ARCHITECT’17: BAAN BAAN
นิทรรศการในแบบ ‘บ้าน บ้าน’
ที่ควรไปชมในงานสถาปนิก’60
งานสถาปนิก’60 เดินทางมาถึงวันที่ 4 ของการจัดงานกันแล้ว สำหรับสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจด้านสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และการก่อสร้าง ใครที่ยังไม่ได้ไปชมงานที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘บ้าน บ้าน : BAAN BAAN Reconsidering Dwelling’ ต้องรีบกันหน่อย เพราะงานจัดขึ้นถึงวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 เท่านั้น ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับนิทรรศการในแบบ ‘บ้าน บ้าน’ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ บ้าน, องค์ประกอบบ้าน และพื้นที่นอกบ้าน ทั้งหมดมีอะไรน่าสนใจกันบ้าง เราคัดส่วนหนึ่งมาให้ชมกันที่นี่
นิทรรศการในหลวงรัชกาลที่ 9
ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดนิทรรศการนี้ขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน ‘บ้าน’ บ้านในพระราชานิยม (Architect of the land) ที่นำเสนอเรื่องราวในแบบพอเพียง พระปรีชาญาณ และพระราชนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัยของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านทางสื่อมัลติมีเดีย และ ‘นิทรรศการภาพของพ่อ’ การแสดงผลงานศิลปะ 2 มิติ ขนาด A3 แขวนประดับบนโครงสร้างจากแผ่นตระแกงเหล็กสำเร็จรูปประกอบเข้ากับไม้เท้าค้ำยันตามแนวคิดพอเพียง ที่สามารถถอดชิ้นส่วนต่างๆ ไปบริจาคเป็นสาธารณะประโยชน์หลังจบงานได้โดยไม่ศูนย์เปล่าเป็นขยะเหลือทิ้ง (ทีมออกแบบ: Apostrophy’s x Hypothesis / ผู้ดูแลนิทรรศการ: อาจารย์ถวัลย์ วงษ์สวรรค์)
นิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง และเทคโนโลยี (Tectonic and Technology)
นิทรรศการนี้จะแบ่งย่อยการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ซ่อม + สร้าง นำเสนอเทคนิควิธีการซ่อมแซมบ้านในรูปแบบ Open Source ที่เพียงแค่ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาผลิตโดยใช้การพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) ภายในส่วนนี้ยังมีการนำวัตถุที่พิมพ์ขึ้นจาก 3D Printer มาจัดแสดงให้ชมกันอีกมากมาย ส่วนที่ 2 มนุษย์ + หุ่นยนต์ ที่เน้นการจัดแสดงการวางเรียงก้อนอิฐของหุ่นยนต์แขนกล (Robotic Arm) ให้ชม เพื่อตอบคำถามถึงอนาคตว่า ถ้าหากนำหุ่นยนต์มาใช้แทนหรือทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์ในงานสถาปัตยกรรมจะเป็นอย่างไร และปิดท้ายด้วย โลก + เสมือน ที่จะนำคุณเข้าไปอยู่ในมิติของบรรยากาศเสมือนจริงผ่าน Virtual Reality (VR) นอกจากนี้ยังมีเกมสนุกสนานแบบบ้านๆ อย่างบ้านผีสิง ที่นำเสนอด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เดียวกัน (ผู้ดูแลนิทรรศการ: คุณเบล-สมรรถพล ตาณพันธุ์ และคุณเจน-กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ สองผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok)
นิทรรศการชิ้นส่วนของบ้าน (Dwelling’s Elements)
นิทรรศการนี้พูดถึงการทบทวนความสำคัญของ หน้าต่าง, บันได, หลังคา, ผนัง, ราวกันตก, โต๊ะ และเก้าอี้ ชิ้นส่วนของบ้านที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่จากแนวคิดของ 12 ทีมออกแบบรับเชิญ นำโดย Plural designs, Thingsmatter, NPDA Studio, TADAH Collaboration, EKAR Architects, PHTAA Living Design, N7A Architects, Beautbureau, Nuzen, Quintrix architects, ธ.ไก่ชน และ ยางนาสตูดิโอ โดยผลงานที่น่าสนใจมีทั้ง Pipe Chair เก้าอี้ท่อที่ผลิตจากวัสดุบ้านๆ อย่างท่อพีวีซี นำมาพ่นสีสันแล้วขึ้นรูปทรง 3 มิติ โดยตัดท่อให้โค้งเว้าสำหรับลดน้ำหนักตัวเก้าอี้ และถ่ายแรงน้ำหนักผู้นั่งไปในตัว ออกแบบโดย NPDA studio, Hidden Stairs บันไดเลื่อนจากโครงเหล็กและไม้อัดที่สามารถเปลี่ยนถ่ายและเชื่อมต่อพื้นที่แนวตั้งเข้าด้วยกัน โดย EKAR Architects, Table For Free (Lance) At Home หรือโต๊ะเสรีชน คนทำงานที่บ้าน โต๊ะเหล็กที่เป็นทั้งที่นั่ง ที่นอน ที่ทำงาน และอีกสารพัดประโยชน์พร้อมกันในตัวเดียว โดย Nuzen และ Cadged Flower บันไดเกลียววนคล้ายกลีบดอกไม้จากเหล็กข้ออ้อยที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนแต่สร้างแรงดึงดูดให้บันไดน่าค้นหา โดย Thingsmatter เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการน่าสนใจ เช่น นิทรรศการ บ้าน บ้าน ตัวอย่าง (BAAN BAAN Case Study) และ นิทรรศการ บ้าน บ้าน จำลอง (BAAN BAAN Mockup) รวมถึง ASA Guide หรือ หมอบ้านอาษาที่เปิดให้คำปรึกษาปัญหาบ้าน บ้าน ส่วนใครที่อยากชมนวัตกรรมการก่อสร้างอันทันสมัย สามารถไปชมผลงาน ‘FLUCTUATION OF PRECISION’ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการพิมพ์แบบสามมิติ โดยใช้นวัตกรรมปูนซีเมนต์สูตรเฉพาะจากเอสซีจี สร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถใช้งานได้จริง ออกแบบโดย คุณอานนท์ ไพโรจน์ ศิลปินและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์งานสถาปัตยกรรม ปิดด้วยในส่วนสองวันสุดท้าย เสาร์ที่ 6 และอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 ห้ามพลาดกับ ASA Forum 2017 ที่ปีนี้สมาคมสถาปนิกสยามฯ เชิญวิทยากรผู้เป็นสถาปนิกชื่อดังจากไทย ญี่ปุ่น สเปน และศรีลังกา มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานและแนวความคิดในการออกแบบให้กับผู้สนใจ ซึ่งสามารถลงทะเบียนเข้าฟังฟรีได้ที่หน้างานสำหรับสมาชิกของสมาคม (สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกต้องเสียค่าใช้จ่าย) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.asaexpo.org
Text / Photo: นวภัทร ดัสดุลย์
Facebook : งานสถาปนิก : ASA EXPO
Instagram : asa_expo
Website : www.asaexpo.org