OVERLAPPING HOUSE / VASLAB
เส้นสายทับซ้อนเหนือเวิ้งเขาใหญ่
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Spaceshift Studio
Architect: VaSlab
Interior Designer: PHTAA Living Design
Landscape Architect: MAGLA
ในวันหยุดพักผ่อน คงไม่มีใครปฏิเสธจุดหมายสุดคลาสสิกอย่าง ‘เขาใหญ่’ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพราะเสน่ห์ของความสงบร่วมรื่นที่ใกล้กับตัวเมืองเพียงอึดใจ ทั้งคอนโดมิเนียม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ต่างก็ผุดแทรกขึ้นระหว่างร่มไม้เขียวชอุ่ม จนคล้ายจะกลายเป็นเมืองย่อมๆ อีกเมืองสำหรับเหล่าคนรักธรรมชาติ
ในละแวกนี้เองที่ผลงานการออกแบบชิ้นใหม่จาก VaSlab โดยคุณวสุ วิรัชศิลป์ เพิ่งได้มาปรากฏตัวและทักทายเพื่อนบ้านด้วยเส้นสายที่ทะมัดทะแมงในสไตล์จากสถาปนิกที่เราคุ้นเคย ‘Overlapping House’ คือชื่อที่ถูกตั้งตามลักษณะของบ้าน ในแนวความคิดที่ไม่เพียงแต่เรียบเท่และแข็งแรง แต่ยังอยู่สบาย และเปี่ยมสุขไม่ต่างจากบ้านหลังใดเกิดจากความต้องการพื้นฐานที่ต้องการให้พักตากอากาศใช้เป็นสถานที่รวมตัวของครอบครัวใหญ่ ที่ต้องการพื้นที่รองรับแขกเหรื่อมากกว่า 10 คน ความต้องการสำคัญของเจ้าของบ้าน คือต้องการบ้านพักตากอากาศหลังใหม่ที่จะมีพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางทั้งภายในและกลางแจ้ง รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานสำหรับพักอาศัยที่มากพอ ด้วยโจทย์ที่ไม่ถูกจำกัดมากนัก และข้อจำกัดในที่ดินเพียงไม่กี่อย่างนอกจากที่ดินที่ลาดชันบนเนินเขาสูง อันเป็นเอกลักษณ์ของที่ดินเขาใหญ่ สถาปนิกจึงทำงานกับพื้นที่ได้อย่างอิสระ อันสามารถปรากฏเห็นได้ชัดบนเส้นสายของบ้านหลังใหญ่ที่โฉบเฉี่ยว ที่รวมไปด้วย 7 ห้องนอน ในขนาดพื้นที่ใช้สอยที่มากถึงเกือบ 2,000 ตารางเมตร
มองจากด้านหน้าบ้าน อาคารคดโค้งไปตามภูมิประเทศ และหันหน้าออกสู่ทิวทัศน์ของเขาใหญ่เบื้องหน้า
ในพื้นที่ใช้สอยที่มาก เพื่อไม่ให้เกิดจำนวนชั้นที่มากเกินไป บ้านจึงถูกแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 2 ชั้นหลัก และ 1 ชั้นดาดฟ้า สถาปนิกกางพื้นที่ใช้สอยออกไปในแนวราบ เพื่อไม่ให้ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ของอาคารแปลกไปจากทัศนียภาพโดยรอบ ในขณะเดียวกัน เส้นสายที่คดเคี้ยวของอาคารก็เล่นล้อไปกับทิวทัศน์ของเนินเขาน้อยใหญ่ ส่วนที่สำคัญได้แก่ส่วนใช้งานหลักชั้น 1 และ ชั้น 2 ที่ถูกออกแบบให้เกิดการเหลื่อมทับ และเลื่อนไหลไปในแนวราบตามเส้นสายที่คดโค้ง เป็นเสมือนกล่องคอนกรีต 2 กล่องที่ซ้อนทับกันอยู่เหนือเนินเขาสูง ความสัมพันธ์ดังกล่าวนอกจากจะถูกออกแบบให้ใกล้เคียงกับทัศนียภาพของเนินเขาที่รายรอบแล้ว ยังสัมพันธ์กับรูปร่างของพื้นดิน (Contour) บนภูมิประเทศที่สลับซับซ้อน พร้อมๆ กับแนวคิดดังกล่าว ทิศทางของแสงแดด รวมถึงลม ฝน ตามฤดูกาล ก็ยังช่วยกำหนดแนวแกนของอาคาร ให้หันหน้า-หลัง อย่างสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และในขณะเดียวกัน ทิศทางที่บ้านหลังใหญ่หันหน้าออกไปทั้งหน้าและหลัง ก็จะพบกับทิวทัศน์ของเวิ้งเขาใหญ่ที่กว้างไกล ด้วยจุดรับวิวที่ดีที่สุดบนบ้านที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี
ความเหลื่อมทับและเลื่อนไหลของบ้าน สามารถเห็นได้ชัดเมื่อมองจากภายนอก การออกแบบการซ้อนทับกันจากความตั้งใจจากสถาปนิก ยังก่อให้เกิดพื้นที่ใช้งานที่ซ่อนอยู่ในระหว่างทั้งเหนือและใต้กล่องคอนกรีตที่น่าสนใจ และยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของแสงและเงาลอดผ่านมายังส่วนที่เหลื่อมทับตามเวลาผันผ่านไปในแต่ละช่วงวัน พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์พิเศษสำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ชานหน้าบ้าน ที่ทิ้งระยะไว้ให้นั่งเล่นทอดสายตาชมทิวทัศน์ของภูเขาที่ไกลออกไป, พื้นที่เหนือหลังคาที่เปิดรับทิวทัศน์ว่างโล่ง สำหรับทำกิจกรรมของครอบครัวได้อย่างอิสระบนลานกว้าง รวมถึงลานใต้ถุน ที่เกิดจากการเหลื่อมกันระหว่างการยื่นไปในอากาศของอาคารและเนินดินที่สูงชัน ที่ถูกออกแบบให้เป็นลานบาร์บีคิวใต้ร่มเงาอาคาร พื้นที่เหล่านี้เกิดจากการทดลองกับความสัมพันธ์ระหว่างก้อนอาคารกับที่ว่าง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับสภาพแวดล้อม จึงออกมาเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตที่คุ้มค่าและน่าประทับใจยิ่งสำหรับคนในครอบครัว
ชานหน้าบ้านในพื้นที่ชั้น 1 เชื่อมต่อจากโถงนั่งเล่นภายในบ้าน พื้นที่ที่ถูกเว้นระยะ และทับซ้อนจากการเหลื่อมกันของก้อนอาคาร เปิดให้เกิดพื้นที่นั่งเล่นภายนอก ชมวิว พักสายตาด้วยทิวทัศน์ที่กว้างไกล
การใช้งานในบ้านยังถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนเพื่อให้อยู่สบาย เมื่อเข้าถึงพื้นที่ในขอบเขตรั้ว ที่จอดรถจะถูกซ่อนไว้ด้านหลังบ้าน เพื่อให้ทิวทัศน์ด้านหน้าบ้านที่สถาปนิกเปิดมุมมองออกอย่างเต็มที่ไม่มีสิ่งเกะกะสายตา ในชั้น 1 ผังพื้นของบ้านจะแบ่งสัดส่วนระหว่างแขกและผู้อาศัยอย่างชัดเจน เพื่อแบ่งเป็นพื้นที่ห้องนอนสำหรับแขกเหรื่อ 2 ห้อง ที่จะมาเยี่ยมเยียนในวันหยุดพักผ่อน เมื่อก้าวผ่านเข้าบ้าน ห้องนั่งเล่นที่โอ่โถงก็จะต้อนรับเจ้าของบ้านด้วยทิวทัศน์ที่อยู่สุดสายระเบียงที่เหยียดยาว เปิดรับแสงธรรมชาติและทัศนียภาพของภูเขาที่กว้างไกล ในชั้นนี้จะมีห้องนอนสำหรับคุณพ่อ 1 ห้องใหญ่พร้อมระเบียงส่วนตัว พื้นที่ใช้งานเชื่อมต่อกันด้วยบันไดที่จะพาขึ้นไปยังชั้นสอง เพื่อพบกับส่วนนั่งเล่นสำหรับครอบครัว (Family Room) ใกล้ๆ กันนั้นเป็นห้องสปาแบบออนเซ็นสำหรับครอบครัวโดยเฉพาะ ในชั้นนี้จะเป็นชั้นของห้องนอนหลัก 4 ห้อง พร้อมทางเดินเหยียดยาวรับธรรมชาติ และระเบียงส่วนตัวของแต่ละห้องที่เปิดรับทิวทัศน์ไว้อย่างเต็มที่ การใช้งานในบ้านทั้งหมดซ้อนทับกันไปตามเส้นสายที่ถูกออกแบบไว้ ก่อนจะนำไปชั้นบนสุด ซึ่งเป็นความต้องการของเจ้าของบ้านโดยตรง ดาดฟ้ารับลมชมแสงอาทิตย์ และแสงจันทร์ในเวลากลางคืน สำหรับนั่งเล่น จิบไวน์ เป็นลานพักผ่อนในวันสงบสำหรับคนใกล้ตัว
รูปทรงของสถาปัตยกรรมเมื่อถูกกำหนดจากแนวแกนของอาคาร ความคดโค้งและหักเป็นเหลี่ยมมุม ทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านไม่เป็นไปในลักษณะของห้องสี่เหลี่ยมเหมือนที่เคยชิน แต่จะเกิดเหลี่ยมมุมและเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ไม่สมมาตรกัน ห้องแต่ละห้องในบ้านแม้จะมีหน้าที่เดียวกันแต่ก็มีลักษณะของห้องไม่เหมือนกัน จึงเป็นความท้าทายและในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดฉากของการอยู่อาศัยที่น่าสนใจ และเป็นการทำงานร่วมกันกับอินทีเรียดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่จาก PHTAA Living Design ที่ก็ได้แบ่งการใช้งานภายในห้องที่มีรูปทรงแปลกตา ด้วยการแบ่งส่วนการใช้งานให้เกิดพื้นที่ย่อยในพื้นที่ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำแพงขวางกั้น อาทิ ระหว่างห้องครัวที่ถูกแบ่งจากห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น หรือการอาศัยรูปทรงของสถาปัตยกรรมเองมาช่วยจัดการ อาทิ ในห้องนอนใหญ่ (Master Bedroom) ที่ก็อาศัยช่วงหักของอาคารมาเป็นเส้นขีดแบ่งระหว่างฟังก์ชันส่วนนั่งเล่นในห้องนอนออกอย่างเป็นสัดส่วน
ระเบียงนอกห้องนอนบนชั้น 2 ทุกๆ ห้องแม้จะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็มีระเบียงที่เชื่อมต่อออกไปยังหน้าบ้าน รับแสงธรรมชาติและได้ทิวทัศน์ที่สวยงามได้อย่างไม่แตกต่างกัน
ช่วงหักของอาคารกลายมาเป็นเส้นขีดแบ่งระหว่างฟังก์ชันส่วนนั่งเล่นในห้องนอนออกอย่างเป็นสัดส่วน
ห้องนั่งเล่นภายในบ้าน ออกแบบโดยทีมนักออกแบบ PHTAA Living Design อาศัยสัดส่วนของสถาปัตยกรรมที่แข็งแรง เติมแต่งจัดการการใช้งานเพียงเล็กน้อยก็ทำให้บ้านอยู่สบายอย่างเป็นสัดส่วน
ส่วนบาร์บาบีคิวใต้ถุนที่เกิดจากการเหลื่อมของก้อนอาคารที่ยื่นล้ำไปเหนือเนินเขาสูงชัน สถาปนิกฉวยเอาข้อจำกัดของพื้นที่ดินมาสร้างเป็นพื้นที่การใช้งานเฉพาะ นอกจากจะสามารถแก้ไขเรื่องพื้นที่เศษเหลือ ยังทำให้ได้พื้นที่ใช้งานเพิ่มเติมที่มีเสน่ห์เฉพาะสถานที่อีกด้วย
ห้องออนเซ็นอีกมุมโปรดของเจ้าของบ้าน ตกแต่งด้วยไม้สีธรรมชาติให้บรรยากาศที่ไม่รู้สึกแปลกแยกจากบ้านและธรรมชาติโดยรอบ มุมเงียบสงบยังสามารถรับแสงธรรมชาติผ่านซี่ระแนงไม้ที่ตกแต่งแทนกระจกใส เพื่อให้สามารถยังบดบังสายตาไปด้วยได้ในขณะเดียวกัน
ฟอร์มที่แข็งแรงเป็นเส้นสายที่จดจำได้คล้ายลายเซ็นต์จากทีมสถาปนิก VaSlab คอนกรีตแสดงความเป็นธรรมชาติในตัวเอง ไม่ปรุงแต่ง เช่นเดียวกับธรรมชาติรอบตัว นอกจากนั้นสถาปนิกยังเลือกใช้ หินภูเขา ไม้สัก เพื่อแสดงความเป็นธรรมชาติของบ้านผ่านเนื้อวัสดุ ตอบรับกับบริบทที่เต็มไปด้วยธรรมชาติรายล้อมอาคาร
เหนือดาดฟ้าของบ้าน พื้นที่ที่เจ้าของบ้านเฉพาะเจาะจงมาโดยเฉพาะ ลานดาดฟ้าสำหรับนั่งเล่น จิบไวน์ ชมท้องฟ้าและทัศนียภาพของเขาใหญ่ เป็นอีกการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหลังใหญ่
อีกครั้งที่สถาปนิกมากฝีมือได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้มากมายที่เกิดจากคอนกรีต รูปทรงที่เป็นภาษาเฉพาะของ VaSlab ที่มีความแข็งแรง โฉบเฉี่ยว และแฝงพลังที่เข้มแข็ง นั้นไม่ขัดแย้งกับการใช้ชีวิตที่สุขสบายในความเป็นบ้านแต่อย่างใด กลับกัน แนวความคิดที่แปลกใหม่ นำมาซึ่งพื้นที่ใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ และมอบประสบการณ์ให้กับผู้อาศัย ในแบบที่สิ่งอื่นไม่สามารถให้ทดแทนได้ นอกจากสถาปัตยกรรม
“เนื่องจากที่ดินเป็นไซต์ที่ชันมาก เราไม่อยากให้บ้านมันลอย เพราะฉะนั้นเราเลยทำโปรเจ็กต์ให้บ้านมันวิ่งไปตามคอนทัวร์ (Contour) ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการซ้อนทับของแนวภูเขา เราเลยเรียกมันว่า ‘Overlapping House’ การวาง Floor Plan มีการวางแบบซ้อนทับกัน ซึ่งการทำ Overlap กันมันจะเกิดสเปซที่น่าสนใจมาก ทั้งสเปซในร่มและสเปซที่อยู่กลางแดดที่มันซ้อนกันอยู่”
วสุ วิรัชศิลป์
ผู้ก่อตั้ง VaSlab Architecture