เอสซีจี มั่นใจบริหารกระแสเงินสดแข็งแกร่ง

“เคาะปันผลเกือบ 100% ของกำไร มุ่งดูแลผู้ถือหุ้นทุกคนต่อเนื่อง
ย้ำสุขภาพองค์กรแข็งแรง คว้าโอกาสเศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้น”

 

เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2567 บริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA) 53,946 ล้านบาท จากการบริหารต้นทุนเข้มข้น ผลักดันนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง ลดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง เน้นลงทุนโครงการผลตอบแทนสูงและเร็ว หนี้ลดลงจากไตรมาสที่แล้วมุ่งดูแลผู้ถือหุ้นทุกคนต่อเนื่อง เคาะปันผล 5.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 95% ของกำไรมั่นใจสุขภาพองค์กรแข็งแรง คว้าโอกาสเศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัว ในปี 2568

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ปี 2567 เอสซีจีสามารถบริหารกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นที่น่าพอใจ อยู่ที่ 53,946 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2566 เป็นผลจากการปรับตัวสู้ความท้าทายจากวัฏจักรปิโตรเคมีชะลอตัวสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนพลังงานผันผวน และอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่ในไทยการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐล่าช้าจากปีก่อน หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงสินค้าจีนเข้ามาแข่งขัน ทำให้เอสซีจีคงความแข็งแกร่ง และสามารถดูแลผู้ถือหุ้นทุกคนให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปี 2567 คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี ในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของกำไร

เอสซีจี มุ่งสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรง ด้วยการรักษากระแสเงินสด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจ ที่ผ่านมาได้เดินหน้ามาตรการเสริมความเข้มแข็งซึ่งได้แถลงไปเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี 1.) บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน ลดลงประมาณ 6,200 ล้านบาทจากปีก่อน 2.) ปรับโครงสร้างการดำเนินงานและธุรกิจ และหยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรในปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 3.) ควบคุมเงินลงทุน (CAPEX) เน้นเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนสูงและเร็ว ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้หนี้สินสุทธิลดลง 16,777 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน อัตราหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.7 เท่า สถานะทางการเงินยังมั่นคงและแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดคงเหลือ ณ สิ้นปี 53,331 ล้านบาท

 

เอสซีจี พร้อมคว้าโอกาสเศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นตัว การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐของไทยคาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อาเซียน โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เวียดนาม GDP มีแนวโน้มเติบโตกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยมีแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อในประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เช่น เอสซีจี
ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล เร่งขยายโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและสินค้าเพื่อที่อยู่อาศัย ‘Mitra10’ ที่อินโดนีเซีย ตามเป้าหมาย 56 สาขา ในปี 2567 รับลูกค้ารวมมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน และมุ่งสู่ 100 สาขาภายในปี 2573 ด้าน เอสซีจีพี การบริโภคภายในกลุ่มอาเซียนรวมถึงความต้องการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) แม้ว่าปี 2567 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการสินค้าอ่อนตัวจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว บริษัทได้เร่งผลักดันนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) และการบริหารจัดการกระแสเงินสดต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียนอย่างระมัดระวัง ทำให้ธุรกิจคงความสามารถในการแข่งขันต่อเนื่อง ขณะที่ปี 2568 วัฏจักรปิโตรเคมีเริ่มทรงตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง บริษัทคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้นทุน

ล่าสุด เอสซีจีซี เร่งเดินหน้าโครงการ LSP ด้วยการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทนที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
โดยได้ทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทนในระยะยาวเป็นผลสำเร็จ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปีเป็นระยะเวลา 15 ปี และเช่าเหมาเรือขนส่งก๊าซอีเทนระยะยาวอีก 3 ลำ ทั้งนี้ บริษัทจะเร่งจัดหาเรือในส่วนที่เหลืออีก 2 ลำ พร้อมทั้งสร้างถังเก็บและปรับปรุงโรงงาน ให้พร้อมรับก๊าซอีเทนให้ได้ภายในปี 2570 โดยโครงการนี้ใช้แหล่งเงินทุนภายในเอสซีจี

ขณะเดียวกัน เอสซีจี รุกขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อเมริกาเหนือออสเตรเลีย โดย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ เร่งดันปูนคาร์บอนต่ำ คาดว่าปีนี้จะมียอดส่งออกได้อีกประมาณ 1 ล้านตัน ด้าน เอสซีจี เดคคอร์ ส่งออกกระเบื้อง X- PORCELAIN ความแข็งแรงสูง ได้ผลตอบรับดี ตั้งเป้าการส่งออกเติบโต 2 เท่าในปีนี้ ขณะที่ เอสซีจีพี ส่งออกบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และกระดาษพิมพ์เขียนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องนอกจากนี้ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ดันกลุ่มสินค้าสมาร์ทโซลูชัน อาทิ สินค้า Air Quality และ Solar จากแบรนด์ ONNEX by SCG Smart Living ตอบโจทย์การอยู่อาศัยทั้งเรื่องคุณภาพอากาศในบ้าน และประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานสะอาด
พร้อมออกสินค้ากลุ่มราคาย่อมเยาต่อเนื่อง เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดครบทั้งกลุ่มหลังคา บอร์ด ไม้สังเคราะห์ และผนังพื้นตกแต่งภายนอกบ้าน รวมทั้ง เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ปี 2567 มีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 548 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 21.5% ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังไฟฟ้าสะอาดรวมประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ ในปี 2573

 

 

นายธรรมศักดิ์ ย้ำทิ้งท้าย “เอสซีจี ปรับตัวต่อเนื่อง และขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ เชื่อมั่น ปี 2568 สามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมดูแลผู้ถือหุ้นทุกคนได้ต่อเนื่อง”

ผลประกอบการปี 2567 รายได้จากการขาย 511,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจีซี และเอสซีจีพี กำไรสำหรับปี 6,342 ล้านบาท ลดลง 76% จากปีก่อน จากผลประกอบการของ LSP และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้หากไม่รวมรายการพิเศษจากขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค และกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน เมื่อปี 2566 กำไรสำหรับปี ลดลง 52% จากปีก่อน ขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2567 รายได้จากการขาย 130,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจีซี ขาดทุนสำหรับงวด 512 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไร 721 ล้านบาทในไตรมาสก่อนจากผลประกอบการและการรับรู้ค่าเสื่อมราคาทั้งหมดของ LSP ขณะที่ไตรมาสก่อนมีรายการเงินสดที่ได้จากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย หรือ Interest Rate Swap (IRS) มูลค่า 2,183 ล้านบาท จากเอสซีจีซี

ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัทตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2568 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2568) โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2568 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี

 

ผลการดำเนินงานภาพรวม
งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2567 EBITDA 53,946 ล้านบาท จากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
จากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น (SCG Investment) ขณะที่ รายได้จากการขาย 511,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจีซี และเอสซีจีพีกำไรสำหรับปี 6,342 ล้านบาท ลดลง 76% จากปีก่อนจากผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี LSP และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้หากไม่รวมรายการพิเศษจากขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค และกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในปี 2566 กำไรสำหรับปี ลดลง 52% จากปีก่อนไตรมาส 4 ปี 2567 รายได้จากการขาย 130,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจีซี ขาดทุนสำหรับงวด 512 ล้านบาทจากผลประกอบการและการรับรู้ค่าเสื่อมราคาทั้งหมดของ LSP

สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) ปี 2567 มีรายได้ 154,386 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของรายได้จากการขายรวม
สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice ปี 2567 มีรายได้ 275,573 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของ
รายได้จากการขายรวมรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากไทยในปี 2567 ทั้งสิ้น 234,400 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของยอดขายรวม
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีมูลค่า 861,502 ล้านบาท โดย 46% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)

ผลการดำเนินงานแยกตามธุรกิจ

  • เอสซีจี เคมิคอลล์ (เอสซีจีซี) ปี 2567 EBITDA 7,363 ล้านบาท ขาดทุนสำหรับปี 7,990 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไร 589 ล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายของ LSP ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง รายได้จากการขาย 210,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจาก LSP สำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 EBITDA 1,436 ล้านบาท ขาดทุนสำหรับงวด 3,403 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุน 1,480 ล้านบาทในไตรมาสก่อน เนื่องจากรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของ LSP และในไตรมาสก่อน มีรายการเงินสดที่ได้จากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหรือ Interest Rate Swap (IRS) มูลค่า 2,183 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,067 ล้านบาท ทั้งนี้ เอสซีจีซีมีอัตราการดำเนินงาน (Operating Rate) สูงกว่าอุตสาหกรรม เนื่องจากการบริหารจัดการโรงงานในไทยและเวียดนาม รายได้จากการขาย
    58,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
  • เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ปี 2567  EBITDA 11,492 ล้านบาท กำไรสำหรับปี 2,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,620
    ล้านบาท จากปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและต้นทุนพลังงานดีขึ้น ในขณะที่ปีก่อนมีรายการขาดทุน
    จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค มูลค่า 2,214 ล้านบาท รายได้จากการขาย 81,891 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ลดลงจากภาคครัวเรือน และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าจากปีก่อน
    สำหรับไตรมาส ปี 2567 EBITDA 2,410 ล้านบาท กำไรสำหรับงวด 238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน
    จากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและต้นทุนพลังงานดีขึ้น รายได้จากการขาย 19,862 ล้านบาท ลดลง 5%
    จากไตรมาสก่อน จากความต้องการสินค้าที่ลดลง
  • เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ปี 2567 EBITDA 3,361 ล้านบาท กำไรสำหรับปี 1,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177 ล้านบาทจากปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้นจากเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล รายได้จากการขาย 140,165 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการตลาดฟื้นตัวช้า หลักๆ จากภาคครัวเรือน สำหรับไตรมาส ปี 2567 EBITDA ขาดทุน 20 ล้านบาท ขาดทุนสำหรับงวด 385 ล้านบาท จากปริมาณขายที่ลดลงจากภาคครัวเรือน รายได้จากการขาย 32,904 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาสก่อน จากความต้องการของตลาดและสภาพตลาดที่ฟื้นตัวช้า หลักๆ จากภาคครัวเรือน
  • เอสซีจีพี ปี 2567 EBITDA 16,138 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน กำไรสำหรับปี 3,699 ล้านบาท ลดลง 30% จากปีก่อน รายได้จากการขาย 132,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน
  • เอสซีจี เดคคอร์ ปี 2567 EBITDA 3,134 ล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อน กำไรสำหรับปี 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน รายได้จากการขาย 25,563 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน

Leave A Comment