BASIC HOUSE

บ้านธรรมดาสามัญที่มากล้นด้วยไอเดียและความเนี๊ยบ

Text: Boonake A.
Photo: ภคนันท์ เถาทอง
Design: Brownhouse Company

Basic House คือบ้านอันเป็นผลงานการออกแบบและสร้างขึ้นจากความคิดของคุณกร ทองทั่ว Architect Design Director และคุณมุ่ย-นาถฤดี ตรีศักดิ์ศรีสกุล Interior Design Director สองสามีภรรยาเจ้าของบริษัทออกแบบบ้าน Brownhouse Company

บ้านหลังนี้ทั้งสองคนตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นบ้านในฝันสไตล์มินิมอล ที่รวบรวมเอาความชอบของส่วนตัวมาบรรจุไว้ในบ้านอันโดดเด่นหลังนี้ นอกจากการเป็นพื้นที่รวบรวมความชอบและความสวยงามเชิงการออกแบบแล้ว Basic House ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยไอเดียในการสร้างพื้นที่

รวมถึงการบรรจุฟังก์ชั่นต่างๆ มากมายอยู่ภายใน จนน่าจะเรียกได้ว่านี่คือบ้านแบบมินิมอลแสนธรรมดาสามัญ แต่มากล้นไปด้วยไอเดียและความเนี๊ยบในทุกรายละเอียด  ส่วนในรายละเอียดของความเนี๊ยบและการจัดการฟังก์ชั่นอย่างชาญฉลาดนั้นจะเป็นอย่างไร เราจะนำมาเล่าให้คุณฟังในคอลัมน์ Living Space ฉบับนี้

 

โจทย์หลักของการสร้าง Basic House

เริ่มแรกผมถามทั้งคุณกรและคุณมุ่ยถึงโจทย์หลักในการออกแบบ Basic House คุณมุ่ยในฐานะภรรยา ทั้งยังเป็นคนออกแบบในส่วนอินทีเรียร์ภายในทั้งหมด จะขอทำหน้าที่เล่าในส่วนนี้

“ทั้งหมดเริ่มต้นจากเงื่อนไขชีวิตของเราทั้งคู่ คือพี่กรเป็นคนที่ชอบรถมาก แล้วเขาก็สะสมรถเป็นงานอดิเรก เรียกว่าซื้อเก็บมาเรื่อยจนมารู้ตัวอีกทีก็มี 56 คันไม่สามารถจอดที่คอนโดได้ เลยมีความคิดที่จะหาที่ซักแปลงเพื่อทำการาจที่สามารถเป็นบ้านเล็กๆ ได้ จนมาได้ที่ดินขนาด 80 ตารางวาตรงนี้”

คุณมุ่ยเล่าต่อว่าในระหว่างการออกแบบ จุดเปลี่ยนของครอบครัวก็เกิดขึ้นเมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนแรก ต่อมาที่ลูกสาวคนที่สองในระยะเวลาอีกไม่นานจากนั้น โจทย์ในการสร้างจึงต้องเปลี่ยนแปลงจากการเป็นบ้านเล็กๆ และการาจเก็บรถ จึงต้องขยายกลายเป็นบ้านหลังใหญ่ ที่มีพื้นที่เพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งสองคน

 

ข้อดีของบ้านไร้หน้าต่าง บนฟังก์ชั่นแห่งความเรียบเนี๊ยบ

“ด้วยข้อจำกัดในตัวที่ดินที่มีหน้าแคบ และลึกเข้าไป การที่ผมอยากจะใช้สร้างบ้านให้เต็มพื้นที่ จึงติดข้อจำกัดทางด้านกฎหมายก่อสร้าง ที่ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดระยะ Set Back ซึ่งผมใช้ข้อจำกัดตรงนี้มาออกแบบให้ด้านข้างของบ้านหลังนี้ไม่มีหน้าต่าง เพราะถ้ามีหน้าต่างหรือช่องลมคุณต้องกระเถิบตัวบ้านเข้าไปจากรั้วด้านข้างอีก 2 เมตร” คุณกรเล่าให้ฟังถึงความต้องการหลักในการใช้สร้างรูปเปลือกภายนอกของบ้าน

สำหรับการไม่มีหน้าต่างด้านข้างนั้น คุณกรและคุณมุ่ย บอกกับเราว่าเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อเสียอะไร ทั้งยังเป็นข้อดีด้วยซ้ำในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับการอยู่อาศัย รวมถึงตัวคุณกรเองมีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว การมีหน้าต่างและผ้าม่านหลายจุดน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสุขภาพเท่าใดนัก

และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การเข้มงวดเรื่องการออกแบบให้ถูกกฎหมายนั้น เป็นประเด็นที่เขาไม่สามารถละเลยได้ เพราะเผื่อวันใดวันหนึ่ง มีนักศึกษาหรือคนที่ทำงานออกแบบมาศึกษาการออกแบบบ้านของเขา หากทำผิดกฎหมายเขาจะตอบคนเหล่านั้นว่าอย่างไร นี่คือจริยธรรมของสถาปนิกที่คุณกรยึดถือในเนื้องานของเขาตลอดมา

 

ย่างก้าวเข้ามาในส่วนตัวบ้าน

“เชิญเข้ามาดูข้างใน แล้วจะรู้ว่าทำไมบ้านหลังนี้ถึงไม่มีหน้าต่าง” คุณกรเชื้อเชิญเราเข้าไปในตัวบ้านอีกครั้ง หลังจากก้าวพ้นรั้ว เราก็เข้าใจในสิ่งที่ที่เขาบอกทันที เพราะด้านหลังผนังกำแพงที่ปิดทึบนั้น ภาพที่เห็นอย่างแรกก็คือโถงเปิดกว้างที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นโรงจอดรถขนาดพอดีๆ ที่เต็มไปด้วยรถยนต์แบรนด์ดังระดับตำนาน ทั้งรถสปอร์ตและเอสยูวีจอดกันแน่นขนัด ยืนยันถึงความรักที่มีต่อรถและการเป็น Car Collector ตัวยงของคุณกรได้เป็นอย่างดี

ข้างๆ กันเป็นพื้นที่ทางเดินที่มีโต๊ะทำงานอันแสนเรียบง่ายของคุณกรตั้งอยู่ด้วย ซึ่งสถาปนิกบอกกับเราว่านี่คือห้องทำงานของเขา ส่วนที่เลือกอยู่ตรงนี้เพราะเขาอยากทำงานไปพลางมองสิ่งที่เขารัก ก็ยิ่งทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้น

ละสายตาจากโต๊ะทำงานมองลึกเข้าไปตามทางเดินจนสุดตัวบ้าน ก็จะพบพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเป็นคอร์ทกลางบ้านขนาดย่อมๆ มีการปลูกไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาในบริเวณดังกล่าว และคอร์ทที่ว่านี้นอกจากจะมีฟังก์ชั่นของการเป็นสวนซ่อนแอบแล้ว ในบริเวณนี้ยังสนามเด็กเล่นที่คุณกรและคุณมุ่ยสร้างเอาไว้ให้ลูกได้ลงเล่นทรายในบ่อที่ถูกสร้างไว้ รวมถึงการใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนนี้เป็นพื้นที่ปาร์ตี้รองรับแขกและเพื่อนในโอกาสสำคัญต่างๆ ด้วย

และที่สำคัญคอร์ทนี้แหละที่นำพาแสงสว่างตามธรรมชาติเข้ามาสู่ตัวบ้าน นี่จึงเป็นคำตอบของคุณกรที่ไขข้อข้องใจของเราว่าทำไมหน้าต่างจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นของบ้านทรงกล่องปิดทึบหลังนี้

 

ออกแบบพื้นที่เปิดโล่ง(Open Space) ด้วยความห่วงใย

ทีนี้ก็ได้เวลาเดินสู่ชั้นสอง ในส่วนนี้คงต้องให้คุณมุ่ยเป็นคนอธิบาย เพราะในฐานะอินทีเรียร์ เธอจึงเป็นผู้ออกแบบพื้นที่ในส่วนนี้ทั้งหมด คุณมุ่ยกล่าวว่าในส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่ที่ทั้งครอบครัวสามาถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ดังนั้นโจทย์ในการออกแบบก็คือการทำชั้นนี้ให้คล้ายเป็นคอนโดฯ ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิด(Open Space) ขนาดใหญ่ ซึ่งทุกพื้นที่ภายในถูกเชื่อมต่อกันจนเป็นเนื้อเดียว

ในชั้นนี้จึงประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนนั่งเล่นดูทีวี ส่วนแพนทรี่ครัว ส่วนโต๊ะทานข้าว ส่วนห้องเล่นของเล่นที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอกของแขกได้ ส่วนอ่านหนังสือของเด็กๆ ห้องน้ำ และมีห้องนอนเพียงห้องเดียวพ่อแม่ลูกทั้ง 4 คนได้นอนร่วมกันอย่างอบอุ่น

“สำหรับผมถ้าได้เห็นลูกอยู่ในสายตา ก็รู้สึกสบายใจ บางครั้งเขาเกิดเดินไปเล่นห้องนู้น ห้องนี้ มันก็อาจมีอะไรที่เป็นอันตรายกับตัวเขา เราก็ยังสามารถเข้าไปช่วยเขาทัน ถ้าเขาปลอดภัย เราก็อุ่นใจ” คุณพ่ออย่างคุณกรกล่าวเสริมประเด็นนี้ให้เห็นภาพความห่วงใยได้ชัดเจนมากขึ้น

สไตล์และฟังก์ชั่นที่ทำให้บ้านหลังนี้มีความเนี๊ยบ

นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่ชั้นสองให้เปิดโล่งแล้ว คุณมุ่ยอินทีเรียร์ดีไซเนอร์หลักยังเล่าให้เราฟังว่าสไตล์การออกแบบภายในทั้งหมดถูกกำหนดด้วยแนวทางแบบมินิมอล ให้มีความน้อย และสะอาดตามากที่สุด จนทุกรายละเอียดแทบจะกลืนกลายเข้าไปเป็นเนื้อเดียวไปกับฝ้าและผนังสีขาวสีขาวภายในบ้าน

“เราเป็นคนชอบสไตล์นี้อยู่แล้ว ก็เลยออกแบบให้เป็นสไตลนี้ บ้านนหลังนี้จึงเป็นการรวมความชอบของทั้งมุ่ยและพี่กรเอาไว้ทั้งหมด”

ข้อดีของสไตล์มินิมอลนั้น คุณมุ่ยได้อธิบายว่า มันทำให้บ้านดูมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แฝงด้วยอารมณอบอุ่นที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสบาย และมีความสงบเกิดขึ้นภายในจิตใจ ซึ่งก็สอดคล้องกับอารมณ์โดยรวมของบ้านที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แถมยังสามารถจัดการความรกของตัวบ้านแบบควบคุมให้รกเป็นมุมๆ  ได้ไม่ยากด้วย

 

ซ่อนพื้นที่เซอร์วิสและงานระบบต่างๆ อย่างชาญฉลาด

แต่ทว่าการจะทำให้ภาพรวมภายในบ้านถูกคุมโทนด้วยแนวมินิมอลได้อย่างแนบสนิททั้งหมด บนเงื่อนไขของการมีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างอย่างครบถ้วนนั้น นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งฟังก์ชั่นในการสร้างที่ยากที่สุดนั่นก็คือการซ่อนรายละเอียดของข้าวของเครื่องใช้ภายในเอาไว้ทั้งหมด ไม่เว้นแม่แต่รายละเอียดในส่วนของพื้นที่เซอร์วิสอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านทุกจุดที่ถูกออกแบบแอบซ่อนเอาไว้จนแทบมองไม่เห็น

“ทุกอย่างต้องเนี๊ยบ เรียบจนเรียกว่าแทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ของ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้การออกแบบสิ่งต่างๆ ต้องเนี๊ยบที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้แต่โป๊ะไฟซักอันที่ใช้ฝังในบนฝ้าเพดาน ยังต้องเลือกแล้วเลือกอีก จนได้แบบที่ขอบบางที่สุดเพื่อให้มันกลืนไปกับเพดานจั่ว”

“ในส่วนของการคอมฯ แอร์ และส่วนเซอร์วิสต่างๆ คุณกรจัดการมันอย่างไร” ผมถามต่อ คุณกรบอกว่าเขาต้องซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นทั้งคอมฯ แอร์ ตัวปล่องของฮู๊ดดูดกลิ่น รวมถึงสายไฟ สายสื่อสารต่างๆ จึงถูกซ่อนเอาไว้อยู่ภายใต้หลังคาทั้งหมด คุณกรยังได้ให้ความเห็นกับเราอีกว่าการสร้างส่วนเซอร์วิสคือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในบ้านหลังนี้ เพราะนี่คือพื้นที่มีวัดฝีมือของสถาปนิกได้เป็นอย่างดี

“ไม่ว่าบ้านจะถูกออกแบบให้สวยมาแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีการออกแบบงานระบบ รวมถึงพื้นที่เซอร์วิสให้ดีแล้ว มันก็ไม่สามารถเป็นบ้านที่ดีได้ในความคิดผม และเรื่องนี้เป็นที่สถาปนิกนิกรุ่นใหม่มักจะตกม้าตายเสมอ” คุณกรให้ความเห็นในประเด็นนี้อย่างชัดเจน


ในบทสรุปของความเป็น Basic House  คุณกรและคุณมุ่ยทั้งสองคนให้คำนิยามบ้านหลังนี้ไว้อย่างไร คุณกรขอรับหน้าที่การตอบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง “สโลแกนกับบ้านหลังนี้กับคอนเซ็ปต์ที่ผมอยากพูดถึงBasic House คือ บ้านหลังเล็กๆ ไอเดียล้นๆ”

ก่อนลงรายละเอียดว่าอยากสร้างบ้านหลังนี้ให้ดูธรรมดาและเบสิคมากที่สุด แต่ในความธรรมดาอันแสนเรียบง่ายนั้นต้องแฝงด้วยการมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีที่สุด มีฟินิชชิ่งที่เนี๊ยบที่สุดในทุดจุดเชื่อมต่อ  

รวมถึงการสร้างสเปซที่ชาญฉลาดเพื่อรองรับทุกการใช้งาน เอื้ออำนวยให้ทุกชีวิตที่อยู่ในบ้านได้อย่างมีความสุขและความอบอุ่นมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการสร้างสิ่งที่ดีสุดเพื่อย้อนคืนสู่จุดสามัญ จนได้ออกมาเป็นบ้านในฝันหลังนี้ของครอบครัวนั่นเอง

 

“สำหรับผมถ้าได้เห็นลูกอยู่ในสายตา ก็รู้สึกสบายใจ บางครั้งเขาเกิดเดินไปเล่นห้องนู้น ห้องนี้ มันก็อาจมีอะไรที่เป็นอันตรายกับตัวเขา เราก็ยังสามารถเข้าไปช่วยเขาทัน ถ้าเขาปลอดภัย เราก็อุ่นใจ”

 

Leave A Comment