A DAY TOGETHER

สุขสมบูรณ์ที่จุดสมดุล

Text: กชกร
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Owner: อรรถสิทธิ์ กองมงคล และ วิไลลักษณ์ กุลศักดิ์นันท์
Architect: อรรถสิทธิ์ กองมงคล จาก Full Scale Studio

Interior2_30“บ้านใหม่ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างจากศูนย์หรือเปลี่ยนทั้งหมด แต่เรามองว่าหัวใจของมันคือการบาลานซ์ ระหว่างของเก่าที่เราชอบ และสิ่งใหม่ที่เราอยากได้” คุณอรรถ – อรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกคนเก่งแห่ง Full Scale Studio บอกกับเราอย่างนั้น และนั่นก็ดูจะเป็นความจริง เมื่อเขาได้พาเราไปค้นพบความหมายในบ้านหลังเก่าซึ่งถูกรีโนเวทให้กลายเป็น บ้านหลังใหม่ของครอบครัว

หลังกลับมาเปิดบริษัทสถาปนิกกับเพื่อน และคุณกวาง – วิไลลักษณ์ กุลศักดิ์นันท์ ภรรยาเริ่มทำร้านกาแฟ Penguin Ghetto ที่เชียงใหม่ได้สักระยะ บวกกับมีลูกสาววัยกำลังน่ารัก อย่าง น้องปันนาเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว ทั้งคู่จึงเริ่มมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับสมาชิกตัวน้อย และสร้างจุดสมดุลให้กับชีวิต 2 ด้านของคุณอรรถ นั่นคือ การเป็นสถาปนิก และนักดนตรีเพอร์คัสชั่นที่ North Gate บาร์แจ๊ซชื่อดังเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งโจทย์ว่า ที่ดินต้องมีขนาดเล็ก ราคาไม่แพง และตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่

Interior2_44คุณอรรถเล่าว่า เขาใช้เวลาตามหาที่ดินในฝันเกือบ 5 ปี เมื่อไม่พบจึงตัดสินใจซื้อบ้านเก่าซึ่งเขาและครอบครัวคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะอยู่ถัดจากบ้านพี่ชายของเขาไปเพียง 2 – 3 หลังเท่านั้น “บางคนอาจมองว่าตึกเก่ามันดูล้าสมัย สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่น่าใช้งาน แต่ด้วยอาชีพของเรา เราสามารถนำดีไซน์เข้าไปแก้ปัญหาพวกนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีความดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานระบบที่มีอยู่แล้ว น้ำ ไฟ อินเตอร์เน็ตเข้าถึง อย่างบ้านหลังนี้ก็ถูกจริตผมตรงที่มีความกลมกลืนกับเพื่อนบ้าน แต่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการทำเสปซในบ้านให้ดี ให้มันพิเศษแทน”

เดิมทีบ้านหลังนี้ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ตัวบ้าน 2 ส่วน และศาลานั่งเล่นที่ไม่ค่อยมีใครใช้งาน 1 ส่วนอันเนื่องมาจากรั้วบ้านมีลักษณะเปิดโล่ง ขาดความเป็นส่วนตัว ทำให้ผู้อยู่อาศัยคนก่อนๆ มักอยู่แต่ในบ้านมากกว่าออกมากิจกรรมภายนอก คุณอรรถจึงจัดสมดุลให้กับพื้นที่โดยเชื่อมตัวบ้านทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันเป็นรูปตัวแอลลงล็อคพอดีกับตัวศาลา ผนังบ้านที่มีช่องหน้าต่างเล็กๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยประตูบานเลื่อนกระจกใสขนาดใหญ่สร้างความลื่นไหลต่อเนื่องกับ พื้นที่นอกบ้าน ไม่ว่าน้องปันนาจะวิ่งเล่นในสวน คุณกวางจะทำอาหาร หรือคุณอรรถอาจกำลังซ้อมดนตรีกันคนละมุมบ้าน แต่ทุกคนยังเชื่อมถึงกันทั้งทางสายตา และความรู้สึก ก่อนทำรั้วบังสายตาจากวัสดุที่หาง่ายมีราคาน่าคบหา อย่าง เหล็กฉาก กับแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ทำมุม 45 องศา เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวใช้พื้นที่นอกบ้านได้อย่างไม่เคอะเขิน และมองเห็นเรื่องราวนอกรั้วบ้านได้ในเวลาเดียวกัน

Interior2_29Interior2_06
เช่นเดียวกับเฉลียง หน้าบ้าน คุณอรรถได้นำวัสดุธรรมดาๆ อย่างก้อนอิฐ มาสร้างความเป็นส่วนตัว และใส่ไอเดียสนุกๆ ลงไปด้วยการเล่นจังหวะช่องว่างให้ลมผ่าน ตลอดจนเส้นสายของแสงเงาที่ตกกระทบ ทำให้บ้านอายุกว่า 20 ปีหลังนี้ดูเท่ไม่หยอก แถมยังมีมุมเล็กๆ ไว้เลี้ยงแมว และปลูกต้นไม้ที่ชอบอีกด้วย  “เรื่องงานระบบ ไฟฟ้า ประปา ก็ตัดสินใจทำใหม่หมด อย่างเปิดฝ้าเช็คระบบดูเราก็พบว่า เห้ย ! เหล็กมันสวย โครงสร้างมันดีเลยตั้งใจโชว์ไว้ ส่วนแสงไฟถ้าวันไหนต้องทำงาน ผมก็จะเปิด Down Light แต่ถ้าวันไหนอยากผ่อนคลายก็อาจเปิด Up Light แทนการใช้ดิมเมอร์ คือเราสนุกกับการเอาของง่ายๆ มาทำให้มันน่าสนใจมากกว่า”

Interior2_02Interior2_08Interior2_09 ภายในบ้านโปร่งสบายด้วยพื้นที่โล่งกว้าระหว่างระหว่างพื้น และเพดานที่ถูกรื้อฝ้าออกเพื่อโชว์โครงสร้างสวยๆ ของคานเก่า ตลอดจนการจัดพื้นที่แบบ Open Plan ระหว่างห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร กับห้องครัวซึ่งคุณอรรถให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยทำเคาเตอร์ครัวใหม่ทั้งหมด เจาะผนังด้านข้างสำหรับซ่อนตู้เย็น และทำที่เก็บของในตัว ช่วยให้มุมนี้ดูสะอาดเรียบร้อยทุกเวลา  “เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่ และทำเผื่อกวางด้วย เพราะเขาชอบทำกาแฟ ทำขนม เราอยากทำห้องครัวให้มันดีๆ เอากำแพงเดิมออก ทำครัวให้โล่งเข้าไว้ แต่ถ้าช่วงไหนมีแขกมาเยี่ยมบ้าน ก็สามารถเลื่อนประตูบานไม้ออกมาเพื่อกันกลิ่น”

Interior2_05เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ผสมผสานระหว่างของเดิมที่มีอยู่แล้วในบ้านเก่า เช่น โซฟหนังดึงดุมสไตล์คลาสสิคตัวใหญ่ของพี่สาว ตู้เสื้อผ้าเก่าในห้องนอน แอร์รุ่นเก่าซึ่งยังใช้งานได้ดี กับของใหม่ที่ทำขึ้นเฉพาะกิจ เช่น ไอส์แลนด์คิทเช่นที่ทำจากไม้ท็อปด้วยสแตนเลส ตู้เก็บของบิลด์อิน โต๊ะรับประทานอาหารตัวใหญ่ ฯลฯ นอกจากจะดูเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใครแล้วยังประหยัดอีกด้วย

Interior2_16บทสนทนาระหว่างเรากับเจ้าของบ้านเป็นไปอย่างสนุกสนาน ก่อนออกรสชาติยิ่งขึ้นเมื่อมาถึงห้องสุดท้ายซึ่งอัดแน่นด้วยกลอง และเครื่องเพอร์คัสชั่นหลากหลายสัญชาติ ตั้งแต่แอฟริกา บราซิล อินเดีย คิวบา ฯลฯ ทุกชิ้นไม่ใช่ของสะสมโก้เก๋ หากแต่ถูกสัมผัสและซ้อมมือจากเจ้าของพวกมันมาอย่างเข้มข้น  “จากวันแรกที่เริ่มเรียนเพอร์คัสชั่นกับอาจารย์เป้า คาราวบาว มาวันนี้ดนตรีมันเปิดโลกเรามาก เพราะแต่ละตัวมีประวัติศาสตร์ และวิธีคิดในการเล่นที่ต่างกัน ถ้าถามว่าความสุขของการเล่นดนตรีทุกวันนี้คืออะไร เราคิดว่าการได้มีโอกาสเล่นกับคนเก่งๆ กับคนที่เราชื่นชอบมันคือที่สุดแล้ว”

Interior2_20เมื่อบ้านถูกออกแบบมาให้สมดุลกับชีวิต ทุกมุมที่เห็นจึงเป็นมุมพิเศษ เหมือนกับที่คุณอรรถบอกเราก่อนจากว่า “นึกไม่ออกเหมือนกันนะว่าใช้มุมเป็นประจำ เรารู้สึกว่าทุกมุมของบ้านมันมีความสำคัญพอๆ กันหมด เหมือนกับที่เราอยากสร้างสมดุลระหว่าง ครอบครัวกับงาน ดนตรีกับสถาปัตย์ เช่น บางเวลาต้องทำงานสถาปัตย์ แต่อยากเล่นดนตรีมาก ก็ทำไม่ได้ หรืออยากซ้อมแต่เวลาไม่พอ เพราะต้องทำงานส่งลูกค้า แต่พอมีบ้านที่ตอบโจทย์เป้าหมายบางอย่างมันก็คลี่คลายขึ้น”

Leave A Comment