INTERACTION DESIGN MEETS ARCHITECTURAL THINKING

P4

มิติธรรมชาติ
สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ของ ภากร มหพันธ์

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ 

คอนกรีตกับเหล็ก สีเทากับสีดำ คือการจับคู่ระหว่างวัสดุและโทนสีพื้นฐานทางโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่บริษัทออกแบบสถาปัตย์โดยทั่วไปเลือกใช้เป็นปกติธรรมดา หากแต่ Daybeds กำลังพูดถึงงานสถาปัตยกรรมสีขาว-เทา-ดำที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นอาวุธ แถมซุกซ่อนความซับซ้อนแต่เข้าใจง่ายในรายละเอียดอันน่าทึ่งอยู่ภายใน หรือกล่าวแบบเจาะลึกลงไปกว่านี้ก็คือ เราอยากหยิบยกตัวอย่างอาคารที่ประทับใจเป็นพิเศษใน จ.อุดรธานี ขึ้นมาอ้างอิง ได้แก่ NAT Motors Head Office & Showroom อาคารที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ASA Architectural Award 2014 (Gold Medal Awards) ประเภทอาคารพาณิชย์ ออกแบบโดยคุณภากร มหพันธ์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็มสเปซ จำกัด ซึ่งอาคารนี้เองที่เป็นสิ่งกระตุ้นการหยั่งรู้ของ Daybeds ฉบับ Monochrome และนำพาให้เราเดินทางมาพบกับสถาปนิกมากประสบการณ์วัย 44 ปี เพื่อหาคำตอบที่เราเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการสถาปัตยกรรมไทยไม่มากก็น้อย 

คุณภากร มหพันธ์ เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านประสบการณ์การทำงานกับ P&T Group บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำในฮ่องกง ช่วงระหว่างปี 1993-1996 ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อด้าน Master of Architecture ที่ University of Washington โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 1998 เขาเข้าทำงานให้กับ Miller Hull Partnership (ร่วมก่อตั้งในปี ค.ศ.1977 โดย David Miller และ Robert Hull) เป็นที่แรกก่อนจะย้ายไปทำงานกับ NBBJ Partnership ในปีต่อมา และจบด้วย ZGF (Zimmer Gunsul Frasca Architects) ในระหว่างปี 2000-2002 ก่อนยุติบทบาทสถาปนิกไทยในซีแอตเทิ่ลกว่า 10 ปีลง พร้อมกลับบ้านมาก่อตั้ง M Space ขึ้นในปี 2003
บทนำที่ยืดยาวคงน่าสนใจไม่เท่าบทสนทนาระหว่างเราสองคน ภายในออฟฟิศบนชั้นลอยที่มีผลงานต้นแบบและชั้นหนังสือเรียงรายไปด้วยคัมภีร์ด้านสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศน่าหยิบอ่านมากมาย ไม่ใช่แค่อาคาร NAT ไม่ใช่แค่ประเด็นสีขาว-เทา-ดำ แต่เป็นสารพันคำตอบที่สะท้อนไปถึงแนวความคิดที่ตกผลึกของการออกแบบสถาปัตยกรรม (ที่ดี) ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมให้ดีขึ้นด้วย

DBs: ความสนใจด้านสถาปัตยกรรมเริ่มขึ้นตอนไหน
PAKORN MAHAPANT (PM): สนใจตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อ (ไพโรจน์ มหพันธ์) เป็นวิศวกร ทำเกี่ยวกับการบริหารงานก่อสร้าง ได้ติดตามไปไซต์งานก่อสร้างตั้งแต่ชั้นประถม เพื่อนเขาส่วนใหญ่ก็จะเป็นสถาปนิก เป็นวิศวกร ทำงานประกวดแบบสมัยก่อนก็ได้ไปดูวิธีการทำเลยฝังใจ ตอนสอบเข้าเลยเลือกสถาปัตย์อย่างเดียว ตอนนั้นมีอยู่สามที่ จุฬาฯ ศิลปากร ลาดกระบัง 

DBs: คุณพ่อเป็นวิศวกร เหตุใดคุณจึงเลือกมาเรียนสถาปัตยกรรม
PM: จริงๆ มันเป็นฟีลเดียวกัน แต่เราชอบมันในเชิงการออกแบบมากกว่าการจัดการก็เลยเลือกมาด้านนี้ เราชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ 

DBs: ช่วยคุณไพโรจน์ดูแลงานในส่วน BCM (บริษัท บี.ซี.เอ็ม วิศวกรที่ปรึกษา จำกัด) อยู่ด้วยหรือเปล่า
PM: คุณพ่อยังบริหารอยู่กับทีมของเขา เราก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งมาก เน้นออกแบบอย่างเดียว แต่งานที่ M Space ทำก็จะให้ BCM ดูแลงาน มันเป็นวันเวย์ จริงๆ BCM เขาทำงานใหญ่ ไม่ได้ทำงานเล็ก แต่เราทำงานเล็กกับกลาง ไม่ได้ทำงานใหญ่   

DBs: อย่างนี้ BCM ต้องแบ่งเป็นสองทีมเพื่อที่จะทำงานให้กับ M Space ด้วยใช่ไหมครับ
PM: BCM มีสองทีมครับ ใช่ เราขอให้เขาช่วยมาดู เพราะว่ามันทำงานใกล้ชิดกันมากกว่า แล้วบางงานเราก็ออกแบบกันในช่วงก่อสร้างด้วย  

DBs: ช่วยเล่าย้อนกลับไปถึงตอนเรียนสถาปัตย์ที่ศิลปากรและได้ทำงานกับ P&T Group
PM: ตอนนั้นได้ไปฝึกงานที่สิงคโปร์กับ P&T Group อยู่พักหนึ่ง ทำเกี่ยวกับงานประกวดแบบ Science Park แต่หลักจากเรียนจบ ทำงานอยู่เมืองไทยได้พักหนึ่งก็ไปอยู่สำนักงานใหญ่ในฮ่องกง ส่วนใหญ่จะได้ทำพวกตึกสูง ทำเรื่องออกแบบ แล้วก็ช่วยเรื่องประสานงานเพราะว่าตอนนั้นมีโปรเจ็กต์ในเมืองไทยเหมือนกัน อยู่ฮ่องกงได้ 2 ปี พอดี P&T เพิ่งเข้ามาเปิดในเมืองไทยจึงช่วย Coordinate ทำเอ็มโพเรี่ยม ทำออล ซีซั่นส์ ทำแบงค์กรุงเทพ สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นกลับมาสอนหนังสือที่ประเทศไทยอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ไปเรียนต่อที่วอชิงตัน, ซีแอตเทิ่ล ไปเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่ลิเวอร์พูล หลังจากนั้นก็ทำงานอยู่ในซีแอตเทิ่ล เรียน 2 ปี ทำงานอีก 5 ปี ทำตั้งแต่บริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ก่อนที่จะกลับมา

DBs: ตอนเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนด้านไหนครับ
PM: ตอนนั้นไปเรียนเป็นคอร์สเวิร์กชื่อ Portable Architecture ครับ เป็นรีเสิร์ชยูนิตอยู่ที่ลิเวอร์พูล มีโปรเฟรเซอร์คนหนึ่งเขาสอนอยู่ก็ไปเรียนกับเขาเรื่องอาร์คิเท็กเจอร์ที่มันเคลื่อนไหวได้ ย้ายได้ พกพาได้

DBs: ขอถามนอกเรื่องหนึ่งคำถามนะครับ ตอนไปอยู่ลิเวอร์พูลได้ดูบอลบ้างไหมครับ
PM: ไปตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นปอนด์ละ 90 บาท อืม (ลากเสียง) แพงมากจ่ายไม่ไหว (หัวเราะ) อยากเข้าไปดูนะ ตอนนั้นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แข่งกับลิเวอร์พูล เราก็รู้บ้างแต่ไม่ได้ดูเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อนที่ไปชุดนั้นก็ไม่มีใครได้ดูเพราะมันหนักมาก ไปเรียนเรายังต้องขอทุนเลย ขอทุนเรียนตลอด 

P3

DBs: ช่วยเล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงชีวิตที่อเมริกาให้ฟังได้ไหม วัฒนธรรมการทำงานที่นั่นตอนนั้นเป็นอย่างไร
PM: ทำอยู่หลายบริษัทมาก บริษัทแรกที่อยู่ชื่อ Miller Hull เจ้าของบริษัทเขาเคยเป็นมิชชันนารีในสงครามเวียดนาม คาแรกเตอร์ของงานเขาก็จะเป็นอาคารบ้านหรือคอมมิวนิตี้ที่มีชายคา มีค้ำยัน เอาเอกลักษณ์จากเซาธ์อีสต์เอเชียกลับไปทำที่นอร์ธเวสต์ ก็เลยกลายเป็นคาแรกเตอร์ของนอร์ธเวสเทิร์นไปเลย เพราะเกือบจะทุกงานได้รางวัลเยอะมาก ก็เลยคล้ายกับว่าวิธีการออกแบบแบบนั้น มีชายคา มีเสา มีระเบียง กลายเป็นเทรนด์ของที่นั่นไป 

DBs: ที่อเมริกาตอนนั้นเป็นเรื่องแปลกใหม่ไหมครับกับเทรนด์นี้
PM: ก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน แต่เขาใช้โครงสร้างเหล็กทั้งหมด คล้ายกับเอาลักษณะความมีพื้นถิ่นด้วย แต่ปรับวัสดุก่อสร้าง ปรับเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่แล้วเอาไปใช้ ตอนนั้นก็ได้คิดได้เรียนอะไรเยอะอยู่เหมือนกัน มีทำร่วมกันกับเจ้าของออฟฟิศ เป็นงานชิ้นหนึ่งที่เราได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิกที่นั่นเหมือนกัน แต่เป็นในลักษณะไม่ได้สร้างนะ เราทำบ้านหลังหนึ่งเชื่อมกับเนินเขาสามลูกเข้าด้วยกัน แล้วให้น้ำไหลผ่านทะลุบ้านลงมาระหว่างร่องเขา บ้านเหมือนเป็นสะพานค่อมอยู่ระหว่างแนวร่องน้ำ 

DBs: คุณหมายถึง AIA SEATTLE Award Unbuilt Project ที่ได้รางวัลตอนทำกับ Miller Hull ใช่ไหมครับ
PM: ครับ แต่ทำอยู่ได้ไม่นานเพราะจริงๆ เจ้าของ (David Miller) เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มหาวิทยาลัย ตอนหลังมีโปรเฟเซอร์อีกท่านหนึ่งชื่อ Susan Jones ดึงไปช่วยที่ NBBJ เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในนอร์ธเวสต์ในอเมริกา มีคนเยอะมาก เขาจะแบ่งเป็นสตูดิโอ มีทั้งทำเฉพาะโรงพยาบาล คอมเมอร์เชียล ทำเฉพาะออฟฟิศ คอร์เปอร์เรท และช็อปแยกเป็นส่วนๆ ตอนนั้นที่ได้ทำก็เป็นงานประกวดแบบของไมโครซอฟท์ แล้วก็มีงานของสตาร์บัคส์ งานของอเมซอน เป็นตึกเก่ารีโนเวท พวกนี้อยู่ซีแอตเทิลหมดเลย ที่นั่นมี 4 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ โบอิ้ง ไมโครซอฟท์ สตาร์บัคส์ แล้วก็อเมซอน

DBs: วัฒนธรรมองค์กรแต่ละบริษัทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ
PM: แตกต่างกันครับ อย่าง Miller Hull เขาทำงานเหมือนตามล่ารางวัลเลยล่ะ เพราะเข้าไปในออฟฟิศทั้งผนังมีแต่รางวัล ทำบ้านเล็กๆ 1 หลัง ยังได้ 5-6 รางวัล เพราะว่าที่นู่นเขามีรางวัลให้กับนักออกแบบในหลากหลายสถาบัน บางหลังก็ได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิก แต่ก็ไปได้เรื่องพลังงานจากอีกสมาคมหนึ่ง ไปได้เรื่องวัสดุจากอีกสมาคมหนึ่ง ไปได้เรื่องการใช้ของผู้ใช้ที่พอใจจากอีกสมาคมหนึ่ง ส่วน NBBJ เขาจะเน้นงานสเกลใหญ่ ตอนนั้นเราจะลงไปทำงานในส่วนการประกวดแบบ ก็จะทำร่วมกับสถาปนิกมีชื่อท่านหนึ่งสมัยก่อนชื่อ Peter Pran สไตล์งานคล้ายๆ กับ Zaha Hadid แต่ว่าเขาจะอาวุโสกว่าเยอะ ก็ไปช่วยเขาทำงานประกวดแบบ Seattle Public Library ที่ตอนหลังสร้างโดย Rem Koolhaas (สถาปนิกชาวดัตช์แห่ง Office for Metropolitan Architecture OMA) ก็ไปทำอยู่ใต้ดินเพราะออฟฟิศจะมีห้องใต้ดินเป็นห้องโมเดล เราก็เป็นคนทำอยู่ข้างใน ทำอยู่กับ NBBJ ได้ 2 ปี แล้วก็ย้ายมาอยู่ที่ ZGF (Zimmer Gunsul Frasca Architects) พอดีว่ามันมีงานประกวดแบบของไมโครซอฟท์ แล้ว ZGF ชนะ NBBJ เขาเลยดึงเรามาช่วยงาน ก็ทำตรงนั้นจนกลับมา

 DBs: อยู่ที่อเมริกาเกือบ 10 ปี กลับมาแล้วปรับตัวกับบ้านเราอย่างไร
PM: ปรับตัวเยอะมาก อยู่เมืองไทยมันเหมือนกับการเอาตัวรอดเป็นหลักในลักษณะของการทำงาน คือต้องปรับทุกอย่าง โชคดีที่มีแบ็กกราวด์ด้านเกี่ยวกับ CM ก็เลยเข้าใจธรรมชาติของการก่อสร้างในเมืองไทยมากอยู่แล้วเลยปรับตัวง่ายขึ้น 

DBs: วิธีการทำงานก่อสร้างของอเมริกาเป็นแบบไหนครับ แตกต่างจากบ้านเราอย่างไร
PM: เป็น Prefab ทุกอย่างเป็นสำเร็จรูปทั้งหมด ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน สถาปนิก เขาเป็นระบบมาก เขาจะมีคอร์สหนึ่งชื่อว่า Grant Education เป็นคอร์สที่สอนเจ้าของให้เข้าใจงานก่อสร้าง เข้าใจงานออกแบบ ซึ่งต้องเอาเจ้าของโครงการมาอบรมทำความเข้าใจด้วย ทำให้เวลาทำงานจะได้เข้าใจว่าตอนนี้ถึงขั้นตอนไหน ขั้นตอนไหนต้องทำอะไร เมืองไทยทุกอย่างอยู่หน้าไซต์งานหมดเลย ไม่มีการเตรียมอะไร ทุกอย่างไปแก้ปัญหาหน้างานเอา (หัวเราะ) 

DBs: ที่อเมริกาคุณต้องได้เห็นอาคารเยอะมากแน่ๆ มีอาคารไหนบ้างที่เห็นแล้วทึ่งเป็นพิเศษ
PM: ชอบเยอะเลยครับ ตอนอยู่ที่นั่นจริงๆ ผมจะเดินทางไปยุโรปบ่อย ไปแต่ละครั้งก็ไปเป็นเดือน แบ็คแพ็คไปคนเดียวตามประเทศต่างๆ หยุดดูงานที่เราเคยเรียนในหนังสือไปเรื่อย แต่ถ้าในอเมริกาก็จะชอบอยู่ 2-3 ที่ ก็คือ Salk Institute ของ Louis Kahn แล้วอีกที่หนึ่งก็ Kimbell Art Museum ของ Renzo Piano ในเท็กซัส สองอาคารนี้จะชอบมาก แต่ถ้าในซีแอทเทิ่ลจะชอบงานหนึ่งของ Steven Holl (Chapel of St. Ignatius) เป็นโบสถ์เล็กๆ หลังหนึ่ง มันอยู่ใกล้กับที่ที่เราใช้ชีวิต เราเลยสามารถพาเพื่อนไปเที่ยว ก็เลยเข้าใจคอนเซ็ปต์ตั้งแต่เขาเริ่มออกแบบ หรือแม้แต่ Seattle Public Library ที่ Rem Koolhaas ชนะประกวดแบบ Steven Holl เราก็ได้ฟังตั้งแต่เขาเริ่มคิด เขาต้องทำคล้ายๆ กับ Public Hearing ที่ประชาชนทั้งเมืองต้องมาฟังคอนเซ็ปต์ของสถาปนิก ทั้ง 2 คนก็พรีเซ้นท์คอนเซ็ปต์กันเต็มที่ คนฟังมีทั้งสถาปนิก ชาวเมือง ชาวบ้าน แม่บ้าน ตรงนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีนะ เพราะว่าเวลาเราทำงานเราจะคิดถึงสาธารณะตลอด แม้แต่เวลาเราทำบ้านพักอาศัยเราก็คิดถึงบริบท เราทำบ้านหลังหนึ่งมันอาจเป็นของเจ้าของบ้านหลังนั้นก็จริง แต่ว่าถ้าเรามองจากข้างบนมุมท็อปวิวมันเป็นของเมืองทั้งหมด มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองทั้งหมด บางทีเราก็ต้องทำอย่างไรที่เราสร้างมันไปแต่สิ่งแวดล้อมแถวนั้นมันดีขึ้น 

DBs: คุณกำลังพูดถึงบ้าน ASP HOUSE ใช่ไหมครับ
PM: ใช่ครับ เราทำอยู่ในซอยสุขุมวิท 49 ตรงนั้นมันเป็นแหล่งมั่วสุมเยอะ แล้วเป็นบ้านหลังสุดท้ายของซอย ถัดไปจะเป็นตึกแถวหมดเลย เราก็พยายามออกแบบให้มันเปลี่ยนแถวนั้นที่มันไม่ค่อยดีให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แล้วก็ปิดตัวอาคารเปิดพื้นที่ภายในมากขึ้น แต่ว่าพื้นที่ภายนอกเราก็พยายามสร้างพื้นที่ที่ดูมีความสงบและก็ปลอดภัยให้กับสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ทั้งตัวอาคารและสิ่งที่กระทบกับสังคม บ้านกลายเป็นพื้นที่สีเขียว บ้านหลังนี้ที่ดินมันประมาณ 150 วา แต่เราสร้างขึ้นไปถึง 5 ชั้น 3,000 ตารางเมตร ซึ่งเต็มมาก ก้อนใหญ่มาก หน้าที่เราก็คือทำให้ก้อนนี้มันหายไป จะทำอย่างไรให้คนแถวนั้นมองว่ามันเป็นตึกๆ หนึ่งที่ไม่แบ่งแยก เราจึงทำให้ก้อนนี้กลายเป็นวิวไปซะ มองมาจากตึกแถวจะเห็นสีเขียว ไม่ใช่สวนแนวตั้งนะ (หัวเราะ) เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตจริงๆ บนดินจริงๆ


CA
BASP HOUSE


DBs: คุณนำประสบการณ์จากอเมริกามาพัฒนางานออกแบบของ M Space อย่างไรบ้าง
PM: เราก็พยายามมาใช้ อย่างเช่นผมมีแบ็กกราวด์ทางด้านเอ็นจิเนียร์ริ่งด้วย พอทำงานสถาปัตย์ก็พยายามจะทำให้งานสถาปัตย์กับเอ็นจิเนียร์ริ่งออกแบบพร้อมกัน ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ งานระบบ งานไฟ แอร์ โครงสร้าง มันจะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ว่าคนไทยถนัดการทำงานตามสถาปนิก คือสถาปนิกออกแบบเสร็จก่อนแล้วค่อยยัดโครงสร้าง ยัดงานระบบเข้าไป ทำให้บางทีเรารู้สึกว่ามันเมนเทนแนนซ์ยาก บางทีโครงสร้างกับงานมันไม่ไปด้วยกัน เราก็เลยพยายามจะทำงานที่จะเอาเอ็นจิเนียร์ริ่งใส่ตั้งแต่แรก งานทุกอย่างก็พยายามจะเปลือยผิวออกมาเลย สามารถดูแลรักษาง่าย ซ่อมง่าย แล้วอีกอย่างที่เราเอามาใช้คือ Dry Process หรือของที่เราติดตั้งเข้าไปในโครงสร้างเลย เป็นแผ่นสำเร็จรูปโดยที่ไม่ต้องไปก่ออิฐ เพราะมันก็ง่ายในการเปลี่ยนแปลง แล้วก็เป็นสถาปัตยกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเอามาใช้ในช่วงหลัง 

DBs: อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมครับว่าช่วยในเรื่องอะไร
PM: เช่น แผ่นคอนกรีตที่เป็น Precast เป็นแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือวิว่า แผ่นเหล็ก แผ่นโลหะ เอามายึดเข้าไปกับในส่วนของโครงสร้าง ในแง่ของเหล็กก็จะช่วยเรื่องการขยับตัว ไม่แตกร้าวออกจากกัน เปลี่ยนแปลงง่าย พวกนี้เอามาใช้กับพวกโชว์รูมที่เราออกแบบ เพราะทั้งโชว์รูมและศูนย์บริการบางครั้งต้องขยายตัว เปลี่ยนแปลง หรือเปิดให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น ก็จะเอาระบบพวกนี้เอามาใช้ในแง่ของงานเหล็ก แต่ถ้าเป็นส่วนของงานปูนเราก็จะใช้งานที่ใช้การเทลงในฟอร์มเวิร์ก พยายามใช้ผิวของฟอร์มเวิร์กให้เป็นผิวสำเร็จของตัวอาคารไปเลย ไม่ต้องไปทำอะไรต่อ เราไม่ได้นิยมฉาบเปลือย แต่นิยมการเปลือยแล้วควบคุมการเท ขั้นตอนในการทำมันก็จะอยู่ในงานสำเร็จเป็นขั้นตอนเดียวกัน

DBs: ปรัชญาการออกแบบของ M Space
PM: เดิม M Space ไม่ได้เป็นออฟฟิศออกแบบ เราพยายามจะสร้างอาคารสำเร็จรูปที่เป็นโมดูลาร์ขึ้นมา แล้วเราต้องการที่จะออกแบบเองแล้วก็คุม QC สร้างเองเป็นชิ้นแล้วเอาแต่ละชิ้นมาประกอบกัน ทีนี้ตอนหลังมันมีปัญหาปัจจัยเรื่องแรงงานคน คุณภาพของคนที่เข้ามาทำให้รู้สึกว่าทำงานยาก ช่วงหลังได้งานออกแบบมาก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ใช้ชื่อเดิมไปเรื่อยๆ เหมือนกับทำรถมินิสักคัน เราคิดว่าทำเล็กแต่ว่ารายละเอียดของการใช้ข้างในมันละเอียด มันคิดไปทุกจุด แล้วคุมคุณภาพให้ได้ในที่เล็ก คิดว่าจะทำอย่างนั้นกับตัวอาคาร พอทำไปแล้วก็มีปัญหาอะไรเยอะ กลายเป็นว่าตอนหลังก็มาทำงานออกแบบ แต่เอา CM (Construction Management) เข้าไปช่วยคุมด้วย อีกหน่อยที่บริษัทจะทำเป็นเวิร์กช็อป ทำดีเทล 1 ต่อ 1 ในสเกลจริงๆ ใช้เหล็กจริง ปูนจริง แล้วเราก็จะทำตัวอย่างที่เสร็จให้ผู้รับเหมาดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วเอาดีเทลนั้นไปก่อสร้างต่อ เอาม็อกอัพตัวแรกให้ช่างไปด้วย 

DBs: วิธีการนี้ช่วยเรื่องอะไรครับ
PM: ช่วยเรื่องไม่ต้องทำทีเทลมาก แต่ถ้าใช้พวกโบลท์มันจะมีรายละเอียดมาก บางทีเราต้องการเหล็กประกอบกับคอนกรีต ประกอบกับไม้ มันต้องทำดีเทลดูว่าแต่ละชิ้นเวลาทำจริงๆ อย่างเช่น ค้ำยันจะยึดเข้ากับตัวบ้าน อาคาร หรือชายคาอย่างไร ค้ำยันสมัยโบราณก็จะเป็นปูนปั้นสวยๆ แต่ปัจจุบันถ้าจะกลายเป็นเหล็ก กลายเป็นไม้เรียบๆ เราจะเอาความงามตรงนั้นกลับเข้ามาใส่ในงานสมัยใหม่อย่างไร ก็ต้องเอาไปใส่ในรายละเอียดของการเชื่อมต่อกันให้มันเชื่อมต่อกันอย่างมีลีลาหน่อย (หัวเราะ) อย่างไม้จะมีเพลท จะเสียบอย่างไร จะบิดอย่างไร ถ้าเป็นสมัยก่อนบ้านของชาวบ้านก็จะเป็นการเข้าไม้แบบบาก ไม่ได้ใช้ตะปู เราก็ใช้อยู่ 3-4 อย่าง ไม้ เหล็ก คอนกรีต กระจก อิฐ ก็เป็นอีกอย่างที่กำลังใช้ จะเอามาใช้อย่างไรให้มันไม่ใช่ลักษณะการก่ออย่างที่เราเคยเห็น 

DBs: เรียกว่าเป็นการทำงานกึ่งทดลองหรือเปล่าครับ
PM: ใช่ครับ เป็นลักษณะทดลองเยอะ ทดลองทั้งในแง่คอนเซ็ปต์ การคิด บางชิ้น บางงานเราทำ model study ในคอนเซ็ปต์ 30-40 ชิ้น เพื่อเอาไปคุยกับลูกค้าแล้วหาชิ้นที่มันเหมาะสม คือดีที่สุดมันก็ดีในแต่ละช่วงหรือตามเงื่อนไข เช่น ไซต์งาน งบประมาณ แรงงาน ความสามารถของช่าง เรื่องเวลา มันดีทั้งหมดแต่ว่าดีอย่างไรจะเหมาะกับเงื่อนไขที่สุด ทำแบบเดียวกันไปจนจบช่วงก่อสร้างเลยครับ หรือที่ผ่านมาเราทำไม่ไหว เราก็ปล่อยให้ผู้รับเหมาทำ แต่ก็คุยกับเจ้าของงานว่ามันจะมีขั้นตอนนี้อยู่เพื่อที่จะให้ได้งานออกมาเราควบคุมได้มากที่สุดในเงื่อนไขของเวลากับงบ 

DBs: ปรัชญาการสร้างสถาปัตยกรรมที่ดีในแบบของคุณ
PM: มันซับซ้อน หลายเรื่องหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง แต่ช่วงหลังเราพยายามจะทำที่มีธรรมชาติเข้ามาในงานสถาปัตยกรรม เราไม่ได้โชว์ตัวงานสถาปัตยกรรมจริงๆ เราทำเสร็จเราอยากจะให้งานสถาปัตยกรรมมันหายไปด้วยซ้ำไป แล้วก็กลายเป็นธรรมชาติที่เข้ามาอยู่ข้างในแทน เช่น แสง เงา ของต้นไม้ แสงสะท้อนจากน้ำ ฟ้า จากอะไรต่างๆ เราพยายามสร้างงานที่ตัวตนมันไม่ชัดเจนมาก ซึ่งบางทีมันก็ขึ้นอยู่กับประเภทของงานด้วยเหมือนกัน บางงานก็ต้องแสดงออกเยอะ แต่เราพยายามจะคิดถึงมิติของธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ 

DBs: งานสปาที่โรงแรมศาลาภูเก็ต ได้อิทธิพลมากจากความสนใจด้านมิติของธรรมชาติด้วยใช่ไหมครับ
PM: งานสปาที่หาดไม้ขาว เราเอาเศษไม้หน้าสามที่ทำบังกะโลของชาวบ้านมาเป็นกำแพง หล่อคอนกรีต เอามาทำเป็นพื้นผิวผนังอาคาร พอโดนแสงแดดจะคล้ายกับเป็นไม้ ฝั่งที่ไม่โดนจะคล้ายกับปูน ที่จริงผิวเดียวกัน แต่มันจะแสดงลักษณะของตัวฟอร์มเวิร์กที่แตกต่างกัน สปาสื่อถึงการหายไปในพื้นที่แคบๆ เพื่อความสงบ ปลอดปล่อย


 

G F Espa @ sala phuket


DB: อิทธิพลในงานของคุณที่ได้นำกลับมาปรับใช้จากอเมริกา
PM: พวกการระบายอากาศ การใช้วัสดุโดยที่ไม่ไปปิดผิวทับหน้า ออกแบบด้วยเหล็กฉีก และเหล็กกล่องเล็กๆ เอามาทำโครงสร้าง 

DBs: เหล็กกับความร้อนมันมีผลไหมครับ เวลาอากาศไม่ถ่ายเท เหล็กยิ่งร้อนกว่าเดิมหรือเปล่าครับ
PM: ถ้าเหล็กมันเป็นพื้นผิวครับ แต่ถ้าเป็นโครงสร้าง พื้นผิวมันก็น้อย การดูดความร้อนไม่ได้เยอะ ถ้าเกิดพื้นผิวมันใหญ่และมันเรียบมันจะดูดความร้อนเยอะกว่า แต่อย่างงานนี้ (P Thailand) เราจะทำให้ความร้อนมันลอยขึ้นมาด้านบนแล้วติดรูฟเวอร์ ลมก็จะดึงความร้อนออกไปได้ ก็ใช้วิธีการออกแบบเข้ามาแทนโดยการทำให้มันสูงเป็นปล่องขึ้นมา เป็นงานของเยาวราช เป็นโชว์รูมและศูนย์บริการฮอนด้า เป็นอาคารที่เจ้าของเขาจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณพ่อของเขา เป็นผู้ประกอบมอไซต์ คือตอนนี้มอเตอร์ไซต์เป็นดีลเลอร์ขายหมดละ เพราะเขาไม่มีร้านขาย เป็นร้านเดียว เป็นคนประกอบแล้วส่งดีลเลอร์ทั่วประเทศ ทำให้มันเป็นกึ่งมิวเซี่ยมเก่า แล้วเก็บสภาพอาการเก่าเอาไว้ 

DBs: นำเหล็กยึดโครงอาคารเก่าไว้ด้วยหรอครับ
PM: ด้านหลังอาคารเป็นบ้านเก่า เอาโครงเหล่านี้ไปค้ำไว้ ไม่ใช่ถ่ายน้ำหนักไปให้เขานะ ค้ำไม่ให้เขาพังลงมา เพราะเราอยู่ในเข็มใหม่ เราก็เลยไปช่วยพยุงเขาไว้ แต่นำหนักถ่ายอยู่ที่เราทั้งหมด มีทั้งโครงดึงอยู่ข้างใน งานระบบจะเปลือยหมด เป็นงานที่อยู่ในเซียงกง ที่ขายอะไหล่เก่า มีเหล็กเซ็กชั่นเล็กๆ เยอะ เราก็ใช้การซื้อของจากฝั่งตรงข้ามมาทำ ไม่ต้องขนของไกล เราก็มา Fab เป็นชิ้นๆ แล้วก็ทำแต่ละชิ้นๆ แล้วก็ยึดกันด้วยโบลท์ ต่อเข้าไปโดยที่ไม่ต้องเชื่อม สามารถถอดเปลี่ยนได้

DBs: อายุการใช้งานของมันอยู่กี่ปีครับ
PM: คอนกรีตมีอายุ 50 ปี เหล็กมันก็อยู่ได้ จะมีความให้ตัวมากกว่า เวลาเกิดแผ่นดินไหวหรือเกิดการสั่นมันจะขยับตัว มันจะไม่แตกร้าว แต่เราใช้เหล็กในโครงการนี้เพราะเราใช้ต้องการใช้ของที่เบาแล้วก็อากาศถ่ายเทได้ดี เพราะไซต์หลังมันลึกมาก 60 เมตร หน้ากว้างไม่ถึง 10 เมตร เราต้องการให้อากาศข้างในมันลอยขึ้นไปให้หมด เพราะมันเป็นที่ซ่อมรถยนต์ เป็นไอเสียข้างใน


 

J IP THAILAND


DBs: การสร้างบ้านหลังหนึ่ง เหล็กกับคอนกรีต อะไรเหมาะสมมากกว่ากันอย่างไร
PM: ตอนนี้บ้านที่เราทำช่วงหลังจะมีครึ่งคอนกรีต ครึ่งเหล็ก แต่ไม่ใช่เหล็กหลังคานะ เป็นเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต คอนกรีตมันดีกว่าในเรื่องของการกันน้ำ กันฝน เหล็กดีกว่าเรื่องการปรับเปลี่ยนใช้สอย ให้ความรู้สึกว่ามันเบากว่า เคยทำทั้งบ้านเหล็กแล้วก็บ้านคอนกรีตแล้วรู้สึกว่ามันมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ก็เลยทำควบไปเลย โดยทั่วไปก็จะมีคอนกรีตประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์เป็นโครงเหล็กอยู่ข้างใน เพราะบางหลังที่ดินมันราคาแพง สมมุติว่าเป็นรุ่นลูกเขา รุ่นหลานเขา เขาอาจจะเก็บเชลล์ข้างนอกไว้ แล้วข้างในเขาปรับใหม่ แล้วเหล็กมันเปลี่ยนแปลงง่าย ไม่มีผลกับโครงสร้างเก่า แต่คอนกรีตมันทุบแล้วร้าว เสียหายกับโครงสร้างความแข็งแรงเดิม แต่เนื่องจากว่าคอนกรีตมันกันแดด กันฝนดี เพราะเหล็กมันให้ตัวได้ พอให้ตัวได้ก็เกิดร่อง ต้องมานั่งยาแนวซิลิโคน บางทีมีปัญหาเรื่องช่างฝีมือ ทำให้งานคอนกรีตเป็นงานที่ง่ายกว่าสำหรับช่าง

DBs: M Space ทำงานร่วมกับ BMC ทำให้ปัญหาหน้างานลดลงหรือเปล่าครับ
PM: เราไม่ได้รับเหมา แต่เราควบคุมงานเฉยๆ ถามว่าลดลงไหม ปัญหามันไม่ลดลงแต่ว่ามันสะดวกขึ้น และรวดเร็วขึ้นในการทำงาน บางทีเราคิดไว้ตั้งแต่คอนเซ็ปต์เลยว่าเดี๋ยวมันจะเกิดปัญหาเหล่านี้ เราก็ไม่ได้เดินไปในทางที่มันจะเกิดปัญหานั้น เราก็เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ไปเลยมันจะได้ไม่มีปัญหา เพราะบางทีการออกแบบไปด้วยกันกับวิศวกรทำให้เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ตามมาคืออะไร เราไม่ได้แก้ปลายทาง เราแก้ที่ต้นทาง

DBs: ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณเด๋ย-ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน (ช่างภาพสถาปัตยกรรม ผู้ก่อตั้ง Spaceshift Studio) ในเว็บไซต์ http://eosclub.canonlife.com คุณเด๋ยยกตัวอย่างอาคาร NAT ที่อุดรธานีว่ามีแนวคิดและรูปแบบน่าตื่นตาตื่นใจ อาคารมีนัยยะแฝงทางสถาปัตยกรรมน่าสนใจ และเปิดกว้างให้ผู้คนภายนอกเข้าไปใช้พื้นที่ทำกิจกรรม ช่วยขยายความให้เราทราบถึงที่มาและแนวคิดของอาคารนี้ได้ไหมครับ รูปทรงของอาคารได้อิทธิพลมากจากความสนใจด้านไหน
PM: งานที่อุดรเป็นงานที่อยู่กลางสี่แยก เราทำถนนให้กลายเป็นอาคารอีกหลังหนึ่งขึ้นมา ถ้าเรามองไปในที่แปลงนี้ สมัยก่อนมันเป็นนา มันก็จะมีแต่ถนนเท่านั้นเอง เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ถนนกลายมาเป็นอาคาร เราก็เอาถนนขึ้นมาพับเป็นตัวอาคาร อุดรเดิมทีเป็นฐานทับของอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม จะมีเครื่องบินทิ้งระเบิดอะไรต่างๆ เยอะมาก เราก็ใช้ปีกของเครื่องบินมาพันรอบถนนอีกที ตัวปีกเครื่องบินเราต้องการที่จะให้เป็นของที่สะท้อนสิ่งแวดล้อมรอบตัวอาคาร มีแสงสะท้อนจากไฟรถ ท้องฟ้า อาคารข้างเคียง ให้มันสะท้อนเข้าไปในปีกของอาคาร

DBs: วัสดุของปีกเครื่องบิน
PM: เป็นอลูมิเนียมคอมโพสิต อีกด้านหนึ่งจะเป็นสีดำเหมือนถนนลาดยางมะตอย ด้านหนึ่งดูดแสง ด้านหนึ่งเป็นเงาสะท้อนแสงสิ่งแวดล้อม 2 ด้านนี้จะพันไปเรื่อยๆ เป็นเพลนเดียว ไม่ได้เป็นกล่อง มันเป็นแผ่นเดียวกันเหมือนเวลาเราเขียนดินสอแล้วไม่ยกหัวดินสอขึ้นจากการะดาษ พันแล้วขดรอบตัวเอง พอเป็นแผ่นเวลามันต้องบิดจากกัน เวลาเราพับแต่ละครั้งมันจะคล้ายกับเป็นหลังคาซ้อนกันอยู่ จริงๆ มันเป็นตึกที่ไม่มีระนาบไหนตั้งฉาก 90 องศา ทุกเพลนจะบิดออกจากกัน ทำให้เกิดภาพสะท้อนสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น สะท้อนบริบท คอนกรีตที่พื้นเหมือนงาน Futuristic เราพยายามทำพื้นที่ให้น้ำมันซึมเข้าไปในรอยต่อ เพราะไม่ได้เทคอนกรีตปิดผิว โดยนำดินเดิมมาสเตน ทำสีให้ซึมไปในคอนกรีต ไม่ทาเคลือบเป็นฟิล์ม ปล่อยให้มันซึมลงไป พอมันแห้ง ผิวมันเหมือนดินขนาดใหญ่ แล้วมีตึกลอยอยู่ข้างบน ดินสีแดงเหมือนดินบ้านเชียงที่ทำเซรามิก ให้สีกระทบกับแสงอาทิตย์สะท้อนขึ้นไปบนปีกอาคาร ในช่วงบางเวลาก็จะเป็นสีแดง สะท้อนให้เห็นที่มาของที่ดินผืนนี้ มันเป็นปีกที่เบาแล้วก็ลอย แสดงถึงธุรกิจที่เขาทำ แต่มีที่มาจากชาวบ้านนี่แหละ มันเป็นสิ่งที่ซ่อนเข้ามาในแต่ละงาน

แต่จุดประสงค์ที่เราทำอีกอย่างหนึ่ง อาคารมันอยู่ตรงสี่แยก เราก็คุยกับเจ้าของว่าเอาอย่างนี้ไหม เราไม่เอาอาคารวางอยู่บนดิน ยกอาคารลอยขึ้นมาเหนือดินเหมือนเป็นชานบ้าน แล้วข้างใต้เราไม่ต้องเทปูน เราวางคอนกรีตเป็นชิ้นๆ เพื่อให้ดินมันระบายความชื้นกระจายไปได้ เหมือนใต้ถุนบ้านที่มีวัวมีควาย ปัจจุบันมันก็กลายเป็นมอเตอร์ไซต์ เป็นรถยนต์ แต่มันก็เป็นคอนเซ็ปต์เดิมที่เราอยู่แล้วปล่อยให้อากาศถ่ายเทได้ ข้างใต้ทำเป็นลานกิจกรรม จัดคอนเสิร์ตอะไรต่างๆ ปัจจุบันเราก็ทำเป็นอาร์ตเอ็กซ์ฮิบิชั่นของทางอีสาน ให้เด็กที่เรียนศิลปะเอางานมาจัดแสดง เป็นเหมือนสวนสาธารณะ ไม่มีรั้ว สามารถเดินเป็นทางลัด ผ่านไปขึ้นรถสองแถว เป็นทางเดินไปโรงเรียน มีลานศิลปะที่เข้าไปใช้ได้ ที่เมืองไทยมันไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ถ้าอยู่ต่างประเทศเราจะเห็นอยู่เรื่อยๆ ว่ามันจะมีประติมากรรมอยู่ตามถนนต่างๆ เราก็เลยอยากจะให้เด็กที่นั่นเพราะลูกค้าเขาก็เป็นพวกเด็กๆ ที่เอารถมาซ่อมบ้าง เดินผ่านไปผ่านมา แล้วเขาก็ได้เรียนรู้ เพราะศิลปะมันต้องใช้การซึมซับ ไม่ใช่ที่เราจะไปสอนได้ ให้เขาได้เห็นและซึมไปเอง

 DBs: คุณเสนอแนวคิดนี้เข้าไปใช่ไหมครับ
PM: ใช่ครับ ถ้าลูกค้าเขาเข้าใจนะว่าได้ผลทางอ้อมอะไรบ้างในการทำแบบนั้น มันก็จะเป็นประโยชน์กับเขาด้วย อย่างเช่น บ้านบางหลังเราก็ออกแบบให้เป็นที่นั่งสำหรับวินมอเตอร์ไซต์ หรือสองแถว ติดกับรั้วไปเลย เราจะได้เป็นมิตรกับคนตรงนั้น แทนที่เราจะไปกลัวกันหรืออะไรกันก็เป็นเพื่อนกันไป แต่ทั้งหมดนี้เจ้าของโครงการก็ต้องมีจิตสาธารณะแบบนั้นด้วย 


KL MNAT Motors Head Office & Showroom


 

DBs: งานที่ท้าทายหรืออยากลองทำเป็นโปรเจ็กต์เรื่องสมมุติละครับ ถ้ามีโอกาสออกแบบอาคารอย่างอิสระเป็นของตัวเองจะมีลักษณะแบบไหน
PM: (ยิ้ม) จริงๆ ผมอยากออกแบบตึกที่มันเป็น Abstract มากๆ ออกแบบเสร็จแล้วไม่มีตัวตน แต่สามารถทำให้คนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับความรู้สึกของเขา ไม่ใช่ Impact ผ่านตัวอาคาร แต่ผ่านธรรมชาติ ดัดแปลงธรรมชาติ เน้นธรรมชาติบางอย่างให้มีความชัดเจนแล้วเข้าไปถึงคนได้ ทำตึกที่ไม่มีตัวมัน

DBs: วัสดุที่จะใช้ล่ะครับ
PM: วัสดุเราใช้ได้ทุกอย่าง วัสดุไม่ใช่เป็นตัวจำกัด เพียงแต่ว่าเราเลือกส่วนผสมอย่างไร เหมือนเราทำอาหาร เรามีวัตถุดิบ เราอยากจะทำอาหารอินเดีย อาหารจีน มันก็ทำได้หมด ความเป็นอาหารของแต่ละประเทศมันอยู่ที่ขั้นตอนและวิธีการปรุง เป็นเรื่องของส่วนผสมมากกว่า

DBs: โทนสีขาว-เทา-ดำของงานสถาปัตยกรรมในแบบคุณเป็นแบบไหน
PM: ขาว-เทา-ดำ ของผมมันเป็นเรื่องแสงอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง สีขาว-เทา-ดำ มันเป็น Back ได้ทุกสี งาน NAT ที่เป็น BigWing มันก็มีแค่สีเงินกับสีดำ และสีแดงซึ่งเป็นสีของดินที่นั่น ไม่มีสีอื่นอีกแล้ว สีดำมันดูดแสงทั้งหมด ของทุกอย่างที่อยู่ในสีดำมันไม่มีเงา เวลาเราอยู่ในพื้นที่สีดำให้ความรู้สึกเหมือนเป็นความว่างเปล่าที่มีความลึก เป็นพื้นที่ไม่จริง พอไม่เห็นเงาเราก็ไม่เห็นตัวตนของเราปรากฏ ส่วนสีขาวมันคือแสง เพราะ Spectrum แสงมันมีอยู่ 7 สี กระทบลงบนสีขาว มันเปลี่ยนสีขาวเป็นได้ทุกสีได้ แต่ Spectrum ทั้ง 7 รวมกันก็เป็นสีขาว ฉะนั้นสีขาวมันจึงมีพลังของทุกสีที่มีอยู่ ขาวกับดำมันคือธรรมชาติทั้งหมดในโลกนี้ สีต่างๆ คือภาพสะท้อนเฉยๆ ไม่ใช่สีจริงของมัน ส่วนสีเทามันเกิดจากการผสม ของทั้งสองสีในแต่ละเฉดต่างกัน สีเทาสะท้อนแสงได้เหมือนกัน แต่จะสะท้อนแสงแล้วบวกกับอารมณ์ของสีดำที่ใส่เข้าไปในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน เทาอ่อน กับ เทาเข้ม มันมีสัดส่วนของอารมณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่แสงเดียวกัน เวลาเดียวกัน ถ้าเราทาทั้งห้องเป็นสีเดียวกันทั้งหมด เทาอ่อน เทาเข้ม อารมณ์ของห้องนั้นมันถูกบิดเบือน มันสะท้อนสิ่งที่ถามว่าอยากออกแบบอาคารอะไร อยากออกแบบอาคารที่ Abstract แบบนั้น อารมณ์คนมันถูกบิดเบือนไปได้โดยที่มันไม่ต้องมีอะไรก็ได้ ด้วยแสงอย่างเดียว ด้วยมิติของ Plainในแต่ละอันที่ไปรับแสงมันอย่างเดียว มันบิดเบือนความรู้สึกและอารมณ์ไปเอง นี่คือขาว-เทา-ดำในความคิดของผมนะ     

DBs: ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาเคยมีช่วงเวลาเหนื่อยล้า ท้อแท้ที่เจอปัญหา หรือเบื่อการออกแบบบ้างไหม คุณก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร เล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมครับ
PM: มันยากนะแต่มันสนุก เพราะผมว่าส่วนหนึ่งตอนช่วงที่เราเด็กเราได้เดินทาง ได้เห็นงานดีๆ มันเหมือนกับเราได้กินอาหารดีๆ ปรุงด้วยเชฟเก่งๆ วัตถุดิบดีๆ ในสถานที่ดีๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันเก็บอยู่ในความจำ ความคิดของเรา พอเราทำงานก็เจอปัญหาอุปสรรคเยอะ แต่เราจะผลิตของไม่ดีออกมาทำไมทั้งที่เรารู้แล้วว่าของดีมันเป็นอย่างไร มันเหมือนกับมี Milestone ที่ว่าวันหนึ่งเราต้องทำของดีๆ อย่างที่เราเคยเดินทางไปเห็นแล้วได้ชิมมัน เราอยากจะทำอย่างนั้น เพราะเราเคยเห็นงานที่ออกแบบดีๆ มากๆ เห็นแล้วขนลุกซู่ไปทั้งตัวเลย จิตมันตกลงไป ใจมันคาราวะ เหมือนอยากจะกราบพระในวัดอะไรแบบนี้ เราอยากจะทำงานที่เป็นแบบนั้นบ้าง คือไม่รู้จะได้ทำหรือเปล่า ไปถึงหรือเปล่า แต่มันเหมือนเป็นเส้นที่เรารู้แล้วว่าจะไปเส้นนี้ วิธีการไหนก็ได้ ขอให้มันไปตามเส้นนี้ก็พอ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทำงานได้เรื่อยๆ พยายามรักษามาตรฐานให้มันขึ้นไป

 DBs: กับกองหนังสือในออฟฟิศที่น่าหยิบอ่าน หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไปเยือน ชอบแบบไหนครับ แล้วทำงานหนักแบบนี้หาเวลาหยุดพักทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างไรครับ
PM: ช่วงนี้ไม่ค่อยได้พัก (หัวเราะ) จริงๆ การพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับผมก็คือการเดินทาง บางทีเราคิด ความคิดมันเป็น Loop เป็นเขาวงกตวนกลับมาที่เดิม แต่พอเราเดินทาง มันเหมือนกับเราเซ็ตระบบความคิดใหม่ เพราะสิ่งที่เข้ามามันสด มัน Fresh ทำให้ระบบความคิดเก่าๆ มันอ่อนกำลัง แล้วทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายทางความคิดมากขึ้น ได้ออกกำลัง ได้เดิน ได้สูดอากาศ สำหรับผมการเดินทางคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด   

“ขาว-เทา-ดำของผมเป็นเรื่องแสง เป็นสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง เวลาเราอยู่ในพื้นที่สีดำให้ความรู้สึกเหมือนเป็นความว่างเปล่าที่มีความลึก ขาวกับดำมันคือธรรมชาติทั้งหมดในโลกนี้ สีต่างๆ คือภาพสะท้อน สีเทาสะท้อนแสงได้เหมือนกัน แต่จะบวกกับอารมณ์ของสีดำที่ใส่เข้าไปในสัดส่วนไม่เท่ากัน เทาอ่อน กับ เทาเข้ม มันมีสัดส่วนของอารมณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่แสงเดียวกัน เวลาเดียวกัน ถ้าเราทาสีห้องเป็นสีเดียวกันทั้งหมด เทาอ่อน เทาเข้ม อารมณ์ของห้องนั้นมันถูกบิดเบือน มันสะท้อนสิ่งที่ถามว่าอยากออกแบบอาคารแบบไหน อยากออกแบบอาคารที่ Abstract แบบนั้น อารมณ์คนมันถูกบิดเบือนไปได้โดยที่มันไม่ต้องมีอะไรก็ได้”

ภากร มหพันธ์

P1

ขอบคุณภาพถ่ายผลงานจาก Wison Tungthunya / W Workspace