SHUHEI ENDO


สถาปัตยกรรมพาราโมเดิร์นที่คิดเผื่ออนาคต 

 

TEXT นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTO ฉัตรชัย เจริญพุฒ, Courtesy of Endo Shuhei Architect Institute

“เราไม่ได้ทำงานออกแบบเพื่อวันนี้ เราทำงานเพื่อวันข้างหน้า เราคิดเสมอว่าถ้าต้องสร้างอาคารขึ้นมาสักแห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องคิดให้ได้ว่าจะสร้างออกมาอย่างไร”

SHUHEI ENDO

ในโอกาสที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดกิจกรรม International Public Talk “ENDO Shuhei Design” ด้วยการเชิญสถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้มีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มาบรรยายให้ความรู้และแรงบันดาลใจกับนักศึกษาและประชาชนผู้ที่สนใจได้ฟัง เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ Shuhei Endo เดินทางมายังเมืองไทยก็ว่าได้ โดยช่วงเย็นของวันนั้นเองที่โชว์รูม DEESAWAT ในซอยสุขุมวิท 24 Daybeds มีนัดกับสถาปนิกผู้ให้คำนิยามว่า ‘Paramodern’ ขึ้นมาเพื่อตอบคำถามถึงรูปแบบอาคารที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น อาทิ Bubbletecture รูปแบบอาคารในลักษณะฟองอากาศ หรือ Rooftecture รูปแบบอาคารที่มีลักาษณะหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของผิวอาคารในตัว เป็นต้น

Shuhei Endo ก่อตั้ง Endo Shuhei Architect Institute ขึ้นในปี 1988 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสืออยู่ที่ Graduate School of Kobe University เป็นสถาปนิกที่มีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมได้รับรางวัลมากมาย (เพิ่มเติมที่ www.paramodern.com) การพูดคุยของเราในครั้งนี้ Shuhei Endo ไม่เพียงแต่เล่าแนวคิดในการทำงานของเขาให้เราฟัง แต่ยังเผยมุมมองที่เขามีต่อสถาปนิกไทย และตอบคำถามในหลากหลายประเด็นที่ Daybeds เสมือนเป็นตัวแทนของคนธรรมดาทั่วไปซึ่งสนใจการออกแบบ และมีโอกาสได้นั่งคุยแบบเป็นกันเองกับสถาปนิก (ต่างชาติ) ที่ว่ากันว่าเป็นอาชีพที่คนทั่วไปมีความคิดว่าเข้าถึงยากเหลือเกิน หากต้องการจะสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาสักหลัง เชื่อไหมว่าคนญี่ปุ่นเองบางกลุ่มก็คิดเหมือนกับคนไทยบางกลุ่มนี่แหละ เป็นโรคกลัวการคุยกับสถาปนิกไม่รู้เรื่องเหมือนกัน 

DAYBEDS: อยากให้คุณเล่าย้อนไปถึงการก่อตั้ง Endo Shuhei Architect Institute ขึ้นในปี 1988 ในตอนนั้นคุณวางแนวคิดในการออกแบบไว้อย่างไร กำหนดหน้าตาของอาคารเป็นแบบไหน แตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร


SHUHEI ENDO:
ในช่วงที่เราเริ่มก่อตั้งสถาบันออกแบบนั้น เป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น ด้วยสภาพเศรษฐกิจตอนนั้นที่ค่อนข้างซบเซา ประกอบกับเทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรมในขณะนั้นจะเน้นความเรียบง่าย เป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม หรือจะเรียกว่าการก่อสร้างอาคารในยุคนั้นจะเป็นแนวมินิมอลเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ แต่ ณ ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจในญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีเท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าปรับตัวได้ดีขึ้น หรือว่าการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ก้าวขึ้นมาเกี่ยวข้อง การทำงานของเราจึงเริ่มแตกต่างออกไปจากเดิม 

ช่วงแรกที่เราเริ่มทำจะเป็นงานออกแบบภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเราเริ่มจากโปรเจ็กต์ขนาดเล็กๆ มาก่อน แม้กระทั่งแค่ออกแบบห้องน้ำก็ตาม แต่ ณ เวลานี้ ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมานานกว่า 30 ปี สิ่งที่เราทำตอนนี้จึงเป็นการออกแบบโครงการใหญ่ มีสเกลงานแตกต่างออกไปจากเมื่อก่อน เริ่มมีลูกค้าชาวจีนหรือจากตะวันตกสนใจงานของเรามากขึ้น

DAYBEDS: กว่า 28 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งใดที่เป็นอิทธิพลทางความคิดของคุณบ้าง เช่น การเติบโตของเมือง สภาพแวดล้อม นวัตกรรม หรือสิ่งอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา   

SHUHEI ENDO: อาจเป็นเพราะผมเคยเริ่มต้นทำงานในยุโรปมาก่อน จึงมีพื้นฐานความเป็นตะวันตกเข้ามาเป็นอิทธิพล แต่โดยแนวคิดหลักในการทำงานตั้งแต่ต้น ผมมีแนวทางเป็นของตัวเอง มีเส้นสายในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนตัวตนของชาวญี่ปุ่นโดยกำเนิด พื้นฐานของผมจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในความเป็นจิรงแล้วการเติบโตของเมือง สภาพแวดล้อม หรือนวัตกรรมเองต่างก็มีส่วนทำให้งานของผมมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป

DAYBEDS: ช่วยขยายความแนวคิดของสถาปัตยกรรม Paramodern ให้เราฟังหน่อยได้ไหม 

SHUHEI ENDO: Paramodern เป็นเสมือนทางเลือกอีกแขนงหนึ่ง เป็นงานโมเดิร์นในอีกรูปแบบหนึ่ง คำว่าโมเดิร์นเป็นพื้นฐานความเป็นยุโรป ถ้าคนญี่ปุ่นหรือตัวผมเองนำมาทำตามทั้งหมดคงไม่ดีแน่ ดังนั้นผมจึงนิยามแนวทางของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Paramodern ซึ่งมันก็เป็นงานโมเดิร์นอีกแขนงหนึ่งที่เป็นออริจินอลของเราเอง สำหรับเราความทันสมัยไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว เวลาเรามองบางสิ่งบางอย่างเรามองด้านเดียวไม่ได้ เราต้องมองอีกด้านหนึ่งด้วย ในความเป็นเอเชียมันจะมีเส้นสายของรูปทรงเรขาคณิต แต่รูปแบบที่ผมทำจะเป็นความหลากหลาย จะสังเกตได้ว่าความแตกต่างของผมจะมีมุมมอง มีรูปแบบ มีความแตกต่างทางบริบทเข้ามาในงาน นั่นคือความหลากหลายที่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นการผสมสานความเป็นยุโรปกับญี่ปุ่นในตัวเอง แต่มุมมองมองที่มองออกไปมีความหลากหลายแตกต่างในแต่ละรูปแบบ

Arktecture M

Bubbletecture H

Growtecture B

Growtecture B

Growtecture B

Growtecture KU

DAYBEDS: สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ในญี่ปุ่นให้การยอมรับหรือเป็นที่นิยมมากน้อยแค่ไหน 

SHUHEI ENDO: เรื่องการเป็นที่ยอมรับหรือตลาดในการก่อสร้างอาคารในญี่ปุ่น สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในตลาดที่เป็นที่นิยมจะเป็นรูปทรงที่ใกล้เคียงกัน กลุ่มลูกค้าของผมจะเป็นกลุ่มที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มที่ชอบในตัวผลงานและแนวคิดของเรา เราไม่ได้มองว่าปีหนึ่งเราจะสร้างบ้านกี่หลัง ปีหนึ่งจะต้องมีโครงการในมือเท่าไหร่ เราต้องการทำงานที่มีคุณภาพมากกว่า สิ่งที่เราทำกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมันต้องไปด้วยกัน แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าของเราไม่ใช่กลุ่มที่ mass เพราะคงไม่มีหมู่บ้านไหนหรอกจะมาสร้างบ้านในลักษณะนี้เหมือนกันทั้งหมด

DAYBEDS: พื้นฐานในการก่อสร้างอาคารในญี่ปุ่นมีกฎข้อบังคับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น การก่อสร้างอาคารสูงมีหลักการป้องกันความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหวอย่างไร เป็นต้น

SHUHEI ENDO: นั่นเป็นสิ่งพื้นฐานของสถาปนิกญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อป้องกัน เช่น สึนามิครั้งนี้เกิดสูง 3 เมตร ใช่ว่าครั้งหน้าจะสูงเท่าเดิมเสียเมื่อไหร่ เราทำงานเพื่อคาดคะเนและป้องกันเพื่ออนาคต สิ่งที่เราคิดและทำต้องรองรับสิ่งที่จะตามมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในปัจจุบัน

DAYBEDS: ในบางครั้งภัยธรรมชาติอาจเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญไม่ได้ อาทิ แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ อย่างที่คุณกล่าวไปเป็นต้น แต่สิ่งที่ควบคุมได้คือการจัดการป้องกัน ในฐานะที่คุณเป็นสถาปนิกที่มีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาสถาปัตยกรรมที่สามารถรับมือภัยธรรมชาติเหล่านี้ เช่น ศูนย์ควบคุมภัยพิบัติสึนามิของเมืองมินามิอะวาจิ (Minami-Awaji) คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรในการออกแบบอาคารป้องกันภัยที่มิอาจเลี่ยงได้

SHUHEI ENDO: ศูนย์หลบภัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองที่เคยเกิดสึนามิ มันเป็นเมืองที่สามารถเกิดสึนามิขึ้นอีกได้ ทุกคนจึงต้องมีความพร้อมในการรับมือ ผมจึงออกแบบให้อาคารเป็นส่วนหน้าที่จะรับรู้และคอยแจ้งเตือนเมื่อเกิดภัยพิบัติ รูปทรงเกลียวโค้งที่เราออกแบบมาก็เพื่อรองรับแรงดันของน้ำให้ไหลผ่านออกไปตามแนวโค้ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่อาคารที่จะต้องรับแรงดันของน้ำมหาศาล ผมพยายามสร้างสัญลักษณ์ให้อาคารนี้แทรกเข้าไปอีกด้วย สังเกตว่าผิวอาคารจะมีลักษณะเป็นเหล็กขึ้นสนิม เพราะว่าเหล็กที่ต้องเจอกับน้ำทะเลแล้วจะเกิดสนิมเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นเราจึงทำโครงสร้างเหล็กให้เกิดเป็นสนิมตั้งแต่ต้น    

Looptecture F / ศูนย์ควบคุมภัยพิบัติสึนามิของเมืองมินามิอะวาจิ

DAYBEDS: สำหรับศูนย์ควบคุมภัยพิบัติสึนามิ คืออาคารในชื่อที่ตั้งว่า Looptecture F ส่วนบ้านบนเชิงเขา หรือ Rooftecture S ที่เราอยากจะพูดถึง การตั้งชื่อเฉพาะเหล่านี้มีที่มาจากอะไร 

SHUHEI ENDO: เป็นจุดเริ่มต้นทางความคิดในแต่ละมุมมอง แต่ละงานจึงมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

DAYBEDS: เราประทับใจกับบ้านพักอาศัยขนาดเล็กมากมายในญี่ปุ่นที่ออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์และสวยงาม Rooftecture House บนเชิงเขาของคุณเองก็เช่นกัน เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของสถาปนิกญี่ปุ่นหรือเปล่าที่ข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่เหล่านี้ กลายเป็นบ่อเกิดของงานออกแบบที่สร้างสรรค์ไปโดยปริยาย 

SHUHEI ENDO: การที่เรามีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องทำอะไรที่ใหญ่หรือเล็กเสนมอไป เพียงแต่ว่า Rooftecture S ของลูกค้าท่านนี้เขาไปซื้อที่ซึ่งแคบและยาว ซึ่งเราเป็นสถาปนิกต้องสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ให้เขาได้ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ามันมีพื้นที่เท่านี้ สิ่งที่จะก่อสร้างก็ต้องแคบและยาวตามลักษณะของพื้นที่ ในฐานะสถาปนิกเราต้องเป็นฝ่ายออกแบบและก่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัยเท่าที่มีนี้ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้พื้นที่ใช้สอยให้เต็มที่ที่สุด 

Rooftecture S

Rooftecture OT2

DAYBEDS: อะไรคือความท้าทายในการออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก

SHUHEI ENDO: สำหรับเราหรือโดยพื้นฐานของสถาปนิกทุกคน เราต่างชอบงานที่มีความท้าทายอยู่แล้วล่ะ พวกเรารู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายที่ดีนะ แต่ถ้าเราจะทำงานทุกอย่างโดยที่ต้องแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะข้อจำกัดทั้งในแง่ของพื้นที่ หรือความท้าทายด้านอื่นๆ อย่างเดียวก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราอาจหัวใจวายได้ 

SHUHEI ENDO: ความเคลื่อนไหวในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมในญี่ปุ่นปัจจุบันมีทิศทางอย่างไร 

SHUHEI ENDO: ในญี่ปุ่น 90% คือบริษัทรับสร้างบ้าน สถาปนิกที่ทำงานส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบนั้น มีความใกล้เคียงกันในเรื่องสไตล์ ที่ดูคล้ายว่าจะเหมือนกันไปหมด มีอยู่ราว 5% ที่แตกต่างและโดดเด่นออกมา อีกอย่างตลาดความต้องการอาคารในลักษณะนี้ไม่ใช่ตลาดใหญ่ จึงไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ที่จริงต้องบอกว่า 100% ของบ้านพักอาศัยในญี่ปุ่น 95% เป็นบ้านสำเร็จรูป ส่วนที่เหลืออีก 5% แบ่งย่อยออกไปอีก 90% คือบริษัทสถาปนิก รับสร้างบ้านที่ออกแบบในรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แล้วจะมีแค่ 10% ในนั้นที่ต้องการความโดดเด่น หรือท้าทาย 10% ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับสมัยก่อน มันก็ไม่ได้เป็นตลาดที่โตขึ้นหรือแตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงขึ้น มีความโดดเด่นขึ้นจากเดิมเท่านั้นเอง

ในญี่ปุ่นจะมี ARCHITECTS STUDIO JAPAN INC. (ASJ) เป็นกลุ่มสถาปนิกที่พยายามผลักดันให้งานสถาปัตยกรรมนี้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น เพราะการจะสร้างบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านที่จะหันไปหาสถาปนิกดูเป็นเรื่องยาก อาจเพราะคำว่าสถาปนิก ทำให้คนธรรมดามองคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องยาก การที่เราเป็นส่วนหนึ่งของ ASJ จะทำงานสถาปัตยกรรมให้เข้าถึงคนธรรมดาได้ง่ายขึ้น ลูกค้าคนหนึ่งถ้าเห็นผลงานของสถาปนิกคนหนึ่งสามารถตีราคาได้ทันที นั่นคือสิ่งที่ ASJ พยายามผลักดันอยู่

SHUHEI ENDO: ในปัจจุบันวงการสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นให้การยอมรับการเข้ามาทำงานของสถาปนิกต่างชาติในประเทศของคุณมากน้อยแค่ไหน

SHUHEI ENDO: ก่อนช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ผู้คนพยายามจะนำสถาปนิกต่างชาติเข้ามาทำงาน เพราะมองว่าไฮโซโก้หรู แต่หลังจากนั้นงานของคนญี่ปุ่นเองก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีชื่อเสียงในระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ความจำเป็นในการเอาสถาปนิกต่างชาติเข้ามาทำงานก็ลดลง อีกอย่างหนึ่งคือที่ญี่ปุ่นก็จะคล้ายกับเมืองไทย คือจะต้องมีสถาปนิกที่ได้รับอนุญาตออกแบบอาคาร หรือควบคุมการก่อสร้าง (ตามข้อกำหนดวิชาชีพสถาปนิกญี่ปุ่น หรือ Kenchikushi Law) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อกำหนดที่ทำให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานได้ยาก

DAYBEDS: มุมมองที่คุณมีต่อสถาปนิกและสถาปัตยกรรมไทย 

SHUHEI ENDO: สถาปนิกไทยมีความกล้ามากกว่า ในการทำงานที่แปลกและแตกต่าง เมื่อเทียบกับในโกเบ หรือญี่ปุ่น

DAYBEDS: ปัจจุบันคุณเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโกเบ อธิบายให้เราฟังได้ไหมว่าคุณมีแนวคิดในการสอนหรือปลูกฝังนักศึกษาของคุณอย่างไรให้เติบโตมาเป็นสถาปนิกที่ดีในอนาคต 

SHUHEI ENDO: ใช่ครับ ผมใช้เวลาครึ่งหนึ่งจากการทำงานออกแบบของตัวเองเป็นอาจารย์ เริ่มสอนที่นี่มาตั้งแต่ปี 2007 สิ่งที่ผมสอนนักศึกษา ผมไม่ได้สอนให้พวกเขาคิดว่าปัจจุบันเราจะสร้างบ้านหนึ่งหลังขึ้นมาเพื่ออยู่อาศัยอย่างไร แต่ผมจะสอนให้มองเผื่ออนาคต สอนให้คิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าจะต้องสร้างบ้าน จะสร้างอย่างไร เช่นกันกับ Endo Shuhei Architect Institute เราไม่ได้ทำงานออกแบบเพื่อวันนี้ เราทำงานเพื่อวันข้างหน้า เราคิดเสมอว่าถ้าต้องสร้างอาคารขึ้นมาสักแห่งในอีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องคิดให้ได้ว่าจะสร้างออกมาอย่างไร

DAYBEDS: ถ้าหากในอนาคตคุณมีโอกาสได้ทำงานออกแบบในเมืองไทย โดยคำนึงถึงบริบทแวดล้อม และวัฒนธรรมไทยเป็นที่ตั้ง อาคารของคุณจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร 

SHUHEI ENDO: (เขาครุ่นคิด) มันอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นภาพที่ชัดเจนนักในตอนนี้ แต่ถ้าเป็นการออกแบบอาคารคงเป็นเรื่องของจุดประสงค์ในการใช้งานเป็นหลัก ผมจะนำชีวิตความเป็นอยู่มาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ สำหรับบางคนแล้วอาจจะคิดถึงรูปแบบความสวยงามเป็นที่ตั้ง แต่สำหรับเรา เราดูฟังก์ชั่น มองข้อจำกัดมาก่อน ส่วนรูปแบบจะเป็นตัวครอบเข้ามาภายหลัง

 

Leave A Comment