ายสีเดียวกัน เราสามารถทำให้โมเดิร์น หรือเป็นแบบชนเผ่าได้นะคะ ขึ้นอยู่กับความต้องการและบริบทของโปรแกรมนั้นๆ

อย่างงาน MK C5 อาจท้าทายอย่างแรกคือ พี่กลางไม่ได้ออกแบบออฟฟิศมานานมากแล้ว งานหลังๆ เป็นรีสอร์ทกับบ้าน แต่จริงๆ แล้ว ออฟฟิศเป็นโปรเจ็กต์ที่ง่ายที่สุด คือด้วยความที่เราพรีเซนต์อันแรกแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันมาก มันอยู่มาก เขาต้องชอบมันแล้วเราก็ใส่เต็ม แล้วเขาก็ชอบจริงๆ มันเลยได้เลย ถ้างานท้าทายจริงๆ ก็คือการที่มันเป็นงานใหญ่จึงต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย กับคนที่บางทีเราก็ไม่ได้เคยทำงานด้วยกันมาก่อน นั่นหมายความว่าทั้งการจัดการโครงสร้าง การจัดการบริบทคือคน วัสดุอะไรหรือบริบทต่างๆ พี่เล็กกับพี่กลางทำพร้อมๆ กันเลย

MK C5 เป็นตัวอย่างที่ดี เราคิดและออกแบบกันได้ไม่ช้านะคะ เพราะมันได้ตั้งแต่คอนเซ็ปต์แล้วไง เช่น ตรงสระน้ำหน้าอาคาร MK C5 เรานั่งกันอยู่ก็บังเอิญเห็นการวิ่งตลอดเวลาของรถเย็นคันใหญ่มากแบบสิบล้อ เขาต้องการอะไรบางอย่างจัดการจราจร ทำให้นึกถึงเลนการวิ่ง การทำลูกศร ลักษณะและสี ซึ่งก็ทำให้เกิดน้ำพุที่อุปมา-อุปไมยมาจากหม้อต้มสุกี้บนโต๊ะ กลายเป็นวงเวียนขนาดใหญ่ให้รถเย็นสำหรับขนอาหารวิ่งได้สะดวก เพราะด้วยประสบการณ์ทำงานของเรา ด้วยพื้นฐานความรู้ของเรา ที่เราสะสมงานรีเสิร์ชไว้เยอะ เหมือนกับผ้าได้เครื่องมือทุกอย่างเหมือนกัน แต่ลายผ้าต่างกันได้นะคะ แล้วเราไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าจะเอาแนวไหนซะทีเดียว แต่ความทันสมัยก็ได้รับการบรี๊ฟมาแล้ว ก็จะยึดแนวๆ นี้ไว้

อันที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี ตัวอย่างคือ คือโครงการอพาร์ตเมนต์ที่จะเป็นหอพักให้เด็กที่ศาลายา โหว..ตอนคุยครั้งแรกก็สนุก ก็คิดได้ปึ๋งๆ แต่เราสองคนก็ทะเลาะกันบ่อย จนจบงาน (หัวเราะ)

คุณศิษฐ์ : สอบสวนกันเอง ลงรายละเอียดไปเรื่อยๆ คานอำนาจกัน

คุณปรีชญา : คุณเล็กดีเทลเก่ง ใช้สมองซ้ายมาก พี่กลางจะไม่สนใจโครงสร้าง ใช้จินตนการสูง มีการวิพากษ์ถึงความเป็นไปได้ ถกกันตั้งแต่ต้น พอพรีเซนต์ให้ลูกค้าฟังเขาก็ไม่เก็ต ลูกค้าไม่มีอะไรในหัว มาแบบอะไรก็ได้ ซึ่งมันยากที่สุดในการทำงาน เพราะเขาก็พูดไม่ถูก สุดท้ายเราปรึกษากันแล้วปฏิเสธไป เพราะจะเสียเวลาทั้งเราและเขา ซึ่งเราไม่ได้เสียดายเวลาที่คิดที่ออกแบบไปแล้ว ไม่ได้เก็บเงินลูกค้าด้วยนะ เพราะเมื่อไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แล้วเราไม่อยากเสียเวลา

คุณศิษฐ์ : ของพี่กลางถ้าเทียบเป็นหนังจะแนวดราม่า ของพี่เล็กจะแนวไซไฟครับ (หัวเราะ) แต่ด้วยลักษณะของลูกค้ามีอะไรที่เขาอยากได้แต่ไม่ยอมบอกตรงๆ ที่พูดนี่เราไม่มีอีโก้นะครับ เพียงแต่เราไม่ถนัดตามแนวเขา เราเป็นคนที่ประนีประนอมมาก แต่อยากให้โปรเจ็กต์ของเราเป็นยูนีค เหมือนเป็นตัวแทนเจ้าของ อยู่ที่ไหนก็ที่นั้น มีคนบอกกับเราอยากได้แบบเดียวกับ X2 River Kwai Resort ไปอยู่ที่เขาใหญ่ เราบอกอะไร คุณมาจากไหน รถไฟมีมั้ยที่เขาใหญ่ เพราะ X2 แม่น้ำแควมันรีเฟล็กกับสิ่งที่มีอยู่ตรงนั้น เรื่องของรถไฟ เรื่องของการทำเหมือน มันเป็นบริบทที่อยู่ตรงนั้น

คุณปรีชญา : คุณต้องอยากเป็นตัวเอง เราจะไม่ทำงานให้เหมือนกับงานที่เราทำมาแล้ว ถ้าอยากได้แบบเหมือนกัน ต้องไปหาคนอื่นที่สามารถทำได้เหมือนกับสิ่งที่เราทำ เราอยากทำในสิ่งที่เป็นตัวลูกค้าค่ะ อันนี้ล่ะที่สไตล์งานของเราไม่เคยซ้ำกันเลย

แล้วเรื่องของอีโก้ จริงๆ มีก็ได้ เมื่อมีก็รีบมีค่ะ เพื่อจะได้รู้ว่าควรทำอะไรกัน ลูกค้าควรศึกษาก่อนมาหาเรา ว่างานเราเป็นแบบไหนนิดหนึ่ง เพราะเวลาการทำงานที่เหลือของเราก็ไม่เยอะแล้ว เพราะเคยมีทำให้ให้เราเสียสุขภาพจิตมาก อยากทำงานที่ให้ความสบายใจ

โปรแกรมที่ชอบมากๆ ก็เช่น Hotel des Artists, Rose of Pai โรงแรมที่ปาย เป็นการปรับบ้านโบราณให้เป็นโรงแรม 14 ห้อง อุปสรรคคือเรื่องวัสดุกับตัวช่าง เพราะต้องหาจากพื้นที่แถบนั้นซึ่งค่อนข้างมีจำกัด ช่างบางคนอายุมากแล้วแต่ฝีมือดี เราให้ความสำคัญให้การดูแล และสิ่งสำคัญของโปรแกรมนี้คือ การรักษาทุกอย่างที่เป็นของเดิมเอาไว้ ซึ่งเราอยากทำเองด้วย มีวิธีการปรับโครงสร้างที่ทำให้เราสนุกมาก คือการตัดเสาไม้แล้วต่อด้วยปูนทำเป็นเสาใหม่ เพื่อยกบ้านให้สูงขื้นมากๆ เป็นงานที่เราเคารพต่อบ้านเก่า ต่อสังคม และชุมชนโดยรอบเลยล่ะ

02

DBS: ประสบการณ์ต้องใช้การสะสมที่มาก การทำงานอย่างหนัก และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จากผู้คน สังคม ทั้งในและต่างประเทศ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสรรค์งานหรือไม่

คุณปรีชญา : เราเห็นความเป็นตัวตนชัดในงานที่เราทำ เป็นช่วงที่กลับมาจากเมืองนอกทั้งคู่ แล้วมาทำงานด้วยกันทำ Let’s Sea ที่กะตะ ก่อนที่หัวหิน เพราะก่อนหน้าที่จะทำ Agaligo เราไม่ได้ทำงานด้วยกันแม้จะอยู่ด้วยกัน พอได้มาทำก็สนุกมาก

คุณศิษฐ์ : เราไปเรียนต่อโท พี่กลางไปต่อสถาปัตย์ ผมต่อ Urban Design พี่กลางเคยผันตัวเองไปทำงานรีเสิร์ชในแล็บคอมพิวเตอร์

คุณปรีชญา : ใช่ๆ การได้ทำงานในแล็ปทำให้พี่กลางพบว่า การรีเสิร์ชเป็นการสร้างพื้นฐานความรู้ที่ดีมาก ของการทำงานออกแบบที่ไม่เหมือนใคร เราเคยปฏิเสธงานรีเสิร์ชสมัยตอนเรียน เพราะรู้สึกว่าต้องออกแบบเท่านั้นล่ะ ถึงจะเท่ เราโชคดีมากที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งมากที่ต่างประเทศ สอนให้เราสามารถเก็ตภาพไวๆ แล้วพูดคำสั้นๆ ได้เลย มันไม่ง่ายเลย เพราะเราต้องเข้าใจมาก่อนเยอะมากๆ ซึ่งช่วงแรกยากมาก หลังๆ ก็ง่ายๆ แล้วก็ออกมาในงานของเราเลย ตอนนี้ เราทำงานง่าย พูดให้ใครฟังก็เข้าใจ แล้วพวกน้องๆ ก็อยากทำงานกับเราด้วย

คุณศิษฐ์ : มีความคิดขึ้นมาอันหนึ่งว่า การสร้างอาคารหนึ่งหลัง ใช้ทรัพยากรเยอะนะ จะคิดมั่วๆ สั้นๆ มันไม่ได้ จะใช้ทรัพยากรให้สูญเปล่าไปไม่ได้ เราเลยอยากสร้างงานค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะมากกว่าปกติ ใช้ได้จริง คุ้ม มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีความเป็นตัวตนของตนเอง

คุณปรีชญา : แต่ลักษณะเฉพาะอันนี้ เราไม่ได้คิดถึงตัวเองหรือของ Agaligo Studio เราคิดถึงของลูกค้า คือเราควรจะหายไปเลย คือเราไม่ได้รู้สึกว่าต้องพรีเซนต์ตัวเอง เราพยายามบอกลูกค้าค่ะว่า ไม่ต้องให้เครดิตเรามาก แต่เวลาทำงานเราทำเต็มที่ค่ะ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของลูกค้าที่สุด แล้วเราก็รับงานต่อปีไม่เยอะ เพราะทำแค่สองคน จับทุกส่วนจริงๆ อยากทำแบบนี้ และเราก็คุยกันว่า ต้องสัมภาษณ์ลูกค้าค่ะ เพราะงานที่ดีก็มาจากลูกค้าที่ดีด้วย จึงค่อนข้างเลือกงาน คือเวลาทำงานจะทำกันหนักมาก บางงานร้องห่มร้องไห้

คุณศิษฐ์ : จริงๆ งานเราไม่เยอะครับ น้อยๆ เวลาทำงานพอได้เจอคนเก่ง เราจะทำงานได้เร็วมาก เพราะแค่พูดคุยกัน กลับไปหนึ่งคืน อีกวันกลับมาความคิดก็ไปเร็วถึงไหนต่อไหนแล้ว มันมากครับ

การไปดูงานช่วยคิดงานได้มาก อย่างหนังสือที่เราได้ดูน่ะ อืม…หนังสือทราบ แต่ไปดูของจริงซึ้ง (หัวเราะ) เพราะการไปอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เราจะได้ทุกความรู้สึก รวมถึงสัมผัสที่ 6 ด้วย

คุณปรีชญา : เคยไปนั่งในโบสถ์หนึ่งแล้วน้ำตาจะไหล ขนลุก เพราะไม่ใช่แค่ภาพจากหนังสือ แต่มีเสียงระฆัง กลิ่นควันธูป คนเดินผ่าน สเกลพอได้นั่ง เป๊ะ หยิบตลับเมตรวัดเลย (หัวเราะ) เรื่องนี้ถูกสอนตอน Tandem เจ้านายให้โอกาสมาก เป็นที่ถูกส่งไปอยู่โรงแรมเปิดใหม่ที่บาหลี ทำตัวไม่ถูกเลย เจ้านายบอกไม่ต้องคิดเลย แค่ไปถึงที่นั่นแล้วเอากลับมารายงาน วัดทุกอย่าง แล้วเขาก็ถาม แล้วนั่งสบาย เราก็ตอบค่ะๆ เจ้านายถาม สูงเท่าไร ก็เฮ้ย มีถามอย่างนี้ด้วยเหรอ? หลังจากนั้นมา ตลับเมตรพกติดตัวตลอด วัดทุกอย่าง กลัวถูกถาม

คุณศิษฐ์ : จะนั่งตรงไหน ยืนตรงไหน สบาย หยิบตลับเมตรมาวัดแล้ว ผิดไปเซนเดียวยังรู้เลย

คุณปรีชญา : บางอย่างคนไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้วสเกลคือสิ่งที่ทำให้สถานที่นั้น คนนั่งติด หรืออยากมา แบบไม่รู้ตัวเลย อย่างมีลูกค้าชอบนัดเราที่ร้านอาหารญี่ปุ่น เราก็สงสัยนะคะ คือตรงนั้นมีสเกลที่เป๊ะมาก มีเคาน์เตอร์ที่นั่งหันหลังแล้วไม่ไกลเกินไป เพราะมันจะเกิดการคุยกัน เกิดโซเซียล

คุณศิษฐ์ : ลูกค้าจะคุยกันหมด รู้จักกัน ไม่ว่าคุณจะแปลกหน้ามาจากไหน เผลอแป๊บเดียวคุณจะคุยกับคนข้างๆ แล้วเราไปสองครั้ง สังเกตได้เลยสักช่วงสามทุ่มนี่ลูกค้าทั้งร้านหัวเราะเรื่องเดียวกันได้เลย การวางโต๊ะ เคาน์เตอร์

คุณปรีชญา : ใช่ๆ มันแปลกมากค่ะ หรือหันหลังไปก็กลายเป็นกลุ่มเดียวกัน กลายเป็นโซเซียลสเปซ มันไม่ห่างกันเกินไป มันเป็นการตกแต่งภายในที่แคบๆ ที่เวิร์กมาก ซึ่งเราเอาประสบการณ์นี้มาทำงานได้ แต่ไม่ใช่การก๊อบปี้ ถ้าคุณต้องการสร้างงานที่เป็นยูนีค และเราก็มีความตั้งใจสร้างงานในแบบยูนีคตามแนวทางของเรา

คุณศิษฐ์ : แต่การที่เราเข้าไปนั่งในโบถส์ เห็นและสัมผัสต่างๆ ด้วยความรู้สึก อย่างนั้นเป็นยูนิเวอร์แซล หยิบมาใช้ได้ไม่ใช่การก๊อบปี้นะ

คุณปรีชญา : จะบอกอย่างหนึ่งกับเด็กๆ ที่ได้ไปดูงานของ Great Master Architecture ดีนะคะ แต่ว่าไปอย่างนั้นเขาทำไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ถ้าเราเอามามันคือการก๊อบปี้ อยากให้ไปพวกที่ไปชาวบ้าน ชุมชน

คุณศิษฐ์ : เดินเข้าไปในชุมชน เข้าไปในรกๆ เดินเข้าไปคุ้ยอะไรออกมาได้ อย่างเราเวลาไปเที่ยว เราจะเดินไปในตรอก ซอกซอย ไกด์ทัวร์ก็จะคอยตามหาเรา ไปโกยเราสองคนออกมา คิดดูนะว่าเก้าอี้หนึ่งตัว เคยเถียงกับลูกค้าเป็นวรรคเป็นเวรเลยว่า ควรสูงเท่าไร จริงๆ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะใช้นั่งทำอะไรด้วยนะ

คุณปรีชญา : ใช่ เพราะชาวบ้านเขาใช้ เป็นสเกลที่เขาใช้งานได้จริง คือมันเอามาแบบเป๊ะๆ แล้วใช้น่ะ ไม่ได้หรอกค่ะ แต่เอาแต่ละมุมมาคิดต่อ ภาพที่เขาทำมาสเตอร์มาแล้ว ดูแล้วขนลุก ชื่นชมมาก เราไม่เอาผลสำเร็จมาใช้ต่อค่ะ เพราะไม่มีอะไรแล้วนะ

DBS: บางครั้งมีความจำเป็นมั้ย ว่าคนรู้จักเราแล้วจะกระตุ้นให้คุณสร้างสรรค์งานที่ดียิ่งขี้นมั้ย

คุณศิษฐ์ : ไม่เลย (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น คิดแต่ว่าตั้งใจทำงานให้ดีเท่านั้นเอง

คุณปรีชญา : เราได้เจอน้องๆ นะคะ ได้คุยกัน หรือคนที่เราได้ทำงานด้วย ก็คุยกันเกี่ยวกับการทำงาน เราจะสอนน้องๆ ค่ะว่า ตั้งใจทำ ทำงานไป หาความรู้ไป แล้ววันหนึ่งก็ดีเอง ไม่ต้องรีบให้สัมภาษณ์ ไม่ต้องรีบดัง ให้งานเป็นตัวบอกฝีมือของเรา เราทำงานกันไม่เก่งค่ะ แต่เราเลือกทำกับคนทำงานเก่งๆ ซึ่งเขาต้องอยากทำงานกับเราด้วยนะ แล้ววันหนึ่งที่เราเจอคนเก่ง เราก็ไม่อยากปล่อยไปไหนแล้ว (หัวเราะ) เพราะช่วยให้เราทำงานเก่งขึ้น ตอนนี้จึงค้นพบว่า เพราะเราแข็งแรงทางความคิด กล้าถกกับลูกค้า เราจึงได้งานอย่างที่เราต้องการ แล้วปัญหาการทำงานไม่ค่อยมี คือถ้ามีก็เป็นเล็กๆ น้อยๆ แก้ได้

DBS: คุณค้นหาแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไร

คุณศิษฐ์ : ทุกอย่างที่เข้ามา

คุณปรีชญา : ใช่ค่ะ ทุกอย่างที่เข้ามา ให้ชี่นชม ของบางอย่างมีสองมุม หาที่ดีให้ได้ ยิ่งได้ของที่ดีจากของที่รวมๆ แล้วไม่ดี ยิ่งดี สนุก

คุณศิษฐ์ : ตอนนี้เราเห็นทุกอย่าง จริงๆ ได้ทุกอย่าง จากสถาปนิกที่ทำงานดีๆ ศิลปะแขนงอื่นๆ เราสามารถมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ หัวใจของมันคือการเอามันมา แล้วเรียง และรู้ว่าจะหยิบมาใช้เมื่อไร

คุณปรีชญา : เก็บไว้เยอะๆ เลย แล้วค่อยเอามาเรียงตอนได้โปรแกรมแล้วลงมือทำงาน พี่เล็กกับพี่กลางจะช่วยกันตบค่ะ ให้เหมาะกับโปรเจ็กต์ ไม่ต้องรีบ

24 20 21 23

 

Leave A Comment