จังหวัดระยอง ร่วมกับ กนอ. และ SCGC
จังหวัดระยอง ร่วมกับ กนอ. และ SCGC เร่งเดินหน้ามอบเงินดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล พร้อมสนับสนุนงบกิจกรรม CSR เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน
“ เร่งเดินหน้ามอบเงินดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล พร้อมสนับสนุนงบกิจกรรม CSR เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน ”
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีซี (SCGC) และ บริษัท มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มธุรกิจ SCGC
จัดพิธีมอบเงินดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด พร้อมมอบเงินสนับสนุนกิจกรรม CSR เพื่อให้ชุมชนนำไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยมี นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีร่วมด้วยนายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC นายมงคล
เฮงโรจนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ SCGC นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง นายสันติ บุษบาศรี รองนายกเทศมนตรีตำบลมาบข่าพัฒนา พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนกว่า 80 ชุมชน ร่วมในพิธี ณ หอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระยอง
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “จังหวัดระยองได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตาม การช่วยเหลือและชดใช้ค่าเสียหาย กรณีเหตุการณ์ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โดยจังหวัดระยองได้ประสานการดำเนินการและหารือร่วมกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดกรอบในการช่วยเหลือดูแลชุมชนผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และยุติธรรม ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และมีมติเห็นชอบกรอบในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนกิจกรรม CSR ให้กับชุมชนและกลุ่มประมง โดยให้ดำเนินการจัดพิธีมอบเงินดูแลชุมชนตามประกาศพี้นที่สาธารณภัย และสนับสนุนกิจกรรม CSR ขึ้นก่อน สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพ สุขภาพ และทรัพย์สินตามที่ได้ยื่นคำร้องมาแล้วนั้น จังหวัดได้มอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานราชการเข้ามาประสานกับบริษัทฯ และผู้แทนชุมชน เพื่อเร่งพิจารณาให้การช่วยเหลือและการเยียวยาชุมชน รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มนี้ให้เสร็จโดยเร็วต่อไป”
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “บริษัทฯ ขออภัยและรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับเหตุการณ์ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โดยบริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อมอบเงินดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แบ่งกรอบการดูแลเป็น 3 กรอบ ได้แก่ 1) มอบเงินให้กับชุมชนตามประกาศพื้นที่สาธารณภัย จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนตากวน อ่าวประดู่ และชุมชนหนองแฟบ โดยพิจารณาจากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าซึ่งไม่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ บริษัทฯ จะช่วยเหลือด้วยการมอบถุงยังชีพต่อไป 2) ช่วยเหลือและชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจังหวัดระยองได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือและชดใช้ค่าเสียหาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นประธานกรรมการ และ 3) สนับสนุนกิจกรรม CSR โดยบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะมอบเงินส่วนนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้ชุมชนได้นำไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยพิจารณามอบให้กับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา และเทศบาลตำบลบ้านฉาง ซึ่งมีจำนวน 62 ชุมชน 21 กลุ่มประมง โดยบริษัทฯ สนับสนุนงบประมาณ CSR รวม 7,250,000 บาท ซึ่งการมอบเงินเพื่อดูแลชุมชนในครั้งนี้ เป็นการมอบเงินในกรอบที่ 1 และ 3 สำหรับกรอบที่ 2 ขณะนี้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการฯ”
นายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมกับ SCGC และ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบในทันที สื่อสารทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อย่างเต็มที่ รวมทั้งหลังเกิดเหตุการณ์ได้ร่วมสนับสนุน จังหวัดระยอง SCGC หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชน กำหนดกรอบในการช่วยเหลือดูแลชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบให้เสร็จโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดย กนอ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมได้ผลักดันให้โรงงานที่อยู่ในพื้นที่ของ กนอ.ทั่วประเทศ บริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมต่อสังคม โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม”