10 JAY STREET

เพชรเม็ดงามริมฝั่งแม่น้ำEast River

Text : Boonake A.
Photo: Pavel Bendov
Architect: ODA Architecture
Credit: www.dezeen.com

ใครที่เคยผ่านไปเดินบริเวณริมแม่น้ำในแถบบรุ๊คคลิน คงเคยได้เห็นอาคารโบราณขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างขึ้นจากอิฐสีส้มโดดเด่น อันเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามาถมองเห็นได้จากทุกทิศทุกทาง เสมือนเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของย่านนั้นเลยก็ว่าได้

อาคารประวัติศาสตร์หลังนั้นแต่เดิมเป็นของบริษัทArbuckle Brothersที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำตาล ซึ่งอาคารขนาด 21,367 ตารางเมตรหลังนั้น ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทก่อสร้างGeorge M Newhall Engineering Co. แล้วเสร็จในปี 1898

อาคารนั้นถูกใช้กลั่นน้ำตาลมาต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี 1925 อาคารแห่งนี้ก็ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นโรงงานกลั่นไวน์องุ่น หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอาคารหลังนี้อีกครั้งเมื่อกำแพงตึกด้านหน้าได้พังทลายลงมา เกิดเป็นความเสียหายที่ยากจะซ่อมแซมทำให้ตึกประวัติศาสตร์หลังนั้นถูกทิ้งร้างไว้นานกว่า 50 ปี

จนกระทั่งในปี 1991 อาคารหลังนี้ได้ถูกซื้อขึ้นมาโดยครอบครัว Stavrachซึ่งเป็นตระกูลนักลงทุนท้องถิ่นด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งเมืองนิวยอร์ก ในนามบริษัท Triangle Assets

เมื่อครอบครัวStavrachได้อาคารหลังดังกล่าวมาไว้ในครอบครอง พวกเขาจึงเริ่มคิดโปรเจกต์ยิ่งใหญ่เพื่อคืนชีวิตให้กับแลนด์มาร์กประวัติศาสตร์แห่งย่านบรุ๊คคลิน รวมถึงมีการตั้งชื่อให้ใหม่เสียว่า “10 Jay Street” ซึ่งบริษัทสถาปนิกที่ได้รับหน้าที่ในการคืนชีวิตให้อาคารอิฐหลังใหญ่นี้ก็คือบริษัทสถาปนิกODA หนึ่งในบริษัทสถาปนิกชื่อดังที่ผ่านงานด้านการสร้างสถาปัตยกรรมระดับโลกมามากมาย

โดยงานหลักของ ODAในการฟื้นคืนชีพแลนด์มาร์กระดับไอคอนในย่านบรุ๊คคลินให้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้งในกาลเวลายุคปัจจุบันก็คือการซ่อมแซมงานก่ออิฐด้านหน้าของอาคารในด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ รวมถึงการสร้างแผงเหล็กติดกระจกรูปทรงการพับกระดาษแบบศิลปะโอริกามิ เพื่อนำไปติดตั้งปกปิดผิวหน้าของตึกในทิศตะวันตกที่พังทะลายไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ซึ่งแผงกระจกรูปทรงเลขาคณิตแบบโอริกามิที่นำมาติดตั้งนั้น ทางผู้สร้างอยากสร้างความหมายเชิงสัญญะให้เป็นตัวแทนของเกร็ดคริสตัลของเม็ดน้ำตาลที่สองประกายวิบวับยามเมื่อแสงแดดตกกระทบ เป็นการสื่อสารให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาดั้งเดิมของตัวอาคารแห่งนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงงานกลั่นน้ำตาลที่ยิ่งใหญ่มาก่อน

Eran Chen ผู้ก่อตั้ง ODAอธิบายภาพลักษณ์ของอาคารแลนด์มาร์กที่ได้รับการชุบชีวิตหลังนี้ไว้อย่างเห็นภาพว่า “มันมีส่วนผสมของความงามและความเร้าใจ อาคาร 10 Jay Street คือตัวอย่างที่ดี และเป็นการชี้นำทางที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาเมืองในอนาคต”

“คุณสามารถมองอาคารหลังนี้ได้จากทุกทิศทางทั้งจากมุมมองบนพื้นดิน และมุมมองจากทะเล คำจำกัดความของมันก็คือเพชรยอดมงกุฎแห่ง DUMBO(Down Under Manhattan Bridge Overpass) นั่นเอง” Benjamin Stavrach แห่ง Triangle Assets กล่าวถึงอาคารหลังนี้ด้วยความภูมิใจ

ความพิเศษของกำแพงที่ติดตั้งม่านกระจกโอริกามิขนาดใหญ่ไปตลอดทั่วทั้ง 10 ชั้นของอาคาร ก็คือการเปิดมุมมองทิวทัศน์ให้คนที่เขามาภายในอาคารสามารถมองเห็นภาพของสะพานแมนฮัตตัน และแม่น้ำ East River ได้เต็มตา เป็นซีนสุดพิเศษที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน

นอกจากการบูรณะภายนอก ภายในอาคารยังมีการซ่อมแซมเพดานอิฐโค้ง และผนังอิฐในแบบเดิมเอาไว้ เพื่อรักษาคุณค่าเดิมๆ ที่ถูกถ่ายทอดมากจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างมีความหมาย

การรักษาอารมณ์ความรู้สึกด้วยการอนุรักษ์ของเดิมตรงนี้ยังรวมไปถึงการรักษาโครงสร้างเสาปูนก่ออิฐแบบที่กั้นแบ่งพื้นสำนักงานแบบเดิมๆ เอาไว้ เพื่อรักษามุมมองผ่านกระจกเอาไว้

ในส่วนของชั้นล๊อบบี้มีการเพิ่มความร่วมสมัยเข้าไปในงานออกแบบด้วยเลือกใช้สีเทาที่ดูเงียบขรึม สงบ นำสมัย เข้ามาเป็นเฉดสีหลักในการรีโนเวทพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งยังมีการนำภาพสะพานแมนฮัตตันที่สร้างขึ้นจากแผงต้นมอสขนาดใหญ่เพื่อสร้างมุมองสุนทรียะเชิงศิลปะ รวมถึงการสร้างกำแพงหินขนาดใหญ่ลวดลายเดียวกับตัวแผงกระจกโอริกามิมาติดตั้ง เพื่อตีความตัวรูปทรงกระจกให้มีความหมายที่แตกต่างออกไป

“นี่เป็นวิธีการที่สดใหม่มากในการเก็บรักษาความสวยงามเชิงสถาปัตยกรรมในอดีต และในตัวโปรแกรมของอาคารที่สร้างให้เกิดการใช้งานแบบ Mix Use ได้มอบจุดประสงค์ใหม่ให้แกอาคารแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายพื้นที่ธุรกิจจากใจกลางเมืองไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทำให้ในย่านบรุ๊คคลิน รวมถึงบริเวณ DUMBO กลายเป็นสถานที่สำหรับการใช้ชีวิต การทำงาน และการเล่นสนุก” Eran Chen ให้ความเห็นเป็นการสรุปภาพรวมของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากอาคารหลังนี้

Leave A Comment