WHAT IF BANGKOK IS (PART 2)

สมมุติว่ากรุงเทพเป็น…ในความคิดเห็นของ
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, ยศพล บุญสม และวรพงศ์ ช้างฉัตร

Text: กรกฎ หลอดคำ
Text: วรวิทย์ หวังภักดี
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ SPECIAL INTERVIEW, Daybeds 160 เดือนมกราคม 2559

ท่ามกลางความจอแจแออัดของอาคารสูงและชุมชนน้อยใหญ่ในมหานครแห่งสยาม บริบทของเมืองย่อมหลีกไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดสถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง อีกบทบาทของนักออกแบบอาคารและพื้นที่จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนกำหนดภาพลักษณ์ของเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Daybeds ต้อนรับศักราช 2016 ว่าด้วยธีม ‘Bangkokian’ กำลังพูดถึงพื้นที่และอาคารสาธารณะ กับความรับผิดชอบของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ต่อบริบทของเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราไม่เชื่อว่าเทรนด์ในแต่ละยุคจะมีส่วนกำหนดทิศทางการออกแบบที่เปลี่ยนไปทั้งหมด ก็อาจจะมีบ้างสำหรับบางคน ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนอาจขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ Daybeds เชื่อมั่นเสมอมาก็คือสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ทุกคนให้ค่าความสำคัญเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้ไม่น้อยไปกว่ารูปลักษณ์ที่สวยงาม สิ่งนี้ต่างหากคือนิรันดร์

‘งานดีไซน์เพื่อคนกรุงเทพฯนั้นสำคัญไฉน คนกรุงเทพฯได้อะไรที่มากกว่าคำว่างานดีไซน์ และถ้าเลือกได้อยากออกแบบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนกรุงเทพฯ’ คำถามเหล่านี้คงไม่มีคำตอบใดเหมาะสมไปกว่าสิ่งที่ คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Spacetime, คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกพลังงานสูงแห่ง Shma และ คุณวรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรและหนึ่งในผู้บริหารจาก PIA Interior แขกรับเชิญ 3 ท่าน จาก 3 บริษัทออกแบบชั้นนำของวงการออกแบบบ้านเรา เพราะพวกเขาทั้งหมดคือแนวหน้าของผู้ออกแบบอาคารและสถานที่สาธารณะ ที่ตั้งอยู่รายล้อมรอบตัวคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือแม้แต่คอนโดมิเนียม บริบทของเมืองที่คนกรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

00
TALKING WITH THE CITY
พื้นที่ของการพูดคุย
ยศพล บุญสม

 

ในห้วงเวลาปัจจุบัน ผู้คนในประเทศต่างๆ ต่างหันหน้าเข้าหาพื้นที่อาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประชากรโลกกว่าครึ่งหนึ่งล้วนอาศัยอยู่ในเมือง กรุงเทพมหานครเองก็มีทิศทางของเมืองดำเนินอยู่ในกระแสดังกล่าว คำถามคือ ในขอบเขตของเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาพื้นที่เมืองแบบใด ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชน ผู้ที่เป็นผู้ใช้งานและเป็นจ้าของเมืองอย่างแท้จริง เพื่อตอบคำถามมากมายที่เกิดขึ้น ‘คุณยศพล บุญสม’ ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัทภูมิสถาปัตย์ Shma และ Shma SoEN หนึ่งในนักออกแบบที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงาน ผลักดันและตั้งคำถามอันก่อให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่เมืองในหลากหลายพื้นที่ ตั้งแต่โครงการสวนสร้างสรรค์มักกะสัน, ชุมชนริมน้ำกุฎีจีน-คลองสาน, ชุมชนริมน้ำยานนาวา, กลุ่ม Friends of the river และโครงการเล็กใหญ่อื่นๆ อีกมากมายในกรุงเทพมหานคร

Daybeds: ไม่ใช่สถาปนิกทุกคนที่จะออกมาทำในเรื่องของการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสนใจการออกแบบเพื่อการเปลี่ยนแปลง

Yossapon Boonsom: ผมว่าโดยพื้นฐานวิชาชีพมันก็จะพูดถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าทุกคนที่จบมาทางสายนี้ก็จะมีจิตสำนึกที่อยากจะทำเรื่องพวกนี้เป็นทุนเดิม แต่ถ้าถามตัวผม คือตั้งแต่เด็ก เราก็จะเห็นสภาพแวดล้อมในเมืองที่มันเป็นไม่ค่อยเวิร์ก ไม่ว่าจะทางเท้า หรืออะไรอื่นๆ แล้วเราก็จะเห็นการเปรียบเทียบ เอ๊ะ! ทำไม บ้านอื่นเมืองอื่น มันดีกว่า ใช่ไหมฮะ ทีนี้ผมก็รู้สึกว่า โอเค ถ้าคนที่ไม่ได้เรียนทางนี้มา เขาก็อาจจะไม่รู้ว่ามันมีทางออกยังไง แต่พอเรามีวิชา เราพอรู้ว่า เฮ้ย มันควรจะทำอย่างนี้สิ ถ้าเกิดเราอยากจะทำให้มันเปลี่ยนแปลง เราจะไปหาช่องทางยังไง

แล้วก็อีกส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่า ตอนที่เราทำงานที่สิงคโปร์ หรือที่อื่น เราก็จะทำงานคอมเมอร์เชียลมามาก มากจนเรารู้สึกว่า โห คือเราเห็นวงจรมันนะ มันวก มันซ้ำ ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นนะ แต่พอซักพักมันก็ อ้าว! ตกลงนี่ เราเป็นเครื่องมือให้เขาใช่ไหม มันก็เกิดตั้งคำถาม ถ้าสมมุติว่าเราอยากจะทำให้มันดีต่อคนอื่น นี่มันจะทำได้ยังไง เหมือนกับ ชีวิตนะครับ มันก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ตกลงสิ่งที่เราทำมันใช่ไหม

Dbs: ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ กระแสเรื่องพื้นที่สาธารณะกำลังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างรัฐกับคนในสังคม คุณคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่จะมีจุดที่พบกันตรงกลาง แล้วพื้นที่แบบไหนที่เหมาะสมหรือควรที่จะเกิดขึ้น

YB: คือมันต้องยอมรับว่า พื้นที่สาธารณะมันเป็นของรัฐ ถูกไหม แล้วเขาก็ทำตามแบบแผนของเขา คือ เขาก็มีคนที่ตัดสินใจ ว่าโอเค นี่คือ เราจะมีสวนสาธารณะนะ ออกแบบอย่างนี้ๆ คุณก็ไปใช้ มันก็เป็นวิธีเดิมๆ แต่สำหรับผม ผมว่ายุคที่มีการสื่อสารอย่างเฟซบุ๊คอะไรอย่างนี้ คนมันก็เริ่มอยากจะบอกไงว่า เฮ้ย! อันนี้มันไม่เวิร์ก อันนี้มันไม่ดี มันก็เกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะบอกกล่าวเรื่องเหล่านี้ ซึ่งพออันนี้มันเกิดขึ้น รัฐเขาก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย! มันเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งผมว่าที่มันบูมขึ้นมาก็คือ แน่นอน รัฐบาลก็เริ่มมีโครงการเหล่านี้มากขึ้น แต่ตอนนี้มันอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน คือ พอเขาอยากจะทำแต่เขาไม่รู้วิธีที่จะทำ แล้วงานส่วนใหญ่มันก็ยังอยู่ในกลไกของภาครัฐ คือถ้าเป็นต่างประเทศ เขาก็จะมีประกวดแบบนะ ให้บริษัทภูมิสถาปนิก ให้มืออาชีพจริงๆ มาทำ มันก็จะเกิดการกระจายงานสู่มืออาชีพ แล้วมันก็จะเกิดงานที่น่าสนใจ ผมว่ามันก็จะเป็นการค้นหาคำตอบไปในตัวว่า ไอ้พื้นที่แบบไหนที่มันเหมาะกับสังคมเราจริงๆ

แต่ตอนนี้มันก็มีปรากฏการณ์หนึ่ง คือการที่คอมเมอร์เชียลเอง เขาก็พยายามที่จะบูรณาการพื้นที่สาธารณะเหล่านี้มากขึ้น ตั้งแต่ เอ็มควอเทียร์ หรือเซ็นทรัล ที่มีจ็อกกิ้งบนดาดฟ้า หรือคอนโดที่แบบมีทางจักรยาน มีอะไรอย่างนี้ คือผมว่ามันก็ตอบเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่เขาพยายามหาจุดขายที่มันต่างออกไป จริงๆ มันก็นำมาสู่ข้อหนึ่งที่ว่า สมมุติเราโน้มน้าวรัฐอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราลองดีเวลล็อปเปอร์ คนที่ทำคอมเมอร์เชียล คนที่เขาถือเงิน ถ้าเขาเห็นตรงนี้ เขาก็สามารถที่จะไปในทางนั้นได้

“พื้นที่สาธารณะมันไม่ได้เป็นการสร้างกายภาพเพื่อให้ได้กายภาพ แต่เป็นการสร้างกายภาพเพื่อให้มันเกิดการบูรณาการของสังคม ซึ่งผมว่าอันนี้มันเป็นผลลัพธ์ที่มันไปไกลกว่า เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้มันก็จะเป็นการที่จะเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนที่ใช้สอยจริงๆ เจ้าของที่ดิน หน่วยงานรัฐ เข้ามาร่วมพูดคุย การรวบรวมข้อมูลแบบนี้นักออกแบบก็จะได้ประโยชน์ แบบมันก็จะออกมาตรงความต้องการ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมว่าสำคัญกว่า คือมันทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นจริงๆ ว่าเขาไม่ได้มาเป็นแค่คนใช้นะ แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการที่มันได้มา”

666666666ลานกีฬาพัฒน์ พื้นที่การเคหะคลองจั่น

ที่ตั้ง: พื้นที่การเคหะคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
(ภาพถ่ายโดย จิระศักดิ์ ทองหยวก)

Dbs: ถามถึงกระบวนการการทำงานของคุณเอง มีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหนระหว่างการทำงานเชิงพาณิชย์กับการทำงานร่วมกับชุมชน

YB: มันก็ต่างมาก คืออย่างถ้าเราทำคอนโดหรืออะไรอย่างนี้ เขาก็จะมีเจ้าของโครงการ ฝ่ายการตลาดก็ไปสรุปมาแล้วว่ามันจะมีหน้าตาเป็นแบบนี้ มีผู้ใช้แบบนี้ มันก็เหมือนเราคาดเดาว่าเขาจะชอบแบบนี้ แล้วมันก็จะเป็นการตัดสินใจในเชิงความชอบไม่ชอบ หรือตัดสินใจในพื้นฐานว่า มันแตกต่างอย่างไรกับคู่แข่ง ซึ่งวิธีนี้มันก็ไม่สามารถที่จะเอามาใช้กับงานที่มันเป็นสาธารณะมากๆ ได้

มีตัวอย่างที่เราไปทำลานกีฬาพัฒน์ ที่คลองจั่น (ลานกีฬาพัฒน์ เคหะชุมชนคลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ) คือทางเจ้าของโครงการ สำนักราชเลขา เขาก็รู้สึกว่า มันน่าจะมีกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพราะจริงๆ พื้นที่สาธารณะมันไม่ได้เป็นการสร้างกายภาพเพื่อให้ได้กายภาพ แต่เป็นการสร้างกายภาพเพื่อให้มันเกิดการบูรณาการของสังคม ซึ่งผมว่าอันนี้มันเป็นผลลัพธ์ที่มันไปไกลกว่า เพราะฉะนั้นไอ้กระบวนการนี้ มันก็จะเป็นการที่จะเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนที่ใช้สอยจริงๆ เจ้าของที่ดิน หน่วยงานรัฐ เข้ามาร่วมพูดคุย คือการรวบรวมข้อมูลแบบนี้ นักออกแบบก็จะได้ประโยชน์ แบบมันก็จะออกมาตรงความต้องการ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมว่าสำคัญกว่า คือมันทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นจริงๆ ว่า เขาไม่ได้มาเป็นแค่คนใช้นะ แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งในการที่มันได้มาซึ่งอันนั้น แล้วเขาก็มีตัวตน เพราะว่าเราถามเขา เราเคารพในสิ่งที่เขาพูด เพราะฉะนั้นความภาคภูมิใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมันจะแข็งแรง

แต่ทีนี้พอขยับมาเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้น อย่างเราไปทำกับทาง UDDC ซึ่งอันนั้น คนที่ถือผลประโยชน์ มันก็จะขยายใหญ่ขึ้น มันก็จะไม่ใช่กลุ่มคนในชุมชนเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นความสลับซับซ้อนในการทำความเข้าใจมันจะมาก คือมันเหมือน หนังไรส์ มิวเซียม (ภาพยนตร์ Het Nieuwe Rijksmuseum – De Film – 2014) นึกออกใช่ไหมฮะ (หัวเราะ) คือผมไปดูนะ มันสะท้อนเลย คือในมุมคนที่ไปเรียกร้อง เขาก็ต้องพูดในสิ่งที่มันเป็นจุดยืนของเขา เพราะว่าแน่นอน กระบวนการนี้ ถ้าเขาเสียจุดยืนมันย่อมถูกประณีประนอม แล้วเขาก็จะไม่ได้ในสิ่งนั้น แต่ว่าพอมาเป็นฝ่ายรัฐ เขาก็จะมีข้อจำกัด เขาจะมีเรื่องงบประมาณนะ เขาจะมีเรื่องวาระที่เขาต้องอยู่ มันก็ต้องมีไทม์เฟรม อะไรอย่างนี้ แต่ผมว่า จริงๆ ทุกที่มันเกิดแหละ ในการที่สองฝ่ายมันจะทะเลาะกัน เพราะว่า มันไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ใช่ไหมฮะ คือหลายๆ ครั้ง เราก็เห็นมา ว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องของโลจิกอย่างเดียว แต่มันก็เป็นเรื่องของความ ไว้เนื้อเชื่อใจ ที่มันจะต้องมีมากขึ้น

06ลานกีฬาพัฒน์ พื้นที่การเคหะคลองจั่น
ที่ตั้ง: พื้นที่การเคหะคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
(ภาพถ่ายโดย จิระศักดิ์ ทองหยวก)

Dbs: สำหรับคุณ เมื่อถึงกระบวนการออกแบบโปรเจ็กต์ที่เป็นเมือง จำเป็นที่จะต้องมีภาพสุดท้ายในใจไหม

YB: คือเมื่อก่อน เราก็จะเหมือนสถาปนิกหรือเด็กทั่วไปที่แบบจะชอบวาด จินตนาการ เราก็อยากที่จะให้มันเป็นอย่างนี้ เท่านั้น ทีนี้พอเราได้ลองเข้าไปในชุมชนแล้วเรา อ้าว! ไอ้สิ่งที่เราคิดเนี่ย มันไม่ใช่ แล้วปรากฏว่าไอ้สิ่งที่ชุมชนบอกเนี่ย มันเจ๋งกว่า (หัวเราะ) มันเจ๋งกว่าเยอะ เพราะว่าเขาเข้าใจในบริบท ในสิ่งที่มันเป็นจริงๆ แต่แน่นอนเรื่องดีไซน์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้เราจะทำยังไงให้มันสามารถมีดีไซน์บางอย่างที่เราคิดว่าอยากให้มันดี อย่างนั้นอย่างนี้นะ ซึ่งผมว่าอันนี้มันน่าสนใจกว่าการดีไซน์ไปในทิศทางเดียว เพราะว่าจริงๆ แล้ว ผมก็เรียนรู้ว่า สุดท้ายมันก็เป็นกระบวนการของการแลกเปลี่ยนกัน คือ ชาวบ้านเขาอาจจะมีข้อมูล หรือสิ่งที่น่าสนใจ แต่เขาก็อาจจะไม่เคยเห็นว่า เฮ้ย! มันมี มันทำแบบนี้ก็ได้ หรือแบบนี้มีคนอื่นทำแล้วนะ ที่ทำแล้วมันดีกว่า แล้วเราก็ใช้วิธีการ เอารูปให้เขาดู เอากรณีศึกษาให้เขาดู เขาก็เปิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการเปิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วสุดท้ายมันก็จะนำมาสู่ตรงจุดร่วม

Dbs: ถามถึงเรื่องของชุมชน เรามักจะพูดกันมากว่าชุมชนต่างๆ จะมีเอกลักษณ์ที่ควรค่าในการเก็บรักษาไว้ แต่ในการไล่รื้อหลายๆ ชุมชนที่ผ่านมา ก็ทำให้สังคมรู้สึกเหมือนกันว่ามันดีกว่าการที่จะเก็บไว้ อะไรคือการวัดคุณค่าของแต่ละชุมชนว่าดีหรือไม่ดี

YB: ประเด็นที่สำคัญก็คือ มันจะต้องเอาเรื่องพวกนี้ให้สังคมพิจารณา ว่าถ้ามันมี คุณต้องแลกด้วยอะไร หรือถ้ามันไม่มีคุณจะได้อะไร แล้วมันก็จะเกิดการวิเคราะห์ตัดสิน ว่าอันไหนมันจะได้สิ่งที่ดีกว่า คือผมว่ามันไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเลือก ซ้ายหรือขวา แค่คุณต้องเอามันมาตัดสินว่าคุณจะต้องแลกอะไรด้วยอะไร ผมคิดว่า ในการทำงาน มันไม่ได้มีอะไรตายตัวเท่าที่ควร อย่างทางเลียบแม่น้ำ (แลนด์มาร์คกรุงเทพ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม.) ผมคิดว่ามันอันตราย คือมันก็มีหลายคนบอก เฮ้ย! มันก็อาจจะดีก็ได้พอมันออกมาแล้ว แต่มันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ คุณต้องถาม มันเป็นกระบวนการทำประชาธิปไตย คุณต้องถามคน แล้วคุณต้องสร้างความตระหนักให้กับคน คือเหมือนตอนนี้ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน ซึ่งผมว่านี่มันอันตราย เพราะว่าสุดท้าย ปัญหาอะไรต่างๆ ของเมืองมันไม่สามารถแก้ไขได้โดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าคุณสามารถทำให้พลเมืองเห็นเป้าหมายว่า เรากำลังจะเดินไปเพื่ออะไร แล้วคุณต้องบอกว่า พวกคุณมีส่วนในนี้นะ แล้วมันเป็นหน้าที่คุณด้วยกลายๆ มันก็จะเกิดพลเมืองที่ตื่นตัวในเรื่องพวกนี้

china town 01โครงการ ตลาดน้อย ย่านจีนถิ่นบางกอก
ที่ตั้ง: ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 
(ภาพถ่ายจาก Shma SoEn)
Project by: ย่านจีนถิ่นบางกอก

“ผมอยากให้กรุงเทพเป็นเมืองของทุกคนจริงๆ (นิ่งคิด) หลายๆ คนก็บอกว่ากรุงเทพมันเป็นเมืองมีเสน่ห์ ผมว่าเสน่ห์มันคือความที่มันแตกต่างกันเยอะๆ ซึ่งคุณภาพแบบนี้ มันไม่ได้ถูกแพลนมา ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับ เมืองมันโตโดยธรรมชาติ แต่ทำยังไงเราถึงจะทำให้ความคลุมเครือนี้มันมีระบบบางอย่าง”

Dbs: ในฐานะนักออกแบบ คุณอยากเห็นกรุงเทพเป็นแบบไหน

YB: ผมอยากให้กรุงเทพเป็นเมืองของทุกคนจริงๆ (นิ่งคิด) หลายๆ คนก็บอกว่ากรุงเทพมันเป็นเมืองมีเสน่ห์ ผมว่าเสน่ห์มันคือความที่มันแตกต่างกันเยอะๆ ซึ่งคุณภาพแบบนี้ มันไม่ได้ถูกแพลนมา ซึ่งอันนี้ต้องยอมรับ เมืองมันโตโดยธรรมชาติ แต่ทำยังไงเราถึงจะทำให้ความคลุมเครือนี้มันมีระบบบางอย่าง แต่คุณไม่ต้องไปไล่ที่คุณป้าคุณลุงคนนั้นนะ เขาทำขนมอร่อย แล้วเขาก็ยังขายให้กับพนักงานออฟฟิศที่อยู่บนตึกสูงได้ อะไรอย่างนี้ ก็เหมือนอย่างแม่น้ำที่เราพยายามจะไปคลีนอัพมัน แต่สุดท้ายมันก็จะไม่ใช่เจ้าพระยา มันก็จะไม่ใช่เมืองไทย ที่บอก โห บ้านเรือนริมน้ำทำคลองสกปรกเลยนะ แต่ถามว่า ถ้าคุณสามารถเก็บเขาไว้ แล้วน้ำไม่ท่วมด้วยนะ แล้วก็เขามีระบบจัดการขยะดีๆ เลยนะ แล้วอยู่โดยใช้พลังงานสะอาด คือมันรวมได้ไหม แล้วมันยังสามารถอยู่ด้วยกันได้ ผมว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดีของบ้านเรา ให้มันเป็นที่ของทุกคน คือ การพัฒนาเมืองมันต้องมีความหลากหลาย อย่างโครงการของสนข. (ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 140 กม.) เขาทำประชาพิจารณ์มาผมก็ถาม คุณตั้ง ‘ทางเดินเลียบแม่น้ำ’ ‘ทางจักรยานริมน้ำ’ อ้าว! ถ้าอย่างนั้นคุณก็มีล็อกคำตอบไว้แล้วสิ (หัวเราะ) ใช่ไหม มีคำไว้รออยู่แล้ว อย่างนั้นคุณมาถามเพื่อจะให้มันกลายเป็นคำนี้หรือ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นจริงๆ ก็โอเคมันอาจจะดี แต่ถามว่าทำไมเราไม่สร้างคำถามปลายเปิดบ้าง คือผมอยากให้มันมีทางเลือกของการพัฒนาที่หลากหลาย แล้วถ้ามันเกิดจาก เสียงเล็กๆ ผสมกับเสียงใหญ่ๆ บ้าง มันก็จะเกิดการผสมผสาน มันก็จะฟอร์มไอเดนติตี้ของประเทศเราได้จริงๆ คือถ้าถามว่าไอเดนติตี้ของกรุงเทพคืออะไร มันก็ไม่ควรจะมีคำตอบเดียว อ๋อ วัดพระแก้ว หรือว่า ต้องเป็นทองหล่อ ต้องอะไร

Dbs: ถ้าเลือกได้ก็คงอยากอยู่กรุงเทพใช่ไหม 

YB: ใช่ครับ (หัวเราะ) มันก็เป็นบ้านเรา คือเราก็ไปมาหลายที่ มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ถามว่าทำไมเราอยากกลับมา บ้านเราเป็นอย่างไรตัวตนเราก็เป็นอย่างนั้น ผมก็เลยคิดว่า ถ้าเราอยากทำให้บ้านเราน่าอยู่ ก็ทำหน้าที่ของแต่ละคน แล้วผมว่ามันก็ถึงเวลา คือมันไม่ได้หมายความว่ามันต้องสำเร็จ ตัวผมก็มีความอยาก อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นความอยากของผม เราก็ต้องลองดูซักตั้งว่าจะมีคนคิดเหมือนกันไหม เราจะทำได้ไหม

Friends of the River 01Friends of the River (FOR)

++Friends of the River (FOR)

 

 

 

 

 

 

Leave A Comment