TOYO ITO
“Toyo Ito จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์เพื่อสาธารณประโยชน์”
สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ ทำความเข้าใจธรรมชาติและถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาในชิ้นงานเพื่อสาธารณประโยชน์
Toyo Ito เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบผ่านผลงานที่คล้ายจะถ่ายทอดดีไซน์เรียบง่าย แต่ทว่า ล้วนผ่านกระบวนความคิดอันแยบยล การันตีฝีมือของการออกแบบด้วยรางวัล Pritzker Prize ในปี 2013 ผลงานอันโดดเด่น Sendai Mediatheque ศูนย์วัฒนธรรมอเนกประสงค์ซึ่งมองดูคล้ายการดีไซน์สาหร่ายที่ลอยโดดเด่นด้วยโครงสร้างภายนอกโปร่ง เปรียบดังอะควอเรี่ยมขนาดยักษ์ ภายในอาคารออกแบบให้มีท่อเหล็กกลมที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อโครงสร้างจำนวน 13 ท่อ รองรับแผ่นพื้นอาคาร และยังเป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่กระจายแสงจากหลังคาสู่พื้นที่ใช้สอยในแต่ละชั้น ซึ่งมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย อาทิ เป็นที่เก็บผลงานอาร์ท ห้องสมุด และสื่อศิลปะเพื่อการใช้ประโยชน์ของสาธารณะ
Toyo Ito เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1941 ที่ Keijo กรุงโซล ประเทศเกาหลี มีพ่อเป็นนักธุรกิจซึ่งสนใจในเครื่องเซรามิกยุคโบราณของเกาหลี และภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น ในปี 1943 แม่และพี่สาวสองคนของ Toyo Ito ย้ายกลับไปยังญี่ปุ่น สองปีต่อมาพ่อของเขาก็ตามกลับมา พากันไปอาศัยอยู่ในบ้านเกิดของพ่อ Shimosuwa-machi ใน Nagano พ่อของเขาเสียชีวิตในปี 1953 ตอน Toyo Ito อายุได้ 12 ปี ในวัยเด็กของเขานั้นไม่ได้มีความสนใจในสถาปัตยกรรมเลย แถมยังเป็นแฟนเบสบอลและมีความสนใจไปในทางกีฬาด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ได้รับอิทธิพลหลายอย่างในช่วงต้นคือคุณปู่ที่เป็นพ่อค้าไม้ รวมถึงคุณพ่อของเขาชอบวาดแปลนบ้านให้กับเหล่าเพื่อนบ้าน
ในช่วงที่ Toyo Ito ศึกษาด้านการออกแบบในระดับอนุปริญญา ผลงานการออกแบบพัฒนาสวนสาธารณะ Ueno Park ของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากมหาวิทยาลัยโตเกียว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันมาสนใจสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง โดยได้มีโอกาสเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว และจบการศึกษาในปี 1965 ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าทำงานที่บริษัท Kiyonori Kikutake & Associates ได้ระยะหนึ่ง เขาก็ออกมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า ‘Urban Robot’ (Urbot) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักงานสถาปนิก Toyo Ito & Associates ในภายหลัง
โปรเจ็กต์แรกๆ ของ Toyo Ito ในปี 1971 คือบ้านในเขตชานเมืองโตเกียวที่ เรียกว่า“ บ้านอลูมิเนียม” โครงสร้างประกอบด้วยโครงไม้หุ้มด้วยอลูมิเนียม ซึ่งงานชิ้นแรกๆ ของเขาส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับที่พักอาศัย ในปี 1976 เขาได้สร้างบ้านให้กับน้องสาวของเขาซึ่งเพิ่งเสียสามีไป บ้านถูกเรียกว่า “White U” ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา
อย่างไรก็ดี Toyo Ito ก็ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับงานสถาปัตยกรรมที่จะมาช่วยซัพพอร์ทปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ เขาอุทิศตนในการช่วยเหลือผู้คน และรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสถาปนิกคนหนึ่งด้วยการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีชื่อว่า “HOME-FOR-ALL” จากความเชื่อส่วนตัวที่ว่าสถาปัตยกรรมสามารถช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า
“สถาปนิกคือคนที่สามารถสร้างพื้นที่แห่งความสุขเล็กๆ ให้กับใครสักคน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่เกื้อกูลต่อกัน เป็นพื้นที่ที่มอบความสะดวกสบายมากขึ้น สร้างรอยยิ้มให้ใครสักคนได้”
ขอบคุณรูปภาพจาก Archdaily , dezeen , archpaper.com , inexhibit.com , pritzkerprize
ขอบคุณข้อมูล britannica.com, pritzkerprize.com