72 COURTYARD / AMANDA LEVETE ARCHITECTS
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Concept Consultant: AL_A (Amanda Levete Architects)
Architect of records: VaSlab
Landscape architect: TROP
Lighting designer: Inverse structure/ m&e engineer: CT23
Contractor: Ritta
หลังจากที่ได้ฝากไอเดียไว้กับห้างใหญ่ ‘Central Embassy’ ในรูปโฉมที่สร้างความฮือฮากันไปแล้วครั้งหนึ่ง ‘Amanda Levete Architects’ ทีมสถาปนิกหญิงจากเกาะอังกฤษ ก็ได้กลับมาฝากผลงานไว้ในใจกลางกรุงเทพหานครอีกครั้งผ่าน Façade สีดำขลับบนถนนทองหล่อของโปรเจ็กต์ใหม่ในชื่อ ‘72 Courtyard’ ที่เพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา
ดูคล้ายจะเป็นเทรนด์ของวงการสถาปัตยกรรมในไทย ในขณะที่บ้านเรายังไม่เปิดโอกาสให้สำนักงานสถาปนิกต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศได้อย่างเต็มตัว การว่าจ้างให้สถาปนิกที่มีฝีมือระดับโลกออกไอเดีย และทำงานร่วมกับสถาปนิกไทยเจ้าของท้องที่เพื่อให้เป็นผู้พัฒนาแบบต่อจนสำเร็จ จึงกำลังเป็นที่พบเห็นได้ในหลายอาคารสวยที่ทั้งสร้างสำเร็จแล้วและกำลังพัฒนาแบบจนถึงกำลังก่อสร้างในปัจจุบัน
“เพราะว่าตอนนี้เขายังไม่อนุญาตให้สถาปนิกต่างประเทศทำแบบในเมืองไทย มันก็เลยค่อนข้างฮิตกันช่วงนี้ ที่ดีเวลลอปเปอร์เจ้าใหญ่ๆ จะจ้างสถาปนิกต่างประเทศมาทำคอนเซ็ปต์ แล้วก็ให้คนไทยที่เป็นคนท้องที่เนี่ยมาช่วยทำแบบ ที่ผมเห็นตัวอย่างแรกๆ เลย น่าจะเป็นของ Thomas Leeser (Leeser Architects) ที่ทำเอ็มควอร์เทียร์ แล้วก็มีอีกหลายงานอย่าง MahaNakhon ที่ทำโดย Ole Scheeren (จาก OMA), MahaSamutr โดย Kengo Kuma, หรือ Icon Siam โดย Norman Foster ซึ่งอันนี้มีอีกเยอะมาก นับไม่ถ้วน”
คุณวสุ วิรัชศิลป์ แห่งสำนักออกแบบสถาปัตยกรรม VaSlab คือผู้ที่ได้สานต่อและทำงานร่วมกับทีมสถาปนิกระดับโลก Amanda Levete Architects ในช่วงเวลาพัฒนาแบบร่วมครึ่งปี ไอเดียที่เกิดจากทั้งเจ้าของโครงการ สถาปนิกต่างชาติ และตัวคุณวสุเอง จึงตกผลึกเป็นอาคารสีดำเรียบเกลี้ยงในรูปโฉมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนระหว่างถนนทองหล่อ 16 และ 18
“ตรงนี้ต้องยกเครดิตให้กับเจ้าของด้วย เพราะเขาเป็นคนบอกบรีฟแทบทุกอย่าง อย่างเช่น ข้างหน้าอาคารที่เขาต้องการให้เป็นอาคารปิดทึบ แล้วมีช่องเปิดเข้าไปข้างในนิดหนึ่ง เพราะเขาอยากทำอาคารให้เกิดคอร์ตข้างใน ซึ่งด้านหลังเขาจะให้เป็นคลับ และให้ด้านหน้าเป็น F&B (Food & Beverage)” เจ้าของโครงการที่กล่าวถึงนี้คือคุณเชษฐ์ เชษฐโชติศักดิ์ (ลูกชายคุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือเฮียฮ้อ) ผู้วางทิศทางใหม่ให้กับคำว่า ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ ในแบบที่เขาต้องการ วิสัยทัศน์ระหว่างนักออกแบบและเจ้าของโครงการที่เกื้อหนุนกัน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คอมมูนิตี้มอลล์หลังใหม่กลายเป็นอาคารมากเอกลักษณ์จนยากที่จะลอกเลียนแบบ
บนพื้นที่ตั้งขนาดกว่า 1800 ตารางเมตร กล่องปิดทึบ 2 กล่องเหนืออาคารสูง 3 ชั้น เน้นพื้นที่ทางเดินภายในที่โปร่งโล่งให้ปรากฏชัด การเลือกปิดบางอย่างเพื่อเน้นภาพของอีกอย่าง จึงไม่เพียงทำให้ฉากหน้าของอาคารมีความลึกลับและดึงดูดสายตา แต่ยังช่วยให้พื้นที่การเข้าถึงอาคารมีความน่าสนใจและชัดเจนขึ้นไปในขณะเดียวกัน ทางเข้าที่ดึงดูดคนเดินเท้าที่คลาคล่ำบนถนน เกิดจากคอนเซ็ปต์ของการตัด (Cut) ก้อนสี่เหลี่ยมด้านหน้าเพื่อนำผู้คนไปสู่พื้นที่ใช้สอยภายในที่ถูกคว้านออก รอยตัดนี้ได้กลายเป็นแนวแกนของอาคารที่เชื้อเชิญผู้คนให้เดินผลุบหายเข้าไปเบื้องหลังกล่องสีดำเพื่อไปพบกับ ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ ภายในที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำคัญ ให้ผู้คนได้นั่งพัก นั่งรอ หรือแม้แต่จะมาเข้ามาเพียงแค่เดินเล่นประวิงเวลาก็ไม่เกี่ยง สอดคล้องกับแนวคิดที่ถูกส่งต่อจากสถาปนิกต่างชาติ Amanda Levete ที่ต้องการให้อาคารหลังนี้เป็นสถานที่ที่เสมือนได้ดึงเอาพื้นที่บนท้องถนนของชาวทองหล่อ ให้มาปรากฏและผสมผสานอยู่ภายในอาคารอย่างเป็นเนื้อเดียว และก็เช่นเดียวกับที่สถาปนิกหนุ่มได้กล่าวไว้ “มันจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่มี Active Plan หรือ Active Space ที่มีการใช้พื้นที่ทุกเวลา อันนี้คือคอนเซ็ปต์ของ 72 Courtyard”
เพื่อให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้น วัสดุทางเดินของพื้นชั้น 1 จึงใช้วัสดุที่เลียนแบบพื้นผิวถนนภายนอก ‘ยางมะตอย’ ถูกราดจนเต็มพื้นที่ทางเดิน เชื่อมต่อความเป็นภายในและภายนอกให้หลอมรวมเข้าด้วยกัน พื้นที่ที่สัมพันธ์กันเป็นเนื้อเดียวนี้ยังเชื่อมต่อขึ้นไปยังพื้นที่สามัญส่วนกลางที่ชั้น 2 ที่ทำหน้าที่คล้ายพื้นที่สวนเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) เป็นลานพื้นไม้กว้างขวางกึ่งภายนอกที่ประปรายด้วยต้นไม้สีเขียวน้อยใหญ่ สำหรับเดินเล่น นั่งเล่น และยังรองรับผู้คนที่จะหลั่งไหลมายังคลับด้านหลัง อันเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญของอาคารในเวลากลางคืน คอร์ตกลางภายในระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 มองเห็นและเชื่อมต่อถึงกันด้วยบรรยากาศ เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอยู่ด้วยบันไดที่วิ่งตรงจากด้านหน้าอาคาร ลาดยาวมาบรรจบกับพื้นที่เบื้องหลังกล่องสีดำ สวนเขียวขนาดเล็กแม้จะอยู่สูง และเร้นหลบเข้าไปภายใน แต่ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นตำแหน่งแห่งที่และบรรยากาศของย่านทองหล่อ ก็ด้วยทางสัญจรที่ไหลเวียน และเส้นแบ่งระหว่างภายในและภายนอกอาคารที่ครอบคลุมขีดคั่นอยู่อย่างเบาบางและคลุมเครือเหนือพื้นที่ที่โปร่งโล่ง ก้อนสี่เหลี่ยมสีดำที่ลอยตระหง่านถูกกรุผิวด้วยวัสดุตามแนวความคิดที่นักออกแบบต้องการมอบภาพที่แตกต่างให้กับคอมมูนิตี้มอลล์หลังใหม่ แกรนิต หินอ่อน คอนกรีตเปลือย ถูกปัดตกไปเมื่อนักออกแบบเลือกใช้ ‘เทอราซโซ’ หรือหินขัด วัสดุที่ถูกพูดถึงไม่บ่อยนัก ในงานตกแต่งองค์ประกอบของผนังเมื่อเทียบกับพื้นผิวหิน หรืออะลูมิเนียมคอมโพสิต
“เทอราซโซเนี่ย เสน่ห์ของมันคือ มันจะมีประกายในเม็ดหินที่ผสมในคอนกรีตแล้วขัดสีออกมา ซึ่งเราเลือกสีเม็ดหินกับเลือกสีตัวคอนกรีตได้ แล้วมันจะมีความพิเศษคือ มันมีความมันเงา เวลาโดนฝนมันจะดำขลับเลย แต่ตอนกลางวัน ดูแล้วจะเป็นสีเทา มันเลยมีความพิเศษของพื้นผิวตลอดเวลา” สถาปนิกใช้เทอราซโซกรุผิวอาคารด้วยเทคนิคพรีแคส (Precast) คือการหล่อและขัดแผ่นเทอราซโซให้เสร็จจากโรงงาน ก่อนจะยกมาติดตั้งบนผิวอาคาร คล้ายแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ลดความผิดพลาดจากการหล่อและขัดหน้างานและยังทำให้งานติดตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ก่อให้เกิดให้ภาพใหม่ๆ ของงานออกแบบทั้งในเรื่องเทคนิควิธี และภาพสุดท้ายของงานสถาปัตยกรรม
แม้คำว่า ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ นั้นจะมีมานาน และไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกแล้วสำหรับเมืองไทย แต่รีเทลที่จะยอมมอบพื้นที่สาธารณะส่วนกลางให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แทนพื้นที่ให้เช่าที่จะสามารถขยับขยายออกไปได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องนับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่ใช่ดีเวลลอปเปอร์ทุกคนกล้าจะยอมรับความเสี่ยง เพราะแม้จะมีพื้นที่ที่กว้างขวาง แต่สำหรับ 72 Courtyard นั้นกลับเปิดให้มีพื้นที่สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มเพียง 9 ราย นี่จึงอาจเป็นอีกสัญญาณที่ทำให้นักพัฒนาพื้นที่เพื่อการจับจ่ายทั้งหลายต้องหันกลับมาสนใจกับพื้นที่เพื่อคนทั่วไปอย่างจริงจังมากขึ้น จนถึงวิธีวัดคุณค่าของพื้นที่ ที่อาจไม่จำเป็นต้องวัดจากมูลค่าต่อตารางเมตรในวิธีคิดแบบเดิมๆ
“มันก็เป็นสีสันของโปรแกรมประเภทนี้นะ ที่มันไม่ใช่แค่ที่เขาเรียกกันว่า ‘Another Community Mall’ ที่มันเกิดขึ้นดาษดื่นมาก จริงๆ มันก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมบางอย่างว่าสังคมเมืองไทย ไม่มีที่ไปก็ยังไปมอลล์ ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งผิด เพียงแต่ว่ามอลล์มันควรจะแตกต่าง หรือให้อะไรคืนกลับมากับสังคมเนี่ยมันยาก มอลล์ที่ไม่ได้มองแค่เรื่อง Profit แต่มองเรื่อง Character หรือคุณภาพของโปรแกรม ที่สะท้อนเรื่องกรีนพ็อกเก็ต พื้นที่สีเขียว หรืออะไรก็ตาม มันยังหายากมากในปัจจุบัน” สถาปนิกกล่าวปิดท้าย
“เพราะว่าตอนนี้เขายังไม่อนุญาตให้สถาปนิกต่างประเทศทำแบบในเมืองไทย มันก็เลยค่อนข้างฮิตกันช่วงนี้ ที่ดีเวลลอปเปอร์เจ้าใหญ่ๆ จะจ้างสถาปนิกต่างประเทศมาทำคอนเซ็ปต์ แล้วก็ให้คนไทยที่เป็นคนท้องที่เนี่ยมาช่วยทำแบบ ที่ผมเห็นตัวอย่างแรกๆ เลย น่าจะเป็นของ Thomas Leeser (Leeser Architects) ที่ทำเอ็มควอร์เทียร์ แล้วก็มีอีกหลายงานอย่าง MahaNakhon ที่ทำโดย Ole Scheeren (จาก OMA), MahaSamutr โดย Kengo Kuma, หรือ Icon Siam โดย Norman Foster ซึ่งอันนี้มีอีกเยอะมาก นับไม่ถ้วน”
วสุ วิรัชศิลป์
ทางเดินกึ่งกลางที่นำไปสู่คอร์ตภายในอาคาร ต้อนรับด้วยต้นไม้สีเขียวน้อยใหญ่ ลดทอนบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าวให้ร่มรื่น
พื้นผิวสีดำเรียบเกลี้ยงของวัสดุเทอราซโซ ให้ภาพที่แปลกใหม่ของวัสดุกรุอาคาร
เทอราซโซนอกจากจะมีมิติของความนุ่มและความลึก ที่เกิดจากเม็ดสีในตัววัสดุ ยังมีคุณสมบัติของความแข็งแรง ทนแดดฝนและเหมาะกับการใช้เป็นวัสดุภายนอก
บันไดจากด้านหน้าอาคารลาดผ่านทางเดินชั้น 1 ขึ้นไปยังพื้นที่ส่วนกลางชั้น 2 โดยตลอดการเดินบรรยากาศโดยรวมยังเชื่อมโยงถึงกัน มองเห็น และปฏิสัมพันธ์กันได้ตลอดการใช้งานคอร์ตกลาง
บันได้เทอราซโซสีขาว และบล็อกแก้วพิเศษนำเข้าจากอิตาลีที่สถาปนิกเลือกใช้ ซึ่งมีความกว้าง ยาว สูง คุณสมบัติที่แตกต่างจากบล็อกแก้วในไทย จึงเป็นความท้าทายหนึ่งของโครงการที่ทำให้ต้องมีการศึกษาเทคนิคการติดตั้ง เรียนรู้ร่วมกับผู้ก่อสร้างและช่างเทคนิค และใช้โครงสร้างพิเศษที่มีความซับซ้อนกว่าปกติรองรับ
ลานไม้บนชั้น 2 ของอาคาร เป็นลานโล่งกว้างและสวนเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ที่มองเห็นบรรยากาศโดยรวมของอาคารและผู้คนที่แวะเวียนได้โดยตลอด จากซ้ายไปขวา แปลนแสดงการใช้งานชั้น 1, แปลนแสดงการใช้งานชั้น 2, แปลนแสดงการใช้งานชั้น 3 และ แปลนแสดงการใช้งานชั้น Mezzanine