FOLDED HOUSE


00

ใต้แผ่นพับคอนกรีต

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ศุภกร ศรีสกุล
Architect & Interior : นันทพล จั่นเงิน
Structural Engineer : บริษัท เซริ จำกัด

ท่ามกลางการจราจรที่หนาแน่นบนถนน เส้นหลักของกรุงเทพมหานคร ภายในซอยเล็กๆ ของถนนพหลโยธิน 24 ยังมีพื้นที่ของความเงียบสงบซ่อนเร้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ในละแวกของบรรดาบ้านเดี่ยวในย่านพักอาศัย หนึ่งในนั้นคือบ้านสองชั้นตั้งตระหง่านบนผืนดินที่มีขนาดไม่ใหญ่ไม่โตไปกว่า บ้านหลังอื่นๆ ทว่าหลังคาคอนกรีตผืนใหญ่ที่ยกตัวอยู่เหนือยอดไม้ ประกอบกับผนังกระจกและกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ภายใต้อาณัติของ ตัวมันเองนั้น กลับดึงดูดสายตาและเรียกร้องความสนใจจากผู้พบเห็นจนยากที่จะปฏิเสธ

01 2
คุณคงยศ คุณจักร์ อัยการหนุ่มผู้เป็นเจ้าของบ้านหน้าตาทันสมัยหลังที่ว่า บนทางเลือกระหว่างการซื้อห้องพักคอนมิเนียมเป็นของตัวเองกับการสร้างบ้าน ใหม่หลังนี้ คุณ คงยศ เลือกตัวเลือกในข้อหลังด้วยความต้องการที่จะมีห้องอัดและห้องซ้อมดนตรี สำหรับตัวเองและเพื่อนในวงดนตรี ที่ต่างก็รักเสียงเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

“ด้วยเจ้าของบ้านเป็นอัยการ อายุประมาณ 26 ปี เขาชอบเล่นดนตรีด้วย มีวง เขาเลยต้องการห้องซ้อม อันนี้คือเป็นคีย์หลักเลย ระหว่างซื้อคอนโดฯ กับทำบ้านเอง ห้องดนตรีเนี่ยคือสิ่งเดียวเลยที่ทำให้เขาอยากได้บ้านนี้ (หัวเราะ)” อาจารย์โอ้ต-นันทพล จั่นเงิน สถาปนิกและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ออกแบบและดูแลทุกขั้นตอนก่อนที่จะสำเร็จเป็นตัวบ้านหน้าตาทันสมัย เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไป รวมถึงแนวคิดหลักของบ้านเนื้อที่ใช้สอยร่วม 200 ตารางเมตร ที่อาจารย์ใช้เวลาศึกษาและออกแบบอยู่นานร่วม 1 ปี

000012“คือเริ่มแรกเดิมที ผมชอบพวกวิธีแพ็คเกจจิงแบบไทยๆ ของพวกขนมไทยหรืออะไรพวกนี้ มันคือมาจากใบตอง อารมณ์คือ ใบตอง 2 อัน 3 อัน แล้วมา Overlap กันเพื่อห่อหุ้มให้เกิดเป็น Container ของสิ่งของ ผมเลยสนใจว่า ถ้าเกิดว่าเราเอาแนวคิดนี้ มาใช้ในการที่จะโอบล้อมสเปซ หรือพื้นที่ใช้สอยทางสถาปัตยกรรม มันทำได้ไหม โปรเจ็กต์นี้หลายปีมาก ลองเทสต์ ทำโมเดลกันเป็น 10 ตัวเลย เริ่มจากเพลนตัวเดียว มีความเป็นไปได้อะไรบ้าง 2 เพลนเป็นยังไง 3 เพลนเป็นยังไง สุดท้ายเลยจบว่า เออต้องการให้มันเพียวจริงๆ ด้วยการลอง 2 เพลน แล้วมันอาจจะเกิดอะไรที่มันน่าสนใจ คือ เอาเพลนพับ 2 เพลนเนี่ย มาทำให้เกิดการประนีประนอมกัน ให้มันอยู่ร่วมกันแล้วมันเกิดสเปซระหว่าง เพราะฉะนั้นสเปซที่มันเกิดระหว่างเพลนนี่แหละ คือพื้นที่ที่เรามองว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปอยู่อาศัย”

การทดลองการก่อรูปสถาปัตยกรรมด้วยการ ‘พับ’ เป็นแนวคิดหลัก ที่ทำให้หน้าตาของบ้านไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบกล่องสี่เหลี่ยม ที่ว่างภายในที่เกิดจากการล้อมกรอบอย่างหลวมๆ ทำให้พื้นที่ภายในและภายนอกบ้านสามารถสื่อสารกันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ในขณะเดียวกัน สเปซที่ไม่ได้ถูกขีดกรอบของพื้นที่ใช้สอยมาตั้งแต่ต้น การบรรจุฟังก์ชันการใช้งานลงไปเพื่อให้เกิดเป็นห้องต่างๆ ก็ทำให้พื้นที่ใช้สอยของแต่ละห้องมีรูปแบบที่เป็นอิสระ เลื่อนไหลไปตามแมสฟอร์มของ Folded Plane ที่สุดท้าย Plane ที่ว่าก็ได้ทำหน้าที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวตลอดทั้ง พื้น ผนัง หลังคา ต่อเนื่องเป็นองคาพยพเดียวกัน

ยอดไม้สีเขียวที่ปกคลุมอยู่ทั่วอาณา บริเวณบ้านก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของบ้านที่ผู้ออกแบบให้ความสำคัญ สถาปนิกต้องการที่จะสอดแทรกพื้นที่พักผ่อนสีเขียวเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยภายใน โดยใช้แนวคิดในการก่อรูปทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้คิดจากเสาและคานหรือพื้นที่ ใช้สอยสี่เหลี่ยม ให้ Folded Plane สอดประสานพื้นที่ใช้สอยหลักและพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นเข้าไว้ด้วยกัน

“ด้วยความที่มันเป็นเพลน ผมเลยต้องการให้มันค่อยๆ เผยขึ้นมาจากดิน แล้วเลื้อยขึ้นมาเป็นผนัง จนกระทั่งเป็น Overhead Plane เพราะฉะนั้นเนี่ย การปรากฏของตัวสถาปัตยกรรม มันก็จะค่อยๆ กลืนไปกับที่ตั้ง แล้วก็อยู่ร่วมกับธรรมชาติ” อาจารย์นันทพลอธิบายถึงแนวคิดหลักที่ทำให้นิยามของคำว่า ‘บ้าน’ ถูกฉีกกรอบออกไปสู่ความเป็นไปได้มากมาย

เมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์ร่วม กับพื้นที่ตั้ง พื้นที่ใช้สอยของบ้านจึงถูกออกแบบให้ล้อมกรอบพื้นที่ตั้งเป็นรูปตัว U เพื่อเปิดคอร์ตสีเขียวทางด้านทิศเหนือให้เป็นพื้นที่พักผ่อน ทั้งหมดเพื่อตอบรับกับบรรยากาศที่ไหลเวียนต่อเนื่องของสเปซภายในบ้าน เชื่อมต่อพื้นที่ให้ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งพื้นที่ภายในและ ภายนอกอาคาร ประกอบกับโครงสร้างที่ก่อให้เกิดทั้งผนังส่วนปิดและส่วนเปิด การเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอาคารจึงเป็นเหมือนจุดเด่นของบ้านรูปทรง แปลกตาแต่โปร่งโล่งสบายหลังนี้

“เวลาเราแปลงจากการทดลองในโมเดลมาสู่ อาคารจริง เรื่องแมตทีเรียลเป็นประเด็นสำคัญ พอเรามีช่องเปิดหรือ Void เราจะแทนค่ามันด้วยอะไร มันก็ยังต้องคงคุณสมบัติที่ว่ามันต้องสามารถมองออกไปได้ มันก็ต้องเป็นกระจก หรือไม่ก็ระแนงอะไรก็ว่าไปใช่ไหม ในส่วนของเพลนเนี่ย มันคือโครงสร้างทั้งหมด คือต้องคุยกับวิศวกร เนื่องจากว่ามันเป็นเพลนที่เอียง แล้วก็ยังต้องรับน้ำหนักด้วย”

นอกจาก Folded Plane จะเป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน ที่ใช้กำหนดลักษณะของพื้นที่ใช้สอยโดยภาพรวมแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมก็ถูกออกแบบด้วยแนวคิดการสอดแทรก ‘แผ่นพับ’ ที่คล้ายคลึงกัน ให้ปรากฏอยู่ในหลายๆ องค์ประกอบ เพื่อออกแบบบรรยากาศร่วมของบ้าน ให้กลมกลืนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว รวมถึงให้บ้านสามารถสื่อสารกับผู้อยู่อาศัยด้วยภาษาทางสถาปัตยกรรมเดียวกัน

“ระบบสตรัคเจอร์เนี่ย ทำยังไงให้มันเป็นภาษาเดียวกับแนวคิดที่เราตั้งมา มันก็จะสะท้อนกลับมาว่า เฮ้ย แล้วบันไดเรา Element เรา มันจะต้องเป็นยังไง เพราะฉะนั้นคีย์หลักเนี่ย มันก็คือการพยายามลดทอนให้มันเป็นเพลน เป็นแผ่น คือมีไอเดียของความเป็น Sheet เป็นอะไร ทั้งหมด มันคือ Logic ในการก่อรูปอาคาร แนวคิดหลักเนี่ย มันคือทำยังไงให้บ้านมันอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้น เครื่องมือในการออกแบบเนี่ย มันก็คือตัว Folded Plane ที่ทำให้แนวคิดของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติมันเกิดขึ้น”

สถาปัตยกรรม ที่มีความหมายที่สุดสำหรับใครหลายคน คงจะหนีไม่พ้นพื้นที่เล็กๆ อย่าง ‘บ้าน’ ของเราเอง การให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดในรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อย จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องของรูปฟอร์มที่ล้ำสมัย หรือสไตล์การตกแต่งที่สวยงาม มากไปกว่านั้น ขีดความสำเร็จของสถาปัตยกรรมที่ใกล้ตัวที่สุด ก็อาจไม่จำเป็นต้องวัดจากมาตรฐานที่ไหนอื่นไกล ที่แต่คือปริมาณความสุขของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง “ลูกค้าปกติเขาก็บอกว่า เขาเป็นคนไม่ติดบ้าน แต่พอมีบ้านหลังนี้ปุ๊บเนี่ย เหมือนเขานั่งเล่นได้เรื่อยๆ อยู่ได้ตลอดตรงคอร์ตเนี่ย เขาก็เอ็นจอย บอกว่าจัดปาร์ตี้เกือบทุกอาทิตย์ (หัวเราะ)” อาจารย์นันทพลปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม

“มัน คือ Logic ในการก่อรูปอาคาร แนวคิดหลักมันคือทำอย่างไรให้บ้านอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้น เครื่องมือในการออกแบบมันก็คือตัว Folded Plane ที่ทำให้แนวคิดของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติมันเกิดขึ้น”
อาจารย์นันทพล จั่นเงิน

01เส้นสายของเพลนพับคอนกรีต ที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง พื้น ผนัง และหลังคาของบ้าน สร้างความเชื่อมต่อให้กับสเปซทั้งภายในและภายนอกอาคารไว้อย่างกลมกลืน

02
คุณคงยศ คุณจักร์ อัยการหนุ่มเจ้าของบ้านผู้รักเสียงเพลง กับพื้นที่พักผ่อนในวันสบายๆ ของเขา

0403
พื้นที่ส่วนรับประทานอาหารและ Pantry เล็กๆ โปร่งโล่งด้วยกระจกบานใหญ่ ที่มองออกไปแล้วเห็นสระน้ำเล็กๆ พร้อมกับสวนเขียวได้โดยตรง โดยสถาปนิก เปิดให้สเปซส่วนนี้เป็นแบบ Double Volume เพื่อดึงบรรยากาศจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนั้นยังทำให้บรรยากาศภายในบ้านเชื่อมต่อกันได้โดยตลอด

05 06
พื้นที่ส่วนนั่งเล่นแบบ Double Volume ที่ประกอบด้วยโซฟาและโต๊ะอเนกประสงค์ เกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ด้วยการใช้งานแบบ Free Plan เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ภายในบ้านและพื้นที่สีเขียวได้อย่างอิสระ

07ประตูทางเข้าบ้านที่เปิดตอนรับแขกเหรื่อ เข้าสู่พื้นที่นั่งเล่นเป็นส่วนแรก ก่อนจะเผยพื้นที่ที่โอ่โถงอื่นๆ ให้เห็น ด้วยพื้นที่ที่เชื่อมกันอย่างอิสระและเป็นอันหนึ่งอันเดียว

08
บันไดหลักของบ้าน ออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นแผ่น Sheet เสียบเข้ากับผนัง ตามแนวคิดหลักของความเป็น Folded Plane ให้ความรู้สึกเบาสบาย และประกอบเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมเดียวกันกับบ้านโดยภาพรวม

201011
แสงไฟขับให้โครงร่างของอาคารโดดเด่น เส้นสายที่แข็งแรงบ่งบอกขอบเขตของอาคารไว้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็โอบรับไปกับธรรมชาติที่สีเขียว ที่ประปรายรายล้อมอยู่ในอาณาบริเวณของสถาปัตยกรรม

Leave A Comment