อยู่ในกล่อง 

Text : Doowoper
Photo : BEER SINGNOI
Design : STUDIO MAHUTSACHAN

ผลงานออกแบบของ คุณหย่งศิริวัฒน์ ปัจฉิมะศิริ และ คุณเต้ยเชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล สองสถาปนิกแห่ง “STUDIO MAHUTSACHAN” ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบความคิดอันลึกซึ้งในการสร้างสรรค์บ้านเดี่ยวชั้นเดียวออกมาให้ดูเรียบง่าย ผ่านวิธีคิดที่แปลกใหม่ เสมือนแต่ละพื้นที่ถูกบรรจุอยู่ในกล่องแต่ละใบ ทว่าเปิดเผย ไม่ปิดกั้น เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว

หลักการเข้าถึงและเชื่อมโยง  

ด้วยความที่เจ้าของบ้าน (ทำธุรกิจสำนักพิมพ์) มีทัศนคติเปิดกว้าง ชื่นชอบและให้ความเคารพในความคิิดของสถาปนิก การสร้างบ้านโปรเจ็คท์ ‘J House’ หลังนี้จึงเป็นงานที่ค่อนข้างมอบอิสระทางความคิดให้ STUDIO MAHUTSACHAN ได้ปล่อยของกันอย่างเต็มที่ 

สองสถาปนิกจึงเริ่มเดินเรื่องโดยการหาจุดเชื่อมโยงในการออกแบบ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมและพูดคุยแบบเปิดอกถึงการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน จนกระทั่งทราบว่าความสนิทสนมและการมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเขาค่อนข้างเปิด พื้นที่นั่งเล่น และพื้นรับประทานอาหาร คือศูนย์รวมที่ทุกๆ คนต่างเข้ามาใช้งาน และทำกิจกรรมร่วมกันมากที่สุด 

 

ตีโจทย์ สู่กระบวนการออกแบบ 

“เพราะพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร เป็นโซนที่ถูกใช้งานบ่อยมาก บวกกับเจ้าของบ้านชอบเข้าครัว เราจึงเริ่มต้นด้วยการพัฒนาแบบให้พื้นที่เหล่านี้เกิดความเชื่อมโยง เข้าถึงได้ง่าย และด้วยความต้องการสร้างขอบเขตของที่อยู่อาศัยแบบไม่ปิดกั้น 100% สอดรับกับการมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว เราจึงตีความหน้าที่ของผนังใหม่ โดยทำเป็น ‘พื้นที่กล่อง’ ขึ้นมา เพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่ส่วนตัว สำหรับรองรับกิจกรรมต่างๆ ของคนในบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน เน้นการออกแบบที่คำนึงถึงความเป็นหนึ่งเดียว สามารถรับรู้และมองเห็นกันได้” คุณหย่งหนึ่งในสถาปนิก เล่าถึงการปูทางสู่งานออกแบบบ้านหลังนี้ให้ฟัง 

ซึ่งพื้นที่กล่องเล็กใหญ่ แต่ละจุดที่สถาปนิกต่อยอดขึ้นมานั้นมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย สามารถรองรับกิจกรรมที่แตกต่างได้น่าสนใจเลยทีเดียว อาทิเช่น ห้องมีเดีย (พื้นที่กล่องตรงกลางบ้าน) กับดีไซน์พิเศษแอบซ่อนบันไดให้สามารถเดินขึ้นไปนั่งอ่านหนังสือได้บนชั้นลอย, ชั้นหนังสือ (พื้นที่กล่องที่ห้อยลงมาจากเพดาน) ที่ด้านหลังถูกดีไซน์ทำเป็นตู้เสื้อผ้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับด้านหลังของกล่องแพนทรี่ครัวที่นำเสนอเป็นห้องน้ำ เป็นต้น ที่สำคัญกล่องเหล่านี้ยังทำหน้าที่แทนผนัง ปิดกันพื้นที่เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และเก็บซ่อนงานระบบได้อย่างเรียบร้อยไม่แพ้กัน 

เปิดรับและเปิดเผย 

สำหรับความสูง-ต่ำ และการจัดวางกล่องแต่ละระนาบ นอกจากจะคำนึงถึงความสอดคล้องลงตัวกับการใช้งาน และทางเดินที่เชื่อมโยงกันในแต่ละพื้นที่ สถาปนิกยังให้ความสำคัญกับมุมมองที่มองเข้ามาจากภายนอกด้วย โดยเลือกเปิดเผยบางส่วน และบางส่วนเลือกจัดวางพื้นที่กล่องให้ทำหน้าที่ปิดกั้นพื้นที่ส่วนตัวแก่คนในบ้าน นั่นเอง 

 “ด้วยความที่พื้นที่ของบ้านหลังนี้อยู่ในโครงการบ้านจัดสรร ด้านข้างติดกับบ้านของคุณพ่อ มีเพื่อนบ้านที่คอยช่วยเหลือกันตลอด บวกกับเจ้าของบ้านเป็นคนรักต้นไม้ เขาจึงต้องการทำให้ภาพรวมดูโปร่งโล่ง อารมณ์แบบกึ่งพับบลิค นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราใช้กระจกค่อนข้างเยอะ รวมถึงสอดแทรกคอร์ทต้นไม้เพื่อโยงความเป็นธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในด้วย” ใจความที่คุณหย่งขยายให้ฟัง ก่อนที่คุณเต้ยสถาปนิกอีกท่านกล่าวเสริมว่า

“การติดตั้งกระจกยังทำให้ภาพทั้งหมดนั้นดูสมบูรณ์ เพราะสามารถมองเห็นการจัดวางพื้นที่กล่องได้จากภายนอก และกล่องแต่ละพื้นที่ เราทำขึ้นเพื่อต้องการตอบโจทย์ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนในบ้าน แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานก็คือ… การคงไว้ซึ่งภาษาในการออกแบบที่เราต้องการนำเสนอไว้ให้ได้ หมายถึงออกแบบแล้วต้องใช้งานได้จริง และทั้งหมดต้องไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง 

สำหรับการดีไซน์บ้านหลังนี้ เรียกว่าเป็นการทะลายกำแพงความคิดการสร้างบ้านในรูปแบบเดิมๆ จริงๆ ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นได้เพราะการยอมรับและเปิดใจในความคิดเห็นของกันและกัน สถาปนิกทำหน้าที่สร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยให้เกิดขึ้นจริง และผู้อยู่อาศัยทำหน้าที่ให้ข้อมูลและตอบคำถามในสิ่งที่ตัวเองต้องการ นี่คือสองหน้าที่หลักที่ทุกฝ่ายดำเนินการร่วมกัน ทำให้เกิดเป็นบ้าน J House หลังนี้ขึ้นมา  

   

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานก็คือการคงไว้ซึ่งภาษาในการออกแบบที่เราต้องการนำเสนอไว้ให้ได้ หมายถึงออกแบบแล้วต้องใช้งานได้จริง และทั้งหมดต้องไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง 

    

Leave A Comment