HERE HOSTEL
‘ที่นี้ – ตอนนี้’ อดีตในสถาปัตยกรรม
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
กระแสของการปรับปรุงอาคาร ทั้งบ้านเดี่ยว ตึกแถว หรือแม้แต่โกดังใหญ่ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นอาคารสาธารณะ สร้างเสน่ห์ดึงดูดอย่างน่าประหลาดให้กับผู้คนและเมืองที่แออัดมากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับอาคารตึกแถวที่เดินทางผ่านกาลเวลามายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 บนเกาะรัตนโกสินทร์หลังนี้ ที่ถูกเปลี่ยนโฉมเป็นโฮสเทลขนาดกะทัดรัด แต่เต็มไปด้วยความสนุกสนานเหมือนกับบรรยากาศของการพูดคุยในบ่ายวันพุธของพวกเรา Daybeds กับโฮสเทลสุดฮิป HERE Hostel
บรรยากาศของความหลังในสถาปัตยกรรมจากยุคเก่า กำลังกลายเป็นที่สนใจจากคนเมืองหลายคนที่ไม่ชอบการอยู่อาศัยในห้องเล็กๆ กลางตึกระฟ้า การได้เป็นเจ้าของตึกแถวเก่าๆ สักห้อง ได้ปรับแต่งหน้าตาให้เข้ากับสไตล์การอยู่อาศัยของตัวเอง ก็ดูจะเป็นชีวิตที่คอมแพ็ค เป็นเสน่ห์ของการอยู่อาศัยแบบคนเมืองยุคใหม่
“นี่ก็ไม่ได้ซื้อนะ เราเช่านะ เจ้าของเขาหวงเลยล่ะ คือเขาก็โดนผู้รับเหมาหลอกมาอีกที ปลวกมันกิน แต่ผู้รับเหมาเอาไม้อัดไปปิดไม่ให้เห็นว่ามีปลวก จนกระทั่งไปรื้อแล้วถึงเห็น เราก็เลยคุยกับเจ้าของบอกว่า คือเดี๋ยวทำให้มันดีไปเลยดีกว่า ก็เลยตัดสินใจรื้อหมด แล้วก็ทุบโครงสร้างที่มันพังออกแล้วเสริมโครงสร้างใหม่ เขาก็โอเค ก็บอกสไตล์เขาว่าอยากจะทำอะไร อยากจะเก็บอะไรไว้ เขาก็ชอบ เข้าใจ เขาอยากได้อย่างนั้นพอดี ก็เลยไปกันได้ดี” คุณโอ๊ต-เอกสิทธิ์ โกสินทโรบล หนึ่งในหุ้นส่วนกล่าว
เหตุผลของการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในตึกเก่าแทนการสร้างตึกใหม่ เป็นสิ่งน่าสนใจเสมอเมื่อเริ่มที่จะตัดสินใจปรับปรุงอาคารสักหลังหนึ่ง แต่หลายครั้งอะไรๆ ก็อาจจะง่ายกว่านั้น เช่นเดียวกับรักแรกพบของตึกแถวย้อนยุคหลังพิพิธภัณฑ์นิทรรศน์รัตโกสินทร์ และโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่างหน้า การปรากฏแก่สายตาโดยบังเอิญของตึกเก่าแห่งนี้แก่เจ้าของใหม่ของมัน ได้เปลี่ยนแปลงตัวมันเองและบริบทที่แวดล้อมโดยรอบไปอย่างสิ้นเชิง
“พอดีเพื่อนที่หุ้นกันเป็นเพื่อนที่อยู่สถาปัตย์จุฬาฯ ที่เจอตึกนี้ก็เพราะเพื่อนออกแบบตึกหอศิลป์แถวนี้ แล้วเราก็เลยได้มีโอกาสมารับเพื่อนไปกินข้าวเที่ยง แล้วขับผ่าน แล้วก็แบบ โห คือตึกนี้โคตรสวย คือสวยแบบ เราอยากจะมาอยู่เลย แล้วแบบไม่ได้คิดเลยว่าจะมาทำกิจการอะไรเลยตอนแรก คือ คิดแค่แบบว่า เฮ้ย อยากนั่ง อยากมีสเปซอย่างนั้นน่ะที่ฝรั่งเค้านั่งกัน อยากนั่งแล้วแบบว่า เออ ทำงานของเราไปด้วยดื่มไปด้วยอะไรอย่างนี้”
ด้วยเวลาทั้งหมดเกือบ 1 ปี การก่อสร้างดำเนินไปด้วยแนวคิดหลักคือเก็บรักษาเปลือกนอกอันเป็นเอกลัษณ์ของอาคารเดิมไว้ ส่วนโครงสร้างจำเป็นต้องได้รับการเสริมขึ้นใหม่ตามสภาพของการใช้งาน ข้อจำกัดที่จำเป็นต้องรองรับคนให้ได้ 50 คนเป็นอย่างน้อยของพื้นที่ชั้น 2 ทำให้โจทย์ของการเสริมโครงสร้างเป็นสิ่งที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม ฝาไม้ บันได และสิ่งที่รอดพ้นจากการกัดกร่อนของการเวลา ก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ คืนบรรยากาศเดิมๆให้กับบ้านหลังเก่า ที่เหล่า ฝาไม้ บันได หน้าต่าง ประตู เคยเป็นเจ้าของ
ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงตึกเก่านั้นอาจมากกว่าการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่เลยเสียอีก แต่เสน่ห์ของ HERE Hostel นั้นอยู่ที่ความละเอียดอ่อนในการตั้งใจคืนชีวิตให้กับอาคารอายุคราวปู่ภายใต้บริบทที่หาไม่ได้จากที่อื่นหลังนี้ต่างหาก “ปัญหาที่มีก็อย่างเช่น ความผิดพลาดของการดีไซน์ คือเมื่อมันไม่ได้สร้างใหม่ พอเราเข้ามาทำมันก็จะมีระยะบางอย่างที่มันไม่สามารถกำหนดเองได้ มันต้องเป็นไปตามของเดิม แต่ทีนี้ พอทำรังวัดมาปุ้บ เอาจริงๆมันก็มีการคลาดเคลื่อน บางทีคลาดเคลื่อนนิดเดียว แต่มันทำให้สเปซมันเสียไปเลย”
บริบทที่ตั้งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ส่งเสริมให้อาคารในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แตกต่างไปจากอาคารแห่งอื่น เสียงพูดคุยของผู้คน กลิ่นกับข้าว แสงแดดและลมพัดเอื่อยอ่อน ทักทายเราตลอดการพูดคุยในพื้นที่ล้อบบี้ของโรงแรม เป็นผลพวงจากการที่ HERE Hostel เปิดพื้นที่บางส่วนรับเอาบรรยากาศภายนอกเข้ามา ทำให้โรงแรมมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างน่าสนใจ “เอาไอติมมั้ย” ตามคำเชิญชวน รถเข็นไอศกรีมที่ขับผ่านมาอย่างประจวบเหมาะจึงต้องแวะที่ริมหน้าต่างร้าน ลดอุณหภูมิของอากาศยามบ่ายให้เย็นลงได้อีกเล็กน้อย
“เราจะเถียงกับเพื่อนหลายเรื่อง อย่างเสปซตรงข้างหน้าที่ทำเป็นห้องคอมมอนรูม เพื่อนบอกให้ติดแอร์เลย เราก็บอกาไม่อยากติดแอร์ ช่วงมาเปิดใหม่ๆ ช่วงเดือนมีนาร้านมากเลยนะ ร้อนจนเราแบบ เกือบเปลี่ยนใจติดแอร์ก็ได้ แต่จนสุดท้ายมันก็เออให้มันดิ้นรนผ่านไป จนทุกวันนี้คือเรารู้สึกแบบ มันเป็นที่ที่คนอยากนั่งจริงๆ”
พื้นที่เปิดโล่งที่ปล่อยให้อาคารได้สนทนากับผู้คนที่สัญจรผ่าน เปิดให้อาคารได้แลกเปลี่ยนมุมมองและบรรยากาศกับบริบทได้โดยไม่ปิดกั้นหรือปรุงแต่ง ปล่อยให้ชีวิตไหลเวียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนโดยที่ไม่หลุดหายไปกับกาลเวลา “คือรู้สึกว่า มันมีการเชื่อมต่อกับข้างนอก ไม่ปิดกั้น ก็เลยพยายามเก็บตรงนี้ไว้ เพราะ เวลาดูกับที่อื่นก็จะเห็นความแตกต่าง แต่ความเสี่ยงก็เยอะกว่านะ เพราะของตรงนี้ จะอันตรายกับพวกหนู แมลงอะไรต่างๆ แต่ส่วนข้างในเราก็จะมีแพนทรีอีกอันนึง ให้เค้านั่งกันเอง แบบ อยากทำนู่นนั่นนี่ ก็ไปอยู่ข้างใน ตรงนี้ก็คืออารมณ์แบบ นั่ง ซื้อเบียร์เข้ามา ซื้อสแน็คเข้ามา เปิดทีวีให้เค้าดู ก็นั่งกิน กินเบียร์ไป สูบบุหรี่ไป อะไรแบบนี้”
เรื่องราวของพื้นที่ต่างๆในโรงแรมพาเราท่องไปในซอกซอยต่างๆในละแวก ไม่ว่าจะเป็นถนนข้าวสารที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล หรือในซอยของโรงแรมเองก็ดี คล้ายกับว่าชีวิตของตึกเก่า ถูกเติมเต็มด้วยชีวิตของผู้คนในย่านที่ไม่เคยห่างหายไปไหน สถาปัตยกรรมที่ผ่านผู้คนต่างยุคและกาลเวลาที่ยาวนาน จึงคล้ายเป็นไทม์แมชชีนที่เชื่อมอดีตเข้าหาปัจจุบันได้อย่างน่าประหลาด HERE Hostel จึงเป็นเสมือนจุดตรงกลางระหว่างสองยุค ที่ปรากฏตัวได้มีเอกลักษณ์ น่าค้นหา และซุกซนไปในเวลาเดียวกัน
“อย่างสไลด์เดอร์ตอนแรกเพื่อนก็ไม่เอานะ เราก็แบบ เฮ้ย.. มันต้องมีดิ มันต้องมีอะ มันคือกิมมิค คือคนที่มาที่นี่ต้องมาแล้ว คือทุกคนต้องเล่นสไลด์เดอร์อะ ถึงแม้ว่าสไลด์เดอร์จะเป็นสไลด์เดอร์แบบไม่ได้ดี ทำหน้างาน ว่า เฮ้ย เอาสโลปประมาณอย่างงี้ คือซ่อมประมาณสองรอบสามรอบกว่าจะได้ ก็ทำมา แล้วก็ เออ เฮ้ย รู้สึกแบบ คือ ทุกคนเล่นน่ะ เอาให้มันสนุกอะ มันคือการเอาความใหม่ เข้ามาอยู่ในความเก่า โดยที่มันไม่แตกแยก เออ มันก็ดูกลมกลืนกันไป”
“กับแขกบางคนเราก็อำไปนะว่าเนี่ย อันนี้ขุดเจอข้างหลัง เป็นสไลเดอร์โบราณ ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 อะไรแบบนี้”